THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดเกิดใหม่

... • 23 ก.ค. 2024

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นปรับฐานทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคที่ถูกกดดันจากกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณลบกับไต้หวันต่อท่าทีที่จะปกป้องการรุกรานจากจีน และประธานาธิบดีไบเดนกำลังพิจารณาบทลงโทษบริษัทผลิตชิปที่ส่งสินค้าไปยังจีน ส่งผลกดดันต่อหุ้นในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์
  • สัญญาณเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอลงชัดเจนขึ้น ทำให้ Fed เริ่มส่งสัญญาณเตรียมลดดอกเบี้ย รวมถึงสัญญาณจากทรัมป์ ที่ส่งสัญญาณว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเกินไปและกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเป็นไปได้ว่าในระยะต่อไปดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
  • สำหรับหุ้นไทย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า Upside ยังมีจำกัด เนื่องจากยังรอความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศและรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับฐาน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคที่ถูกกดดันทั้งจากการเปลี่ยนกลุ่มเล่นไปสู่หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยและหุ้นขนาดเล็กมากขึ้น รวมถึงความกังวลด้านนโยบายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากรัฐบาลของ โจ ไบเดน ปัจจุบันและในอนาคต หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา

 

อย่างไรก็ตาม ท้ายสัปดาห์การขายเริ่มขยายวงไปสู่หุ้น Value และหุ้นขนาดเล็ก สะท้อนความกังวลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากขึ้น โดย VIX Index ปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบ 3 เดือน 

 

ประเด็นหลักอยู่ที่โอกาสที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีก ภายหลังจากถูกลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นยังได้ส่งสัญญาณลบกับไต้หวันต่อท่าทีที่จะปกป้องการรุกรานจากจีน และประธานาธิบดีไบเดนกำลังพิจารณาบทลงโทษบริษัทผลิตชิปที่ส่งสินค้าไปยังจีน ส่งผลกดดันต่อหุ้นในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์

 

ด้านประธาน Fed เชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังจะลดลงเข้าสู่เป้าหมาย และให้ความสำคัญกับเป้าหมายการจ้างงานมากขึ้นเท่ากับเป้าหมายเงินเฟ้อ ตลาดประเมินว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน นำไปสู่การเปลี่ยนไปสู่กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง และหุ้นที่ได้ประโยชน์หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี

 

ฝั่งยุโรป ECB คงดอกเบี้ยตามคาด แต่เริ่มกังวลต่อความเสี่ยงด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดยังเชื่อว่า ECB จะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน

 

จีนรายงาน GDP 2Q24 ขยายตัว 4.7% และยอดค้าปลีกขยายตัว 2.0% ต่ำกว่าคาด ภาพดังกล่าวสะท้อนการฟื้นตัวที่ยังเปราะบาง แม้จะมีการกระตุ้นต่อเนื่อง ส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นฝั่ง EM รวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง

 

ส่วนราคาน้ำมันอ่อนตัวลงเล็กน้อย จากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่ได้ปัจจัยหนุนบางส่วนจากปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่ลดลงมากกว่าคาด

 

หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวเกินคาดเป็นผลจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ ผลจากการผลักดันการส่งออกผ่านการกดค่าจ้างภายในประเทศ ทำให้รายได้ประชาชนจึงยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การใช้จ่ายน้อยลง สะท้อนถึงยอดค้าปลีกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

 

นอกจากนั้นยังบ่งชี้ว่ามาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งทางแก้ของสภาวะเงินฝืดเช่นนี้คือต้องผลักดันให้ประชาชนมีรายได้ผ่านการขึ้นค่าแรง แต่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกจีนลดลง รัฐบาลจีนจึงไม่ผลักดันผ่านมาตรการดังกล่าว

 

ในส่วนของ IMF ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจเอเชียขึ้นนั้น เป็นภาพเช่นเดียวกับเราที่มองว่าภาคการผลิตเอเชียมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดย IMF ปรับประมาณการการค้าโลกขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม อินโนเวสท์ เอกซ์ มีมุมมองเดียวกับ IMF ว่าความเสี่ยงสงครามการค้าที่มากขึ้น อาจจะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและเงินเฟ้อลดลงยากได้

 

เรามองว่าค่าเงินดอลลาร์เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลงชัดเจนขึ้นจาก

 

1. สัญญาณเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอลงชัดเจนขึ้น ทำให้ Fed เริ่มส่งสัญญาณเตรียมลดดอกเบี้ย

 

2. สัญญาณจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งสัญญาณว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเกินไปและกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเป็นไปได้ว่าในระยะต่อไปดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงต่อเนื่อง พร้อมกับความชันผลตอบแทนพันธบัตรที่จะเริ่มกลับมาปกติ หลังจากที่ความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น พร้อมๆ กับโอกาสที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์จะได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นที่คาด 2Q67 กำไรจะยังสามารถเติบโตทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพง เลือก MINT, BEM, OSP, TU, KCE, CPF และ TRUE

 

2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ Cover Short หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 เลือก HANA, TOP, BEM, MINT, OSP, BBL และ AOT

 

3. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดเวลาถือเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, CPALL, BDMS, BBL, BEM, KTB และ GULF

 

4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET Index ยังมี Upside จำกัด เนื่องจากยังรอความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศและรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อีกทั้งติดตามการประกาศผลประกอบการ 2Q67 ของบริษัทในไทย ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศคาดว่าได้แรงหนุนจากสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ย โดยคาดว่าดัชนี PCE และ PMI ของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง อีกทั้งผลประกอบการ 2Q67 ของบริษัทจำกัด (บจ.) ในสหรัฐฯ น่าจะยังแข็งแกร่ง นอกจากนั้นสงครามเทคโนโลยีที่มีท่าทีรุนแรงขึ้นจะยังเป็นความเสี่ยงของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ, ยูโรโซน และญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม

 

2. GDP 2Q24 (รายงานครั้งแรก) และดัชนี Core PCE เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ

 

3. การแถลงรายละเอียดทั้งหมดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 กรกฎาคม

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - กำไรจะโตแกร่งสุดในกลุ่มพาณิชย์

 

แนะนำ บมจ.ซีพีออลล์ หรือ CPALL เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้

 

  • เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกค้าส่งในไทย ซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว
  • 2Q24 คาดกำไรสุทธิ 5.8 พันล้านบาท เติบโต 31%YoY ดีสุดในกลุ่มพาณิชย์ ด้วยแรงหนุนจากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น รวมทั้งมีส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก CPAXT ส่วนแนวโน้มกำไร 2H24 คาดว่าจะเติบโต YoY โดดเด่นมากกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการเติบโตที่แข็งแกร่งทั้งจากธุรกิจ CVS และ CPAXT
  • ช่วงสั้นมองราคาหุ้นจะได้อานิสงส์บวกจากความคืบหน้าดิจิทัลวอลเล็ต อีกทั้ง Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น CPALL ซื้อขายที่ PER 2567F ที่ 22 เท่า คิดเป็น -2SD จาก PER เฉลี่ย 10 ปี ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนกำไรปกติปี 2567 ที่คาดว่าเติบโตเด่นราว 28%YoY สู่ระดับ 2.33 หมื่นล้านบาท (ยังไม่รวม Upside จากดิจิทัลวอลเล็ต)
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 77 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7% และอัตราเติบโตระยะยาว 2.5%) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2567 หุ้นละ 1.30 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 2.3%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

แม้งบ ASML และ TSMC ออกมาดีกว่าคาด แต่หุ้นกลุ่มเทคกลับปรับตัวลง กดดันจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นหลัง

 

1. สหรัฐฯ พิจารณาควบคุมกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เพิ่ม

 

2. ความคิดเห็นจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต่อไต้หวัน ด้วยภาพความเสี่ยงเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น

 

เราจึงแนะให้เปลี่ยนกลุ่มการเล่นไปยังกลุ่มอื่นก่อน ซึ่งหากพิจารณาร่วมกับทิศทางการส่งสัญญาณดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ทำให้เราแนะนำว่าควรมองกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และคาดฟื้นตัวดีใน 2H24 อย่าง HD, WMT, TGT, JPM และ PFE

 

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย

 

1. สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาใช้มาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีการใช้เทคสหรัฐฯ ในการผลิต โดยพุ่งเป้าไปที่ Tokyo Electron และ ASML ที่มีการทำธุรกิจกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ

 

2. อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความเห็นว่าไต้หวันควรจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศให้สหรัฐฯ ซึ่งภาพนี้ทำให้ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทชิปขนาดใหญ่ที่สำคัญของไต้หวันได้รับแรงกดดันเชิงลบด้วยเช่นกัน

 

งบกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ดีกว่าคาด โดย

 

1. ASML เผยรายได้และกำไรดีกว่าคาด โดยเติบโต QoQ แต่ยังหดตัว YoY ด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 51.5%

 

2. TSMC เผยรายได้โต 40%YoY และกำไรโต 36%YoY ดีกว่าคาด ซึ่งในภาพรวมงบทั้งสองบริษัทมีแรงหนุนจากความต้องการ AI ที่เติบโต ทำให้ชิปที่เกี่ยวข้องมียอดขายที่เติบโต ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มมีภาพการฟื้นตัวเช่นกัน เช่น PC และสมาร์ทโฟน

 

ภาพรวมงบกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ยังคงสะท้อนให้เห็นปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง รวมถึงแนวโน้มการเติบโตที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มเทค แต่อย่างไรก็ดี ด้วยภาพ 1. ความคาดหวังที่สูงและการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากฐานที่สูง และ 2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพการลงทุนของเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้เราประเมินราคาหุ้นในระยะสั้นยังคงผันผวนต่อปัจจัยลบเหล่านี้ได้

 

ในระยะสั้น ด้วยภาพความเสี่ยงเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับหากพิจารณาร่วมกับทิศทางการส่งสัญญาณดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้กลุ่มอื่นนอกจากกลุ่มเทคมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นใน 2H24 เช่นกัน ด้วยภาพนี้เราจึงแนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนกลุ่มการเล่นจากกลุ่มเทคไปยังกลุ่มอื่นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงนี้ก่อน โดยแนะมอง HD, WMT, TGT และ JPM ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง รวมถึงอาจมองกลุ่ม Pharma อย่าง PFE ที่ได้ภาพการฟื้นตัวจากฐานต่ำ

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง, ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ และข้อพิพาทในช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุดอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเรียกร้องให้ไต้หวันจ่ายเงินให้แก่สหรัฐฯ สำหรับการรับประกันด้านการป้องกันประเทศ

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

ตลาดแรงงานที่กำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงต่อ และตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้ UST Yield ทั้งตัวสั้นและตัวยาว กลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงอีกครั้ง โดยตัวสั้นปรับลดลงแรงกว่าตัวยาว

 

Real Yield มีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือ เพื่อ Hedge ในกรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

 

เราคาดว่า Volatility ของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond รุ่นตัวยาว (>7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนเรื่องเลือกตั้ง และขนาดของ Fiscal Policy หลังเลือกตั้ง Bond ช่วง Mid-Curve (2-4 ปี) มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่ได้รับเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

UST Yield ปรับตัวลดลงต่อจากเดือนมิถุนายน หลังตัวเลขจ้างงานมีแนวโน้มลดความร้อนแรงลง และเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนยังต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม Credit Spread ของ IG Bond ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก Supply ของ IG Bond ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ Demand

 

TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่อง ขณะที่ Average Spread ของ A- และ BBB+ ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นบน Event Risk เรื่องทรัมป์ถูกลอบยิงช่วงสุดสัปดาห์ แนะนำลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond Duration 2-4 ปี โดยผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 4.5-5.5% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ ที่ 2.6%

 

High Yield Bond

 

US HY Yield-to-Worst และ HY Spreads ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และ Supply ของการ Refinance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2567

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจาก Fed Watch Tool ของ CME Group พบว่ามีความน่าจะเป็นราว 96% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน และมีความน่าจะเป็นราว 94% ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม

 

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง

 

3. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ CMBS ในภาค Office ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และ

 

4. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีได้ปัจจัยหนุนจาก

 

1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นใน 2H67 จากการเบิกจ่ายงบประมาณและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2567 และ 2568 ขยายตัว 2.9%YoY และ 3.1%YoY จากเดิมคาดที่ 2.7%YoY และ 2.9%YoY ตามลำดับ

 

2. ดิจิทัลวอลเล็ตที่มีความชัดเจนขึ้นในด้านไทม์ไลน์ ช่วยหนุน Sentiment การลงทุนและหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค

 

3. EPS ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นใน 2H67 โดย Bloomberg Consensus คาดว่าจะเติบโต +14.1%YoY

 

4. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง โดย 12M FWD P/E อยู่ที่ 13.3X (-2.0SD) ในระยะเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังอาจกดดันการลงทุนในระยะสั้น

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

เศรษฐกิจที่ชะลอตัว เงินเฟ้อที่ปรับตัวลงของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเป็น 3 ครั้งจาก 2 ครั้งในปี 2567 ซึ่งช่วยประคอง Valuation ในตลาด อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation Gap ระหว่างหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นขนาดเล็กที่ต่างกันมาก ทำให้เห็น Fund Flow มีการ Rebalancing เข้าสู่หุ้นขนาดเล็กมากขึ้น

 

ด้านหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากงบที่มีแนวโน้มออกมาดี แม้เสี่ยงเผชิญแรงขายทำกำไรบนหุ้นกลุ่มเทค ส่วนหุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

เกิด Sector Rotation โดยตลาดเริ่ม Pricing บนปัจจัย

 

1. Peak ‘High for Longer’ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนยืนยันแนวโน้มการปรับเข้าสู่เป้าหมาย 2% และ เจอโรม พาวเวลล์ ออกมาให้ความเห็นว่า Fed ไม่จำเป็นต้องรอให้เงินเฟ้อถึงเป้าหมาย 2% เพื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานในการตัดสินใจเช่นกัน

 

2. เริ่มมีมุมมองว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มกระจายตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น หลังกระจุกตัวอยู่แค่ในกลุ่มเทค และ Communication Service โดยเห็น Fund Flow ไหลเข้าสู่กลุ่มหุ้นขนาดเล็ก และกลุ่ม Old Economy อย่างดัชนี Dow Jones

 

นอกจากนี้ Sentiment เชิงลบจากคณะทำงานของไบเดนเล็งเพิ่มความเข้มงวดทางการค้า เพื่อสกัดอุตสาหกรรมชิปในจีน ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทค โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ Supply Chain ของชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์

 

หุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ที่หนุน Valuation ที่ยังไม่แพง และช่วยหนุน EPS ผ่านต้นทุนการเงินที่ลดลงกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ EPS ยังได้แรงหนุนเพิ่มจากโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น

 

โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ว่าประเด็นการกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยีกับจีน และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสที่ยังมีอยู่ อาจสร้างความผันผวน และกดดัน Sentiment ตลาดโดยรวมอยู่ก็ตาม

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

เราคาดว่าหุ้นกลุ่ม Value ญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่น ที่จะช่วยหนุน Valuation ที่ยังไม่แพง นอกจากนี้กลุ่มมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากเงินฝืดในญี่ปุ่นที่สิ้นสุดลง และจากการคุมเข้มทางการเงินของ BOJ (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล) ท่ามกลางความเสี่ยงที่หุ้นกลุ่ม Growth นำโดยกลุ่มเทคอาจพักฐานช่วงสั้น

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

การฟื้นตัวด้านการค้าโลกยังมีแรงส่งให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเร่งตัวต่อ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ฟื้นตัวได้ดียังคงค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มเทค

 

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มเปลี่ยนทิศทางมาเป็นอ่อนค่า เป็นแรงสนับสนุน Fund Flow ของหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

หุ้นอินเดีย

 

ความกังวลบนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านร่างนโยบายต่างๆ และความต่อเนื่องของนโยบายหลักบรรเทาลง หลังรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี ไม่ได้สับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ นโยบายภาคการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอินเดียจะดำเนินต่อไป แต่อาจจะมีนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนภาคการบริโภคมากขึ้น เราชอบหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่า และมี Valuation ที่ถูกกว่า และได้แรงหนุนจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ฟื้นตัว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ทำผลงานได้ดีกว่ามากเมื่อปีที่แล้วมีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไร เนื่องจากการประเมินมูลค่าที่สูง

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีมีปัจจัยหนุนในระยะยาวจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง จากภาคการบริโภคที่ฟื้นตัว ภาคการส่งออกที่ขยายตัว 3 เดือนติดต่อกัน และ FDI ที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้น จากการที่อินโดนีเซียมีแร่นิกเกิลจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า GDP ปี 2567 จะเติบโตที่ 4.7-5.5%

 

นอกจากนี้กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วง 2H67 ประกอบกับ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง ขณะที่ในระยะกลาง-ยาว ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าเกินระดับเป้าหมายของ BI ที่ 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ใน 1Q67 ที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำไปแล้ว และจากความคาดหวังการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม หลัง GDP ใน 2Q67 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้เราคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของดัชนีในสายตานักลงทุนกลุ่มต่างๆ ประกอบกับ ทางการจีนยังทยอยออกมาตรการจำกัดความเสี่ยงขาลง เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้นจีน

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้

 

2. เริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์

 

3. ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว

 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 23 ก.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories