THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

สัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นลากยาวถึงปีหน้า เป็นคำเตือนว่าตลาดจะ ‘ปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น’

... • 7 พ.ย. 2022

HIGHLIGHTS

  • ตลาดเงินผันผวนแรงหลังรับรู้ผลการประชุม FOMC ที่แม้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด และเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง แต่ก็มีสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นนานกว่าที่คาด 
  • ขณะที่ตลาดทุนเริ่มทรงตัว และปรับลดลงในช่วยปลายสัปดาห์หลังรับรู้ผลการประชุม FOMC ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกับตัวเลขตลาดแรงงาน (JOLT, ADP)
  • หนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนจาก Fed คือจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าเงินเฟ้อลดลงชัดเจน โดยมีเมสเสจใหม่คือ Terminal Rate จะสูงกว่าที่เคยคาด ทำให้เราเชื่อว่ายิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิด Recession 
  • ภาวะ Recession หรือ Big Credit Event อาจเกิดขึ้นในกลางปี 2566 ผลจากต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจที่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิด Market Turbulence ได้มาก

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนแรงขึ้นหลังรับรู้ผลการประชุม FOMC ที่แม้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด และเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง แต่ตลาดกลับผิดหวังหลัง Fed ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปต่อเนื่องยาวนานกว่าที่ตลาดคาด 

 

ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น แต่เงินเฟ้อยังสูงแม้เริ่มปรับตัวลดลง โดย

1. ตัวเลข PMI ของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ลดลงและต่ำกว่า 50 จุดเป็นส่วนใหญ่ 

2. ตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตัวเลขค่าจ้าง (Employment Cost Index) ที่ยังทรงตัวในระดับสูง 

3. ตลาดแรงงานสหรัฐฯ (JOLT, ADP) ที่อยู่ในระดับสูง โดยตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4 แสนตำแหน่ง ขณะที่ตลาดคาดลดลง 5 แสนตำแหน่ง ส่วนตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เพิ่มขึ้น 2.4 แสนตำแหน่ง จากตลาดคาดที่ 1.9 แสนตำแหน่ง 

4. รัฐบาลจีนปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาว่าจะยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ท่ามกลางกระแสข่าวผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับสูงถึง 2,500 คนต่อวัน 

5. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจะพิจารณาเก็บภาษีลาภลอยกับบริษัทน้ำมันที่ได้ประโยชน์จากราคาโภคภัณฑ์สูง 

6. เงินเฟ้อยูโรโซนยังคงปรับตัวสูงขึ้นที่ 10.7% 

7. OPEC คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันโลกยังพุ่งขึ้นต่อเนื่องที่ 105 ล้านบาร์เรลในปี 2025 

8. บริษัทขนส่งทางเรือ Maersk มองว่าสัญญาณเศรษฐกิจและการค้าโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย 

9. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์มีมากขึ้น หลังจากเกาหลีเหนือซ้อมรบยิงขีปนาวุธไปยังน่านน้ำเกาหลีใต้และญี่ปุ่น 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจการลงทุนโลกบ้าง กล่าวคือ 1. รัสเซียกลับมาอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชตามข้อตกลง UN อีกครั้ง และ 2. ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นบวก

 

ตลาดปรับตัวลงรับผลประชุม Fed 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทรงตัวแต่เริ่มปรับตัวลดลงปลายสัปดาห์ โดยเฉพาะหลังการประชุม FOMC ที่แม้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด และเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง แต่ก็ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปต่อเนื่องยาวนานกว่าที่ตลาดคาด ภาพดังกล่าวทำให้ตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแรง ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตัวเลขตลาดแรงงาน (JOLT, ADP) ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจโลกต่างๆ โดยเฉพาะ PMI ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

 

จับสัญญาณ Fed มีทั้ง Hawkish และ Dovish

InnovestX มองว่า ผลการประชุม FOMC ล่าสุด รวมถึงถ้อยแถลงของประธาน Fed มีลักษณะเป็นทั้ง Hawkish และ Dovish คือ 1. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.88% ตามคาด 2. ส่งสัญญาณ Hawkish ขึ้น โดยมองว่าดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) จะสูงกว่าที่ตลาดเคยคิดไว้ (ที่ 4.88%) 3. ส่งสัญญาณ Dovish ว่าโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปอาจชะลอลงกว่าครั้งนี้ได้ 4. ยอมรับถึงประเด็นที่ว่านโยบายการเงินมีการส่งผลต่อเศรษฐกิจล่าช้า และมีความเสี่ยงที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปจนกระทบเศรษฐกิจ (Overtightening) แต่กังวลความเสี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยน้อยเกินไปแล้วทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 

 

InnovestX มองว่า ในการประชุมครั้งนี้ แม้พาวเวลล์และ Fed จะส่งสัญญาณมากขึ้นว่าเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงตลาดการเงินจะมีสูงขึ้น แต่ Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าเงินเฟ้อลดลงชัดเจน โดยมีเมสเสจใหม่คือ Terminal Rate จะสูงกว่าที่เคยคาด ทำให้เราเชื่อว่ายิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิด Recession และ/หรือ Big Credit Event ในปีหน้า และทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยในปี 2566 เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้  

 

ด้วยการส่งสัญญาณ Hawkish เช่นนี้ จะทำให้ Inverted Yield Curve (IYC) ยังคงรุนแรงในระยะต่อไป เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นแรงขึ้นในช่วงสั้น จะทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตร 2 ปี ปรับขึ้นเร็วขึ้นด้วย และดึงให้พันธบัตร 10 ปี ซึ่งเป็นฐานคำนวณต้นทุนการเงินภาคเอกชนขึ้นตาม 

 

“ภาพเช่นนี้จะทำให้สถานการณ์ Big Credit Event อาจเกิดขึ้นในกลางปี 2566 ผลจากต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจที่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิด Market Turbulence ได้มาก”

 

แนะระวังความผันผวนระยะสั้น

เราเชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไปได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้น อาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 3.1% (EM +1.8%, DM -3.6%) โดยได้รับแรงกดดันจาก Fed ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและไม่ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงผลประกอบการออกมาชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาด แต่ตลาดฝั่ง EM ได้รับแรงหนุนจากกระแสข่าวปรับลดมาตรการ Zero-COVID

 

หุ้นกลุ่ม Value (-1.6%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-4.6%) หุ้นขนาดเล็ก (-1.9%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-3.3%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมยกเว้นพลังงานปรับลดลง ส่วนหุ้นกลุ่ม Growth อย่างเทคโนโลยี สื่อสาร และสินค้าฟุ่มเฟือย ปรับลดลง 5-8% ทั้งจากแนวโน้มที่ไม่ดีและดอกเบี้ยขึ้น

 

ส่วนในสัปดาห์หน้าติดตามผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่คาดว่าพรรคเดโมแครตจะเสียที่นั่ง รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลง และการประชุม COP27 ที่คาดว่าจะมีการพูดถึง Carbon Credit มากขึ้น อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาพการล็อกดาวน์เป็นสำคัญ ท้ายสุดคือผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ และยุโรป ได้แก่ AstraZeneca, Bayer, BioNTech, Bridgestone, Deutsche Telekom, DuPont, Hapag-Lloyd, Hon Hai, Honda, Nintendo, Occidental Petroleum, Rivian, Roblox, Singapore Telecommunications และ SoftBank

 

กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย

อารมณ์ตลาดยังอยู่ในลักษณะของการเก็งกำไรผลประกอบการ 3Q65 เป็นหลัก รวมทั้งคงจับตาตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของสหรัฐฯ และจีน ที่จะออกมาในสัปดาห์หน้า กลยุทธลงทุนจึงแนะนำเป็น Selective Buy ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ซึ่งคาดต้านทานความเสี่ยงภายนอกได้ ดังนี้

1. หุ้น Earning ซึ่งคาด 3Q65 กำไรจะออกมาเติบโตแข็งแกร่ง YoY เลือก GFPT, SPALI, MTC, CPALL, LH และ BCP

2. หุ้นที่ราคาปรับลงแรง และ Valuation ไม่แพง (PBV ต่ำกว่า -1SD) สวนทางพื้นฐานที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ เลือก MTC, GPSC, BGRIM และ SCGP

3. หุ้นเก็งกำไรที่คาดได้อานิสงส์หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งคาดจะหนุนเงินทุนไหลเข้า เลือก BBL, AOT และ PTT

4. หุ้นเก็งกำไรที่คาดได้อานิสงส์จากกระแสถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (เริ่ม 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2565) ซึ่งคาดกระตุ้นบรรยากาศการบริโภค เลือก CPALL, CENTEL และ MINT

 

แนะเลี่ยงการลงทุนหุ้นกำไร ‘เสี่ยงลดลง’

ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้ 

1. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง

2. หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น และผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกออกมาต่ำกว่าคาด

3. หุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมี หลังคาดงบ 3Q65 อาจได้รับผลกระทบค่าการกลั่น/ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง และขาดทุนสต๊อก 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

1. การเลือกตั้ง Midterm Election ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นไปได้สูงที่รีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในสภาล่าง และอาจสามารถครองเสียงในสภาบนได้ด้วย ซึ่งจะทำให้การบริหารราชการของรัฐบาลยากขึ้น

2. ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ตุลาคมของสหรัฐฯ ที่ตลาดคาดว่าจะชะลอลงที่ 8.1%

3. ตัวเลขส่งออกจีน ที่หลายฝ่ายมองว่าจะชะลอต่อเนื่องที่ 4.1% จาก 5.7% ในเดือนกันยายน

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: SPALI - แนวโน้มกำไรโตดี...มีปันผลสูง

สัปดาห์นี้ เราเลือกแนะนำ บมจ.ศุภาลัย หรือ SPALI เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งพอร์ตสินค้ามีกระจายตัวดีทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม อีกทั้งแบรนด์ยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลาง จึงทำให้ผลดำเนินงานเติบโตได้อย่างมั่นคง
  • ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดขายโต 16%YoY สู่ 2.8 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเราเชื่อว่า SPALI จะทำยอดขายได้ที่ ~3.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้า 11% จากมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าสูงที่สุด 3.74 หมื่นล้านบาท (+51%YoY) แบ่งเป็นแนวราบ 28 โครงการ และคอนโด 3 โครงการ 
  • 3Q65 คาดมีกำไรสุทธิ 2.59 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.8%YoY และ 24.9%QoQ แรงหนุนจากรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และอัตรากำไรขั้นต้นคาดอยู่ที่ 39.7% เทียบกับ 39.4% ใน 2Q65 และ 40.7% ใน 3Q64 รวมทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก JV ในออสเตรเลียที่อยู่ในระดับดีขึ้น 
  • SPALI ประกาศลดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว โดยการตัดหุ้นซื้อคืนที่ไม่ได้จำหน่ายออกราว 190 ล้านหุ้น ซึ่งการมีจำนวนหุ้นชำระแล้วที่ลดลง มองจะเพิ่มโอกาสการได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้น โดยเงินปันผลของ 2H65 หลังจากปรับฐานทุนแล้วคาดไว้ที่หุ้นละ 0.90 บาท จากเดิมที่ 0.75 บาท 
  • เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 24.90 บาท (อิง PER 7 เท่า) พร้อมคาดให้ Div. Yield ที่น่าสนใจในระดับกว่า 7% ต่อปี

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสด และ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้นโยบายแทรกแซงค่าเงิน

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยเรามองว่า UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยเฉพาะอายุ 2 ปี ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลัง Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 75 bp ในเดือนธันวาคมปีนี้ ตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง และการเปิดรับสมัครงานสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มากขึ้น (โอกาสที่จะเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 1 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 60%) จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ 10y UST Yield

 

กองทุนแนะนำ

Krungsri Yenjai Fund

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมที่ยังคงมีจาก บลจ. และบริษัทประกัน (แต่เริ่มเห็นสัญญาณการขายออก บลจ. ในเดือนนี้) ขณะที่ Bond Yield และ Corporate Spread ของไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นรุนแรง โดยเฉพาะ Long-End อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังหุ้นกู้ในบางกลุ่ม หากพิจารณาจาก Bid-Cover ในอายุ 5 และ 10 ปี ที่ลดลงจากค่ากลางในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการขายหุ้นกู้ที่ไม่หมดในบางบริษัท

 

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีก จากความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตที่ยังคงมีอยู่ ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ต่างประเทศของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาจีน รวมทั้งยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังสูง และความกังวลเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี และผลประกอบการ บจ.ใน DM ใน 3Q65 ที่มีแนวโน้มดีกว่าตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดยังมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจนกว่าจะเห็นสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าลง แต่เรามองว่าตลาดยังได้รับแรงหนุนจาก Valuation ของตลาดที่ลดความตึงตัวลงจาก Sentiment นักลงทุนที่ยัง Bearish เกินไป ขณะที่การซื้อหุ้นคืนของ บจ. สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความสามารถในการทำกำไร บจ. สหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ยังค่อนข้างดี สำหรับหุ้นกลุ่มที่เราคาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มพลังงาน และ Healthcare

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาจะออกมาดีกว่าที่คาด แต่เรามองว่าภาคการผลิตและการบริโภคยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างการคลังและการเงินอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนี้สาธารณะในระยะกลางได้ นอกจากนี้ รัสเซียมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งยังกดดันภาพการลงทุนในหุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในระยะสั้น Sentiment การลงทุนยังคงถูกสนับสนุนด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ และ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว เป็นปัจจัยกดดันภาพการลงทุนในระยะกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นวัฏจักร ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าและส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มมีการเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม BOJ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในเร็วๆ นี้

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ของดัชนีที่ไม่แพง และผลประกอบการ บจ. ที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังน่ากังวล โดยเฉพาะการกีดกันทางเทคโนโลยี และข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับไต้หวัน ประกอบกับความกังวลในภาคอสังหาที่มีอยู่, สถานการณ์การระบาดในจีนที่ยังไม่แน่นอนสูง, เงินหยวนที่อ่อนค่า, Bond Yield สหรัฐฯ ที่ยังเพิ่มสูงขึ้น และการทยอยผลักดัน Common Prosperity ของทางการจีน จะยังคงกดดัน Upside ของดัชนี 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในการประชุม Politburo ต้นเดือนธันวาคม และ/หรือการประชุม CEWC กลางเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าทางการจีนยังมีแนวโน้มคง Zero-Covid Policy ต่อไป ขณะที่ภาคอสังหายังมีแนวโน้มซบเซาต่อ โดยปัจจัยกดดันข้างต้นจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว (สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนกันยายน โดยมีปัจจัยหลักจากภาคบริการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ในระยะต่อไปการส่งออกมีความเสี่ยงอ่อนแอลงตามการค้าโลก) ส่งให้ Earning เติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางหุ้นไทยที่ผันผวนต่ำกว่าภูมิภาค และ Valuation ที่ยังน่าลงทุน โดย Forward P/E vs. 5Y avg. อยู่ที่ -0.9s.d. ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นในกลุ่ม High Quality โดยเชื่อมโยงกับธีมการท่องเที่ยว และดอกเบี้ยขาขึ้น แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มส่งออก

 

กองทุนแนะนำ

SCB Dividend Stock Open End Fund

  • กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าตลาดมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังเติบโตสูง และผลประกอบการ บจ. เวียดนามใน 2H65 ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แต่มีความเสี่ยงที่ค่าเงินดองมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ Sentiment นักลงทุนรายย่อยในประเทศยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ ตามความไม่แน่นอนในการปราบปรามการทุจริตของทางการเวียดนามที่ยังมีอยู่ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นเวียดนาม

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นอินโดนีเซีย โดยได้แรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังดี (แม้คาดว่าจะอ่อนตัวลงในปีหน้า) และปัจจัยเชิงโครงสร้างจาก FDI & Relocation การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (การลงทุน 3Q65 +42YoY มาจาก FDI +64%) และการเติบโตของชนชั้นกลาง ช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลประกอบการ 3Q65 ที่ออกมาแล้วบางส่วน (28%) สะท้อนภาพของการขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มการเงินและอสังหาที่โตโดดเด่นและดีกว่าที่ตลาดคาด หนุนให้ EPS มีโอกาสถูกปรับขึ้น

 

กองทุนแนะนำ 

SCB Indonesia Equity Fund

  • กองทุน SCBINDO  เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก

1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และกังวลต่อความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียดมากขึ้น

2. ธนาคารกลางต้องการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่เรามองว่าราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์น้ำมันในช่วงฤดูหนาว ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจาก 

1 กลุ่ม OPEC+ ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

1. การคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม

2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มตึงเครียดขึ้นระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลตอบแทนรวมของ REITs คือ การเคลื่อนไหวของ LT Bond Yield เป็นสำคัญ ซึ่งนโยบายการเงินที่ยังตึงตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูงใน DM โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ยังกดดันให้ Yield ยังอยู่ในระดับสูง กดดัน REITs นอกจากนี้ ยุโรปยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อผลกำไรของ REITs ขณะที่กลุ่มสำนักงานถูกกดดันจากการทำงาน WFH & Hybrid ที่ยังมี แม้โควิดคลี่คลาย และกระแสการเลิกจ้างที่กระทบต่อ Take-up Rate

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยเอเชียถูกกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield แต่ไม่รุนแรงเท่ากับสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ไทยยังคงได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและ Relocation-FDI บางส่วน หนุนกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม/โกดัง ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสิงคโปร์เริ่มคลี่คลาย ทำให้ความเสี่ยงการกลับมาใช้มาตรการดูแลโควิดอีกครั้งลดลง ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้เลี่ยง REITs ที่มีหนี้สูง/มีสภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลลบจากภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 7 พ.ย. 2022

READ MORE



Latest Stories