นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาเป็นอันดับ 1 ของผู้ที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนน 27.06%
สำหรับอันดับ 2 เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 18.16%
อันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 15.55%
อันดับ 4 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 9.68%
อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 2.26%
และอื่นๆ 27.30%
การสำรวจคะแนนนิยมของประชาชนในประเด็นดังกล่าวจัดทำมาเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึงครั้งล่าสุดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 โดยครั้งแรกสำรวจเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 พบว่า
อันดับ 1 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 29.34%
อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 26.24%
อันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 24.74%
อันดับ 4 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 10.61%
อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.54%
และอื่นๆ 4.53%
ครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิถุนายน 2561
อันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19.34%
อันดับ 2 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 17.31%
อันดับ 3 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 8.93%
อันดับ 4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 5.68%
อันดับ 5 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 4.36%
และอื่นๆ 37.61%
ครั้งที่ 3 วันที่ 15 ตุลาคม 2561
อันดับ 1 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 19.62%
อันดับ 2 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 16.91%
อันดับ 3 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 16.43%
อันดับ 4 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 14.42%
อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 3.52%
และอื่นๆ 29.10%
นอกจากนี้จากผลการสำรวจทั้ง 4 ครั้งแสดงให้เห็นว่าพรรคของนายทักษิณ ชินวัตร (ไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย) มาถึงจุดที่กำลังตกต่ำเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
ประการแรก ในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พรรคนี้เคยมีผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์สูง (กลุ่มเอ็นจีโอ) ในการทำงานกับประชาชนระดับล่างทั่วประเทศ พวกเขาช่วยรวบรวมปัญหาต่างๆ ของคนระดับรากหญ้าขึ้นมาจนช่วยให้พรรคไทยรักไทยสามารถนำเสนอนโยบายและวาทกรรมที่สำคัญ 2 เรื่องคือ 1. นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และ 2. นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่สามารถเอาชนะพรรคการเมืองทุกพรรคมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันเอ็นจีโอส่วนใหญ่กลับยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามพรรคเพื่อไทย
ประการที่สอง พรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยเคยเป็นผู้นำในการนำระบบการสื่อสารที่ก้าวหน้ากว่าและทันสมัยกว่าในการเอาชนะพรรคคู่แข่ง แต่ในขณะนี้พรรคการเมืองอื่นๆ สามารถนำเอาเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ ฯลฯ มาสื่อสารกับประชาชนได้ไม่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย ทำให้ความได้เปรียบในเรื่องนี้หมดไป
ประการที่สาม พรรคไทยรักไทยเคยมีนักวิชาการ นักคิด และนักยุทธศาสตร์ ที่ทำให้พรรคนี้มีแนวความคิดและนโยบายที่ท้าทายยิ่งกว่าพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ทุกวันนี้พรรคเพื่อไทยขาดบุคลากรเหล่านี้ ทำให้พรรคขาดความสามารถในการสร้างนโยบายการเงินการคลังที่เป็นประโยชน์แก่คนในสังคมส่วนใหญ่ได้ หลังจากที่นโยบายจำนำข้าวและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาทต่อวันก่อความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างร้ายแรง และตามมาด้วยการพบว่ามีการทุจริตอย่างรุนแรงเรื่องนโยบายจำนำข้าว คนชั้นกลางจำนวนมากจึงหมดความเชื่อถือต่อพรรคเพื่อไทยไป
ประการที่สี่ พรรคเพื่อไทยในขณะนี้ขาดผู้นำที่มีบารมีและมีภาวะผู้นำสูงมากพอที่จะรวบรวมสมาชิกจำนวนมากให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ภายในกลุ่มที่สนับสนุนนายทักษิณเกิดกลุ่มก๊กต่างๆ ที่มีแนวความคิดและการบริหารจัดการที่ยากจะร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น
และประการสุดท้าย การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐที่กำลังมีอำนาจทางการเมืองและมีนโยบายด้านมหภาคและจุลภาคต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายบัตรคนจนซึ่งมีขอบเขตการให้ประโยชน์แก่คนจนอย่างกว้างขว้าง โดยรวมเอานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคผนวกเข้ากับนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เบี้ยคนชรา ค่าโดยสารสำหรับผู้ป่วย ฯลฯ และพบว่าเป็นนโยบายที่เอาชนะใจกลุ่มคนจนจำนวน 11 ล้านคนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
อนึ่ง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการเก็บข้อมูลแบบการสำรวจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในประเทศไทยจำนวน 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 8,000 ตัวอย่างต่อครั้ง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์