สุทธิชัย หยุ่น ผู้ก่อตั้งเนชั่น และอดีตประธานกรรมการบริษัท ให้สัมภาษณ์ในรายการ Talk Together กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ที่ออกอากาศในช่วงคืนวันพุธที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา พูดถึงกรณีเนชั่นทีวีนำเสนอข่าวคลิปเสียงปริศนา โดยชี้แจงอย่างละเอียดถึงความเหมาะสมในวิชาชีพของคนทำสื่อ ทั้งยังบอกอีกด้วยว่าตลอดอายุขัย 47 ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของ ‘เนชั่น’ ไม่เคยถูกกล่าวหาเช่นนี้มาก่อน
สุทธิชัยบอกว่าปัจจุบัน ตนและเนชั่นไม่ได้เกี่ยวข้องกันแล้ว หลังตัดสินใจเกษียณตัวเองมาครบ 1 ปีเต็มตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วเพื่อมาทำสื่อ ‘กาแฟดำ’ ส่วนปรากฏการณ์การนำเสนอข่าวคลิปเสียงที่เกิดขึ้นของเนชั่นทีวี สังคมไทยก็ได้ตัดสินแล้วว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
“เนชันที่ผมเคยทำนั้น มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Nation Way ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา’ คู่มือจริยธรรมคนทำข่าวของเครือเนชั่น ถ้าเปิดดูแล้วอ่านเพื่อจะตอบการกระทำครั้งนี้ที่ท่านเห็นถูกหรือผิด ถ้าไปอ่านก็จะรู้ว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่า ‘ผิดจริยธรรม’ ดังนั้นสำหรับผมเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด เป็นเรื่องที่คนที่เกี่ยวข้องจะต้องทบทวนเพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือของคนทำสื่อ ไม่จำกัดเฉพาะกับเนชั่น ในภาวะปัจจุบันที่มีการหาเสียง มีความพยายามให้ข้อมูลทั้งด้านบวกและลบต่อพรรคการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อจะต้องระมัดระวังในการตรวจสอบข่าวก่อน”
อดีตผู้บริหารเนชั่นบอกว่า ในสภาวะเช่นนี้ ประชาชนมีความคาดหวังสูงมากว่าสื่อจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบให้เขา ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นการตัดสินใจของเนชั่นทีวีครั้งนี้ที่นำเสนอข่าวโดยอ้างว่ามีคลิปนี้อยู่ในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ไม่ยืนยันว่าถูกหรือผิด เป็นสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘Gate Keeper’ หรือผู้เฝ้าประตูที่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าอะไรควรจะผ่านหรือไม่ควรผ่านประตูนี้
“หากเราเป็น Gate Keeper แต่บอกว่าอะไรก็ผ่านเข้ามาได้ แล้วให้คนที่อยู่ในบ้านตัดสินเอาเอง นั่นแสดงว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ของ Gate Keeper ผมเชื่อว่าสื่อก็อ้างตัวเองเป็นกระจกเงาของสังคมด้วย กระจกเงาของสังคมจะต้องสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก กระจกจะต้องสะท้อนความเป็นจริง กระจกมัวๆ แตกหรือร้าวไม่สามารถทำหน้าที่ที่ถูกต้องได้ครับ คำตอบของผู้บริหารเนชั่นทีวีที่ออกมาบอกว่าทำหน้าที่ตามหลักจรรยาบรรณแล้ว ท้ายที่สุดประชาชนก็คงตัดสินว่าจริงหรือไม่จริง
“การทำสื่อไม่ใช่ว่าทุกกรณีจะต้องไปตัดสินกันที่ศาล ศาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับสื่อคือ ศาลประชาชนหรือ Public opinion court เป็นศาลที่มาจากมติประชาชน บางเรื่องอาจจะถูกต้องตามกฎหมายแต่ผิดหลักจริยธรรมก็มี เพราะว่าจริยธรรมนั้นอยู่เหนือกฎหมาย จริยธรรมคือส่ิงที่ประชาชนคาดหวังจากเราในฐานะคนทำสื่อ เพราะสังคมให้เกียรติกับคนทำสื่อเป็นฐานันดรที่ 4 สังคมตั้งมาตรฐานของคนทำสื่อมากกว่ามาตรฐานของคนปกติทั่วไป มิฉะนั้นเขาจะไม่ให้เราเข้าไปทำข่าวตามสถานที่ต่างๆ หรือออกบัตรสื่อเพื่อให้คุณได้มีสิทธิคุยกับคนนี้คนนั้น
“ดังนั้นที่คุณธนาธรบอกว่า เรื่องนี้เขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนชั่นไม่ควรจะทำอย่างนี้ ควรจะมีมาตรฐานจรรยาบรรณ นั่นก็เป็นสิทธิของนักการเมืองผู้ตกเป็นข่าว สื่อเองนอกเหนือจากจะต้องอธิบายให้คุณธนาธรทราบแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องอธิบายให้ประชาชน สังคมได้เข้าใจด้วยว่าที่ทำไปด้วยเหตุผลอะไร ถ้าตีความตามหลักการ Nation Way คู่มือจริยธรรมของเนชั่นที่พวกเราซึ่งมียี่ห้อเนชั่นติดอยู่ที่หน้าผากตลอดเนี่ย จะบอกว่าเรื่องนี้สุ่มเสี่ยงและจำเป็นจะต้องตอบให้ได้ในสาธารณสถานทุกจุด”
นอกจากนี้สุทธิชัยยังย้ำอีกด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนสำหรับสื่อมวลชนทุกสื่อ เนื่องจากปัจจุบันสื่อทุกแขนงล้วนแล้วแต่ถูกตั้งคำถามโดยประชาชนมาตลอดว่าทำหน้าที่ตามที่ได้รับมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว ให้ความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว นำเสนอข่าวชิ้นเดียวในหลายมิติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่
“การที่สื่ออ้างว่ามีการกล่าวหาคุณแบบนี้ เราปล่อยออกไปก่อน แล้วคุณมาอธิบายหรือตอบโต้หลังจากที่เราออกอากาศไปแล้ว ในหลักปฏิบัติแล้วไม่ถูกต้องครับ ในหลักปฏิบัติจะต้องพิสูจน์ได้ว่าคุณได้พยายามให้อีกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นว่าที่เขาถูกกล่าวหามีคำตอบ หากคุณพยายามแล้วเขาไม่ตอบคุณ เวลากระชั้นชิด หรือไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ คุณต้องบอกไว้ในข่าวนั้นว่า คุณได้พยายามติดต่อผู้ที่เป็นข่าวแล้ว แต่เขาไม่ตอบ ไม่สามารถให้เขาตอบได้ หรือเขาไม่สะดวกที่จะตอบ คุณต้องบอกกล่าวไว้ในข่าวนั้นด้วยเพื่อให้ผู้บริโภคข่าวจะสามารถเข้าใจได้ว่าข่าวนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
“ผมเชื่อว่านี่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงบทบาทของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย เช่นเดียวกันสำหรับตัวสื่อเองด้วย กรณีที่ผ่านมาสื่อถูกแกล้งก็มี ไม่ใช่ว่าไปกระทำเขาอย่างเดียว สื่อถูกกระทำก็มี แต่ไม่มีข้ออ้างที่บอกว่า ฉันมีสิทธิตัดสินว่าคุณถูกหรือผิดด้วยข้อมูลเพียงหนึ่งชิ้นหนึ่งกรณี เนื่องจากคุณกำลังจะโน้มน้าวให้คนเชื่อตามคุณ การที่คุณจะโน้มน้าวให้คนเชื่อตามคุณ คุณต้องให้เหตุผลที่มากกว่าหนึ่งฝ่าย ซึ่งโดยสามัญสำนึกและวิชาชีพ คุณทราบว่ามันไม่สมบูรณ์พอ
“ผมในฐานะเป็นคนข่าวและในฐานะที่เคยทำเนชั่นมาตลอดชีวิต เมื่อมีชื่อของเนชั่นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้ทั้งๆ ที่ผมไม่เกี่ยว คุณก็พอจะเดาได้ว่าความรู้สึกของคนที่มีความเป็นเนชั่นอยู่ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน เขาย่อมรู้สึกว่าสิ่งที่เขาสร้างมาตลอด ทำไมวันนี้มันกลายเป็นอย่างนี้ ทำไมวันนี้จึงมีคำถาม เขาไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมาตอบเพราะตลอดชีวิตของเนชั่นที่ตั้งมา 47 ปี ชื่อนี้ไม่เคยถูกกล่าวหาในกรณีลักษณะเช่นนี้มาก่อน ชื่อนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ และผมก็หวังว่าคนที่ทำเนชั่นอยู่ทุกวันนี้จะช่วยกันปกปักรักษาชื่อเสียง ไม่ใช่สำหรับคนเนชั่นในอดีตหรือปัจจุบัน แต่สำหรับวงการสื่อที่กำลังถูกจับตาและถูกตั้งคำถามในภาวะที่คนคาดหวังว่าสื่อจะต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลเต็มที่ครบทุกมิติ เป็นธรรม ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: