วันเลือกตั้ง

เปิดศึกเลือกตั้ง 62 จับเบอร์วันแรก พรรคการเมืองชูกลยุทธ์ ‘เน้นจำพรรค ไม่เน้นเบอร์’

04.02.2019
  • LOADING...

https://www.youtube.com/watch?v=QH4OrWUMpkM&feature=youtu.be

 

4 กุมภาพันธ์ วันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ และบัญชีนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดเส้นตายไว้ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์

 

แต่ไฮไลต์ของการรับสมัคร ส.ส. วันแรกคือการรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต เพราะพรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคมุ่งไปที่สถานที่รับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด

 

 

แกนนำพรรคการเมืองสำคัญรวมตัวกันที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง สถานที่รับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้ง 30 เขตของกรุงเทพฯ โดยมีกองเชียร์ของแต่ละพรรคและทัพนักข่าวที่มารอทำข่าวกันอย่างคับคั่ง ปลุกบรรยากาศเดิมๆ ของการเลือกตั้งที่เว้นว่างไปนานกว่า 8 ปีให้กลับมาอีกครั้ง

 

 

ผู้สมัคร ส.ส. เกือบทุกคนจากเกือบทุกพรรคการเมืองเดินทางมาก่อนเวลา 08.30 น. เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการจับสลากหมายเลขผู้สมัคร จากการสอบถาม ผู้สมัครส่วนใหญ่อยากได้เลขตัวเดียวเพื่อง่ายต่อการจดจำ โดยเฉพาะหมายเลขยอดฮิต เช่น เบอร์ 1 หรือเบอร์ 9 ยิ่งเป็นที่หมายปอง

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้หมายเลขผู้สมัครไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกที่พรรคการเมืองตั้งใจจะนำไปใช้สร้างการจดจำเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554

 

 

ให้ประชาชนจดจำหมายเลขผู้สมัครอาจอันตรายต่อพรรคการเมือง

การเลือกตั้ง 2562 นี้ กฎหมายกำหนดให้จับสลากหมายเลขผู้สมัครทุกเขตเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองเดียวกันจะมีหลายหมายเลขผู้สมัคร

 

ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าสิ่งที่บอกกับผู้สมัครของพรรคก็คือทำอย่างไรให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งเข้าใจและจดจำในตัวพรรคโดยไม่ต้องเน้นเรื่องหมายเลข

 

 

ดังนั้นสื่อที่พรรคนำเสนอ เช่น แผ่นพับ จะเน้นในเรื่องพวกนี้ ถ้าจำหมายเลขได้ก็ดี แต่ยกตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพฯ มี 30 เขตเลือกตั้งซึ่งต่อเนื่องกัน ตามถนนสายหนึ่งเราอาจเจอเขตเลือกตั้ง 2-3 เขต หมายเลขก็จะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นถ้าให้พี่น้องประชาชนจำเป็นหมายเลขก็อันตราย เราจึงเน้นสัญลักษณ์พรรคและชื่อพรรค

 

“ความเป็นจริงในอดีตกาลต่างคนก็ต่างเบอร์กันอยู่แล้ว แต่พอมีการเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์ (บัญชีรายชื่อ) เพื่อให้ง่ายในการส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์กันเยอะๆ ก็ใช้วิธีการทำให้เป็นเบอร์เดียวกัน แต่ดูเหมือนว่ารอบนี้ต้องการทำให้ประชาชนมีความตั้งใจมากขึ้น ก็เลยทำให้เกิดความสับสน เป็นวิธีการออกกฎหมายที่พิสดารพันลึก” นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทยกล่าว

 

 

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย บอกกับ THE STANDARD เช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยจะเน้นคำว่า ‘เลือกทีมเพื่อไทย’ เป็นข้อความหลักในการสื่อสารกับประชาชน

 

“การเลือกครั้งนี้มีบัตรใบเดียว ซึ่งจะเลือกทั้ง ส.ส. เขต เลือกพรรค และเลือกนายกฯ ดังนั้นกฎเกณฑ์เขียนงงอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องอยู่รอดในกฎเกณฑ์ที่งงก็คือ ‘เลือกทีมเพื่อไทย’ คือเลือกพรรค เพราะในบัตรเลือกตั้งจะมีชื่อพรรค”

 

 

กองเชียร์คึกคัก แต่ขาดจังหวะดนตรีและสีสีน

บรรยากาศก่อนและหลังจับหมายเลขผู้สมัครครั้งนี้คึกคัก แต่ยังขาดสีสัน ทั้งเสียงกลองเร่งจังหวะ เสียงดนตรี และเสียงเพลงเงียบหายไป

 

ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงผ่านเอกสาร โดยมีใจความสำคัญว่า ในวันที่รับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ห้ามผู้สมัครและบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดขบวนหรือกองเชียร์ที่แสดงถึงการสนับสนุนหรือให้กำลังใจผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 73(3) ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561

 

ทั้งนี้หลังจับสลากหมายเลข ห้ามมีขบวนแห่บอกหมายเลขผู้สมัครด้วย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น

 

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่าพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เสียดายที่หลายเรื่องที่เป็นระเบียบออกมาอาจจะทำให้ความคึกคัก ความตื่นตัว และความน่าสนใจลดลง อยากให้ กกต. ค่อยๆ ปรับ

 

ทั้งนี้คิดว่าการแข่งขันที่สุจริตเที่ยงธรรมนั้นสำคัญ แต่มันต้องเป็นการแข่งขันที่ทำให้ประชาชนสนใจและตื่นตัวด้วย จะได้ช่วยให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising