THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
การค้าโลก
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

สัญญาณโลกแบ่งขั้วเริ่มชัด จับตา ‘การค้าโลกชะลอ-ห่วงโซ่อุปทานขาดตอน’ เสี่ยงกระทบส่งออกไทยในอนาคต

... • 13 พ.ค. 2023

HIGHLIGHTS

  • สัญญาณกระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับหรือ Deglobalization จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มมีความชัดเจนขึ้นจากหลายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ 
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่าห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังจะถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 วงใหญ่ๆ โดยมีวงที่เล็กกว่าในแต่ละภูมิภาคประกอบอยู่ด้วย แต่คาดว่าการออกแบบและสร้างห่วงโซ่ใหม่ของทั้งสองฝ่ายยังต้องใช้เวลา และในระยะสั้นต่างยังจำเป็นต้องพึ่งพากัน
  • เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวชะลอลงในระยะกลาง ขณะที่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนมีความเสี่ยงที่จะเกิดสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันและหา Product Champion ใหม่ๆ ใช้ความเป็นกลางดึงดูดการลงทุนจากทั้งสองขั้วเข้ามา เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ระบบการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จาก 2 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ กระจายความเสี่ยงของผู้ผลิตที่ได้รับบทเรียนจากช่วงวิกฤตโรคระบาดว่า การพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งหรือโรงงานใดโรงงานหนึ่งมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจของพวกเขาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นภายในห่วงโซ่การผลิต

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ต้องการให้ประเทศของตัวเองสามารถเข้าถึงวัตถุดิบสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแร่แรร์เอิร์ธ ได้ในกรณีที่ห่วงโซ่อุปทานโลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

 

โลกาภิวัตน์ย้อนกลับเริ่มส่งสัญญาณ

 

มีการประเมินกันว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทยอยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และอาจกินเวลาไปอีกหลายปีนับจากนี้ กว่าที่โลกจะเปลี่ยนผ่านจนเข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์มีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งปัจจุบันเค้าลางของการเปลี่ยนผ่านจากยุคโลกาภิวัตน์ได้เริ่มส่งสัญญาณออกมาให้เราได้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น การกระจายการค้าของสหรัฐฯ

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 3% โดยในปีที่ผ่านมาปีเดียวตัวเลขดังกล่าวปรับลดลงถึง 14% ซึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดกำแพงภาษีและข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออกของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กระตุ้นให้บริษัทสหรัฐฯ จำนวนมากหันไปนำเข้าสินค้าจากดินแดนอื่นๆ ในเอเชีย เช่น เวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน มาเลเซีย และไทย 

 

ขณะที่ผู้ผลิตจีนก็พยายามแก้เกมกำแพงภาษีและปัญหาในห่วงโซ่อุปทานด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตนอกประเทศ เช่น ในเวียดนาม ไทย และเม็กซิโก ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า เม็กซิโกกำลังกลายเป็นทางเลือกหลักที่บริษัทผู้นำเข้าจากสหรัฐฯ รวมถึงผู้ส่งออกชาวจีนบางรายที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง เข้าไปแย่งชิงพื้นที่เพื่อลงทุนทางอุตสาหกรรม 

 

โดยในปีที่ผ่านมาอัตราการใช้พื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมของเม็กซิโกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 97.5% และตัวเลขอาจสูงเข้าใกล้ 100% ในพื้นที่ติดกับแนวชายแดนของสหรัฐฯ เช่น ตีฮัวนา โอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทำให้ปัจจุบันเม็กซิโกมีแผนจะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ถึง 47 แห่ง โดยมีบางแห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีการเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Nearshoring Boom

 

ในอีกมิติหนึ่ง สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ก็ได้เร่งปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้ากับยุโรป โดยระงับการเก็บภาษีการค้าระหว่างกันมูลค่ากว่า 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการลดการนำเข้าจากจีน และหันมาพึ่งพายุโรปมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคือมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปที่ขยายตัวได้ถึง 13% ในปีที่ผ่านมา 

 

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลกคือ การที่ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันที่มีฐานการผลิตสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่ในจีน กำลังพยายามกระจายกำลังการผลิตของตัวเองออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ Apple ได้ขยายกำลังการผลิต iPhone ในอินเดียขึ้นถึง 3 เท่า ส่งผลให้สัดส่วนการผลิต iPhone ของอินเดียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7% จากการผลิตทั้งหมดของบริษัท

 

นอกจากอินเดียแล้ว เวียดนามก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับประโยชน์จากกระแสลดการพึ่งพาจีนของธุรกิจต่างชาติ โดยทั้ง Apple และ Samsung ของเกาหลีใต้ต่างย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากจีนมายังเวียดนาม โดยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมายังมีสถิติที่บ่งชี้ว่าการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากเวียดนามของสหรัฐฯ เติบโตขึ้น 186% ขณะที่การนำเข้าสินค้าประเภทเดียวกันจากจีนเติบโตแค่ 5% 

 

โลกแบ่งเป็น 2 วงใหญ่และหลายวงย่อย

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสการนำเอากระบวนการผลิตส่วนที่สำคัญกลับคืนมาประเทศตัวเอง (Reshoring) และการส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศพันธมิตร (Friend-shoring) ด้วยปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ต่างออกมาตรการจูงใจและกระตุ้นให้ภาคธุรกิจของตัวเองลดการพึ่งพาจีน

 

เกวลินประเมินว่าภาวะที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะข้างหน้าถูกแบ่งออกเป็น 2 วงใหญ่ คือ สหรัฐฯ และพันธมิตร กับจีนและพันธมิตร ซึ่งจะแตกต่างจากปัจจุบันที่ทั้งโลกถือเป็นห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน ใครที่ผลิตได้ดีและมีต้นทุนต่ำก็จะถูกจับเข้าไปเป็นหนึ่งในข้อต่อของห่วงโซ่การผลิต แต่ในอนาคตการผลิตและเทคโนโลยีอาจถูกแยกออกจากกัน ซึ่งประเด็นนี้จะสร้างความท้าทายต่อการค้าโลก 

 

“สหรัฐฯ ต้องการสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีความสำคัญจนก้าวขึ้นมาท้าทายตัวเองได้ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพราะทั้งคู่ต่างเป็นตลาดที่ใหญ่และมีนัยต่อกัน สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นคือการทยอยถอนธุรกิจสำคัญของตัวเองออกมาสร้างห่วงโซ่ใหม่ ซึ่งการสร้างและออกแบบต้องใช้เวลา” เกวลินกล่าว 

 

เกวลินมองว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งห่วงโซ่อุปทานของโลกจะถูกแยกออกเป็นวงกลมขนาดใหญ่ 2 วง แต่จะมีวงกลมขนาดเล็กซึ่งเป็นตัวแทนของห่วงโซ่ของภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน สอดแทรกอยู่ด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่เศรษฐกิจมีขนาดปานกลางและไม่ได้มีเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตัวเอง จำเป็นจะต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงต่างๆ เหล่านี้ให้ได้มากที่สุด

 

“เราต้องใช้สิ่งที่เราทำได้ดีเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามา ปัจจุบันเราเด่นด้านรถ EV และเครื่องปรับอากาศ เราก็ต้องทำให้ตัวเองแข็งแรงในด้านนี้ ขณะเดียวกันเราต้องพยายามสร้างผลิตภัณฑ์แชมเปียนตัวใหม่ๆ ขึ้น รวมถึงชูจุดแข็งเรื่องการเป็นสปริงบอร์ดไปสู่ตลาดอาเซียนที่มีประชากรถึง 600 ล้านคน เพื่อดึงดูดการลงทุน” เกวลินกล่าว

 

โลกเสี่ยงชะลอตัวในระยะกลางกระทบส่งออกไทย

 

ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า สัญญาณที่สะท้อนถึงภาวะโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ หรือ Deglobalization เริ่มมีความชัดเจนขึ้นในขณะนี้ เห็นได้จาก

 

  1. นโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ที่ออก CHIPS Act เพื่อกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของจีน และได้สนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรออกมาตรการคล้ายๆ กันด้วย

 

  1. การแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่าง 2 ขั้วจะรุนแรงขึ้น โดยจีนมีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถผลิตชิปให้เพียงพอต่อความต้องการได้ 70% และการแข่งขันอาจขยายไปสู่เทคโนโลยีอื่นๆ ด้วย เช่น Generative AI ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตมีแนวโน้มที่จะแบ่งเป็นขั้วๆ อย่างชัดเจน 

 

  1. เริ่มมีการใช้มาตรการ Protectionism มากขึ้น เช่น สหรัฐฯ อุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและ EV ภายในประเทศ โดยมีข้อกำหนดว่าชิ้นส่วนต้องผลิตในสหรัฐฯ หรือประเทศที่สหรัฐฯ มีสนธิสัญญาการค้าเสรีด้วย

 

  1. การแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและชาติอาหรับที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งชาติอาหรับเป็นผู้ส่งออกพลังงานสำคัญแก่จีน

 

ปุณยวัจน์ประเมินว่า ส่วนแบ่งการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าโลกอาจลดลง และเงินหยวนจีนจะเข้ามีบทบาทมากขึ้น โดยปัจจุบันหลายประเทศเริ่มศึกษาความเป็นไปได้และสนับสนุนเงินหยวนจีนทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ SCB EIC มองว่าการที่เงินหยวนจะทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งหมดเป็นไปได้น้อยมาก

 

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าการค้าระหว่างประเทศจะไม่แบ่งแยกขั้วอย่างชัดเจนในทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละประเทศยังต้องพึ่งพาระหว่างกันสูง แต่ Decoupling จะถูกจำกัดในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นในระยะต่อไปได้

 

สำหรับผลกระทบต่อไทย ปุณยวัจน์ระบุว่า การแบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้นของบางห่วงโซ่อุปทานจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงในระยะกลาง และมีความเสี่ยงที่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนจะมีสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้จะกระทบต่อการส่งออกไทย ขณะเดียวกันต้นทุนการทำการค้าก็อาจปรับสูงขึ้น ทั้งจากขั้นตอนการตรวจสอบในประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น หรือการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่อาจเพิ่มขึ้น

 

ในแง่ความน่าดึงดูดของไทย ปุณยวัจน์กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรและแรงงานไทยไม่น่าดึงดูดมากเท่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิต เช่น เม็กซิโก เวียดนาม และอินเดีย เนื่องด้วยจำนวนประชากรน้อยกว่า โดยเฉพาะสัดส่วนแรงงานที่มีอายุน้อย และค่าแรงสูงกว่า นอกจากนี้ ในด้านสัญญาการค้าเสรี ไทยอาจเสียเปรียบในบางด้าน เช่น เวียดนามมี CPTPP และเม็กซิโกมี USMCA 

 

อย่างไรก็ดี ความน่าดึงดูดของไทยจะมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนามากกว่า และการที่ไทยวางตัวเป็นกลางในด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จึงอาจเหมาะสมกับบริษัทต่างชาติที่ต้องการกระจายฐานการผลิต แต่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเลือกขั้วชัดเจน 

 

4 เรื่องที่ไทยต้องเร่งทำ

 

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เขียนบทความแสดงความเห็นในประเด็น ‘Deglobalization กับเศรษฐกิจไทย’ ไว้ในวารสารพระสยาม ฉบับเดือนมีนาคม 2566 ว่า การที่หลายประเทศพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง หรือ Inward Looking Policy มากขึ้น ถือเป็นข่าวลบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาศัยกระแสโลกาภิวัตน์ในการขับเคลื่อนในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา

 

ดังนั้นหากทั่วโลกมีการค้าขายระหว่างกันลดลง การส่งออกสินค้าของไทยย่อมลดลงตาม ยกเว้นเสียแต่ว่าไทยจะสามารถกินส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถชดเชยผลของการค้าโลกที่ลดลงได้ โดยยกตัวอย่างว่าระหว่างปี 2551-2564 มูลค่าการค้าโลกขยายตัวเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเฉลี่ย 4.7% ต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงค่อนข้างมากจากช่วงปี 2541-2550 ที่การค้าโลกและการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวโดยเฉลี่ย 9.9% และ 10.7% ต่อปี ตามลำดับ

 

ดอนระบุว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ไทยควรจะตั้งเป้าและพยายามทำใน 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 

 

  1. เพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก เพื่อชดเชยอัตราการขยายตัวที่ต่ำของการค้าโลก โดยการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในตลาดโลก รวมถึงการหา Product Champion ใหม่ๆ 

 

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2564 ส่วนแบ่งตลาดของการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลกอยู่ที่ 1.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตการเงินโลกที่ 1.1% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ต่ำกว่าในอดีตไม่ได้เกิดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยรวม แต่มาจากการค้าโลกที่ชะลอลงเป็นสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะคาดหวังให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกไทยในอนาคตสูงกว่า 5% ต่อปี คงจะต้องพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้นไปอีก เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนแบ่งในตลาดโลกของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 1.5%

 

  1. ใช้โอกาสดึงดูดการลงทุนจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในทุกวิกฤตมีโอกาส ในฐานะประเทศที่เป็นกลาง ไทยควรใช้โอกาสของแนวโน้มการแตกออกของห่วงโซ่การผลิตโลกในการดึงดูดการลงทุนจากทั้งสองขั้ว โดยต้องพยายามเป็นพันธมิตรกับทั้งสองประเทศ และทำตัวให้เป็นที่ดึงดูดการลงทุน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำเตี้ยมายาวนาน แต่ยังช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าได้อีกด้วย

 

  1. สร้างความยั่งยืนของการท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ โดยการเน้นคุณภาพ (รายจ่ายต่อหัว) ของนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว และการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในระยะสั้น

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่จะช่วยชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสินค้า ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้าอาจเพิ่มมากถึง 50 ล้านคนต่อปีได้

 

  1. กระจายความเสี่ยงไปสู่การส่งออกบริการอื่นที่มิใช่การท่องเที่ยว เช่น บริการด้านการเงิน บริการด้านไอที และการให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากบทเรียนสำคัญที่ไทยได้เรียนรู้จากวิกฤตโควิดคือ การพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจเครื่องยนต์ใดเครื่องยนต์หนึ่งมากเกินไปมีความเสี่ยง

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 13 พ.ค. 2023

READ MORE




Latest Stories