การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทำท่าจะไม่ชัดเจน หลังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พูดไม่เต็มปากว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ หลังมีการกำหนดวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พฤษภาคม 2562 ออกมา
(2 ม.ค. 62) ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของปี 2562
พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่าวันเลือกตั้งยังคงเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมก็ยังไม่ได้พูดในเรื่องนี้ หลายอย่างยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันเลือกตั้ง กกต. เป็นผู้กำหนดอยู่แล้ว และหลังจากมีการกำหนดวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกลงมาก็สุดแล้วแต่จะว่าอย่างไรกัน สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในเวลานี้คืองานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก งานสำคัญสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเราสามารถดำเนินการคู่ขนานไปด้วยกันได้”
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการเลื่อนการเลือกตั้ง บอกไปแล้วว่าเป็นเหตุเป็นผลของ กกต. ซึ่งตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ทุกอย่างยังยึดตามโรดแมปคือหลังจาก พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ภายใน 150 วันจะต้องมีการเลือกตั้ง ทีนี้เราได้กำหนดวันขั้นต้นว่าเร็วที่สุดคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้หวังจะดึงการเลือกตั้งออกไป แต่ทีนี้ก็สุดแล้วแต่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ก็ไปว่ากันมา
ส่วน พ.ร.ฎ. เลือกตั้งจะยังไม่ออกภายในวันนี้ตามกำหนดการเดิมที่มีการตั้งไว้ และยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไร เป็นหน้าที่ของ กกต. แต่จะทำให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่าพูดได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนพระราชพิธีสำคัญ
พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ถ้าไล่วันเวลามันก็น่าจะเกิดก่อนได้หรือเปล่าไม่รู้ ไม่รู้สิ ถ้าดูวันเวลานะ สมมติว่า 24 กุมภาพันธ์มันเร็วที่สุด ทีนี้ต้องดูว่ามันมีผลกระทบอะไรกันหรือเปล่า เป็นเรื่องของ กกต. แต่ผมคิดว่าน่าจะเลือกตั้งก่อน แต่การที่จะได้รัฐบาลนั้นเป็นเมื่อไรก็ต้องนับต่อไป”
ส่วนกรณีนี้ที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตและอดีตประธานรัฐสภา เสนอว่าไม่ควรจัดเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพราะเป็นต้นเหตุความขัดแย้งนั้น พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของท่าน
สำหรับปฏิทินการเลือกตั้งที่ กกต. เคยแสดงในการประชุมแม่น้ำ 5 สายร่วมกับ 75 พรรคการเมืองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ระบุว่าในช่วงเดือนมกราคม 2562 จะมีกำหนดการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งดังนี้
- 2 มกราคม – ประกาศใช้ พ.ร.ฎ. ให้เลือกตั้ง ส.ส. (เริ่มหาเสียงได้ / เริ่มคิดค่าใช้จ่าย)
- 4 มกราคม – กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง / วันรับสมัคร / จำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด / เขตเลือกตั้ง / สถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ
- 14-18 มกราคม – รับสมัคร / พรรคแจ้งชื่อผู้จะเสนอเป็นนายกฯ (5วัน)
- 25 มกราคม – กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนี้ (2 ม.ค. 62) ก็ยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส. ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีการโปรดเกล้าฯ กำหนดวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์