วันเลือกตั้ง

เลือกตั้งไปแล้วได้อะไร ถ้าไม่ไป มีอะไรต้องเสีย

โดย THE STANDARD TEAM
18.03.2019
  • LOADING...

หากถามว่า ‘ทำไมต้องไปเลือกตั้ง’ ต้องเกริ่นก่อนว่า การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคมนี้ คือการใช้สิทธิเลือกผู้แทนฯ (ส.ส.) ไปทำหน้าที่แทนเรา

 

หน้าที่ตามหลักการขั้นพื้นฐานของ ส.ส. คือ คนที่ต้องไปออกกฎหมาย ไปตั้งรัฐบาล และไปตรวจสอบรัฐบาลแทนเรา

 

หากถามว่าเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของเรา ต้องบอกว่า นโยบายทุกอย่างต้องออกมาในรูปของกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมชีวิตของเราในทุกมิติ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอะไร ก็ล้วนผูกพันกับผู้แทนฯ ของเราที่ถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา

 

ข้อควรรู้ที่น่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็คือ การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีความพิเศษแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

 

มีเวลาไปลงคะแนนมากขึ้นคือ 9 ชั่วโมง

กฎหมายขยายเวลาการลงคะแนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน โดยคนไทยมีเวลา 9 ชั่วโมง ในการเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

 

โดยเมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. แล้ว จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว

 

เลือกตั้งครั้งเดียว แต่คนไทยได้ 3 อย่าง

การเลือกตั้งครั้งนี้มี ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ ย้ำว่า บัตรใบเดียว กาได้เบอร์เดียว แต่คะแนนจะถูกไปนับคำนวณ เพื่อได้ทั้งคนที่รัก พรรคที่ใช่ และนายกฯ ที่ชอบ

 

หมายความว่า การกากบาทครั้งเดียว คะแนนของเราจะไม่ตกน้ำ แต่จะถูกนับในระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขต (คนที่รัก) และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนของพรรค เพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (พรรคที่ใช่) ในคราวเดียวกัน

 

ขณะที่พรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีของพรรค ให้รัฐสภาลงมติแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้

 

สรุปอีกครั้ง เลือกตั้งบัตรใบเดียว กาได้เบอร์เดียว แต่ได้ 3 อย่าง

  1. ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
  2. ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนของผู้สมัครทุกคน ทุกเขต ทุกพรรคมาคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
  3. ‘นายกรัฐมนตรี’ โดยพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาลงมติแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ราคาที่ต้องจ่าย ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

หากเราไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้เราเสียสิทธิบางประการดังต่อไปนี้

  1. สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
  2. สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  3. สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  4. ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

การจำกัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่มนับเวลาการจำกัดสิทธิ 2 ปีใหม่ จากวันที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิครั้งล่าสุด

 

ถ้าไปใช้สิทธิไม่ได้จริงๆ แต่ไม่อยากเสียสิทธิ ต้องทำอย่างไร

สำหรับใครที่ติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ ได้จริงๆ ให้จำง่ายๆ ว่า หน้า 7 หลัง 7

 

กฎหมายเปิดโอกาสให้เราไปแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิได้ ใครอยู่กรุงเทพฯ ให้ไปสำนักงานเขต ใครอยู่ต่างจังหวัดให้ไปที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วันก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง คือระหว่างวันที่ 17-23 และ 25-31 มีนาคมนี้

 

ทั้งนี้ เจ้าพนักงานจะพิจารณาจากธุระเร่งด่วน เจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ ผู้ที่อยู่ต่างประเทศที่เดินทางมาไม่ได้ หรือเหตุสุดวิสัยอื่นๆ

 

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งจะได้ใช้อำนาจนั้น ณ คูหาเลือกตั้ง เพื่อเลือกผู้แทนของเราไปทำหน้าที่แทนเราในระบบการเมืองผ่านรัฐสภา

 

วันที่ 24 มีนาฯ เข้าคูหา กากบาทบนบัตรเลือกตั้ง ใช้อำนาจของเรา แต่อย่าลืมพกบัตรประชาชนไปนะ บัตรหมดอายุก็ใช้ได้ หรือบัตรที่หน่วยงานของรัฐออกให้ โดยต้องมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ก็ได้เช่นกัน

 

ภาพประกอบ: Chatchai C.

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising