วันเลือกตั้ง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: ไว้ใจผมต้องเลือกเพื่อไทย เลือกให้ถล่มทลาย ผมจะได้เป็นนายกฯ

12.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • เฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล คือคนที่ชัชชาติเคารพในฐานะรุ่นพี่วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ชักชวนเขาเข้าสู่แวดวงการเมือง
  • ชัชชาติคือนักการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างประสบความสำเร็จมากที่สุด จากรัฐมนตรีโลกลืมสู่แคนดิเดตนายกฯ
  • ชัชชาติมองว่าการเลือกตั้งคือการที่ประชาชนมอบความไว้ใจให้ และถ้าไว้ใจเขาต้องเลือกเพื่อไทย เลือกให้ถล่มทลาย เขาจะได้เป็นนายกฯ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 คนของพรรคเพื่อไทย ตอบรับนัดรายการ THE STANDARD Daily เพื่อสัมภาษณ์พิเศษแบบสดๆ ในโลกออนไลน์อันเป็นฐานที่มั่นทางความนิยมของเจ้าตัว

 

ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชัชชาติรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองจากการชวนไปช่วยงานของ เฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยุคไทยรักไทย ในฐานะรุ่นพี่วิศวะ จุฬาฯ

 

ชัชชาติเล่าว่าพงษ์ศักดิ์ชวนไปช่วยงานในกระทรวงคมนาคม เขาเลยได้รู้จักระบบงานและมีโอกาสรู้จักคนที่ทำงานในแวดวงการเมือง พอถึงจังหวะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พงษ์ศักดิ์ก็ดึงไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

“ตอนนั้นมันเป็นช่วงเสี้ยววินาที เราเป็นอาจารย์อยู่ เป็นข้าราชการ แต่ต้องตัดสินใจ แต่ก็คิดว่าเราน่าจะทำประโยชน์ได้บ้าง แล้วเราก็บ่นนักการเมืองมาเยอะ พอมีโอกาสแล้วไม่ทำก็คงบ่นเขาได้ไม่เต็มปาก แต่การเมืองก็เปลี่ยนชีวิตตัวเองไปเยอะ เพราะต้องลาออกจากราชการ ตอนนั้นคุยกับแม่เป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะท่านไม่ค่อยชอบเรื่องการเมืองอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ท่านปลงแล้ว ทุกวันนี้ท่านก็ซัพพอร์ต เมื่อเราตัดสินใจท่านก็ช่วยเราเต็มที่”

 

สำหรับชัชชาติแล้ว การเมืองคือชีวิตที่ไม่ได้ออกแบบ แต่พอมาเดินในเส้นทางสายนี้ก็ไม่เคยเสียใจ เพราะคิดว่าอยู่ตรงไหนตนก็ทำให้ดีที่สุดได้ และก็ยังโชคดีที่เมื่อเข้ามาการเมืองแล้วก็ยังกลับไปทำภาคธุรกิจได้

 

“ผมคิดว่าจริงๆ การเมืองมันไม่ได้น่ากลัวมาก ถ้ามีคนที่เก่งกว่าผมเข้ามาในแวดวงการเมือง มันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ เพราะจริงๆ แล้วเราต้องการมืออาชีพในหลายๆ เรื่อง”

 

 

ตอนเด็กๆ แข่งกันเรียนกับพี่ชายฝาแฝด และไม่เคยฝันถึงการเมือง

ชัชชาติเล่าย้อนชีวิตวัยเด็กว่ามีพี่น้อง 3 คน พี่สาวห่างกัน 7 ปี แล้วตนก็มีฝาแฝด คุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ คุณแม่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโรงงานยาสูบ

 

ชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นไม่หวือหวาหรือตื่นเต้นตามประสาเด็กเรียน

 

ที่บ้านมีโต๊ะติดกับพี่ชาย ทำตารางดูหนังสือทุกวัน คุณแม่ก็เข้มงวด และไม่มีความคิดความฝันจะมาสู่เส้นทางการเมือง

 

“พี่น้องฝาแฝดแข่งกันเรียน ตอนแรกแฝดคู่นี้สนใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์ทั้งคู่ แต่คุณพ่ออยากให้มีคนหนึ่งเป็นหมอ พี่ชายจึงรับกรรมไป (หัวเราะ)

 

“ผมไม่ชอบเลือด ผมชอบคำนวณ พอถึงเวลาเลยโยนให้พี่ บอกว่ามึงไปแล้วกัน พี่ชายก็ช่วยรับไป ซึ่งสุดท้ายเขาก็เป็นคนที่เหมาะกับการเป็นหมอ

 

“สุดท้ายพี่น้อง 3 คนเป็นอาจารย์ทั้งหมด พี่สาวเป็นอาจารย์สถาปัตย์ พี่ชายเป็นอาจารย์หมอ ส่วนผมก็อาจารย์วิศวะ

 

“ตอนเด็กๆ ฝันอยากเป็นวิศวกร มีบริษัทออกแบบเป็นของตัวเอง เพราะพี่สาวเป็นสถาปนิก ก็นึกฝันว่าจะได้ทำงานร่วมกัน แต่ปัจจุบันก็ทางใครทางมัน (หัวเราะ)”

 

 

จากรัฐมนตรีโลกลืมสู่รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

ชัชชาติเล่าถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จมากๆ ของเขาว่า

 

“ในโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ ผมเป็นคนเขียนข้อความเองทั้งหมด แต่ก็มีทีมงานหลากหลายวัยช่วยกันดูความเหมาะสม เพราะมุมมองของตัวเองเพียงด้านเดียวอาจไม่ครอบคลุมพอ

 

“ตอนผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใหม่ๆ ผมเป็นรัฐมนตรีโลกลืม เข้าไปทำงานช่วงกุมภาพันธ์ ผลโหวตช่วงเดือนเมษายนไม่มีใครรู้จักผมเลย

 

“แต่พอภาพถุงแกงมา คนรู้จักเพียบเลย ซึ่งมันบังเอิญ แต่เราก็พบว่าโลกโซเชียลเป็นช่องทางให้เราสื่อสารนโยบาย แนวคิด และข้อมูลให้ประชาชน

 

“เพราะหัวใจของงานการเมืองคือการสื่อสาร เราอาจจะมีคุณภาพ แต่ถ้าสื่อสารไม่ได้มันก็ไม่มีความหมาย”

 

แข็งแกร่งเพียงใด แต่เมื่อเป็นมนุษย์ย่อมมีจุดอ่อน

ชัชชาติเล่าต่อว่าตอนเด็กๆ กลัวตุ๊กแก อาจไม่ถึงขั้นกลัว แต่ไม่ชอบ

 

“ช่วงหลังผมกลัวว่าจะทำให้คนผิดหวัง ยิ่งเรามาทำการเมือง เวลาไปเดินหาเสียง มีคนมาจับมือแล้วพูดว่าช่วยทำชีวิตเขาให้ดีขึ้นมาหน่อย เหมือนเราเป็นความหวังของเขา และเราก็กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีอย่างที่เขาหวัง แต่ในแง่หนึ่งมันก็เป็นแรงผลักดันเรา”

 

ชัชชาติมองว่าจุดอ่อนของเขาเป็นคนโมโหง่าย “ต้องพยายามควบคุม ลูกน้องก็จะบ่นนิดหน่อย เหมือนเราคาดหวังมากไปนิดหนึ่ง พอไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็จะโมโห

 

“แต่ด้วยความเป็นคนขำๆ พอโมโหก็จะดูน่ากลัวนิดหนึ่ง

 

“อีกอันคือเป็นคนความอดทนสั้น เหมือนสมาธิสั้นนิดหนึ่ง ให้นั่งทำอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกขึ้นขยับร่างกายตลอด”

 

 

ถ้าไปขอพรรคลงปาร์ตี้ลิสต์เขาก็ให้ แต่เราขอไม่ลงเอง

“จริงๆ แล้ว ส.ส. เป็นเรื่องสำคัญในระบบรัฐสภา แต่จากที่ไปสัมผัสทำให้รู้ว่าเราไม่ถนัดกับงาน ส.ส. ผมเป็นคนสมาธิสั้น จะให้ไปนั่งอ่านกฎหมายในสภาทั้งวันคงทำไม่ได้

 

“หัวใจสำคัญคือต้องรู้ว่าเราถนัดหรือไม่ถนัดอะไร ถ้าเราขอเป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก็คงให้เป็น แต่เราคิดว่ามีคนที่เก่งเรื่องนี้กว่าเราอีกเยอะ

 

“โดยเฉพาะวิธีคำนวณคะแนนตามรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์น้อย แต่มีนักกฎหมายเก่งๆ ในพรรคอีกเยอะที่ควรจะเข้าไปช่วยดูกฎหมายในสภา เราจึงเรียนทางพรรคว่าไม่ขอเป็นปาร์ตี้ลิสต์”

 

สมมติว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล ชัชชาติก็จะไม่มีตำแหน่งอะไรเลย

“เราก็ยังช่วยงานพรรคเพื่อไทยได้ ในบริบทของพรรคคือต้องมีทีมงานที่ให้ความเห็นต่างๆ ผมก็จะช่วยได้ในทุกบริบทโดยที่ไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง”

 

มีคนพูดว่าถ้าพลาดสนามการเมืองใหญ่ก็อาจจะหันไปลงผู้ว่าฯ กทม.

ชัชชาติไม่ปฏิเสธ แต่บอกว่าขอทีละขั้น ขอทำตรงนี้ให้ดีที่สุดก่อน แล้วดูว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

 

หลายคนบอกว่าถ้ามีชัชชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อจนถึงทุกวันนี้ ตอนนี้ประเทศไทยคงมีรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว เรื่องนี้จริงหรือไม่

“ผมว่ารัฐบาลนี้ได้ทำไปหลายโครงการ ตอนนั้นเราเสนอไป 99 โครงการ ผมว่าเขาทำไปเกือบ 90 โครงการ ซึ่งถือว่าดี

 

“แต่ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ขาดคือกระบวนการตรวจสอบว่าที่ทำไปโปร่งใสหรือไม่

 

“ส่วนอีกอันที่ยังเห็นไม่ชัดคือการนำโครงการต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะหัวใจของการคมนาคมไม่ใช่การก่อสร้าง แต่คือการนำเรื่องพวกนี้ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม

 

“มันเหมือนครกกับสาก เราต้องเอาไปตำน้ำพริกมันถึงจะมีมูลค่าขึ้นมา

 

“เมื่อรถไฟความเร็วสูงมา ถามว่าแต่ละเมืองเตรียมตัวหรือยัง อยุธยารู้หรือยังว่าอยู่ตรงไหน จะเอารถไฟความเร็วสูงไปทำมาหากินอย่างไร แต่ตอนนี้เหมือนเราเน้นแต่การก่อสร้าง”

 

ชัชชาติคิดว่าหัวใจของการทำโครงข่าย ทั้งการนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปในหมู่บ้าน การชลประทาน หรือคมนาคม หัวใจไม่ใช่การลงทุนตรงนี้ แต่จะนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร

 

“ปัจจุบันเรามีอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้าน แล้วชาวบ้านได้อะไร ก็คือมีเด็กมาเล่นเกมรอบบ้านผู้ใหญ่บ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำอินเทอร์เน็ตไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

 

“อีกอย่างที่ส่วนตัวเป็นกังวลคือโครงการรถไฟไทย-จีนในเรื่องความเชื่อมโยงของแต่ละโครงการ เพราะตอนนี้เหมือนเราทำเป็นท่อนๆ

 

“ตอนนี้เราทำรถไฟสายอีสานและสายตะวันออกที่ไป EEC ซึ่งจริงๆ มันสามารถเชื่อมกันได้ มันมีทางลัดลงมาจากแก่งคอย แต่พอเราทำเป็น 2 ท่อน มันเลยดูไม่ค่อยเป็นเนื้อเดียวกัน”

 

ชัชชาติบอกด้วยว่าที่การพัฒนารถไฟของเราหยุดชะงัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทิศทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับถนนและรถยนต์เป็นหลัก

 

“เมืองไทยเราเสพติดถนนไปแล้ว การจะให้เปลี่ยนมาใช้รถไฟก็ไม่ง่าย ต้องคิดให้ละเอียด ลำพังแค่สร้างรถไฟอย่างเดียวคนก็คงไม่มาใช้ เพราะมันเข้าไปไม่ถึงโรงงาน จากโรงงานไปรถไฟทำอย่างไร จากรถไฟไปท่าเรือทำอย่างไร ต้องคิดให้ละเอียด เพราะสุดท้ายถ้าสร้างรถไฟแล้วใช้ไม่สะดวก คนก็ใช้รถยนต์อย่างเดิม”

 

ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะมีรถไฟความเร็วสูงเลยหรือไม่

“ผมว่าเรื่องรถไฟความเร็วสูงต้องมาทบทวนตัวเลขอีกที เพราะถ้าดูอีก 3 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นเยอะ

 

“ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ประมาณ 41-42% ของ GDP แต่อีก 3 ปีมันจะขึ้นไปถึง 48% ซึ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาล คสช. ผูกพันไว้แล้ว ซึ่งเราคงต้องมาทบทวนตัวเลขและดูภาพรวมอีกที เพราะเราต้องว่ากันด้วยความจริง ไม่ใช่ด้วยแพสชันว่าเราอยากจะมีรถไฟความเร็วสูง”

 

 

ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่พินัยกรรม คนรุ่นหลังมีสิทธิกำหนดเอง

“ผมอ่านเฉพาะแค่ 89 หน้าในราชกิจจานุเบกษา คิดว่ามันก็มีทุกอย่างอยู่ในนั้น แต่ปัญหาคือมันไกล

 

“ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลนี้จะส่งเสริมการนำหุ่นยนต์ก็ไม่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติบอกว่าต้องออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น แต่ สนช. ออกกฎหมายเดือนที่แล้วเดือนเดียว 66 ฉบับ วันละ 2 ฉบับครึ่ง แบบนี้ถือว่าผิดยุทธศาสตร์ชาติไหม

 

“ผมว่ายุทธศาสตร์ชาติมันกว้างและขึ้นอยู่กับการตีความ ไม่ได้ครอบคลุม ปัญหาคือมันจะเอามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเอาผิดกันได้

 

เขามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพราะเขาขาดความไว้ใจรัฐบาลชุดต่อไป แต่เขาก็อยากจะสร้างความต่อเนื่องให้ประเทศด้วยหรือเปล่า

“ความไว้ใจมันมี 2 อย่างคือ Competent หรือความสามารถ กับ Character หรือความประพฤติ

 

“แต่ผมว่าเรื่องความไว้ใจมันพูดยาก สุดท้ายต้องให้ประชาชนตัดสิน เราไม่มีสิทธิไปตัดสินแทนประชาชน

 

“เพราะมันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่พินัยกรรม ถ้าเป็นพินัยกรรม คุณก็กลัวลูกหลานจะเอาไปทำอะไรในทางที่ผิด แต่ยุทธศาสตร์ชาติ ลูกหลานของเรามีสิทธิตัดสินใจเองได้

 

“ส่วนตัวคิดว่ามียุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันไม่ควรจะยาวมาก เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราคงไม่คิดว่าจะมีไอโฟน

 

“ดังนั้นอนาคตเราคาดการณ์ไม่ได้ มันจึงต้องยืดหยุ่น และเราก็มีแผนของสภาพัฒน์อยู่แล้ว ไม่สามารถเอาผิดกันได้ถ้าไม่ทำตาม”

 

 

แล้วทำไมเราต้องไว้ใจชัชชาติ

“อันนี้แล้วแต่เลย เพราะการเลือกตั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเราไว้ใจใคร อย่างที่บอกว่าความไว้ใจมันมี 2 อย่างคือ Competent หรือความสามารถ กับ Character หรือความประพฤติ ซึ่งก็คือเก่งกับดี แล้วแต่จะถ่วงน้ำหนักกัน บางคนอาจจะเอาเรื่องเก่งเยอะ บางคนอาจจะเอาเรื่องดีเยอะ”

 

ทำไมต้องเลือกพรรคเพื่อไทย

“ผมก็ต้องบอกว่าอยู่ที่ความไว้ใจ เรามีทีมงานที่ทำเรื่องเศรษฐกิจสำเร็จมาแล้ว คงไม่หาเสียงอะไรมาก เชื่อว่าทุกคนก็ดูข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองได้ และสุดท้ายก็มาเลือกคนที่คุณไว้ใจ ซึ่งถ้าไว้ใจชัชชาติก็ต้องเลือกเพื่อไทย

 

สมมติถ้าเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่มีคนมาเชิญไปเป็นรัฐมนตรี คุณจะไปไหม

“คงไม่ไป (ตอบทันที) ตั้งใจว่าจะอยู่กับเพื่อไทย ช่วยงานเขาไป”

 

พี่ชายฝาแฝดคุณเองพูดว่า “กลัวเลือกเพื่อไทยแล้วชัชชาติไม่ได้เป็นนายกฯ”  

“สุดท้ายก็ต้องดู แต่ถ้าเลือกให้ถล่มทลายผมก็ได้เป็น ผมมั่นใจ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X