วันเลือกตั้ง

วิเคราะห์สูตรตั้งรัฐบาล ผ่านมุมมอง ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ในเกมเลือกตั้ง 2562

21.03.2019
  • LOADING...
Satithorn Thananitichote

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ตัวเลขขั้นต่ำของจำนวน ส.ส. คือ 25 คน ที่แคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรคจำเป็นต้องมีตุนไว้ในกระเป๋า ถึงจะมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า
  • ดร.สติธร เชื่อว่า ส.ว. 250 คน มีโอกาสแตกแถว หากพรรคฝ่ายประชาธิปไตย พรรคขนาดกลาง ร่วมจับมือกันมั่นเกิน 280 คน และสูตรจับมือตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้ทุกโมเดล

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ชวนจับตาโค้งสุดท้ายสู่การเลือกตั้ง 2562 พร้อมวิเคราะห์ 4 โมเดลการจัดตั้งรัฐบาลออกมาเป็นแบบไหนได้บ้าง

 

รวมถึง 7 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ จาก 4 พรรค ที่จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้เงื่อนไขความเป็นจริง ทั้งการมี 250 ส.ว. การต้องได้ ส.ส. ของพรรคนั้น 25 คนขึ้นไปจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

 

อ่านทุกความเป็นไปได้ในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ได้จากบทสัมภาษณ์นี้

 

โค้งสุดท้ายกับการเลือกตั้งล่วงหน้าที่คนออกมาใช้สิทธิเกือบ 90% นี่คือการตื่นตัวทางการเมือง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวแปรที่จะทำให้เกิดรัฐบาลผสม ตัวแปรที่คนยังมองไม่ออกคืออะไร

แนวโน้มไปทางรัฐบาลผสมแน่ๆ คือพรรคคะแนนเกินร้อย 3 พรรค เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ จาก 500 ส.ส. ทีนี้โจทย์อยู่ที่ว่าเพื่อไทยที่ไปเล่นเกมแตกแบงก์พัน เขาก็เลยปิดประตูตัวเองว่าโอกาสที่จะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงถล่มทลาย 251 ดังนั้นเขาก็ต้องเอา ส.ส. เขตให้ได้เยอะ และการให้ได้เขตเยอะ ไม่ใช่การต้องเอาคะแนนให้เยอะนะ ขอคะแนนเอาแค่ชนะ คัดมาเลย 200 เขตเน้นๆ จากที่ส่งไป 250 เขตไหนคิดว่าไม่ชนะแน่ๆ หรือเบียดๆ ยกให้เพื่อนไปเถอะ ดีกว่าเอามาเก็บไว้แล้วเสียงตกน้ำหมด

 

อาจารย์พูดว่ายกให้เพื่อน หมายความว่าคะแนนของเพื่อไทย ที่ตอนนี้ไม่มี ทษช. แล้ว จะยกให้พรรคไหน

ก็เพื่อนเรามีหลายคน คนเลือกเขาเลือกได้เอง จริงๆ แค่ส่งสัญญาณว่าพรรคเราพอแล้ว ไปเลือกพรรคเพื่อนเราบ้างเถอะ เขาก็เลือกได้เองเพื่อชาติ ประชาชาติ อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย หลังๆ มีเพื่อนใหม่ชื่อเศรษฐกิจใหม่ด้วย ก็เลือกดูให้ดีว่าเพื่อนจริงเพื่อนปลอม เพื่อนแท้หรือเปล่า ส่วนฝั่งประชาธิปัตย์ แน่ล่ะ เขาต้องรักษาเขตของเขา กรุงเทพฯ ภาคใต้ ส่วนเขาจะแบ่งคะแนนให้เพื่อนเก่าไหม ลุงกำนัน หรือจะยกให้ลุงตู่ไปเลยก็ได้ แต่มันก็จะกลายเป็นว่ามีคนวิเคราะห์ว่าประชาธิปัตย์ก็จะเป็นแบบเพื่อไทย คือไม่ได้บัญชีรายชื่อเหมือนกัน

 

อยากให้อาจารย์เจาะแต่ละก๊ก ว่าต้องการ ส.ส. เขตกี่เสียง ส.ส. บัญชีรายชื่อกี่เสียง และคิดว่าจะรวมกับใครบ้าง

เพื่อไทยแน่ๆ โจทย์มันมาจากฐานเดิมปี 2554 คือมีในมือ 204 เขต เขตมันลดลงจากเดิม จาก 375 เขต มา 350 เขต อย่างน้อยๆ ควรเหลือสัก 190-195 เขต ส่วนพันธมิตรต่างๆ ถ้ายุทธศาสตร์เพื่อไทยมาดีๆ คะแนนมีแบ่งเพื่อน ไม่กั๊กเอาไว้เอง แล้วเพื่อนเขาก็มีกระแสดีกัน หลายพรรคมีกระแสของเขา รวมๆ กัน 60-70 คาดหวังได้ อย่างน้อยมีโอกาสรวมกันเกิน 250

 

อาจารย์มองว่า 251 เสียงพอหรือไม่

251 อย่างน้อยก็ยันๆ ไว้ ใจเย็นๆ คือเขาอยากได้ต่อให้นายกฯ มี ส.ว. 250 คนก็มีไป แต่เราจับมือกันไว้แน่นๆ 251 เสียง หลักข้อที่ 1 ก็คือต้องพาเพื่อไทยและทีมเครือข่ายพันธมิตรจับมือไปด้วยกัน คือ 251 ขึ้นไป

 

ประชาธิปัตย์ล่ะ

อย่างน้อยทำให้ได้อย่างที่หัวหน้าประกาศไว้ก่อน คือเกิน 100 ให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวต้องลาออก โจทย์ที่ 2 คือพยายามชนะพลังประชารัฐ เพื่อที่จะได้จับขั้วเป็นรัฐบาลด้วยกัน จะได้บอกว่าฉันควรจะเป็นนายกฯ ไม่ใช่พรรคคุณ โจทย์ก็ 2 อย่างนี้ ประชาธิปัตย์ครั้งก่อนได้ 159 งานนี้ 120 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แล้วไปรอรวมรัฐบาลเอา

 

ดูแล้วของประชาธิปัตย์ก็พอเป็นไปได้เหมือนกัน แล้วประชาธิปัตย์จะมีโอกาสที่จะได้ ส.ส. แบ่งเขตเยอะ จนปาร์ตี้ลิสต์หายไปเยอะไหม

เป็นไปได้ เพราะพอผู้มีสิทธิเลือกตั้งเยอะ ตัวเลขเดิมที่หารต่อ ส.ส. พึงมีจะกลายเป็น 80,000 จาก 70,000 พอคำนวณจากสิ่งที่ประชาธิปัตย์มีในหน้าตัก เช่น กรุงเทพฯ ตามสถิติ 40,000 กว่าก็ชนะแล้ว แปลว่ามันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบเท่าตัว เขตที่ได้เกินๆ มา ต้องเอามาถมให้เต็มก่อนมันถึงจะเหลือพอที่จะไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ อย่างจังหวัดภาคใต้ 80,000-90,000 มันก็มีหลายเขต ตามสถิติ แต่มันเกินมาเขตละ 10,000 แค่เอาใต้ส่วนเกินมาถมกรุงเทพฯ มันก็เกินแล้ว ก็มาลุ้นเอาละกันว่าภาคกลาง ภาคเหนือ อีสาน จะเก็บเล็กเก็บน้อยมาได้เท่าไร

 

ประชาธิปัตย์เป็นสูตรเก็บทุกเม็ด แต่ทีนี้อาจเก็บได้ต่ำกว่าเป้า ภาคใต้อาจมีคนมาขอแบ่งไปเยอะ ของเดิมเคยได้ 80,000-90,000 รอบนี้อาจได้ 60,000 มันหย่อนลง 20,000 แล้วจากตัวเลขค่าเฉลี่ย ทีนี้ก็ต้องไปเอาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน มาโปะ แต่โปะไปโปะมาไม่เต็ม ส.ส. พึงจะมีก็ลดลงไปอีก

 

มาต่อกันที่พลังประชารัฐ

มี 2 โจทย์ คือหนึ่ง ไปดูดคนมา เขาก็ต้องหวังว่าคนที่มาน่าจะต้องชนะด้วย มันจะแปรผกผันกับเพื่อไทยเป็นหลัก ส่วนที่เหลือคะแนนตกน้ำ อันนี้เขาหวังอยู่แล้วเพราะรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อเขา ระบบเลือกตั้งนี้ออกแบบมาเพื่อเขา

 

พลังประชารัฐหวังกี่ที่

มีข้อมูลอันหนึ่งที่เห็นด้วย ของอาจารย์สังศิต ที่ประเมินว่าพลังประชารัฐจะได้คะแนนประมาณสัก 8 ล้าน ถ้าหาร 8 หมื่นก็คือ 100 ที่นั่งพอดี พอน้อยกว่าประชาธิปัตย์ปัญหาเกิดแล้ว เพราะโจทย์ของพลังประชารัฐคือต้องได้ 126 ให้ได้ด้วยตัวเองและต้องชนะประชาธิปัตย์ ถ้ามี 126 ลุงมาแล้ว สุดท้ายก็รอกวักมือเรียกพี่มาร์คมา นี่คือเป้าหมายของเขา คือ 126 มากกว่าประชาธิปัตย์ และแพ้เพื่อไทยให้น้อยที่สุด

 

แต่ถ้าสมมติว่าน้อยกว่า ประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

นั่นคือปัญหา นี่เป็นที่มาว่าประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนชัดว่าไม่เอาลุง เขามั่นใจว่ามาที่ 2 แน่ เลยชิงดักหน้าไว้ก่อน

 

พรรคสีส้มตอนนี้เขามาแรง ดังนั้นตอนแรกที่ประเมินว่าอาจไม่ได้ ส.ส. เขตแม้แต่คนเดียว ได้ปาร์ตี้ลิสต์สัก 20 คน แต่ตอนนี้หลังจากเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว ดูแล้วน่าจะทะลุ 30 หรือไม่

น้อยไป คือจะพูด 50 ยังโดนถล่ม เอางี้พูดแบบให้ทำใจไว้ก่อน ถ้าอนาคตใหม่เปิดตัวรอบนี้ ด้วยบรรยากาศแบบนี้ แล้วไม่มีเพื่อไทยนะ นี่คือไทยรักไทยสมัยปี 2544 กระแสการตอบรับเป็นแบบนั้น

 

แต่ยังมีเพื่อไทยที่ค้ำ เป็นเจ้าของพื้นที่มากมายทั่วประเทศอยู่

คนไหนที่เกิดไม่ทัน ขอให้รู้ว่าความรู้สึกนี้มันเทียบเท่าได้แค่ตอนที่พรรคพลังธรรมชูทักษิณขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ เสียงตอบรับจากคนรุ่นใหม่เยอะมาก แต่พรรคพลังธรรมได้มา 40 กว่าที่นั่งทั่วประเทศ โดยสมัยนั้นมีจำนวน ส.ส. มากกว่านี้ด้วย

 

อาจารย์พูดแบบตรงๆ เลย ได้เท่าไร

ผมให้ 50 ผมประเมินตัวเลขอยู่ราวๆ นี้ คือ 50 มาจาก 3.5 ล้านเสียง แต่ตอนนี้ผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้น ก็โอเค เขาคงขยับตาม คนที่ออกมามากขึ้นคงมาพรรคนี้มากกว่าพรรคอื่น แต่มันก็คือ 50 อยู่ดี ถ้าเฉลี่ยคน 80,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

 

พูดจริงๆ ก่อนหน้านี้เขาเปิดตัวคนไม่คิดว่าจะขนาดนี้

ผมยังคิดว่าจะประมาณล้านเดียวอยู่เลย ดังนั้นก็หมายความว่าอนาคตใหม่ก็จะมีโอกาสในการต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล ตอนนี้พอตัดมาแล้วก็น่าจะเหลือแค่เพื่อไทย เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ริบหรี่

 

แนวโน้มสูง แต่ก็อย่าเพิ่งตัดโอกาส บางคนเขาก็ชอบสีฟ้ากับสีส้ม

คือหลายคนก็อยากให้สีฟ้ากับสีส้มไปด้วยกันนะ เพราะรู้สึกว่าคู่ตรงข้ามที่แท้จริงคือสีเขียว สีอื่นถ้าไม่แสดงท่าทีสนับสนุนสีเขียวจนเกินไปก็ไปด้วยกันได้

 

ไม่พูดถึงไม่ได้ พรรคเสรีรวมไทยจะได้กี่คน

ก็ต้องดูว่าเพื่อนแบ่งให้เยอะไหม เวลาพูดหลังๆ พันธมิตรเพื่อไทยพูดรวมๆ กัน เพื่อชาติ อนาคตใหม่ เศรษฐกิจใหม่ เสรีรวมไทย รวมๆ กันทั้งหมด เมื่อกี้พูดไปแล้ว อนาคตใหม่ 50 ที่ ส่วนที่เหลือเท่าไรก็ไปคิด

 

มิ่งขวัญ อาจารย์มองว่าพรรคเขามาไหม

คิดว่าคงมา แต่คงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ได้ เพราะต้องได้ถึง 25 ที่นั่ง ข้อดีของมิ่งขวัญคือมาได้ถูกเวลา มาโค้งสุดท้าย ถ้ามาเร็วโดนแซะเละ เดี๋ยวก็ดรอป แต่มาอาทิตย์สุดท้ายแซะไม่ทันแล้ว

 

Satithorn Thananitichote

 

สุดท้ายแล้วหน้าตารัฐบาลของอาจารย์สติธรเป็นแบบไหนได้บ้าง

มันได้หลายแบบ พลังประชารัฐมา 126 ก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ลุงตู่มาร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ กับชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย ภูมิใจไทย 25-30 เสียง ชาติพัฒนากับชาติไทยพัฒนา รวมไปเลย 10-15 ที่ ก็รวมกันสัก 40 ที่

 

โมเดลแรกถ้าพลังประชารัฐ 126 ต้องรวมกับพรรคขนาดกลาง และประชาธิปัตย์

ต้องรวมแน่ ร่วมเป็นรัฐบาลได้ แต่แค่ไม่ยกมือให้พลเอก ประยุทธ์ เฉยๆ และอภิสิทธิ์ประกาศคนเดียวด้วย ตอนนั้นอาจเป็นประธานสภาฯ ก็งดออกเสียงอยู่แล้วตามมารยาท

 

นี่คือโมเดลแรก ก็จะต้องมีพรรคขนาดกลางหลายพรรคมีประชาธิปัตย์ด้วยแน่ๆ เพราะแม้มี 250 ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ แต่ก็จะเป็นรัฐบาลที่ง่อนแง่นหน่อย

 

เพราะไม่มีสิทธิต่อรองมากนัก แล้วจะอยู่นานไหม ปีหนึ่งถึงไหม

อาจอยู่สักปีหนึ่ง จริงๆ เขาอยากไม่นานกว่านั้น เพียงแต่คนร่วมรัฐบาลไม่อยากรีบเลือกตั้ง เพราะว่าไหนๆ มาเป็นรัฐบาลแล้ว รอได้ เพราะรอมา 5 ปีกว่า รอบนี้ตั้งตัวให้ดีก่อน

 

แต่ที่ผมเป็นห่วงคือประเทศชาตินี่สิ ประเทศชาติจะมีนโยบายให้ดำเนินไปได้ไหม

จะยากๆ

 

มันก็จะไปติดกันอยู่ โต้กันไปโต้กันมาในสภา

เพราะว่าเป็นรัฐบาลประเภท ประชาธิปัตย์งอนหน่อยจะขอออก ก็ต้องยอมเขา ไม่อย่างนั้นรัฐบาลล้ม พรรคกลางๆ ที่รวมกัน 30-50 เสียง เขาขอออก ก็ล้มอีก

 

ก็จะมีรัฐมนตรีจากหลายพรรคมาก

การทำนโยบายคงยาก นโยบายหลักๆ ของพลังประชารัฐจะได้ใช้สักกี่นโยบาย เพราะทุกพรรคหาเสียงมาใครๆ ก็อยากได้ผลงาน เพื่อกลับไปหาเสียงอีกรอบใหม่ เขาก็จะได้กลับเข้ามาอีก ก็ไม่มีใครยอมใคร

 

อันนี้คือโมเดลแรก แล้วโมเดลที่สองคืออะไร

ก็โมเดลประชาธิปไตยให้สมดุล ฝ่ายเพื่อไทยรวมกันให้ได้ 250 จับมือกันแน่นๆ แต่จริงๆ 251 น้อยไป สัก 270 จับมือแน่นๆ แล้วกดดันให้ ส.ว. ยอม เพราะนี่คือเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร แล้วเขาอาจจะใจแข็งสักพักหนึ่ง แต่ถ้าเราใจแข็งกว่าไม่ยอมให้เขาดูด ไม่ยอมเป็นงูเห่า ผมว่า ส.ว. ต้องยอมปลดล็อก ไม่อย่างนั้นบาปทั้งหมดก็ไปตกที่ ส.ว.

 

ส.ว. ก็จะถูกสังคม ประชาชนตราหน้า ว่าถูก คสช. เลือกเข้ามา ไม่กล้าทำอย่างอื่นเลย ไม่ใช่คนของประชาชน คืออาจารย์มองว่า 250 เสียง ส.ว. เปลี่ยนได้

เปลี่ยนได้ แตกแถวได้ ถ้าเสียงตรงข้ามมันมากพอ โมเดลนี้คือเพื่อไทยเป็นรัฐบาล อนาคตใหม่ร่วมรัฐบาลด้วยถ้าได้เสียงถล่มทลายพอสมควร เป็นพรรคอันดับ 2 ของขั้วนี้ แล้วก็มีพรรคเพื่อนเข้ามาผสม เผลอๆ มีพรรคกลางๆ มาขอร่วมด้วย

 

ก็หมายความว่าภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ก็จะมาร่วมด้วย อาจจะถึง 300 กว่า

เป็นรัฐบาล 300 ต้นๆ

 

ถือว่ามีเสถียรภาพไหม

ก็มากกว่าทางฝั่งพลังประชารัฐตั้งเมื่อกี้นิดหนึ่ง เพราะอำนาจต่อรองจริงๆ ก็จะอยู่ฝั่งพรรคอนาคตใหม่กับพรรคขนาดกลาง ถ้าพรรคขนาดกลางเขาผนึกกัน 40-50 เสียง กับอนาคตใหม่ที่เราบอก มันสูสี ใครถอนออกไปพรรคหนึ่ง มันยังอยู่กันได้ แต่ปัญหาจะเกิด เพราะโมเดลนี้จะเกิดเมื่อเพื่อไทยได้ 190 ไม่มีใครได้ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วสถานภาพของแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย จะไม่มีใครเป็น ส.ส. เลย อนาคตใหม่ไม่ยกมือให้ตามจุดยืนก็จะเหลือแค่ธนาธร แปลว่าโมเดลนี้ก็จะเหลือธนาธรกับอนุทินชิงกันเป็นนายกฯ

 

คุณชัชชาติ ไม่ได้ลง ส.ส. อยู่แล้ว ส่วนถ้าได้ 190 เสียง คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ด้วย

เขาก็จะไม่ยกมือให้ ถ้าเอาตามคำพูดธนาธร เสียงไม่พอก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้

 

โมเดลนี้เป็นไปได้ว่าเพื่อไทยเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่มีนายกฯ จากเพื่อไทย หมายความว่าโมเดลนี้ธนาธร มีโอกาสเป็นนายกฯ เพื่อไทยจะยอมเหรอ

ถ้ายอมก็ได้เป็น และก็รวมเป็นรัฐบาล บัญชีรายชื่อที่สอบตกของเพื่อไทย ก็จะมาเป็นรัฐมนตรีไง ถ้าคิดแบบนี้ก็จะสบายใจ

 

ในโมเดลที่บอกว่าสุดท้ายเป็นธนาธรกับอนุทิน ชิงกันเป็นนายกฯ ทางฝั่งเพื่อไทยซึ่งฟังดูตลกเล็กๆ มีเสถียรภาพไหมครับ ในการดำเนินนโยบาย

พอใช้ได้อยู่มากกว่าโมเดลแรก เพราะถ้าเสียงรวมกัน 300 กว่าเสียง ถ้าเอาพรรคขนาดกลางมาด้วย แล้วตัวเพื่อไทยเองแม้ไม่ได้นายกฯ นะ นี่เราก็สมมติให้มันเวอร์ไว้ก่อนนะ สมมติไม่ได้นายกฯ แต่ว่าเสียงส่วนใหญ่ที่เป็น ส.ส. ยังอยู่กับพรรค แปลว่าถ้าจัดโควตารัฐมนตรีตามจำนวนเสียงก็ยังได้หลายตำแหน่ง การผลักดันนโยบายของพรรคก็ทำได้ แต่จริงๆ นโยบายของกลุ่มนี้ไม่ขัดแย้งกันเท่าไร

 

เคยมีกรณีแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ที่นายกฯ มาจากพรรคที่ไม่ได้เสียงข้างมากที่สุดในสภา เพราะมันตกลงกันไม่ได้ แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ มีแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง โมเดลพิลึกกว่านี้มีไหมครับ

สูตรพิสดาร ถ้ากระแสพลังประชารัฐไม่เป็นอย่างที่ต้องการ เพื่อไทยก็แผ่วไม่ขึ้น สีส้ม สีฟ้า มารวมตัวกัน

 

โมเดลนี้คนอยากเห็นเลย

เพื่อไทย พลังประชารัฐ เป็นฝ่ายค้านเลย ที่เหลือรวมกันเป็นรัฐบาล อะไรก็เกิดขึ้นได้แล้วในวันที่ 24 มีนาคมนี้

 

แต่ก็อย่างว่า พลเอก ประยุทธ์ ท่านไม่ได้เป็น ส.ส. อยู่แล้ว ท่านก็กลับบ้าน

ถ้าพลังประชารัฐกับเพื่อไทยรวมกัน ถ้าไม่ถึง 250 สองพรรคนี้คุณก็เป็นฝ่ายค้านได้ ที่เหลือรวมกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภา

 

แต่วัน THE STANDARD DEBATE ดูแล้วไม่น่ารวมกันได้

คนคาดหวังนะ เป็นไปได้คือธนาธรก็ไม่ได้โหดร้ายอะไรกับอภิสิทธิ์ แค่ขออภิสิทธิ์ให้แสดงจุดยืนชัดๆ ไม่เอาพลเอก ประยุทธ์ ไม่เอาพรรคที่สืบทอดอำนาจ คสช. ก็พูดให้ชัดๆ

 

แล้วถ้าร่วมรัฐบาลกันใครเป็นนายกฯ

ถ้าเอาหลักเสียงข้างมาก ก็น่าจะเป็นประชาธิปัตย์ แต่ถ้าเอาหลักสมานฉันท์ก็แบ่งกันเป็น สัญญาลูกผู้ชาย เป็นคนละ 2 ปี แต่ใครเป็นก่อนได้เปรียบเพราะอาจยุบสภาปีที่สาม

 

โมเดลนี้เราคุยกันขำๆ คงเป็นไปได้ยาก

ยากสุด ดูแล้วคงเป็นโมเดล 1 หรือ 2 หรือประชาธิปัตย์เป็นแกนนำแต่รวมกับพลังประชารัฐ

 

โมเดลสุดท้าย รัฐบาลผสมขนาดใหญ่ 3 ก๊กรวมตัว

หมดเลย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย รวมกัน

 

ครับ อันนี้เตรียมกดโกรธเลยนะครับ เพราะอนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้าน อนาคตใหม่จุดยืนแน่นสุด ไม่รวมกับพลเอก ประยุทธ์ แน่นอน จุดยืนชัดเจน ถ้าเขาไปรวมกัน เราเป็นฝ่ายค้าน

 

แบบนี้ฝ่ายค้านอ่อนแอมาก

เขาคงเอาพรรคกลางๆ ไปรวมด้วย สูตรนี้มันอาจเกิดขึ้นแต่ไม่เกิดขึ้นทันที มันต้องเจอเดดล็อก ไปไม่ได้ เลือกตั้งนายกฯ ไม่ได้สักที ส.ว. ไม่ยอมยกมือสักที กอดอกอยู่นั่นแหละ

 

ไม่ว่าจะออกมาโมเดลใด อาจารย์ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้เกิน 2 ปีไหม

คือมองว่ารัฐบาลผสมคงอยู่ได้สั้น แต่แนวโน้มถ้าเขาตั้งได้อย่างน้อยคงอยากอยู่สัก 2 ปี เพราะเจ็บกันมาเยอะ

 

คิดว่าปฏิวัติจะวนมาใหม่ไหม ภายใน 2 ปีนั้น

ภายใน 2 ปี ยากหน่อยถ้าตั้งรัฐบาลได้ แต่ก่อนตั้งรัฐบาลได้จะน่ากลัวอยู่

 

คุยไม่เสร็จ เจรจาไม่ได้ รัฐบาลไม่เกิด ประเทศไม่เดิน

ใช่ มันจะเป็นข้ออ้างว่าประเทศถึงทางตัน เราต้องขี่ม้าขาวมาแก้ปัญหาอีกแล้ว

 

ในมุมอาจารย์ 250 ส.ว. มีคนกล้าแตกแถวกี่คน ถึง 40 ไหม

คือถ้าฝ่ายเพื่อไทยมาถล่มทลาย เกิน 250 แล้วจับมือกันเป็นรัฐบาล 280 เสียง เขาพยายามเหนี่ยวรั้งแล้วไม่แตกแถว ส.ว. 100 คนต้องมี

 

แต่ถ้าสูสี

สูสี เขาเป็นเอกภาพแน่ พลังประชารัฐ 126 นี่แน่นอน เสียงเดียวกันเลย  

 

สุดท้ายให้อาจารย์ไล่ลำดับคนที่มีโอกาสเป็นนายกฯ

มีอยู่ 7 คนเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นนายกฯ ขอไล่ตามโอกาส อันดับ 1 พลเอก ประยุทธ์ อันดับ 2 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 

ธนาธร อันดับสองเลยหรือ

ก็อย่างที่บอกไง ถ้าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ แล้วไม่มี ส.ส. ที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์เลย แคนดิเดตนายกฯ

 

คุณชัชชาติก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แล้วอนาคตใหม่จุดยืนเขาแน่น ก็จะเป็นธนาธร งั้นเบอร์ 3 ก็เป็นอนุทิน

 

แน่นอนอยู่แล้ว คนที่ 4 คุณหญิงสุดารัตน์ อันดับ 5 อภิสิทธิ์

 

คุณชัชชาติล่ะ

ก็มีคุณหญิงสุดารัตน์อยู่แล้ว อย่าแย่งกันเอง ก็เป็นอันดับ 6 คนสุดท้ายอันดับ 7 ก็ชัยเกษม ที่เหลือไม่มีแล้ว ไม่มีพรรคไหนได้เกิน 25 เสียงแล้ว ไม่เกิน 25 ที่นั่ง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising