วันเลือกตั้ง

ส่องการเมืองและที่ทาง กกต. ในวัน คสช. อำนาจเต็มมือ ผ่านอดีตกรรมการ สดศรี สัตยธรรม

11.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • มองการทำหน้าที่ของ กกต. ภายใต้สถานการณ์ที่ คสช. กุมอำนาจรัฐ จากสายตาของอดีต กกต.
  • ในวันที่การเดินหน้าใช้พลังดูดอย่างโจ่งแจ้ง การแบ่งเขตที่สังคมครหา สามารถทำได้เต็มสูบในประเทศนี้ สำหรับอดีต กกต. สดศรี มองว่า การเลือกตั้งภายใต้บริบทกรอบกติกาที่เป็นอยู่ ‘ยาก’ ที่จะมีคนตัวเล็กตัวน้อยเข้ามามีบทบาทการเมืองในสภา
  • แม้ไม่มีกฎหมายห้าม แต่ด้วยจรรยาบรรณ ในฐานะคนเคยให้คุณให้โทษ ให้ใบดำใบแดงนักการเมืองพรรคต่างๆ มามากมายตลอด 7 ปี และการได้เห็นความไม่น่าอภิรมย์ของการเมือง อดีต กกต. สดศรี จึงไม่คิดจะเข้าไปทำงานการเมือง ไม่ว่าเป็นสมาชิกหรือไปมีตำแหน่งใดๆ ในพรรค

วันนี้สังคมไทยจะได้รับรู้ทรรศนะของ ‘สดศรี สัตยธรรม’ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ต่อหลากประเด็นร้อน ทั้งการใช้พลังดูด บทบาท คสช. บทบาท กกต. ชุดปัจจุบัน

ตลอดจนบทบาทการวางตัวของคนที่เป็นเคยนั่งในเก้าอี้ กกต. มาก่อนว่าควรแสดงออกอย่างไรในทางการเมือง

 

หลายเรื่องสังคมอาจได้เคยรับฟังความเห็นของสดศรีมาบ้างแล้ว แต่ละคำตอบของอดีต กกต. ท่านนี้มักแทรกด้วยคำอธิบายตัวบทกฎหมาย เพราะนั่นคือหลักยึดในการทำงานของเธอตลอดมา

 

มากกว่านั้นอาจเป็นเพราะสดศรีเคยผ่านประสบการณ์เป็นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาก่อนนั่งเก้าอี้กรรมการการในฐานะ กกต.

 

สดศรีย้ำว่า กฎหมายเป็นหลักที่ต้องยึดพิงหลังไว้ เพราะ “ถ้าเราสามารถอธิบายอะไรก็ตามแล้วมีกฎหมายรองรับ เราจะพ้นจากการที่ถูกครหา”

 

 

ในมุมมองของคุณที่เคยเป็นคนคุมกติกา มองเรื่องพลังดูดอย่างไรบ้าง

เรื่องพลังดูดจริงๆ มีทุกยุค แต่สิ่งที่มันจะเป็นกระแสมากก็คือการที่รัฐบาลตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ก็ดูออกชัดเจนว่าเป็นรัฐมนตรีออกมาตั้งพรรคการเมือง แล้วคีย์แมนที่มาตั้งพรรคคือรัฐมนตรีทั้ง 4 คนก็คุมเรื่องเศรษฐกิจด้วย การใช้งบประมาณแผ่นดิน สิ่งเหล่านี้ทำให้เรื่องพลังดูด คนก็สนใจ แล้วตอนนี้เรื่องที่น่าสนใจต่อก็คือนายกรัฐมนตรีจะออกมาร่วมไหม

 

ทำไมการปฏิรูปการเมืองถึงนำมาสู่การดูด ส.ส. ที่อีกฝ่ายบอกว่าเป็นน้ำเสีย

การเป็นนักการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจะต้องวางฐานการเมืองก่อน ต้องลงพื้นที่ งานแต่ง งานบวช งานทอดกฐินก็ต้องไป ถามว่าเป็นการซื้อเสียงไหม เขาบอกก็เป็นการเอื้ออาทรของคนไทย ฉะนั้นคนจะเป็นนักการเมืองต้องเป็นบุคคลที่ชาวบ้านรู้จักและทำประโยชน์ให้เขาเป็นเวลานาน การจะเอาคนหน้าใหม่เป็นไปไม่ได้ เขาก็จะเอาคนที่มีหัวคะแนน มีอิทธิพลในจังหวัดนั้นมาเข้าร่วม

 

การปฏิรูปการเมืองก็วนอยู่ในกลุ่มนักการเมืองหน้าเดิม ต่างตรงที่ครั้งนี้มีเด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทายาทของผู้มีอันจะกินทั้งหลายรวมตัวกันเพื่อที่จะตั้งพรรคการเมืองตามอุดมการณ์

 

จะเป็นไปได้ไหมที่การดูดเป็นเรื่องที่พิจารณากันจากความสามารถ

ต้องถามว่าที่ผ่านมาความสามารถของนักการเมืองมีแค่ไหน ถ้าเราได้น้ำดีมา บ้านเมืองคงไม่ใช่แบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเมืองก็วนอยู่ในกลุ่มนักการเมืองหน้าเดิม ต่างตรงที่ครั้งนี้มีเด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทายาทของผู้มีอันจะกินทั้งหลายรวมตัวกันเพื่อที่จะตั้งพรรคการเมืองตามอุดมการณ์ แต่ก็อยากจะถามว่า เมื่อท่านเข้ามาท่านจะทำได้จริงตามอุดมการณ์ไหม เพราะกลไกของบ้านเมืองมันไม่ใช่ต้องแก้ที่ตัวนักการเมืองเท่านั้น ยังมีองคาพยพเต็มไปหมด อย่างถ้าแก้จุดนี้แล้วอีกจุดหนึ่งเขาเฉย เอาเท้าราน้ำ ทำอะไรได้ไหม

 

 

แสดงว่าโอกาสของคนตัวเล็กตัวน้อยในการเติบโต หรือขยับไปทำหน้าที่เป็นนักการเมืองก็คงยาก

ยาก คุณไม่มีเงินในกระเป๋าเลย ถามว่าคุณลงการเมืองได้ไหม แผ่นป้ายหาเสียงที่ทำ มันไม่ใช่ถูกๆ การลงพื้นที่คุณต้องมีเงิน ที่บอกว่าจะทำบุญวันเกิด ทำบุญงานต่างๆ อะไรไม่เกิน 3,000 ที่จริงมันมากเกินกว่านั้น การกำหนดว่าค่าใช้จ่ายเงินต่อผู้ลงสมัคร ส.ส. ไม่เกินคนละ 1.5 ล้าน ที่จริงมันเกินกว่าทั้งนั้น เว้นแต่มีนายทุนใหญ่ที่ออกทุนให้ ซึ่งแน่นอนที่สุด การที่นายทุนเข้ามา มีที่ไหนที่ลงทุนแล้วไม่ต้องการถอนทุนคืน

 

การเลือกตั้งทุกครั้งไม่ได้ลดความขัดแย้ง อาจเพิ่มความขัดแย้งยิ่งขึ้น การเมืองรอบนี้ก็จะเป็นอีหรอบเดิม เป็นการแข่งขันของคนกลุ่มเดิมๆ พรรคการเมืองเดิมๆ

 

แล้วเราจะมีโอกาสเห็นการเมืองแบบใหม่ไหม ที่ใช้เงินน้อยหรือพยายามจะเรี่ยไรเงินจากผู้สนับสนุนให้มากที่สุด

อันนั้นคล้ายๆ เป็นพิธีการ อย่างการระดมทุนในลักษณะออกกันคนละบาทนะ การเมืองไม่ได้หรอก มันต้องใช้เงินมาก ถามว่าประเทศไทยผิดปกติไหมที่ต้องใช้เงิน คือที่อเมริกาก็ใช้เงินมาก แล้วนายทุนของพรรคการเมืองใหญ่ๆ อย่าให้บอกว่าสมัยไหนก็มีนายทุนที่มาจากเจ้าของบ่อนการพนันใหญ่ ซึ่งเขายอมรับว่าเขาทำได้ กฎหมายเขาไม่ว่าอะไร

 

สำหรับไทย อย่างเงินสนับสนุนจาก กกต. ถ้าพรรคเล็กก็ได้หลักหมื่น ส่วนพรรคใหญ่ก็ได้หลักสิบกว่าล้าน ถามว่าพอหรือไม่ ไม่พอ ถามว่าเงินเอามาจากไหนที่ใช้จ่าย ก็เชื่อว่าเป็นการระดมทุนของผู้ที่มีส่วนได้เสีย มีอันจะกิน สามารถที่จะช่วยพรรคการเมืองให้ไปถึงฝั่งได้ แม้จะมีกฎหมายห้าม เช่นว่าทุนจากต่างประเทศไม่ได้ แต่มันก็มีการแปลงร่างได้

 

กฎหมายเขียนว่าให้นักการเมืองแสดงค่าใช้จ่ายต่อ กกต. แต่ถามว่านักการเมืองแจ้งถูกต้องไหม ไม่แจ้งมีเยอะไหม คือไม่แจ้งก็เยอะ มันก็คงเป็นเรื่องธรรมดา แม้จะมีรัฐธรรมนูญก่อนๆ เขียนว่าต้องควบคุมค่าใช้จ่ายนักการเมือง ไม่ให้ไปซื้อเสียง แต่ว่าการซื้อเสียงมันไม่ได้ต้องผ่านตัวนักการเมือง ผ่านหัวคะแนน ผ่านบุคคลอื่นที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนั้นๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น  

 

 

คุณมองการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เปลี่ยนไปครั้งนี้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องหัวคะแนน

คือมันมีหลายรูปแบบนะ ตัดคะแนนเสียงโดยใช้อาวุธคงไม่มี เพราะไม่ต้องถึงขั้นฆ่ากัน เพียงแต่ว่ามีหัวคะแนนที่จะคุมในเขตนั้นได้พอไหม แต่วิวัฒนาการของการแข่งขันทางการเมือง เมื่อก่อนจะเห็นได้ว่ามีกระทั่งว่ามีคนยอมรับว่าไปรับเงินมา หรือซื้อเสียง เพื่อให้คนฟ้องไปถึงชั้นศาลเมื่อศาลพิพากษาว่าเขาซื้อเสียง ไปรับสมอ้างว่าเขาซื้อ แล้วเขาก็เอาคำพิพากษาที่ศาลว่าเขาซื้อ ไปทำให้คู่แข่งเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งอาจไม่ได้ซื้อจริง มันมีถึงขนาดนี้จริงๆ

  

การเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ใต้อำนาจพิเศษ มีอำนาจของ คสช. เข้ามา สภาพการแบบนี้จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งได้ไหม

การเลือกตั้งทุกครั้งไม่ได้ลดความขัดแย้ง อาจเพิ่มความขัดแย้งยิ่งขึ้น การเมืองรอบนี้ก็จะเป็นอีหรอบเดิม เป็นการแข่งขันของคนกลุ่มเดิมๆ พรรคการเมืองเดิมๆ และครั้งนี้มันก็ไม่ใช่ครั้งแรกนะที่มีปฏิวัติรัฐประหาร ปี 2549 คณะปฏิวัติยุคนั้นก็ได้ตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ไม่สามารถดึงคะแนนเสียงได้มาก ลงทุนไปมากเชียว แต่ก็ได้ ส.ส. มาน้อย รัฐบาลหลังปฏิวัติก็ดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่าอยากจะต่ออำนาจ แต่เสียงประชาชนชี้ว่าไม่ให้ต่อ อันนี้ก็คงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าถืออำนาจหลังปฏิวัติแล้วจะต่อการทำงานของตัวเองได้

 

ตอนนั้นก็ตั้งองค์กรคุมการเลือกตั้ง ก็มีการตั้งคำถามว่าซ้ำซ้อนกับ กกต. หรือเปล่า ส่วนครั้งนี้ก็มีการใช้คำสั่ง ม.44 ซึ่งเป็นการจัดการเลือกตั้งที่อาจดูว่าก้าวก่ายงาน กกต. หรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับตัว กกต. เช่นกัน ถึงแม้จะมีคำสั่ง คสช. แต่ กกต. ก็ยิ่งต้องวางตัวเป็นกลางที่สุด ถ้าปฏิบัติกับการดำเนินการของพรรคที่เห็นชัดว่าเป็นของฝั่งทหารอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติกับพรรคการเมืองอื่นอีกอย่างหนึ่ง แน่นอน กกต. จะอยู่ไม่ได้

ถึงแม้จะมีคำสั่ง คสช. แต่ กกต. ก็ยิ่งต้องวางตัวเป็นกลางที่สุด ถ้าปฏิบัติกับการดำเนินการของพรรคที่เห็นชัดว่าเป็นของฝั่งทหารอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติกับพรรคการเมืองอื่นอีกอย่างหนึ่ง แน่นอน กกต. จะอยู่ไม่ได้

 

กกต. เกือบทุกชุดถูกสังคมกระหน่ำตลอดเวลา มีอดีต กกต. ซึ่งเคยเป็นคนคุมกติกาแล้ววันนี้มาเป็นผู้เล่นทางการเมือง จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระขององค์กรนี้ไหม

คือการมีองค์อิสระหลังปี 2540 ก็เพื่อให้ปลอดจากการเมือง ทำงานได้สบายใจ ทีนี้การที่ถ้าเป็น กกต. หรือเป็นองค์กรอิสระอื่น ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนไว้เลยว่า ถ้าคุณเป็นแล้ว คุณจะไปอยู่ที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว หมายถึงว่าจะไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระอื่นไม่ได้

 

แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่ากรรมการองค์กรอิสระใดเมื่อพ้นวาระแล้วจะมาสู่การเมืองไม่ได้ คือการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้มีกฎหมายห้าม แต่ถามว่าความเหมาะสม จรรยาบรรณมันมีอย่างไร และการที่ลงไปสู่การเมือง พูดถึงตัว กกต. ท่านเคยตัดสินคนอื่นไว้ บางพรรคก็ได้รับประโยชน์จากการวินิจฉัยของ กกต. บางพรรคก็ไม่ได้ มันก็เหมือนการตัดสินของศาล มันก็จะมีคนที่แพ้และก็ชนะ ของธรรมดาในระบบกระบวนกยุติธรรม

 

ถ้าเป็นกรรมการมาแล้วสมควรไหมจะมาเป็นผู้เล่น ความคิดเห็นของเรา ไม่ควรมาเป็นผู้เล่นอีก ไม่ว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ถือว่าได้ลงการเมืองแล้ว ไม่ว่าสมัครลงตำแหน่งอะไรหรือไม่ ถึงจะมีความสามารถ มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่การเคยเป็นกรรมการ ให้คุณให้โทษ ใบเหลืองใบแดง ซึ่งมากมายเหลือเกินในการทำงาน 7 ปีของ กกต. มันก็จะเกิดการย้อนถามมาได้ว่า เมื่อคุณทำงาน คุณตัดสินพรรคที่คุณเป็นสมาชิกอย่างไร

 

เราต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เมื่อมีเหตุการณ์อะไร เรามีหลังพิง ถ้าเราสามารถอธิบายอะไรก็ตามแล้วมีกฎหมายรองรับ เราจะพ้นจากการที่ถูกครหา

 

เวลาโดนแรงกดดันต่างๆ ตั้งหลักอย่างไร รับมือกับแรงกดดันอย่างไร เผื่อเป็นคำแนะนำไป กกต. ชุดใหม่ด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากตัวเองเคยเป็นผู้พิพากษามาแล้ว เมื่อเราอยู่กับกฎหมาย เราต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เมื่อมีเหตุการณ์อะไร เรามีหลังพิง ถ้าเราสามารถอธิบายอะไรก็ตามแล้วมีกฎหมายรองรับ เราจะพ้นจากการที่ถูกครหา เราสามารถแก้ได้ว่าที่เราทำอย่างนั้นเพราะอะไร ถ้าเราไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำอย่างนั้นเพราะอะไร ในที่สุดตัว กกต. ก็คงไม่พ้นความรับผิด

 

อย่างกรณีการแบ่งเขต ถ้าบอกว่าเป็นไปตามหลักของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มันจะมีหัวใจหลัก 3 ข้อ เขตต้องอยู่ติดกัน ประชาชนแต่ละเขตต้องใกล้เคียงกัน และต้องให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า ให้ประชาชนดูแล้วยอมรับไหมในลักษณะนั้น ถ้าหัวใจ 3 ข้อนี้ถูกต้อง ท่านไม่ต้องไปกลัวว่าการแบ่งเขตนี้มีแบบที่สี่ ที่ห้า ถ้าท่านจะเอาแบบที่สี่ ที่ห้า แล้วยึดตามหลักเกณฑ์นี้ ท่านก็อธิบายได้ ถ้ามีหลักยึดแล้วทำงานง่าย แต่ถ้าไม่มีหลักยึดแล้วก็เขวไปหมด ในที่สุดมันก็ไม่รอด

 

ถ้าเป็นกรรมการมาแล้วสมควรไหมจะมาเป็นผู้เล่น ความคิดเห็นของเรา ไม่ควรมาเป็นผู้เล่นอีก ไม่ว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ถือว่าได้ลงการเมืองแล้ว

 

โซเชียลมีเดียดูจะเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง

ต้องยอมรับว่าขณะนี้เป็นเครื่องมือ มีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองที่ไม่ค่อยปกติตอนนี้ กระแสของประชาชนสนใจทางโซเชียลมีเดียมากกว่าอุปกรณ์หรืออาวุธอื่นอีก เพราะสามารถช่วยคนหรือทำลายคนก็ได้ การคุมโซเชียลมีเดีย ต้องคุมในลักษณะที่เป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน ถ้าคุมโดยที่ประชาชนไม่ยอมรับก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เป็นอิสระ และการหาเสียงในวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน ซึ่งปกติจะห้ามโฆษณาหาเสียง หากเกิดการใช้เพื่อทำลายโจมตีคู่แข่งกัน โฆษณาหาเสียงในรุ่งขึ้นของวันเลือกตั้ง ถามว่า กกต. จะหาตัวทันได้ไหม กกต. ต้องมีมือมีเท้าที่จะตามทันในเรื่องนี้ กกต. จะทำงานองค์กรเดียวไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือกับ กสทช. หรืออะไรพวกนี้ที่จะช่วยดู

 

 

มีการสร้างชุดคำอธิบายที่ว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย การเลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตย เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศ คุณมองอย่างไร

ถามว่าประชาชนคนไทยที่เจอมาทั้งการมีรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลจากการรัฐประหาร ประชาชนจะต้องมาเทียบกันว่าท่านอยู่ในระบบนี้กับระบบนี้ได้ประโยชน์อะไรไหม ถ้าระบบหนึ่งเห็นว่ามีความสุขดีก็ไม่จำเป็นต้องมีอีกระบบ

 

มีสักแวบไหมที่คิดว่าอยากเล่นการเมือง อยากลงการเมืองเหมือนกัน

ต้องยอมรับว่ามีคนชวน แต่อย่างที่พูดไปแล้ว เมื่อเราตัดสินใครไปแล้ว ประวัติมันจารึกว่าเราทำงานอย่างไร เราเป็นอย่างไร เราจะเอาตัวเราไปอยู่ในแวดวงที่ยังมีคนติดใจว่าในขณะที่เราเป็น กกต. เราทำอะไรไว้ ก็คงไม่เหมาะ ควรจะเป็นคนที่อยู่นอกสนามมากกว่า จบก็คือจบ

 

เหมือนกับหลายคนที่พูดว่า เมื่อเราออกมาแล้วก็เหมือนล้างมือในอ่างทองคำ ล้างมือแล้ว สะอาดแล้ว และก็คงไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีก

 

แต่ส่วนตัวคิดว่าอายุขนาดนี้แล้ว และเห็นว่าโลกของการเมืองไม่น่าอภิรมย์อะไรแล้ว

 

คนที่จะเป็นนักการเมืองได้จะต้องเป็นมนุษย์พิเศษจริง และคิดว่าการเป็น กกต. นี่สูงสุดแล้ว การทำงานครั้งหนึ่งของชีวิต ทำงานระดับชาติมาแล้ว ถือว่าเราควรจะพักในขณะนี้ แล้วทำงานอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่าที่จะกลุ้มอกกลุ้มใจ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising