- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง จากรายงานการประชุม Fed ส่งสัญญาณเริ่มลดระดับความแรงของการขึ้นดอกเบี้ยลง ซึ่งสะท้อนภาพตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลง
- ตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลง ทำให้ Fed ส่งสัญญาณเริ่มลดระดับความแรงของการขึ้นดอกเบี้ยลง ทำให้ตลาดพันธบัตรเกิดความกังวลในเรื่องความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น
- โดยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่อยู่ระดับต่ำ จากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไปที่ลดลง แต่ดอกเบี้ยพันธบัตร 2 ปีไม่สามารถลดลงได้มาก เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นขาขึ้น
- InnovestX มองว่า Fed จะยังให้ความสำคัญกับการดูแลเงินเฟ้อให้กลับลงไปอยู่ในกรอบเป้าหมายในระยะต่อไป ทำให้ส่วนต่างจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนกว่าที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงในระยะต่อไปเมื่อความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลง
- สำหรับไทย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสถูกปรับขึ้นใน 2H22 ถึง 3 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ
สัปดาห์ที่ผ่านมาภาพตลาดการเงินปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องจากรายงานการประชุม Fed ส่งสัญญาณเริ่มลดระดับความแรงของการขึ้นดอกเบี้ยลง ซึ่งสะท้อนภาพตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลงในสัปดาห์ก่อน ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็ส่งสัญญาณชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอความร้อนแรงลง โดยล่าสุดยอดขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 24,000 ตำแหน่ง จากประมาณ 22,000 ตำแหน่งในช่วงก่อนหน้า
2. ตัวเลข Flash PMI Composite เดือนพฤศจิกายนของยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้นที่ 47.8 จาก 47.3 ในเดือนก่อน แม้จะอยู่ต่ำกว่าระดับกลางที่ 50 จุดก็ตาม ขณะที่ตัวเลข Flash PMI Composite สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 46.3 จาก 48.2 ในเดือนก่อน
3. ตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ของหน่วยงานต่างๆ ในปี 2023 ปรับลดลง โดย OECD มองว่าจะขยายตัว 0.5% ขณะที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของ WSJ อยู่ที่ 0.4% และมองโอกาสเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น ในขณะที่สำนักวิจัยต่างๆ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจยุโรปที่ดูดีขึ้น เช่น สำนักวิจัยบาร์เคลย์สมองว่าจะหดตัว 1.3% จากที่เคยมองกรณีเลยร้ายที่ -5% ผลจากอากาศที่อุ่น และปริมาณก๊าซสำรองที่มากขึ้น
4. สมาชิกชาติยุโรปมีท่าทีอ่อนลงในประเด็นการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย โดยตั้งเพดานราคาน้ำมันรัสเซียสูงถึง 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาน้ำมันรัสเซียในปัจจุบัน
5. รายงานจาก WSJ ระบุว่า สมาชิก OPEC+ กำลังเจรจาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันหากการคว่ำบาตรรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดเผชิญปัจจัยลบจากจีน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กลับขึ้นมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 30,000 คน และเป็นการระบาดในทุกมณฑลทั่วประเทศ โดยกว่า 80 เมืองมีการระบาดหนัก ทำให้รัฐบาลประกาศจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองสำคัญ เช่น ปักกิ่ง กว่างโจว และเทียนจิน ซึ่งการระบาดและการจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลส่งสัญญาณเตรียมลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก
ตลาดหุ้นปรับขึ้นหลังเงินเฟ้อชะลอตัว
สัปดาห์ที่ผ่านมาภาพตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลง เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอความร้อนแรงลง โดยล่าสุดยอดขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนี PMI ยุโรปยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด แม้เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง ด้านรายงานการประชุม Fed ส่งสัญญาณเริ่มลดระดับความแรงของการขึ้นดอกเบี้ยลง ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลงส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวชะลอลง แต่ระยะสั้นยังคงอยู่ระดับสูง ภาวะ Inverted Yield Curve รุนแรงขึ้น
โดยตลาด DM ปรับตัวขึ้นเด่นกว่าตลาดเอเชีย จากรายงานการประชุม Fed ส่งสัญญาณเริ่มลดระดับความแรงของการขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดโควิดในจีนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลประกาศจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองสำคัญ เช่น ปักกิ่ง เป็นต้น
ดัชนี SET Index แกว่งตัวในกรอบแคบ โดยปริมาณการซื้อขายชะลอตัว โดยเฉพาะนักลงทุนบุคคลในประเทศ ทั้งนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิก็ตาม อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ที่สูงเกินคาดที่ +4.5%YoY ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในส่วนของหุ้น Domestic Plays และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมือง เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่หุ้น ICT ปรับตัวลดลง
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ปรับลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 3.69% หลังตัวเลข CPI และ PPI สหรัฐฯ ต่ำกว่าคาด ขณะที่ระยะสั้น 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้นที่ 4.47% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี ปรับสูงขึ้นไปถึง 78 bps
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.69% ขณะที่ระยะสั้นอายุ 2 ปี ทรงตัวที่ 1.77% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 8,520 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาพตลาดการเงินมีความขัดแย้งกันมากขึ้น โดยทิศทางตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลง ทำให้ Fed ส่งสัญญาณเริ่มลดระดับความแรงของการขึ้นดอกเบี้ยลง แต่ตลาดพันธบัตรกลับกังวลในเรื่องความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น เห็นจาก IYC ที่รุนแรงมากขึ้นถึงกว่า 70% ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI ปรับลดงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดย InnovestX มองว่าประเด็นสำคัญของการที่ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรหดตัวรุนแรง เป็นเพราะผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่อยู่ระดับต่ำ จากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไปที่ลดลง แต่ดอกเบี้ยพันธบัตร 2 ปีไม่สามารถลดลงได้มาก เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นขาขึ้น ภาพเช่นนี้จะทำให้ภาวะ Inverted Yield Curve รุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดกังวลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม InnovestX มองว่า ณ ปัจจุบัน Fed จะยังให้ความสำคัญกับการดูแลเงินเฟ้อให้กลับลงไปอยู่ในกรอบเป้าหมายในระยะต่อไป ทำให้จะยังคงใช้ดอกเบี้ยนโยบายในการดูแลเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนกว่าที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงในระยะต่อไปเมื่อความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลง
“เชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไปได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”
แนวโน้มตลาด
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% (EM +0.3%, DM +1.8%) โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยแบบชะลอตัวลง ส่วนตลาด EM ที่มีแรงขายได้รับแรงกดดันจากจีนดำเนินมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดขึ้น หลังจากจำนวนผู้ป่วยใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หุ้นกลุ่ม Value (+1.7%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (+1.5%) หุ้นขนาดเล็ก (+1.8%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (+1.5%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงอย่าง Utilities และ Materials ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2-3% กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
ช่วงสั้นมอง SET ยังอยู่ในช่วงพักตัวและคงเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,640 จุด หลังตลาดยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ มาหนุนบรรยากาศลงทุน ดังนั้นกลยุทธลงทุนจึงแนะนำเป็น ‘Selective Buy’ โดยเน้นรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1. หุ้นที่คาดโมเมนตัมกำไร 4Q65 เติบโตแข็งแกร่ง YoY และ QoQ เลือก BBL, GULF, MAKRO, CRC, SPALI และ AOT
2. หุ้นเก็งกำไรที่คาดได้อานิสงส์จากเทศกาลฟุตบอลโลก (เริ่ม 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2565) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เลือก CPALL, CENTEL และ MINT
ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
1. หุ้นที่คาดถูกนำออก SET50 ซึ่งจะประกาศ 16 ธันวาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ใน 1H66 เช่น BLA, IRPC, KCE และ SAWAD (SET100 ที่คาดถูกนำออก MAJOR, STEC, SUPER, SYNEX, TASCO และ TTA)
2. หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่า และผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q65
3. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. การประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งตลาดคาดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 1.25% และรายงานภาวะเงินเฟ้อของไทยเดือนพฤศจิกายน
2. การประชุม ครม. เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในวันที่ 29 พฤศจิกายน เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5, คนละครึ่ง เฟส 6 และช้อปดีมีคืน
3. รายงาน GDP 3Q65 (ครั้งที่ 2) และรายงานภาวะตลาดแรงงานของสหรัฐฯ
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: MINT - ผลประกอบการมีทิศทางเป็นบวก
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- ดำเนินธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ NH Hotel Group ซึ่งเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในทวีปยุโรป
- ผลประกอบการมีทิศทางเป็นบวก แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการเดินทางกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งคาดหนุนการดำเนินงานของธุรกิจในยุโรป (51% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) และธุรกิจในไทย (26% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) ให้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
- 4Q65 คาดผลประกอบการปกติจะดีขึ้น YoY แต่อ่อนตัว QoQ จากผลกระทบฤดูกาลในยุโรป ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น (ต้นทุนค่าสาธารณูปโภค ~4% ของรายได้) ในยุโรปคาดผลกระทบค่อนข้างจำกัด เพราะบริษัททำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเพื่อล็อกราคาและปริมาณการใช้ไฟฟ้าไว้จนถึงสิ้นปี 2565 และกว่า 60% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่คาดการณ์ในปี 2566
- ปี 2565 คาดมีกำไรปกติ 1,400 ล้านบาท จากขาดทุนปกติ 2,900 ล้านบาท ในปี 2564 ขณะที่ปี 2566 คาดกำไรเพิ่มเป็น 5,800 ล้านบาท และฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโควิดที่ราว 7,200 ล้านบาท ในปี 2567
- Valuation ยังไม่แพง โดยราคาหุ้นปัจจุบันเทรด PBV 2023F ที่ 1.9x (-1SD) อีกทั้งประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 38 บาท (อิงวิธี DCF)
ลดน้ำหนักลงทุนในหุ้น แต่เพิ่มน้ำหนักในตราสารหนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา InnovestX ปรับลดน้ำหนักในหุ้นสหรัฐฯ และเพิ่มน้ำหนักในตราสารหนี้ไทยและพันธบัตรต่างประเทศ
โดยได้ปรับลดมุมมองตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก Slightly Positive เป็น Neutral จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ขณะที่ Valuation ค่อนข้างตึงตัวในปัจจุบัน โดยมองว่าตลาด Price In การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว ขณะที่ความเสี่ยงในการปรับลด Earning ในปีหน้ามีมากขึ้น InnovestX จึงให้ลดน้ำหนักในการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ลง และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งไทยและพันธบัตรต่างประเทศมากขึ้น
ในส่วนหุ้นยุโรป InnovestX คงมุมมอง Slightly Negative จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นจากการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย นอกจากนั้น แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ที่เร็วขึ้นก็เป็นปัจจัยลบต่อยุโรปเช่นกัน
ในญี่ปุ่น ยังคงมุมมองที่ Neutral จากความเสี่ยงสงครามในยูเครน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง ทำให้เงินเยนยังคงอ่อนค่า
ในส่วนของจีน คงมุมมองการลงทุนที่ Neutral จากการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่อาจดำเนินการต่อเนื่องหลังการสาบานตนรับตำแหน่งสมัยที่สามของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“InnovestX คงมุมมองต่อหุ้นไทย Slightly Positive ตามความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย จาก Fed ที่อาจเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสถูกปรับขึ้นใน 2H22 ถึง 3 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี หุ้นไทยอาจยังพอมี Upside จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทางการ ขณะที่ Valuation ของตลาดฯ ที่ยังไม่แพง จึงทำให้ Downside ตลาดฯ ค่อนข้างจำกัด”
ความเชื่อมโยงของ Yield Curve กับการลงทุน
- ตลาดตราสารหนี้มักจะมีเหตุผลในการลงทุนมากกว่า และสามารถทำนายภาพเศรษฐกิจได้ดีกว่าตลาดหุ้น จึงนำรูปแบบของ Yield Curve มาวิเคราะห์การจัดสรรการสัดส่วนลงทุนและการเลือกกลุ่มลงทุนของหุ้น
- ในช่วงนี้เราอยู่ในช่วงระหว่าง Bear Flattening (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น และส่วนต่างตัวสั้นมากกว่าตัวยาว) กำลังจะไปสู่ Bull Flattening (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และส่วนต่างตัวสั้นมากกว่าตัวยาว) ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังใกล้จุดสูงสุด รวมถึงเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง และกลุ่มพลังงานเริ่มให้ผลตอบแทนที่ลดลง
- แต่อย่างไรก็ดี ในสองช่วงเวลานี้ตลาดหุ้นจะยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกในกรอบแคบ และหุ้นกลุ่มเชิงรับเริ่มให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกลุ่มเชิงวัฏจักร ตลาด EM และ DM ไม่มีความต่างในแง่ผลตอบแทนมากนัก
- นักลงทุนควรให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูงขึ้นในพอร์ตการลงทุน เพื่อป้องกันความผันผวนที่สูงขึ้น ในกรณีที่มีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น (หากมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย Yield Curve อาจจะเปลี่ยนเป็น Bull Steepening (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และส่วนต่างตัวสั้นน้อยกว่าตัวยาว)) ซึ่งตลาดจะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเชิงวัฏจักร
- ดังนั้นจึงมองว่าตราสารหนี้เป็นชั้นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจทั้งจาก 1. ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น 2. ดอกเบี้ยกำลังจะถึงจุดสูงสุด 3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่ รวมถึงในปีนี้ปรับตัวลดลงแรง ในขณะที่หุ้น เราเน้นหุ้นที่เป็นเชิงรับและมีปัจจัยพื้นฐานดีอย่าง UNH, MCD, SBUX, WMT, PG และ KO (EU เน้น ENEL, ULVR, NESN และ DTE)
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 4
InnovestX มีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสด และ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดัน จากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแทรกแซงค่าเงิน
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เราปรับมุมมองต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ จาก Neutral เป็น Slightly Positive โดย UST Yield ระยะสั้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตาม Dots ใหม่ของ Fed ที่จะถูกเปิดเผยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ที่มีแนวโน้มถูกปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และ Terminal Fed Funds Rate อาจสูงกว่าที่เคยประเมินไว้
อย่างไรก็ดี สัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง น่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ขณะที่ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง จะชะลอการเพิ่มขึ้นของ 10y UST Yield
กองทุนแนะนำ
Krungsri Yenjai Fund
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดย Bond Yield และ Corporate Spread ของไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นรุนแรง โดยเฉพาะ Long-End ที่ปรับลดลงมาก ส่วนหนึ่งมาจากต่างชาติที่กลับเข้ามาในตลาดไทย ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มเงินบาทที่ถูกคาดว่าจะแข็งค่าขึ้น รวมถึงแรงซื้อจากบริษัทประกัน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้นและดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง เรายังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ Unrated Bond และ HY
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีก จากความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตที่ยังมีอยู่ ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ต่างประเทศของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาจีน
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และความกังวลเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของ บจ. ใน DM ใน 3Q65 ที่ส่วนใหญ่ดีกว่าคาด และ Valuation ของตลาดหุ้น DM ที่กลับมาสมเหตุสมผล จะยังช่วยพยุงตลาดโดยรวม
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
เราปรับมุมมองตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก Slightly Positive เป็น Neutral แม้ Valuation ของตลาดลดความตึงตัวลง และแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนของ บจ. สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะช่วยประคองตลาด แต่เรามองว่าตลาดยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันหลักจาก Earnings บจ. สหรัฐฯ ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง (อาจทรงตัวถึงขยายตัวได้เล็กน้อย) และตลาดยังมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนบนการเคลื่อนไหวของ UST Yield จนกว่าจะเห็นสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นยุโรป เรามองว่าตลาดหุ้นได้มีการปรับตัวขึ้นมามาก ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดันจากต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของ ECB จะยังคงเป็นปัจจัยกดดัน ในขณะที่การดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างการคลังและการเงินอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนี้สาธารณะในระยะกลางได้ อีกทั้งการปรับเงื่อนไขในโครงการ TLTRO มีโอกาสนำไปสู่การชะลอตัวในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งยังกดดันภาพการลงทุนในหุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในระยะสั้น Sentiment การลงทุนยังคงถูกสนับสนุนด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวยังคงกดดันภาพการลงทุนในระยะกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นวัฏจักร ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าและส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มมีการเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่า BOJ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในเร็วๆ นี้
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ของดัชนีที่ไม่แพง ความคาดหวังของนักลงทุนต่อทั้งประเด็นการเปิดเมืองของจีน และประเด็นความเสี่ยง ADRs Delisting อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังน่ากังวล โดยเฉพาะการกีดกันเทคโนโลยี ประกอบกับการระบาดในจีนที่ยังน่ากังวล และมีความไม่แน่นอนสูง เงินหยวนที่อ่อนค่า และการทยอยผลักดัน Common Prosperity ของทางการจีนที่ยังมีอยู่ จะยังคงกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม รวมถึงอาจเผยแนวทางเกี่ยวนโยบายด้านโควิดในระยะถัดไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุม CEWC กลางเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนเริ่มคาดหวังมากขึ้นเกี่ยวกับกับแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน แต่เราคาดว่าทางการจีนมีแนวโน้มยกเลิก Zero-COVID ในช่วง 2Q66 นอกจากนี้ ภาคอสังหาที่ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ และการระบาดในจีนล่าสุดที่กลับมาเร่งตัวขึ้น จะยังกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจาก EPS ที่ยังโตได้ต่อเนื่องตามเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (โดย 3QGDP เติบโตสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาสที่ 4.5%YoY ตามการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ ในระยะต่อไปยังมีโอกาสโตได้ โดยเฉพาะ Export of Services ที่ยังต่ำกว่าช่วง Pre-COVID) ขณะที่มีแรงหนุนจาก Fund Flow ผลจากหุ้นไทยที่ผันผวนต่ำกว่าภูมิภาค และเงินบาทที่จะกลับมาแข็งค่า ทั้งนี้ ควรเน้นหุ้นกลุ่ม High Quality ที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวและดอกเบี้ยขาขึ้น แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มส่งออก
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าในระยะกลางถึงยาว ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังเติบโตสูง (ทางการเวียดนามตั้งเป้า GDP ปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 6.5%) และผลประกอบการ บจ. เวียดนามที่ยังขยายตัวได้ดี (ปี 2566 ยังขยายตัวสองหลัก) ขณะที่ Valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ไม่แพง แต่การที่ Sentiment รายย่อยในประเทศยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ ตามความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตของทางการเวียดนามที่ยังมีอยู่ ประกอบกับความกังวลปัญหาสภาพคล่อง และความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาที่มีอยู่ จะยังคงกดดัน Sentiment การลงทุนบนตลาดหุ้นเวียดนาม
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นอินโดนีเซีย โดย GDP 3Q65 โตสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส (ตามการลงทุนในประเทศที่เร่งตัวขึ้น การส่งออกที่ได้แรงหนุนจากสินค้าโภคภัณฑ์และการท่องเที่ยว) สอดรับไปกับผลประกอบการ 3Q65 ที่ยังเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์, Infrastructure, การเปิดเมือง และภาคธนาคาร แม้ในระยะข้างหน้าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจอ่อนตัวลง ท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง แต่การลงทุนในประเทศและการเติบโตของชนชั้นกลางจะยังช่วยหนุนให้ EPS เติบโตต่อเนื่อง
กองทุนแนะนำ
SCB Indonesia Equity Fund
- กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางที่อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และกังวลต่อความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น รวมทั้ง 2. ธนาคารกลางต้องการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่เรามองว่าราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์น้ำมันในช่วงฤดูหนาว
ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จาก 1. กลุ่ม OPEC+ ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และ 2. การคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยหลักสำคัญคือ LT Bond Yield ซึ่งนโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูง ยังกดดันให้ Yield อยู่ในระดับสูง ลดทอนการฟื้นตัวของผลตอบแทนรวมของ REITs นอกจากนี้ ยุโรปยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบต่ออัตรากำไรของ REITs ขณะที่กลุ่มสำนักงานถูกกดดันจากการทำงาน WFH & Hybrid ที่ยังมี (แม้โควิดคลี่คลาย) และกระแสการเลิกจ้างที่กระทบต่ออัตราการปล่อยเช่า (Take-up Rate) โดยเฉพาะผู้เช่าที่เป็นกลุ่ม Tech Firm
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) แม้เอเชียถูกกระทบจาก LT Bond Yield แต่ไม่รุนแรงเท่ากับ DM โดยเฉพาะไทย ขณะที่ยังมีปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเปิดเมือง (Upside Risk ที่มาจากการเปิดเมืองของจีน) และ Relocation-FDI หนุนกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม/โกดัง อย่างไรก็ตาม ในภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีอยู่ (ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง) เรายังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยง REITs ที่มีหนี้สูง/สภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลลบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?