- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกอ่อนตัวลงในช่วงกลางต่อเนื่องไปช่วงปลายสัปดาห์ ความกังวลดอกเบี้ยยังคงยืนสูงต่อเนื่อง หลังความเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed ที่ออกมาในมุม Hawkish เป็นปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงขายทำกำไร โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลงหลังกระแส AI ชะลอตัวลง และสหรัฐฯ ชะลอการส่งออกชิปของบริษัท NVIDIA และ AMD ไปยังตะวันออกกลาง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับจีน
- IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนขึ้นจาก 4.6% เป็น 5.0% เป็นผลจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศ
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงจีนดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ IMF ในส่วนของไทยตัวเลขเศรษฐกิจเบื้องต้นในเดือนเมษายนก็บ่งชี้การฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งภาคการส่งออกและภาคการผลิต ทั้งนี้ ต้องจับตาว่าจะยั่งยืนหรือไม่
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกอ่อนตัวลงในช่วงกลางต่อเนื่องไปช่วงปลายสัปดาห์ แม้ เศรษฐกิจโลก ดีขึ้น ความกังวลดอกเบี้ยยังคงยืนสูงต่อเนื่องหลังความเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed ที่ออกมาในมุม Hawkish เป็นปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงขายทำกำไร โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง หลังกระแส AI ชะลอตัวลง และสหรัฐฯ ชะลอการส่งออกชิปของบริษัท NVIDIA และ AMD ไปยังตะวันออกกลาง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับจีน
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยกดดันจากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง สะท้อนผ่าน Fed Beige Book และประมาณการ GDP 1Q24 ที่ถูกปรับลดลง บ่งชี้การเติบโตที่เริ่มชะลอจากกำลังซื้อและการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง หักล้างตัวเลข PMI สหรัฐฯ และยุโรปที่ฟื้นตัวสะท้อนการเติบโตมากขึ้นในระยะถัดไป
ด้าน IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนขึ้นจาก 4.6% เป็น 5.0% เป็นผลจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศ
ด้านตลาดหุ้นฝั่ง EM ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากตัวเลขภาคการผลิตและบริการของจีนออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากแรงกดดันตลาดหุ้นโลก รวมถึงปัจจัยความกังวลด้านการเมืองในประเทศ
ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากความคาดหวังการต่ออายุการลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจของกลุ่ม OPEC+ ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัด แต่ ‘ไทย’ ยังถูกจับตา
ตัวเลขเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกันมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเบื้องต้น (Flash Composite PMI) เดือนพฤษภาคม ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยูโรโซน (โดยเฉพาะในเยอรมนี) ญี่ปุ่น และเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ Global Synchronize Growth ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงจีนดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ IMF ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนขึ้นจาก 4.6% เป็น 5.0%
นอกจากนั้นในส่วนของไทย ตัวเลขเศรษฐกิจเบื้องต้นในเดือนเมษายนก็บ่งชี้การฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งภาคการส่งออกและภาคการผลิต ทั้งนี้ ต้องจับตาว่าจะยั่งยืนหรือไม่
ภาพเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวในสหรัฐฯ ประกอบกับสัญญาณจาก Fed ที่ยังคงดอกเบี้ยสูงต่อเนื่อง (Higher for Longer) ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสูงต่อเนื่อง โดยพันธบัตรระยะยาวอยู่ใกล้เคียงกับระดับที่เราเคยมองไว้ที่ 4.5-4.6%
โดยเรามองว่า ในระยะต่อไปผลตอบแทนจะอยู่ในระดับเช่นนี้อีกระยะหนึ่งจาก
- การขาดดุลการคลังในระดับสูง โดย IMF คาดว่าจะขาดดุลในระดับ 5% ต่อ GDP ในปีนี้ จาก 7.7% ในปีก่อน
- ดอกเบี้ย Fed ที่อยู่สูง ทำให้เป็นการดึงสภาพคล่องของพันธบัตรระยะสั้น และลามสู่ระยะยาว
- การที่ Fed ลดทอนการทำ QT
ทั้งนี้ การลดการขายพันธบัตรจาก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จะเป็นการคุมผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไม่ให้ขึ้นสูงขึ้นมากหรือลดลงมาก
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการผลิต (โดยเฉพาะจีน) และผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ได้สะท้อนปัจจัยบวกดังกล่าว เลือก KCE, SCGP, PTTGC
- หุ้นที่คาดว่าใน 2Q24 กำไรจะยังสามารถเติบโตทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพง เลือก ICT (ADVANC), TOURISM (MINT) และ FOOD (TU, BTG, OSP)
- สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้และสนใจหุ้น Small Cap. คาดกำไรจะเติบโตได้ดีทั้ง YoY และ QoQ และ Valuation ไม่แพง อีกทั้งยังมีศักยภาพจ่ายปันผลสม่ำเสมอ เลือก AMATA, AU, KLINIQ, TPAC, TNP
- หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET ยังเปราะบางและแกว่งตัวในกรอบ โดยในประเทศยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ และมีปัจจัยการเมืองกดดันบรรยากาศลงทุน ทำให้ดัชนี SET จะยังมีแนวโน้ม Underperform ตลาดหุ้นในภูมิภาค อย่างไรก็ดีคาดหวังผลประกอบการของ บจ.ไทย ที่จะเติบโตดีขึ้นตั้งแต่ 2Q24 และปัจจัยต่างประเทศสัปดาห์หน้าจะเป็นบวก อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมของจีนและสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในวันที่ 6 มิถุนายน จะเริ่มมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมนโยบายการเงินของ ECB ตลาด และ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 3.75%
- เงินเฟ้อของไทยเดือนพฤษภาคม เราคาด 1.5% จากเดือนก่อนที่ 0.2% หลังหมดมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล
- ตัวเลขแรงงานสหรัฐฯ โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตลาดคาด 1.5 แสนตำแหน่ง จาก 1.75 แสนตำแหน่งอัตราว่างงาน ตลาดคาดทรงตัวที่ 3.9% และตำแหน่งงานเปิดใหม่ ตลาดคาด 8.4 ล้านตำแหน่งจาก 8.44 ล้านในเดือนก่อน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: TU - กำไรเริ่มแข็งแกร่ง Downside จำกัด
แนะนำ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้
- ผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกภายใต้แบรนด์ระดับโลก เช่น Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ในไทย เช่น ซีเล็ค, ฟิชโช, คิวเฟรช, โมโนริ, เบลลอตต้า และมาร์โว่ โดยมียอดขายจากสหรัฐฯ 41%, ยุโรป 30%, ไทย 12% และอื่นๆ 17%
- โมเมนตัมกำไร 2Q64 แข็งแกร่ง โดยคาดเพิ่มขึ้น QoQ จากผลฤดูกาล และ YoY จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น นำโดยธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ต้นทุนปลาทูน่าที่แท้จริงลดลงท่ามกลางราคาผลิตภัณฑ์ OEM ที่ดีขึ้น) และส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง อีกทั้งไม่มีผลขาดทุนจาก Red Lobster
- มองราคาหุ้นมี Downside จำกัด จากที่มีโครงการซื้อหุ้น (ตั้งแต่ 20 กุมภาพันธ์ - 30 มิถุนายน 2024) ช่วยพยุงราคาหุ้นไม่ให้ปรับลงแรง ขณะที่ Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบัน ซื้อขายที่ PER 2024F ที่ 13.1 เท่า ต่ำกว่า -1SD ของ PER เฉลี่ย 10 ปีที่ 16 เท่า
- เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2024 ที่หุ้นละ 18 บาท (อิงวิธี PE 16 เท่า) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.70 บาท คิดเป็น Div. Yield ปีละ 4.7%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ผลประกอบการกลุ่ม PC อย่าง Dell, Lenovo และ HP ออกมาดีกว่าคาดและฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก ทั้งนี้กลุ่มยังมองความต้องการ PC จะฟื้นตัวในปี 2024 เช่นเดียวกันกับที่บริษัทค้าปลีกอย่าง Best Buy เห็นความต้องการ PC ในร้านที่แกร่งขึ้น และเตรียมนำสินค้าเข้ามาใหม่ใน 2H24 ประกอบกับด้วยภาพการปรับประมาณการณ์งบขึ้น รวมถึงแนวโน้มความต้องการ AI PC ที่ดูดี ด้วยภาพนี้ทำให้เราแนะลงทุนกลุ่ม PC เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวปี 24
- Lenovo เผยงบ 3Q24 ดีกว่าคาดและเติบโต โดยรายได้โต 9.5%YoY และกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 1x หลังอุปสงค์ AI ที่โตดี ช่วยหนุนให้ 1. PC AI เติบโตดีและฟื้นตัว 2. กลุ่มโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานโตและมีรายได้สูงสุดเท่าที่เคยมีมา 3. โซลูชันบริการเติบโตหลังการลงทุน AI เพิ่ม
- HP เผยงบ 2Q24 ฟื้นตัวดีกว่าคาด ซึ่งภาพรวมมีแรงหนุนจากรายได้ PC ที่ฟื้นตัวและพลิกกลับมาเติบโตเป็นบวก 3%YoY นอกจากนี้คาดยอดขาย PC จะฟื้นตัวในปี 24 หนุนจาก Windows 11 และ PC AI ซึ่งคาดว่ามีสัดส่วนรายได้ราว 10% ของรายได้รวม
- Dell Technologies เผยว่างบดีกว่าคาด และปรับเพิ่มคาดการณ์ทั้งปีขึ้น นอกจากนี้คาดว่ายอดขายเซิร์ฟเวอร์ AI มากกว่า 2 เท่าของไตรมาสก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ดีตลาดคาดว่าจะเติบโตสูงกว่านี้จึงทำให้ราคาหุ้นลงแรง
หากตัดความคาดหวังตลาดออก เรามองว่าภาพงบกลุ่ม PC สะท้อนทิศทางการฟื้นตัวที่ดีโดยมีรายได้ที่เติบโตกลับมาเป็นบวกแล้ว นอกจากนี้เราเชื่อว่าแนวโน้มการฟื้นตัวในปี 2024 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลัง
- ความต้องการ AI มีแนวโน้มโตดี ซึ่งภาพนี้จะช่วยให้ยอดขาย PC AI เพิ่มขึ้นและเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยเร่งการฟื้นตัวให้เร็วขึ้น
- ภาพการออกสินค้าใหม่ที่จะช่วยหนุนการเติบโต ซึ่งบริษัทค้าปลีกอย่าง Best Buy ก็เห็นความต้องการ PC ในปีนี้ที่แกร่งและเตรียมนำสินค้าเข้ามาใหม่ใน 2H24 เพิ่ม
- การปรับเพิ่มคาดการณ์ที่สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี
ด้วยภาพนี้ ทำให้เราแนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม PC เพื่อคาดหวัง Upside จากการฟื้นตัวในปีนี้ โดยเราแนะนำว่าให้มอง Dell, Lenovo ที่มี Risk Reward ดี
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด/สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลัง GDP ใน 1Q24 สหรัฐฯ ประมาณการครั้งที่ 2 อยู่ที่ +1.3%QoQ ต่อปี ชะลอลงจากประกาศครั้งแรก
นอกจากนี้ สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะสหรัฐฯ) กับจีน และข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน
ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว
2Y UST และ 10Y UST Yield แตะระดับ 4.9% และ 4.6% สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจาก 1. Consumer Confidence Index กลับมายืนเหนือ 100 อีกครั้ง 2. จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ Flash Composite PMI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม มีความแข็งแกร่ง โดยดีดตัวเป็น 54.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน เมื่อรวมเข้ากับท่าที Hawkish จากรายงานการประชุม FOMC ทำให้ตลาดได้เลื่อนคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกเป็นเดือนธันวาคม
Real Yield ในปัจจุบันมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือ เพื่อ Hedge ในกรณีที่เกิด ‘Growth Shock’ (เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด)
US Treasury & IG
รายงานการประชุม FOMC สอดคล้องกับความเห็นของสมาชิก Fed ที่ออกมาให้ความเห็นก่อนหน้านี้ ว่าอาจใช้เวลามากกว่าที่คาดที่จะยืนยันว่าเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้เป้าหมายของ Fed ที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และยังยึดกับวิธี ‘Data Dependent’ ในการตัดสินใจว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไร
Yield ตัวยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตัวสั้น ทำให้ Yield Curve พันธบัตรรัฐบาลปรับลดความชันลง ขณะที่ TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ที่ 6 ส่วน Spread ของ IG ยังทรงตัวตามคาด หลังซัพพลายใหม่ยังชะลอตัว
ด้านอัตราผลตอบแทนยังน่าสนใจ โดยเราชอบในส่วนของ Duration อายุ 2-4 ปี จากการที่ Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด และ Inverted Yield Curve
High Yield Bond
US HY Yield-to-Worst และ HY Spreads ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และซัพพลายของการรีไฟแนนซ์ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024
สินทรัพย์ผสม/กึ่งหนี้กึ่งทุน/REIT
ในสภาวะที่ Spread ของ Public Credit (อย่างเช่น IG และ HY) ค่อนข้างแคบ การเพิ่ม REIT จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงิน (Income Return) ให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสมช่วยลดความผันผวน เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ US REITs จาก 1. Valuation ที่ไม่แพง โดยมี PBV ที่บริเวณ 2.0x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่บริเวณ 2.3x และ 2. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง 2Q21 ทั้งนี้ในช่วง 1Q24 US REITs มี Same-Store NOI Growth ที่ราว 3.2%
อย่างไรก็ตาม 10Y UST Yield ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น และความกังวลว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด ส่งผลให้ US REITs มี Yield Spread ที่ติดลบ กดดันความน่าสนใจลงทุนในระยะสั้น
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
Fed ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการชะลอการทำ QT แต่มีท่าที Hawkish บนข้อมูลของตัวเลขเงินเฟ้อ ทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดในช่วงสั้น / ภาพรวมของการประกาศกำไรใน 1Q24 ของทั้งสหรัฐฯ และยุโรปออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ค่อนข้างมาก ขณะที่จำนวนบริษัทที่ให้ Positive Guidance ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และกำไรของตลาดหุ้นในยุโรปกลับมาเป็นบวก QoQ ครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส
นโยบายการเงินของ BOJ ถึงแม้ตึงตัวขึ้น แต่ยังน้อยกว่าตลาดคาด การกลับมาของเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสนับสนุนการเติบโตของกำไรในระยะกลางถึงยาว ถึงแม้ GDP ใน 1Q24 อาจหดตัวมากกว่าคาด
หุ้นสหรัฐฯ
กำไรในกลุ่ม Magnificent 7 โดยภาพรวมทำจุดสูงสุดใหม่ (ยกเว้น Tesla ที่กำไรลดลง) นำโดยหุ้น NVIDIA ที่เติบโตในระดับ Triple Digit ส่งผลให้ประกาศกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน 1Q24 ออกมาดีกว่าคาดการณ์ไว้ก่อนการประกาศงบฯ และเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรกระจายตัวสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน IT Consumer Service และ Consumer Discretionary
การเร่งตัวของกำไรรายไตรมาสจะเป็นตัวประคอง Valuation ของตลาดฯ
หุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปยังมี Valuation ที่ไม่แพง และได้แรงหนุนจากทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB ขณะที่ EPS มีแนวโน้มถูกปรับดีขึ้น ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้น โดยกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่ดี แม้ว่าข้อพิพาททางการค้ากับจีน โดยเฉพาะความเสี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้ารถตอบโต้กัน อาจกดดัน Sentiment โดยรวมก็ตาม
หุ้นญี่ปุ่น
เราคาดว่า กลุ่ม Value ญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลของ TSE ที่จะหนุนการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผล นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการลดการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นของ BOJ เช่น การทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ และการส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อพันธบัตรญี่ปุ่น ในช่วงที่เหลือของปีนี้
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
การเติบโตของ Global GDP ในปี 2024 ถูกปรับประมาณการณ์ขึ้นทั้งฝั่ง US ยุโรป จีน และ EM ex-China อย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี สนับสนุนการขยายตัวของการค้าโลก และส่งผลให้หุ้น Value และหุ้นที่เกี่ยวกับ Commodity-Link ที่มีอยู่มากในหุ้นกลุ่ม EM มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย Valuation ของกลุ่ม EM ถูกกว่า DM ทั้งในแง่ของ FWD P/E และ PBV และกำไรเติบโตมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ PMI และ GDP ของฝั่งตลาด EM มีภาพของการขยายตัวที่สูงกว่าตลาด DM
เราคาดว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐได้สะท้อนความเสี่ยงด้านนโยบายธนาคารกลางที่อาจลดลงช้ากว่าที่ตลาดคาดไปพอสมควร โดยความเสี่ยงที่ยังต้องจับตาคือ นโยบายทางการเมืองของการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่มีการมุ่งเน้นเรื่องการตั้งกำแพงภาษี และมีแนวโน้มในการกำหนดข้อจำกัดทางการค้ากับตลาดทางฝั่ง EM Asia มากขึ้น
หุ้นอินเดีย
ปัจจัยผลักดันการเติบโตกำไรในระยะยาว ได้แก่ 1. รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2. โครงสร้างประชากรที่มีชนชั้นกลาง ขยายตัวอย่างรวดเร็ว 3. การฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงงบดุลของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีช่องว่างให้สามารถระดมทุนได้อีกมาก หลายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนกำลังเข้าสู่ช่วง ‘New S-Curve’ เช่น ภาคการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจาก PLI Scheme กลุ่ม Internet และ Technology Service ที่ได้ประโยชน์จากอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่สูง ต้นทุนการใช้งาน Data ที่ต่ำ อัตราการใช้ Digital Payment ที่สูง ระบบขนส่งและโครงสร้างทางดิจิทัลที่พัฒนาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์และธุรกิจ Innovation
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยงโดยลดการถือเงินดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว