THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
trump-tariff-global-recession
EXCLUSIVE CONTENT

เปิด 3 ฉากทัศน์ ผลการเจรจาภาษีกับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อินโนเวสท์ เอกซ์ มองกรณีเลวร้ายสุด เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะ ‘ถดถอยรุนแรง’

... • 8 เม.ย. 2025

HIGHLIGHTS

10 min read
  • ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงจากความเสี่ยงสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น ภายหลังปธน. ทรัมป์ ประกาศใช้ภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ในอัตราที่สูงกว่าคาด
  • EU ประกาศพร้อมตอบโต้ภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มองว่าไม่เป็นธรรม สอดคล้องกับจีนที่สั่งให้บริษัทจีนจำกัดการลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมทันที
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า ผลของภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลง 3.6% และการส่งออกหดตัว 7% หากไม่มีการเจรจาและการลดดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจหดตัว -1.1% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5%
  • หากทางการไทยมีมาตรการรับมือ โดยเข้าเจรจากับทางการสหรัฐฯ และหากสหรัฐฯ ลดทอนการขึ้นภาษีการค้าจาก 36% เหลือแค่ 10% ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวลดลงเหลือ 1.7% ขณะที่การส่งออกหดตัว 5%
  • แต่ในกรณีเลวร้ายสุด หรือ Nightmare scenario หากการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ กับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ ทุกประเทศต่างขึ้นภาษีต่อกันหรือ retaliation) คล้าย The great depression เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงจากความเสี่ยงสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น ภายหลังปธน. ทรัมป์ ประกาศใช้ภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ในอัตราที่สูงกว่าคาดแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ

 

  1. ภาษีรายประเทศโดยไทยจะถูกเก็บในอัตรา 36%
  2. ประเทศอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข้อ 1 จะถูกเก็บภาษี Broad base 10%

 

ซึ่งนำไปสู่ความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น

 

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง โดยตำแหน่งงานว่างเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือ 7.57 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่า แม้การจ้างงานภาคเอกชน ADP จะเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค. สูงกว่าคาด นอกจากนั้น PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับ 49.0 ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าคาด ขณะที่ภาคบริการเดือน มี.ค. ลดลงและต่ำกว่าคาดเช่นกัน

 

ด้าน EU ประกาศพร้อมตอบโต้ภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มองว่าไม่เป็นธรรม สอดคล้องกับจีนที่สั่งให้บริษัทจีนจำกัดการลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมทันที โดยประกาศว่าจะตอบโต้หากไม่ได้รับการตอบสนอง

 

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 5.4% หลังเผชิญกับความเสี่ยงภาษีที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารปรับลดลง 4.6% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยหลังการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มเชิงรับเช่น สินค้าจำเป็นและสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% มองเป็นความผันผวนที่น้อยและผลกระทบจากภาษีที่จำกัด

 

ส่วนตลาดหุ้นไทยลดลง กดดันทั้งจากผลกระทบแผ่นดินไหวในเมียนมา และการเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ สูงในอัตรา 36% กว่าคาดมาก ราคาน้ำมันอ่อนตัวแรงหลัง OPEC+ ประกาศเพิ่มการผลิตในเดือน พ.ค. อีก 4.41 แสนบาร์เรลต่อวันจากแผนเดิมที่ 1.38 แสนบาร์เรลและกังวลอุปสงค์ชะลอตัว

 

3 ฉากทัศน์ ผลการเจรจากับทรัมป์

 

สัญญาณจาก JOLT บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยในเดือน ก.พ. 2568 ตำแหน่งงานว่างลดลงเหลือ 7.57 ล้านตำแหน่ง ซึ่งตามโมเดลของเรา การสร้างงานที่ต่ำกว่า 8 ล้านตำแหน่งต่อเดือนอย่างต่อเนื่องอาจทำให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นเกิน 4.3% และเมื่อถึงจุดนี้ การว่างงานอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์นี้เลวร้ายลงด้วยนโยบายภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) ของทรัมป์ ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน และเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า ผลของภาษีแบบต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) ที่สูงกว่าการคาดการณ์ของเดิมมาก โดยการวิเคราะห์แบบ Sensitivity Analysis ชี้ว่า ภาษีนี้อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลง 3.6% และการส่งออกหดตัว 7% หากไม่มีการเจรจาและการลดดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจหดตัว -1.1% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5%

 

อย่างไรก็ตาม หากทางการไทยมีมาตรการรับมือ โดยเข้าเจรจากับทางการสหรัฐฯ และอาจ 1. ลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และ/หรือ 2. นำเข้าสินค้าสหรัฐฯ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากกระทรวงการคลัง และการลดดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย อาจทำให้สหรัฐฯ ลดทอนการขึ้นภาษีการค้าจาก 36% เหลือแค่ 10% ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวลดลงเหลือ 1.7% ขณะที่การส่งออกหดตัว 5%

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้ายสุด หรือ Nightmare scenario หากการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ กับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ ทุกประเทศต่างขึ้นภาษีต่อกันหรือ retaliation (คล้าย The great depression) เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงได้

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้นที่คาดเป็นเป้าหมาย ThaiESGX สำหรับ SET50 ที่น่าสนใจ ได้แก่ ADVANC BBL BDMS CPALL PTT ส่วนหุ้น SET100 ที่น่าสนใจ ได้แก่ BCH BTG
  2. หุ้น Dividend Play ซึ่งมี Div. Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ KTB KBANK BBL
  3. หุ้น Undervalued สำหรับลงทุน แนะ-นำ MTC, MINT, BJC, CPF
  4. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกำไร แนะนำ 1) หุ้นที่คาดได้ผลบวกทางอ้อมจากเหตุแผ่นดินไหว ได้แก่ HMPRO SCCC TRUE ADVANC STECON 2) หุ้น Domestic Play หากกังวลสงครามการค้ารุนแรงขึ้น แนะนำ CPALL ADVANC TRUE BTG BCH และ -) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์จากเข้าสู่ เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก (CPAXT CPALL) กลุ่มท่องเที่ยว (MINT) และกลุ่มการแพทย์ (BCH BDMS)

 

“มองดัชนี SET แกว่งตัวผันผวนต่อเนื่อง เป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่คาดจะส่งผลต่อการปรับลดประมาณการ GDP และผลประกอบการของ บจ. ทั่วโลก รวมไปถึงท่าทีของ Fed ที่อาจจะไม่ชัดเจน ทั้งนี้เป็นผลจากแนวโน้มของเงินเฟ้อที่อาจจะลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์จากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดผิดหวัง เพราะตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่จีนคาดยังได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากสงครามการค้าได้ อย่างไรดีมองว่าหาก SET ปรับตัวลงไปในช่วง 1,100-1,130 จุด จะเป็นโอกาสลงทุน” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

สัปดาห์นี้ต้องติดตาม

 

  1. ผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงประเทศไทย หลัง ปธน. ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหญ่
  2. เงินเฟ้อของสหรัฐฯ (ตลาดคาด 2.5% ลดลงจาก ก.พ. ที่ 2.5%)
  3. รายงานภาวะเงินเฟ้อ (CPI) มี.ค. ของสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งรายการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 18-19 มี.ค.
  4. ผลกระทบหลังเหตุแผ่นดินไหว อาทิ การตรวจสอบโครงสร้างอาคาร, บรรยากาศการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - หุ้นปลอดภัยที่คาดเป็นเป้ากองทุน

 

แนะนำ บมจ. ซีพีออลล์ หรือ CPALL เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกค้าส่งในไทย ซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว
  • 1Q25 คาดกำไรปกติจะเติบโต YoY แรงหนุนจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากสินค้ากลุ่ม RTE (ธุรกิจ CVS) และอาหารสด (CPAXT) และคาดจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล หนุนให้ปี 2025 คาดกำไรปกติเติบโตต่อเนื่องราว 16.3%YoY ซึ่งยังไม่รวม upside เพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล (ถ้ามี) เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต (เฟส 3)
  • มองเป็นหุ้นปลอดภัยภายใต้ตลาดผันผวนและคาดเป็นหุ้นเป้าหมายของกองทุน ThaiESGX หลังมี SETESG Rating “AAA” อีกทั้งมี Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น CPALL ซื้อขาย PER 2025F ที่ 15.8 เท่า หรือ -2S.D. จากค่าเฉลี่ย 10 ปี
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 70 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7.4% และอัตราเติบโตระยะยาว 2.25%) และมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 1.35 บาท (XD 6 พ.ค. 68) คิดเป็น Div. Yield ราว 2.6%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก


ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหลังทรัมป์ประกาศ 1. เก็บ Reciprocal Tariffs กับทุกประเทศที่ส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ และเรียกเก็บอัตราภาษีเพิ่มเติมกับประเทศที่มีการขาดดุลฯกับสหรัฐฯ มากสุดราว 60 ประเทศ 2. ยกเลิกการยกเว้นภาษี ‘de minimis’ สำหรับสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำจากจีน (800$ หรือน้อยกว่า) ซึ่งภาพรวมแย่กว่าที่ตลาดคาดและส่งผลต่อกลุ่มอุตฯในวงกว้าง ทำให้ในระยะสั้น เราประเมินว่าปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของตลาดคือการสนับสนุนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ, การฟื้นตัวของหุ้นและท่าทีการต่อรองของประเทศอื่น

 

ภาพรวมนี้ทำให้เราประเมินได้ว่า 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เราคาดว่าได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก Reciprocal Tariffs คือ Technology Apparels Retail ยานยนต์ Hardware การท่องเที่ยว ธนาคาร Healthcare 2. เรามองว่ากลุ่มบริษัทคอมเมิร์ซจีนอย่าง PDD SHEIN ที่มีการขายสินค้าราคาถูกจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังมีการยุติการยกเว้นภาษี ‘de minimis’

 

ในระยะสั้น เราประเมินว่าปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของตลาด คือ

  1. การสนับสนุนของทางการสหรัฐฯ โดยล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐฯ เสนอแผนขยายเวลาการลดภาษีของทรัมป์ (Tax Cuts and Jobs Act of 2017) และเพิ่มการลดภาษีอีก $1.5tn รวมถึงเสนอการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะสูงสุดถึง $5tn โดยทรัมป์ให้การสนับสนุนเต็มที่ต่อแผนนี้ ขณะที่เรามองว่าแผนนี้จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบทาง Tariff ได้ในระยะสั้นหากว่าแผนงบประมาณมีผลทางการ
  2. การฟื้นตัวของกลุ่มเทคฯ ซึ่งมองว่ายังคงเป็นเรื่องยากหลังความกังวลเพิ่มขึ้นจากการปรับลด CAPEX ของ MSFT และแนวโน้มการปรับลด META ซึ่งจะทำให้ Peer เริ่มทบทวนแผนและในที่สุดจะส่งผลต่อเนื่องกับกลุ่มเซมิฯและโรงไฟฟ้าที่ความต้องการการประมวลผลน้อยลงเช่นกัน ประกอบกับผลกระทบจาก Tariff ทำให้เราเชื่อว่ากลุ่มเทคฯและเซมิฯในระยะสั้นยังคงมีความผันผวนและฟื้นตัวยาก
  3. ท่าทีการเจรจาต่อรองภาษีจากประเทศอื่น เราเชื่อว่าประเด็น Tariff ยังคงมีผลกระทบในภาพเดิมและเป็นแรงกดดันหลักต่อตลาดหุ้น แต่เราคาดว่าการเจรจากันระหว่างประเทศจะช่วยให้เห็นภาพการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในระยะสั้น ในทางตรงกันข้าม ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น หากประเทศอื่นเริ่ม Retaliate ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศเลือกแนวทางรับมือต่างกัน จีนเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมขู่ตอบโต้ ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้เน้นการเจรจาแทนการโต้กลับ ส่วนญี่ปุ่นเตรียมมาตรการช่วยภาคธุรกิจและตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ผลกระทบ

 

ระยะสั้น เราเน้นตั้งไปที่หุ้นเชิงรับและกลุ่ม Domestic ที่มีผลกระทบจำกัดจาก Tariff โดย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แนะนำ Verizon, CVS, Pfizer, UnitedHealth, Costco, Pepsico, Colgate Palmolive , ตลาดหุ้นยุโรปแนะนำ Siemens, Carrefour, Metro, Deutsche Telekom, BNP Paribas, Enel, Iberdrola, ตลาดหุ้นจีนแนะนำ Xiaomi, JD.com, Hong Kong Exchange, Trip.com, China Mobile, Tencent, Alibaba

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังตัวเลข PCE สหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ สภาพคล่อง รวมถึงเงินสด ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดภายในตะวันออกกลางที่ยังดำเนินต่อ

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

แม้ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น หลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ และ ISM ภาคบริการสหรัฐฯ เดือนมี.ค. ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ได้กดดันให้ UST yield ตัวยาว ปรับลดลงอย่างมาก แต่โอกาสที่ UST yield ตัวยาว จะกลับมาเพิ่มขึ้นยังคงมีอยู่ในระยะกลาง-ยาว จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลัง ที่จะทำให้ term premium เพิ่มขึ้น และจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่หนืด ตามมาตรการกำแพงภาษีนำเข้ารอบใหม่ แนะนำลงทุนบน Bond ตัวสั้นถึงกลาง ที่มีความเสี่ยง duration ต่ำ แต่ยังให้ yield ที่สูง

 

U.S. Treasury & IG

 

UST Yield มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ หลังมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของทรัมป์ แม้ความกังวลของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการที่ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ UST yield ตัวยาว ก็ตาม ทั้งนี้ แนะนำลงทุน UST และ US IG bond โดยเน้น duration ระยะสั้นถึงกลาง ที่ยังให้ yield สูง และช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้า

 

High Yield Bond

 

เรามองว่า การที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ที่รุนแรง และเป็นวงกว้างมากกว่าคาด จะเพิ่มความเสี่ยงขาลงที่มากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และส่งผลทำให้ US HY spread ที่ปัจจุบันค่อนข้างแคบ มีแนวโน้มทยอยกว้างขึ้น ประกอบกับ UST Yield ตัวยาว ที่ยังมีโอกาสกลับมาปรับเพิ่มขึ้น อาจจำกัด upside ของ US HY แม้ว่า US HY ยังให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก และ การ leverage (Net debt to EBITDA) ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ หุ้นกู้ US HY ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2568 ไม่สูงมากนักก็ตาม

 

สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs

 

REITs เป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs *สำหรับนักลงทุน Ultra High Networth เท่านั้น

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง Occupancy Rate อยู่ในระดับสูงราว 94% กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) เติบโตต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มดีขึ้น จากต้นทุนการเงินที่ลดลง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวม 50 bps ภายในสิ้นปี 2568 ส่วนงบดุลที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตในอนาคตได้ และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเทียบค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวขึ้น และ Fed ยังไม่เร่งลดดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้

 

Private Credit

 

เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้ แม้โมเมนตัมการเติบโตเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (first lien seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ ได้รับปัจจัยกดดันจาก

  1. สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น หลังทรัมป์ประกาศใช้มาตรการ Reciprocal Tariffs โดยไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36%
  2. ความกังวลบนประเด็นด้านความเชื่อมั่นในตลาดทุน
  3. EPS ดัชนีฯ ในปี 2568 ที่ถูกปรับประมาณการลงต่อ จากมาตรการภาษีของทรัมป์
  4. แนวโน้มการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่อาจชะลอตัวลง จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หลังทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีทั่วโลก

 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของกนง.ในปีนี้ อีก 2 ครั้ง จะช่วยหนุน EPS ของหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่ การเจรจาทางการค้าของรัฐบาลกับสหรัฐฯ จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้า

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มผันผวนและพักฐานในระยะสั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนบนนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เสี่ยงกดดันทั้ง EPS growth และ Valuation ตลาดฯ ส่วนหุ้นยุโรป ก็ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff เช่นกัน ซึ่งเราคาดว่า EU จะตอบโต้กลับอย่างระมัดระวัง

 

ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการทหารกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเยอรมนี ด้านหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการเติบโตของค่าจ้าง ที่หนุนการบริโภค และการปฏิรูปบรรษัทภิบาล ที่ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น แม้ว่าข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ รอบล่าสุด และเงินเยนที่แข็งค่า อาจเสี่ยงกระทบ EPS growth หุ้นญี่ปุ่น

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

เรามอง สงครามการค้ารอบใหม่ที่รุนแรงขึ้น มีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงที่ Consensus จะปรับลดคาดการณ์ EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทำให้ตลาดฯ มีแนวโน้มพักฐานในระยะสั้น ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดฯ จะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการเจรจากับคู่ค้า และท่าทีนโยบายการค้าของทรัมป์ อย่างไรก็ดี เรามอง ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ปีนี้ ยังต่ำ และกำไรบจ.สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ และกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยได้อานิสงส์จากกระแส AI และการผ่อนคลายกฎระเบียบ ควบคู่กับ แผนลดภาษีเงินได้

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนในระยะสั้น จากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ระดับ 20% ซึ่งสูงกว่าตลาดคาดที่ 15% อย่างไรก็ดี การที่ EU เกินดุลบริการกับสหรัฐฯสูง มีแนวโน้มส่งผลให้ EU มีอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ ขณะที่ เศรษฐกิจ EU มีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB นอกจากนี้ แผนเพิ่มการขาดดุลการคลัง ที่รวมถึง การเพิ่มเพดาน Debt Break เพื่อเพิ่มงบป้องกันประเทศ และ การจัดตั้งกองทุน 500,000 ล้านยูโร เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอด 10 ปี ของรัฐบาลเยอรมนี มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และ sentiment การลงทุนในระยะยาว

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนในระยะสั้น และปรับลดลง หลังทรัมป์ประกาศใช้มาตรการ Reciprocal Tariffs กับญี่ปุ่นในอัตรา 24% อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง-ยาว ดัชนีฯ ยังได้รับแรงหนุนจาก 1. การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่ยังดำเนินต่อ 2. เงินเฟ้อญี่ปุ่นที่กลับมา สอดคล้องกับการเติบโตของค่าจ้าง และ 3. ญี่ปุ่นมีแนวโน้มเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไป เพื่อขอลดกำแพงภาษีนำเข้าลง

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ในระยะสั้น ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่ม Reciprocal Tariff ของทรัมป์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ จีน ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะกดดันแนวโน้มการค้าการลงทุน และเศรษฐกิจของภูมิภาค ส่งผลให้เกิดแรงขายของนักลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เราคาดว่า จะเริ่มเห็นหลายประเทศเริ่มเจรจากับสหรัฐฯ  ซึ่งแม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการเจรจา แต่คาดว่าจะมีความคืบหน้า รวมทั้ง ยังคาดว่าจะมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นของแต่ละประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น แม้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่มาก อาจทำได้อย่างจำกัด ตามที่บางประเทศยังกังวลความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ที่อาจกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็ตาม

 

หุ้นอินเดีย

 

ตลาดหุ้นอินเดีย มีแนวโน้มได้รับปัจจัยสนับสนุนระยะยาว จาก

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่ง
  2. นโยบายการเงินที่เอื้ออำนวย จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของ RBI บนประมาณการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 4% ใน 4Q2568
  3. อินเดียพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของ GDP อินเดีย

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ-อินเดีย ได้ตั้งเป้าบรรลุ bilateral trade deal มูลค่า 500 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ขณะที่ การที่อินเดียกำลังพิจารณาลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ และการเจรจาต่อรอง มีแนวโน้มเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สหรัฐฯ ปรับลดภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บกับอินเดียที่ระดับ 26%

 

หุ้นจีน

 

แม้ในระยะสั้น ตลาดหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มผันผวน และจะเผชิญแรงกดดัน จากความกังวลผลกระทบสงครามการค้ารอบใหม่ หลังทรัมป์เก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่กับจีนอีก 34% และจีนตอบโต้กลับ โดยขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เพิ่ม 34% เช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น เร่งใช้จ่ายการคลัง รวมทั้ง ลด RRR และลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้ง จีนอาจพยายามลดยอดเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ลงบ้าง เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน จีนจะหลีกเลี่ยงการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมากในระยะสั้น

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ทองคำมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจาก 1) การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น หลังทรัมป์ประกาศใช้มาตรการ Reciprocal Tariff รวมทั้งความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังมีอยู่ 2) ความกังวลต่อหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง สนับสนุนการถือครองทองคำ ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ 3) ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนได้ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง และ 4) Fund Flow ของ ETF ที่ซื้อสุทธิทองคำต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิประมาณ 100 ตัน ในเดือน ก.พ. 2568 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า และ US Bond Yield ตัวยาว ที่มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกดดันราคาทองคำให้ผันผวน

 

ภาพ: Pete Saloutos / Getty Images

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 8 เม.ย. 2025

READ MORE



Latest Stories