วันเลือกตั้ง

เราควรแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าชอบพรรคไหนในที่ทำงานไหมคะ

20.03.2019
  • LOADING...
political standpoint

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พอมีเรื่องแบบนี้ ผมว่ามันทำให้เห็นเลยนะครับว่าคนไหนให้ความสำคัญกับ ‘แก่น’ คนไหนให้ความสำคัญกับ ‘เปลือก’ ถ้าปากบอกว่าสนใจการเมือง มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่รับฟังความเห็นคนอื่น ไปเหยียบหัวคนอื่นที่คิดต่างว่าโง่ว่าเลว มันก็คือเขาไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรอกครับ เอามาแต่เปลือก ไม่ได้เอาแก่นมา ตรงกลางก็กลวงโบ๋หมดสิครับ จะเหลืออะไร
  • “เราควรแสดงออกเรื่องจุดยืนทางการเมืองในที่ทำงานไหม” ผมคิดว่าเราต้องมอง ‘จุดยืนทางการเมือง’ ให้ไกลกว่า ‘เลือกพรรคไหน’ เพราะ ‘เลือกพรรคไหน’ มันแทบจะเป็นแค่เสี้ยวเดียวของการเมืองด้วยซ้ำ แต่จุดยืนทางการเมืองมันไปไกลถึงวิธีการมองโลก วิธีการที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น วิธีการจัดการกับชีวิตในแง่มุมต่างๆ ซึ่งมันไปไกลกว่าแค่ ‘เลือกพรรคไหน’ การรักษาความถูกต้องในองค์กรก็เป็นจุดยืนทางการเมือง การเคารพสิทธิของผู้อื่นก็เป็นจุดยืนทางการเมือง การให้เกียรติคนอื่นก็เป็นจุดยืนทางการเมือง
  • ถ้าบรรยากาศในการทำงานเริ่มเสีย เพราะคนเริ่มตัดสินกันว่าใครพวกใครจากพรรคที่เลือก และมีผลต่อการทำงานจริงๆ เช่น เกิดการแบ่งแยก เกิดการประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม เกิดการกีดกันการทำงาน หรือบรรยากาศการทำงานเสีย ผมแนะนำว่าสำหรับคนที่เป็นหัวหน้า ถ้าลูกน้องเริ่มตีกันแบบนี้ อาจจะต้องเรียกมาคุยว่าเราทุกคนต้องรักษาบรรยากาศการทำงานให้ดี ต้องสามัคคีกัน ชวนลูกน้องไปทานข้าว ไปทำกิจกรรม Breaking the Ice ทั้งหลายที่ทำให้เขาสนุกด้วยกันมากที่สุด หัวเราะด้วยกันมากที่สุด หรือทำให้เขาต้องมาจับมือกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน

Q: ที่ทำงานดิฉันจะมีพี่อยู่คนหนึ่งที่อินเรื่องการเมืองมาก วันๆ เอาแต่พูดเรื่องเลือกตั้งทั้งวัน ทั้งในเฟซบุ๊กและในที่ทำงาน ปัญหาคือเธอชอบพูดเรื่องการเมืองอยู่ตลอดเวลา และอวยพรรคที่ตัวเองชอบชนิดที่พอรู้ว่าคนอื่นไม่เลือกพรรคเดียวกันก็จะชอบแซะว่าโง่บ้าง คิดไม่เป็นบ้าง โลกแคบบ้าง ดูเหมือนใครไม่คิดเหมือนเธอก็จะโดนหางเลขหมด ปัญหาหนักขึ้นกว่านั้นคือ เวลาทำงาน พอเธอรู้จากเฟซบุ๊กว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนไปเลือกพรรคที่เธอไม่ชอบ เธอก็จะไม่อยากทำงานด้วย อาการเปลี่ยนอย่างชัดเจนทันที ทุกคนในที่ทำงานอึดอัดมากค่ะ แต่พวกเราจำเป็นต้องทำงานกับพี่คนนี้เลยสงสัยค่ะว่า จริงๆ เราควรแสดงจุดยืนทางการเมืองในที่ทำงานไหม เพราะถ้าแสดงออกแล้วมีคนเกลียดเรา เราก็จะเดือดร้อนไปด้วย เราควรทำอย่างไรดีคะ

 

A: ตอนนี้ทุกคนก็อินเรื่องการเมืองกันหมดทั้งนั้นเลยนะครับ ผมว่ามันก็ดีที่ทุกคนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเมือง เพราะไม่ว่าจะเราจะอยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่อยากยุ่งก็ตาม สุดท้ายการเมืองก็จะมายุ่งกับเราอยู่ดี เพราะฉะนั้น มีคนสนใจการเมืองก็เป็นเรื่องดี

 

ทีนี้คงต้องแยกให้ออกว่า สนใจเรื่องการเมืองกับแสดงออกเรื่องการเมือง และเข้าใจเรื่องการเมือง มันเป็นคนละเรื่องกัน บางคนอาจจะคิดว่าคนที่แสดงออกว่าสนใจเรื่องการเมืองมากๆ เป็นคนที่เข้าใจเรื่องการเมืองอย่างถ่องแท้ แสดงออกเยอะแต่ไม่เข้าใจเอาเสียเลยก็มีเยอะ คนที่แสดงออกว่าอินเรื่องการเมืองมากๆ แล้วไปเที่ยวตัดสินว่าใครเลือกพรรคที่ไม่ตรงกับตัวเองเป็นคนโง่ หรือพรรคตัวเองทำอะไรผิดก็ยังจะอวยอยู่ ผมว่านั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาเข้าใจการเมืองจริงๆ หรอก อารมณ์เดียวกับคนที่แสดงออกเหลือเกินว่าเข้าวัดเข้าวา ชอบปฏิบัติธรรม แต่อ้าปากพูดอะไรออกมาที่มีวาจาเชือดเฉือนคนตลอด แบบนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเข้าใจสิ่งที่เขาทำอยู่จริงๆ

 

ขณะเดียวกัน คนบางคนที่ไม่ได้แสดงออกเรื่องการเมืองให้เราเห็น ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่สนใจเรื่องการเมืองเสมอไป คนบางคนสนใจแต่ไม่แสดงออกก็มี มันก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเลือกไม่แสดงออก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มันดูกันแบบเปลือกๆ ไม่ได้หรอกครับ

 

พอมีเรื่องแบบนี้ ผมว่ามันทำให้เห็นเลยนะครับว่าคนไหนให้ความสำคัญกับ ‘แก่น’ คนไหนให้ความสำคัญกับ ‘เปลือก’ ถ้าปากบอกว่าสนใจการเมือง มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่รับฟังความเห็นคนอื่น ไปเหยียบหัวคนอื่นที่คิดต่างว่าโง่ว่าเลว มันก็คือเขาไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรอกครับ เอามาแต่เปลือก ไม่ได้เอาแก่นมา ตรงกลางก็กลวงโบ๋หมดสิครับ จะเหลืออะไร ฮ่าๆ

 

แล้วเวลามีคนสนใจแต่เปลือกและใช้เปลือกมาตัดสินคน มันทุกข์กันทั้งหมดนะครับ คนที่ถูกตัดสินว่าโง่เพราะเลือกพรรคที่ไม่ตรงกับคนอื่นก็ทุกข์ เพราะจู่ๆ ก็โดนคนหาว่าโง่ คนที่ไปชี้นิ้วตัดสินก็ทุกข์ เพราะใครจะไปอยากอยู่กับคนที่เอาแต่ตัดสินคนอื่น คนที่อยู่ร่วมบรรยากาศเดียวกันก็ทุกข์ เพราะอึดอัดในที่ทำงานกลายเป็นแบบนี้ มันทุกข์กันหมดเลยนะครับ

 

ผมคิดว่าจะเลือกพรรคไหนไม่ได้เป็นปัญหาหรอกครับ แต่การคิดว่า ‘ต้อง’ เลือกพรรคไหนนี่แหละครับที่เป็นปัญหา มันเป็นปัญหาเพราะคิดว่าต้องเลือกพรรคตามที่เราชอบเท่านั้นถึงจะเป็นการเลือกที่ถูกต้อง ใครไม่เลือกเหมือนตัวเองก็ไปตัดสินว่าเขาโง่ ที่จริงแล้วการจะเลือกใครก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน ทุกคนมีเหตุผลที่จะเลือกตามดุลพินิจของตัวเอง

 

ผมว่าในช่วงเวลาแบบนี้ก็เหมือนแบบฝึกหัดจิตใจให้ตัวเราครับ เพราะเราจะเจอคนที่คิดเหมือนและไม่เหมือนกับเราเต็มไปหมด ถ้าไปเจอคนที่คิดไม่เหมือนเรา เราก็ได้ฝึกว่าเราจะไม่ตัดสินเขาว่าโง่ ถ้าไปเจอคนที่คิดเหมือนเรา เราก็ต้องฝึกที่จะไม่คิดว่าเราแน่ เราเจ๋ง เราถูกต้องที่สุดในโลก ถ้าจะเอาแต่หมกมุ่นว่าใครเลือกพรรคไหน ใครเป็นพวกเรา ผมว่าคนแบบนั้นควรไป ‘พักเถอะ’

 

“เราควรแสดงออกเรื่องจุดยืนทางการเมืองในที่ทำงานไหม” ผมคิดว่าเราต้องมอง ‘จุดยืนทางการเมือง’ ให้ไกลกว่า ‘เลือกพรรคไหน’ เพราะ ‘เลือกพรรคไหน’ มันแทบจะเป็นแค่เสี้ยวเดียวของการเมืองด้วยซ้ำ แต่จุดยืนทางการเมืองมันไปไกลถึงวิธีการมองโลก วิธีการที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น วิธีการจัดการกับชีวิตในแง่มุมต่างๆ ซึ่งมันไปไกลกว่าแค่ ‘เลือกพรรคไหน’

 

การรักษาความถูกต้องในองค์กรก็เป็นจุดยืนทางการเมือง การเคารพสิทธิของผู้อื่นก็เป็นจุดยืนทางการเมือง การให้เกียรติคนอื่นก็เป็นจุดยืนทางการเมือง การรักษาผลประโยชน์ขององค์กรและผลประโยชน์ส่วนตัวที่เราควรต้องปกป้องก็เป็นจุดยืนทางการเมือง ฯลฯ มันมีอะไรมากไปกว่า ‘เลือกพรรคไหน’ อีกครับ

 

ผมว่าถ้าเราขยาย ‘จุดยืนทางการเมือง’ มาให้กว้างแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราควรแสดงออก แต่ถ้าเป็นจุดยืนว่าเราจะเลือกพรรคไหน ผมคิดว่าเราเลือกได้ทั้งจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกก็ได้ อย่างเดียวเลยที่ต้องระลึกเสมอคือ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่แสดงออก ไม่มีใครมีสิทธิ์มาตัดสินว่าเราเป็นแบบไหน ไม่มีใครมีสิทธิ์มาตราหน้าเราว่าเราเป็นคนแบบไหนเพียงเพราะพรรคที่เราเลือก ใครตัดสินคนนั้นก็เหนื่อยเองครับ เห็นนักการเมืองเวลาดีเบตกันไหมครับ (เอ่อ… เอาเฉพาะคนที่เขายินดีมาดีเบตน่ะนะครับ) ตอนดีเบตเขามีจุดยืนที่อาจจะต่างกันก็ว่ากันด้วยเหตุผล ดีเบตเสร็จก็จับมือกัน คุยกันได้ ไม่มีใครเกลียดกัน (ให้เราเห็น) นะครับ เขาอาจจะมองต่างกัน แต่เขายังรักษาบรรยากาศในการทำงานให้อยู่ด้วยกันได้

 

แต่อย่าลืมนะครับว่า นั่นขนาดเขาเป็น ‘คู่ต่อสู้’ กัน คำถามก็คือ ที่เราเถียงกัน ตีกัน แซะกันในที่ทำงานเรื่องเลือกพรรคไหนเนี่ย เราเห็นกันเป็น ‘คู่ต่อสู้’ หรือเปล่า แล้วเราสู้กับใคร สู้กับอะไร

 

ถ้าเรามีโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว เราอยากแสดงความเห็นทางการเมืองก็ทำได้ครับ แต่ที่ไม่ควรคือแสดงออกว่าเลือกพรรคไหนแล้วผิด เลือกพรรคไหนแล้วเลว เพราะมันอาจจะไปกระทบกับคนอื่นๆ ที่เราไม่ควรต้องไปตีด้วยเลย พวกโพสต์ว่า “Unfriend ได้เลยถ้าเลือกพรรค xxx” ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าทำ จะมาเสียเพื่อนเพียงเพราะเรื่องเท่านี้ก็ใช่เรื่อง มันยิ่งสะท้อนว่าเราเป็นคนที่ไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่น แย่กว่าเดิมอีก ฮ่าๆ หรือถ้ารู้สึกว่าสนใจแต่ไม่อยากแสดงออกก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกครับ เรารู้ว่าเราคิดอย่างไรก็พอ ผมคิดว่าการแสดงออกก็เหมือนการเพิ่มลดวอลุ่ม มันไม่ได้มีแค่สองขั้วว่าแสดงออกสุดโต่งกับไม่แสดงออกเลย เราเลือกได้ว่าจะเปิดวอลุ่มการแสดงออกของเราที่จุดไหนที่เราสบายใจ และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

 

ถ้าบรรยากาศในการทำงานเริ่มเสียไปแล้วเพราะคนเริ่มตัดสินกันว่าใครพวกใครจากพรรคที่เลือก และมีผลต่อการทำงานจริงๆ เช่น เกิดการแบ่งแยก เกิดการประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม เกิดการกีดกันการทำงาน หรือบรรยากาศการทำงานเสีย ผมแนะนำว่าสำหรับคนที่เป็นหัวหน้า ถ้าลูกน้องเริ่มตีกันแบบนี้ อาจจะต้องเรียกมาคุยว่าเราทุกคนต้องรักษาบรรยากาศการทำงานให้ดี ต้องสามัคคีกัน หรืออาจจะชวนลูกน้องไปทานข้าว ไปทำกิจกรรม Breaking the Ice ทั้งหลายที่ทำให้เขาสนุกด้วยกันมากที่สุด หัวเราะด้วยกันมากที่สุด หรือทำให้เขาต้องมาจับมือกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน พอลองได้มีบรรยากาศที่ทุกคนสนุกด้วยกันแบบนี้ ความบาดหมางมันจะหายไป หรือบางทีไม่ต้องถึงกับรักกันก็ได้ แต่ทำให้ไม่ตีกัน ให้ต่างคนต่างอยู่ในจุดที่ไม่ตีกัน ใครแบกก็เหนื่อยเอง ตามสบาย

 

ส่วนถ้าเป็นเพื่อนร่วมงาน ให้เพื่อนเตือนเพื่อนกันนี่ก็ดีครับ ทำให้เขารู้ว่าเราเป็นห่วงเขา เรารักเขา ไม่อยากให้เขาทุกข์เพราะเขาเกลียดใคร หรือทำให้ใครมาเกลียดเขา ก่อนจะเลือกพรรคไหน ไปพักก่อนเถอะเพื่อน จะมาแบกทำไมให้เหนื่อย ฮ่าๆ

 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ถ้าเราเอาเพียงแค่ ‘พรรคที่เขาเลือก’ มาตัดสินว่าเขาเป็นคนแบบไหน ผมคิดว่ามันไม่แฟร์เอาเสียเลย เพราะมันเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นของเขา มันยังมีมิติอื่นๆ อีกมากมายของมนุษย์ที่ประกอบสร้างกลายเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทำไมเราต้องเอาแค่มิติเล็กๆ มิติเดียวมาตัดสินทั้งหมดทั้งมวลของชีวิตเขา ไปยึดมั่นถือมั่นมากๆ ก็เหนื่อยเอง

 

บางทีถ้าเราถอดเรื่องการเมืองออกไป เราอาจจะพบเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจของเขาก็ได้ สมัยผมเป็นนักศึกษาที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อเป็นสิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยนั้นคุณอภิสิทธิ์ยังไม่ได้เป็นนายกฯ ด้วยซ้ำ ผมยังจำได้ว่าตอนเราเปลี่ยนจากคุยเรื่องการเมืองมาคุยเรื่องเพลงที่คุณอภิสิทธิ์ชอบ แววตาของเขาดูมีประกายสดชื่นขึ้นมาทันที เราคุยกันเรื่องเพลงสนุกมาก เขาเอาไอพอดมาเปิดให้ผมดูว่าเขามีเพลงเก็บไว้เป็นพันๆ เพลง และยิ่งคุยเรื่องเพลง ผมก็รู้สึกว่าเขาเป็นนักฟังเพลงที่ขยันไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ของเพลง ผมถามเขาว่า ให้เลือกเพลงที่ชอบที่สุดในชีวิตจะเป็นเพลงอะไร เขาตอบแบบไม่ต้องนึกนานเลยว่า ‘Losing My Religion’ ของ R.E.M. และยังบอกว่าถ้าเป็นไปได้อยากดูคอนเสิร์ตของ U2 ที่สุด ว่ากันตามตรง ผมว่าคุยเรื่องเพลงกับเขาสนุกกว่าตอนคุยเรื่องการเมืองกับเขาเสียอีก

 

หลังจากนั้นอีกหลายปี เขาก็เป็นนายกฯ และอีกหลายบทบาทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งเรื่องที่ผมชื่นชมเขา และมีหลายเรื่องที่ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับเขาเสียเลย บางทีเขาก็ไม่เหมือนอภิสิทธิ์คนเดิมที่ผมเคยรู้จักสมัยเป็นนักศึกษา บางทีผมก็อยากชวนเขาคุยว่าเขายังชอบเพลง Losing My Religion อยู่ไหม เขาคิดอย่างไรกับอัลบั้มใหม่ของ Beck เขายังอยากดูคอนเสิร์ตของ U2 หรือเปล่า เพราะถ้าไม่มีเรื่องการเมือง เขาก็คือนักฟังเพลงตัวจริงคนหนึ่ง ส่วนเรื่องการเมืองก็ว่ากันอีกเรื่องว่าเขาเวิร์กเรื่องไหน ไม่เวิร์กเรื่องไหน ผมเองก็ไม่อยากคุยกับเขาเรื่องการเมืองหรอกครับ คุยเรื่องเพลงดีกว่า สบายใจ น่าฟังกว่าเยอะ

 

เหมือนกับที่ผมชอบหนังของ คลินต์ อีสต์วูด อยู่ มาลองลิสต์รายชื่อหนังที่ผมชอบ อย่างไรก็มีชื่อ คลินต์ อีสต์วูด เป็นผู้กำกับอยู่หลายเรื่อง ผมคิดว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่ลุ่มลึก ผมชอบที่ยิ่งเขาอายุมาก หนังของเขายิ่งลุ่มลึก และเขาไม่เคยเกษียณตัวเองจากการเป็นนักเล่าเรื่อง เรื่องที่เขานิยมชมชอบ โดนัลด์ ทรัมป์ (ซึ่งผมไม่ชอบเอาเสียเลย) นั้นไม่ได้มีผลต่อความคมคายของหนังที่เขาสร้างสรรค์เท่าไร และไม่ได้ทำให้ผมเสื่อมศรัทธาในตัวเขา เพราะมันแยกกัน และต่อให้ความเห็นเรื่อง โดนัลด์ ทรัมป์ ของผมและ คลินต์ อีสต์วูด จะไม่ตรงกัน ผมคิดว่าผมยังชื่นชมเขาเหมือนเดิม เพราะเรื่องการเมืองมันแค่มิติเดียวเท่านั้น

 

จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะเห็นตรงกันหรือเห็นต่างกัน เราก็ควรเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น – นั่นแหละครับ จุดยืนของผม

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising