วันเลือกตั้ง

10 คำถามกับทุกเรื่องควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

15.02.2019
  • LOADING...

 

1. เลือกตั้งบัตรใบเดียวคืออะไร

 

การเลือกตั้งครั้งนี้มี ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ ให้เราตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือก ‘ส.ส. แบบแบ่งเขต’ นอกจากนี้คะแนนจากการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตดังกล่าวจะถูกนำไปคำนวณอีกครั้งเพื่อหาจำนวน ‘ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ’ และเมื่อนำไปหักลบกับจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้รับเลือกมาแล้วก็จะได้ออกมาเป็นจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับอีกครั้ง

 

ข้อดีของบัตรเลือกตั้งใบเดียวคือคะแนนจะไม่ตกน้ำ เพราะเท่ากับว่ากากบาทเพียง 1 ครั้ง คะแนนจะถูกนับในระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในคราวเดียวกัน

 

ขณะที่พรรคได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คนมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีของพรรคให้รัฐสภาลงมติแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้

 

2. ทำไมแต่ละพรรคจึงมีหลายเบอร์

 

พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 48 กำหนดให้การสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจําตัวผู้สมัครเรียงตามลําดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัคร

 

ส่วนในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงลําดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน

 

นั่นหมายความว่าจากเดิมที่หมายเลขผู้สมัครและหมายเลขของพรรคในการเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียวกัน ปัจจุบันกฎหมายให้แยกเบอร์ โดยให้ผู้สมัครแต่ละเขตจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับการสมัครในแต่ละเขต แม้จะอยู่ในพรรคเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์ที่เหมือนกัน

 

นายประพันธ์ นัยโกวิท หนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเจ้าของแนวคิดนี้ได้ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละเขตแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยหมายเลขพรรคในการพึ่งพาเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส.

 

นอกจากนี้การใช้เบอร์ ส.ส. เขตเป็นเบอร์เดียวกับเบอร์พรรคทั่วประเทศก็มีผู้เห็นว่าอาจทำให้เกิดการซื้อเสียงในวงกว้างได้ง่ายทั่วประเทศ และอาจเกิดการทุจริตเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งได้ง่ายกว่าบัตรเลือกตั้งที่ได้เบอร์แตกต่างกันไปตามเขต

 

3. เลือกตั้งไปทำไม และหากไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิอะไร

 

การเลือกตั้งคือการเลือกผู้แทน (ส.ส.) ไปทำหน้าที่แทนเรา

 

หากถามว่าเลือกไปทำอะไร หน้าที่ตามหลักการขั้นพื้นฐานของ ส.ส. คือไปออกกฎหมาย ไปตั้งรัฐบาล และไปตรวจสอบรัฐบาลแทนเรา

 

หากถามว่าเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของเรา ต้องบอกว่านโยบายก็คือกฎหมายอย่างหนึ่งซึ่งครอบคลุมชีวิตของเราในทุกมิติ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายอะไรก็ล้วนผูกพันกับผู้แทนของเราที่ถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา

 

หากเราไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้เราเสียสิทธิบางประการดังต่อไปนี้

 

(1) สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.

(2) สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.

(3) สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

(4) ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

(5) ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

การจำกัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่มนับเวลาการจำกัดสิทธิ 2 ปีใหม่จากวันที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิครั้งล่าสุด

 

4. เลือกตั้งล่วงหน้าได้ไหม ต้องทำอย่างไร

 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต (เลือกตั้งล่วงหน้า) ทั้งในเขตและนอกเขต รวมถึงการใช้สิทธินอกราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยการขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตสามารถยื่นคำขอลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตได้

 

เริ่มจากเข้าเว็บไซต์ระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่เว็บไซต์ election.bora.dopa.go.th/ectoutvote

 

จากนั้นคลิกเข้าสู่ระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง (ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต 2562)

 

จากนั้นกรอกข้อมูลดังนี้

  • เลขบัตรประชาชน
  • ชื่อ-นามสกุล เป็นภาษาไทย (ไม่ต้องใส่คำนำหน้า และระวังอย่าใส่นามสกุลที่ ‘ชื่อกลาง’)
  • กรอกข้อมูลวันเกิด
  • เลขหลังบัตรประชาชน
  • เลขรหัสประจำบ้าน (ดูได้ในทะเบียนบ้าน)
  • เลือกจังหวัดที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต (ไม่ใช่จังหวัดที่เรามีสิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้าน)

 

ทั้งนี้หลังจากกรอกเสร็จให้ติ๊กถูกที่ ‘คลิกรับรหัส’ เพื่อเข้าสู่ระบบ

จากนั้นใส่ตัวอักษรตามรหัสที่ปรากฏ เสร็จแล้วให้คลิกเข้าสู่ระบบ

 

ตรวจสอบข้อมูลชื่อ-นามสกุลว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเลือกสถานที่เลือกตั้งนอกเขต ให้เลือกสถานที่เราสามารถเดินทางไปเลือกตั้งสะดวกที่สุด

 

เมื่อเลือกสถานที่แล้วให้คลิก ‘ลงทะเบียน’ ระบบจะแสดงข้อความขึ้นมาให้ยืนยันการบันทึกข้อมูล ให้คลิกที่ ‘ใช่’ เพื่อยืนยันบันทึกข้อมูลการลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต

 

ระบบจะแสดงเอกสารการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนสามารถสั่งพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการลงทะเบียนได้ หรือจะบันทึกเป็นไฟล์ PDF เก็บไว้ก่อนก็ได้

 

สำหรับการยื่นคำขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร สามารถศึกษาข้อมูลวิธีการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ กกต. www.ect.go.th

 

หลังจากลงทะเบียนเลือกตั้งขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตหรือนอกเขตแล้วต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 เวลา 08.00-17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งกลางที่ได้เลือกไว้ในใบยื่นคำขอ และไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้อีก โดยบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนไว้จะถูกส่งไปนำรวมที่เขตเลือกตั้งที่ท่านมีชื่ออยู่

 

5. หาข้อมูลผู้สมัครก่อนไปเลือกตั้งได้ที่ไหน

 

ในโลกยุคดิจิทัล ข้อมูลผู้สมัครจะหลั่งไหลเข้ามาหลายช่องทาง นอกจากการเดินหาเสียงแนะนำตัวถึงประตูบ้านท่านแล้ว ผู้สมัครแทบทุกพรรคมักเลือกใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชน ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ การหาข้อมูลผู้สมัครจึงสามารถทำได้ตามอัธยาศัย และสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครเบื้องต้นได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือจากเว็บไซต์ของ กกต. www.ect.go.th

 

6. ในคูหาห้ามทำอะไรบ้าง

 

กฎหมายกำหนดให้ห้ามส่งเสียง ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ และห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ ที่สำคัญ ห้ามถามว่าใครเลือกเบอร์ไหนด้วยนะ (Exit Poll)

 

7. พบเจอการทุจริตเลือกตั้งต้องแจ้งที่ไหน

 

เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สิ่งของ หรือมีการเรียกรับเงินหรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่ หรือรายงานให้ กกต. ทราบทางโทรศัพท์สายด่วน กกต. 1444 หรือแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดในพื้นที่

 

8. ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งได้ที่ไหน

 

ก่อนวันเลือกตั้ง 20 วัน สามารถตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่ศาลากลางจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ, ที่ทำการเขต, ที่ทำการ อบต., สำนักงานเทศบาล, ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชน

 

แต่หากไม่มีเวลา 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง กกต. จะส่งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและที่เลือกตั้งให้ถึงบ้าน หรือที่เรียกว่าหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ส.12)

 

นอกจากนี้ประชากรโซเซียลสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือจากเว็บไซต์ของ www.khonthai.com

 

ที่สำคัญ หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเองให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยนำหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้มาแสดง โดยต้องแจ้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน

 

9. วันเลือกตั้งต้องเตรียมอะไรไปบ้าง

 

สำหรับหลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้งคือบัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

 

แต่ถ้าหาไม่เจอสามารถใช้บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยต้องมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

 

10. เลือกตั้งวันไหน

 

การเลือกตั้งทั่วไปคือวันที่ 24 มีนาคม 2562 

 

โดยคนไทยมีเวลา 9 ชั่วโมงในการเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

 

โดยเมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. แล้วจะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising