วันเลือกตั้ง

มองกลยุทธ์เหนือเมฆของพรรคไทยรักษาชาติ จากทางเลือกสู่ทางหลัก และเกมจะพลิกไปอย่างไร

โดย THE STANDARD TEAM
08.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ดร.สติธร ธนานิธิโชติ มองว่า กลยุทธ์ของพรรคไทยรักษาชาติมาแบบเหนือเมฆ ถ้ากระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ อาจจะกลายเป็นที่ 1 ในการเลือกตั้งครั้งนี้
  • กลยุทธ์นี้กระทบต่อคนเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ใช่คนที่ชอบประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นๆ ขณะเดียวกันคนชอบพรรคไทยรักษาชาติก็อาจจะเปลี่ยนใจได้เช่นกัน

 

 

คำว่า ‘อึ้งและทึ่ง’ อาจจะบรรยายความรู้สึกของคนไทยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ได้ไม่เพียงพอ

 

หลังเซอร์ไพรส์ทางการเมืองเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาของพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยื่นเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงรายชื่อเดียวต่อ กกต. ต่อเนื่องมาถึงช่วงบ่ายที่พรรคพลังประชารัฐ โดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นำทีมยื่นเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงรายชื่อเดียวเช่นกัน

 

สองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย และอาจพลิกโฉมหน้าการเลือกตั้ง 2562 ไปอย่างสิ้นเชิง THE STANDARD จึงชวน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า มาวิเคราะห์กลยุทธ์แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรค ก่อนจะปูทางไปถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้

 

 

ภาพรวมสถานการณ์การเมืองไทย

ภาพรวมก็มีทั้งอารมณ์ตกใจ ช็อก ตื่นเต้น บางคนก็ดีใจ บางคนก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะแสดงออกทางอารมณ์อย่างไรดี ถ้าจะให้วิเคราะห์หรือมองเกมการเมืองต่อจากนี้ ต้องบอกด้วยความสัตย์จริงว่า ที่เคยวิเคราะห์กันมาก่อนหน้านี้ขอให้ลืมไปให้หมดเลย ไม่ว่าจะมาจากผู้เชี่ยวชาญระดับไหน เพราะปัจจัยใหม่ที่เข้ามาวันนี้จะพลิกเกม

 

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่บุคคลผู้สูงศักดิ์สละฐานันดรมาลงเล่นการเมืองหรือไม่

ในประเทศกัมพูชา เจ้านโรดม รณฤทธิ์ฯ (สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์) ก็เคยมาตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง แล้วก็แพ้ แพ้เยอะด้วย ได้ไม่กี่ที่นั่ง เพราะฉะนั้นหมายความว่าไม่ได้ได้เปรียบเสมอไป ต้องเข้าใจว่าสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยกับประเทศอื่นต่างกัน อย่างของกัมพูชาเขาเคยมีสถาบันแล้วก็หายไป แต่ภายหลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นความอ่อนไหวของประเด็นนี้จะไม่เท่ากัน ไม่ได้กระทบความรู้สึกเหมือนกัน ซึ่งในกรณีของประเทศไทยค่อนข้างอ่อนไหวกว่า

 

มองกลยุทธ์ของพรรคต่างๆ ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร

กลยุทธ์ของแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน บางพรรคก็เลือกจะเก็บแต่เขตอย่างเดียว บางพรรคก็เลือกเก็บแต่บัญชีรายชื่ออย่างเดียว ก็ยิ่งทำให้แต่ละพรรคต้องปรับกลยุทธ์ตาม มีหลากหลายแพตเทิร์นแบบนี้มองยาก

 

ก่อนวันนี้ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยเน้นเก็บเขต ส่วนพรรคน้องๆ ก็จะเก็บเขตที่ตกหล่น โดยเอาสถิติการเลือกตั้งปี 2554 เป็นฐาน เขตไหนที่เพื่อไทยเคยชนะขาดก็เก็บไว้เกือบหมด ส่วนเขตไหนที่เคยแพ้แล้วทิ้งห่าง ก็ให้พรรคน้องๆ ไปสู้กัน แบ่งกันชัดเจน หรือเรียกว่ากลยุทธ์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แตกก่อนรวมทีหลัง

 

ดังนั้นคู่แข่งวันนี้ของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ประชาธิปัตย์ แต่คือพลังประชารัฐ ยิ่งได้ชื่อพล.อ. ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตก็ยิ่งชัดเจน เพราะจุดแข็งของพลังประชารัฐคือการสืบสานนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน แรกเริ่มเดิมทีก็มองว่าน่าจะได้เปรียบตรงที่ถึงแม้ว่าจะแพ้เขต แต่ก็จะมีคะแนนสะสมเป็นบัญชีรายชื่อ แต่พอเจอยุทธศาสตร์แตกแบงก์พัน เขาก็ไม่เน้นบัญชีรายชื่ออย่างเดียวแล้ว เพราะต้องไปสู้ที่เขต จึงต้องใช้พลังดูด ส.ส. ของทุกพรรค เพื่อจะดึงคะแนนกลับมาให้ได้มากที่สุด เรียกว่าตีทั้งบนทั้งล่าง และยังมี ส.ว. อีก 250 เสียงอีก ซึ่งเชื่อกันว่า ส.ว. น่าจะมีเอกภาพเป็นเสียงเดียวกัน เพราะมีต้นทางมาจากแหล่งเดียวกัน เวลายกมือก็คงไปในแนวทางเดียวกัน เพราะคนแต่งตั้งเป็นคนเดียวกัน แต่นั่นคือกลยุทธ์ก่อนหน้านี้

 

 

แล้ววันนี้กลยุทธ์จะเป็นอย่างไร

ตอนนี้ผู้สมัครและแคนดิเดตคงอึ้งอยู่ ถ้าสถานการณคลี่คลายทุกคนน่าจะทำงานหน้าที่แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคตามปกติ ลงไปหาเสียงตามปกติ

 

จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบแค่ไหนในการหาเสียง

ผมเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายยอมเข้าสู่เกมกติกาการเลือกตั้ง ทุกคนก็จะทำหน้าที่ของตัวเองตามปกติ

 

ประชาชนจะมีวิธีการในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร

ศึกษาให้ดีว่าพรรคที่เราชอบเขาเสนอนโยบายอะไร หรืออยากได้ใครเป็นนายกฯ ก็เลือกที่เราชอบ ที่สำคัญอย่าลืมศึกษากติกาใหม่ด้วย โดยเฉพาะระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะได้ไม่ต้องตกใจอีกทีตอนผลออกมา เพราะในระบบที่เราเหลือกันคนละคะแนน คะแนนเราจะมีค่ามาก ไปๆ มาๆ เราอาจจะต้องเลือกในสิ่งที่เรามีความหวังมากที่สุด มากกว่าจะเลือกพรรคทางเลือก ซึ่งพรรคทางเลือกเขาก็จะมีกลยุทธ์ของเขาในการสร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้  

 

มองกลยุทธ์ของพรรคไทยรักษาชาติอย่างไร

ทษช. เหนือเมฆ ซึ่งตอนนี้พรรคเองก็เริ่มเพิ่มจำนวนผู้สมัครแบบเขตเพราะเห็นกระแสตอบรับ และกระแสถ้ามาจริง อาจจะกลายเป็นที่ 1 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่มองว่าจะเก็บแต่คะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่ออาจใช้ไม่ได้แล้ว บรรดาคนที่ไปนั่งรออยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับที่ 20 กว่าถึง 30 อาจจะหนาวๆ ร้อนๆ เพราะสัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ได้อาจจะลดลงมาตามจำนวน ส.ส. เขตที่เพิ่มขึ้น

 

มีผลกระทบต่อคนที่จะเลือกพรรคอื่นไหม

จริงๆ กระทบทั้งหมด ไม่ใช่คนที่ตั้งใจจะเลือกประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นๆ อาจจะกลับมามองไทยรักษาชาติมากขึ้น ตัวคนที่ตั้งใจจะเลือกไทยรักษาชาติเองก็อาจจะเปลี่ยนใจได้เหมือนกัน ของแบบนี้มีบวกมีลบ แต่ดูแล้วบวกน่าจะเยอะกว่า

 

 

หลายคนมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แฟร์เกมตั้งแต่แรก พอสถานการณ์ออกมาแบบนี้มองว่าจะทำให้มีความแฟร์มากกว่าเดิมหรือไม่

ถ้ามองว่าไม่แฟร์จากการออกแบบรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่ามันถูกดึงกลับมาให้มีความแฟร์มากกว่าเดิม 250 เสียงของ ส.ว. อาจจะเป็นอิสระมากขึ้น

 

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องไปหาเสียงไหม

ไม่จำเป็น จริงๆ กกต. ก็ค่อนข้างจะเข้มงวด กรณี พล.อ. ประยุทธ์ ก็จะดีเบตกับแคนดิเดตพรรคอื่นๆ ไม่ได้ ที่ทำได้คืออาจจะใช้ภาพหรือชื่อไปหาเสียง แต่ดีเบตก็ต้องคิดหนัก ยกเว้นจะเป็นเวทีของ กกต. เอง

 

การนำเสนอข่าวต้องรอความชัดเจนจากใคร

จริงๆ น่าจะมี 2 หน่วย คือรัฐบาลแน่นอน สองคือสำนักพระราชวัง ลองทำหนังสือไปถามดู

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising