THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
หุ้นไทย
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ปัจจัยการเมืองชี้ชะตาหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่ม ปตท.

... • 22 พ.ค. 2023

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากเห็นพัฒนาการเชิงบวกด้านการเจรจาประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งผลการเจรจาจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ จึงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 
  • ด้านตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โดยยอดค้าปลีกพลิกมาขยายตัว 0.4% หลังติดลบ 2 เดือนติดกัน ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังสามารถขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 
  • เศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่าคาดมาก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าทางการจีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติม
  • หุ้นไทยสัปดาห์นี้จะยังคงผันผวนตามปัจจัยทางการเมือง โดยตลาดยังคงเกาะติดนโยบายรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนโยบายโครงสร้างพลังงาน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่ม ปตท. ในระยะสั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวดีขึ้นได้บ้างจาก

 

1. สัญญาณบวกที่เริ่มเห็นจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า เริ่มเห็นพัฒนาการด้านการเจรจาประเด็นเพดานหนี้สาธารณะ รวมถึงประกาศว่าจะรีบกลับประเทศหลังประชุม G7 เพื่อร่วมหาทางออก อย่างไรก็ตาม เจเน็ต เยลเลน ยังคงส่งสัญญาณว่า หากไม่สามารถเจรจาได้ทันภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรเด้งขึ้นและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว 

 

2. ตัวเลขยอดค้าปลีกปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 0.4% ต่อเดือน หลังหดตัว 2 เดือนติดกัน ขณะที่เทียบกับปีก่อนขยายตัว 1.6% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 2.4% ซึ่งตัวเลขค้าปลีกที่ฟื้นตัวทำให้เริ่มมีบางฝ่ายมองว่า Fed จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ แม้ว่ามุมมองตลาดส่วนใหญ่ยังคงมองว่าดอกเบี้ยจะหยุดขึ้นแล้วก็ตาม 

 

3. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเมษายนที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดมาก โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 5.6% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 10.9% ยอดค้าปลีกขยายตัว 18.4% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 21.9% และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรขยายตัว 4.7% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 5.7% ด้านการว่างงานทรงตัวที่ 5.2% แต่การว่างงานคนหนุ่มสาวเพิ่มสูงขึ้นรุนแรงมาอยู่ที่ 20.4% สอดคล้องกับเงินฝากที่ขยายตัว 12.4% สูงกว่าเงินกู้ที่ขยายตัว 12.2% ขณะที่เงินเฟ้อผู้บริโภคจีนขยายตัวต่ำที่ 0.1% ส่วนการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 8.5% และการนำเข้าที่หดตัวมากขึ้นที่ -7.9% 

 

ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าทางการจีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลาง (PBOC) ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ลดดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ แต่อาจลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) แทน 

 

4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสถาบัน ZEW ของเยอรมนี ในเดือนพฤษภาคม หดตัวรุนแรงที่ -10.7 จากที่เคยขยายตัว +4.1 ในเดือนเมษายน ทำให้ประธานสถาบัน ZEW ระบุว่า เศรษฐกิจเยอรมนีน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้า 

 

5. ตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 1/23 ผลจากการเปิดประเทศที่ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น โดยขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาคธุรกิจขยายตัว 0.6% และ 0.9% ตามลำดับ สูงกว่าที่ตลาดคาด

 

“สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวดีขึ้นได้บ้างจากสัญญาณบวกที่เริ่มเห็นจากการที่ไบเดนกล่าวว่า เริ่มเห็นพัฒนาการด้านการเจรจาประเด็นเพดานหนี้สาธารณะ แต่ตลาดพันธบัตรยังคงกังวลความเสี่ยงว่าการเจรจาจะไม่ทันกำหนดเส้นตาย ณ วันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทำให้ผลตอบแทนยังคงเด้งขึ้น ด้านยอดค้าปลีกปรับตัวดีขึ้น หลังหดตัวมา 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดมากทำให้ตลาดยังกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและโลก”

 

เริ่มเห็น ‘ทางออก’ วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เริ่มเห็นทางออกในการเจรจาเพดานหนี้สาธารณะ หลัง โจ ไบเดน รีบกลับประเทศหลังประชุม G7 เพื่อร่วมหาทางออก โดยเรามองว่ามี 5 ประเด็นที่ต้องจับตาในการเจรจาครั้งนี้คือ 

 

1. วงเงินที่จะปรับลดงบประมาณ

2. การโอนเงินที่ไม่ได้เบิกจ่ายกลับคลัง

3. เงื่อนไขรับเงินสวัสดิการที่จะเข้มงวดขึ้น

4. การเร่งออกใบอนุญาตของโครงการด้านพลังงาน

5. การเพิ่มเพดานชั่วคราว 

 

แต่มุมมองที่ยังแตกต่างกันมาก ทำให้ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนเส้นตาย 

 

ส่วนในประเด็นยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น เรามองว่าหากมองการขยายตัวรายปีที่ 1.6% ยังเป็นทิศทางที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนั้นแม้การใช้จ่ายด้านการกินอาหารนอกบ้านยังฟื้นตัวดี แต่การใช้จ่ายในสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงกำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่เรามองก่อนหน้า  

 

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีนเรามองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จีนจะฟื้นตัวต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด สอดคล้องกับตัวเลขนำเข้าและเงินเฟ้อที่ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงเงินฝากที่ยังขยายตัวสูงกว่าสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าในระยะต่อไปชาวจีนจะเริ่มหันกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง ทำให้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับ 5.3-5.7% 

 

ด้านไทยได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1Q23 ขยายตัวต่อเนื่อง 2.7%YoY สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.3% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจ โดยหดตัว -6.2%YoY ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจและการค้าโลก 

 

มองไปข้างหน้าเรามองว่ายังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะกระทบการจัดทำงบประมาณ, เสถียรภาพทางการเงินโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังมีประเด็นเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ภาครัฐและสถานะทางการเงินของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก และปัญหาภัยแล้งในครึ่งปีหลัง

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้น Best of the Best มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีกำไรในปี 2566-2567 เติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากำไรของกลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อ-ขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 S.D. จึงมองเป็นโอกาสซื้อสะสม เลือก AU, BBL, BDMS และ CPALL

 

3. หุ้นที่คาดหวังจะได้ประโยชน์จากนโยบายทั้งเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Old Economy) และแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เลือก MAKRO, MINT, ADVANC, BDMS และ EA AH

 

ขณะที่ช่วงสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน

 

1. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่ม PTT ออกไปก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงหรือความไม่ชัดเจนของโครงสร้างราคาพลังงานจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ 

2. หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ KEX กลุ่มอสังหา (LPN, SIRI, PSH และ QH) กลุ่มอาหาร (ZEN, CPF, GFPT และ TU) 

3. หุ้นที่ราคาขึ้นมาสูงกว่าโควิด และเราแนะนำ Underperform เลือก KTC, ASP, MST, THRE, AAV และ SAT

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ 

2. ตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ประกาศครั้งที่ 2 ว่าจะขยายตัว 1.1% เท่าประกาศครั้งแรกหรือไม่ และตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ว่าจะชะลอลงที่ 4.5% จาก เดือนก่อนที่ 4.6% หรือไม่

3. 8 พรรคการเมืองของไทย แกนนำโดยพรรคก้าวไกล เตรียมลงนาม MOU เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ในวันนี้ (22 พฤษภาคม)

4. มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนเมษายนว่ายังหดตัวต่อเนื่องหรือไม่

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: MINT - มีการฟื้นตัวท้ังโรงแรมและอาหาร

 

สัปดาห์นี้ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เลือกแนะนำ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • ดำเนินธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ NH Hotel Group ซึ่งเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในทวีปยุโรป
  • ผลประกอบการมีทิศทางเป็นบวก แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการเดินทางกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งคาดว่าจะหนุนการดำเนินงานของธุรกิจในยุโรป (51% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) และธุรกิจในไทย (26% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) ให้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
  • 2Q23 คาดว่าผลประกอบการปกติพลิกมีกำไรและปรับตัวดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากธุรกิจโรงแรมในยุโรปที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซัน เพื่อพักผ่อนและการกลับมาเดินทางเพื่อธุรกิจ ส่วนธุรกิจร้านอาหารในไทยคาดว่าการดำเนินงานแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และในจีนคาดว่าจะมีรายได้ที่แข็งแกร่งตามการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น
  • ปี 2023 คาดว่ามีกำไรปกติ 6.2 พันล้านบาท และฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโควิดที่ราว 7.6 พันล้านบาทในปี 2024 ตามการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมในยุโรปผ่านทาง NHH ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับธุรกิจร้านอาหารในไทยและจีนที่จะดีขึ้นหลังมีการเปิดประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมา
  • Valuation ยังไม่แพง โดยราคาหุ้นปัจจุบันเทรด PBV 2023F ที่ 2.0x (-1SD) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กลุ่มที่ 3.0x อีกทั้งเราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 42 บาท (อิงวิธี SOTP)

  

Asset Allocation Strategy

 

ข้อมูลเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต่างบ่งชี้ทิศทางการชะลอตัวในระยะถัดไป โดยเฉพาะจากผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกที่สะท้อนความต้องการใช้จ่ายที่ลดลง สอดคล้องกับทิศทางกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่หดตัวเฉลี่ยจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 

 

ปัจจัยเสี่ยงหลักยังเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยุโรป อัตราเงินเฟ้อที่สูงทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่จะเข้มงวดมากขึ้น หลังเกิดปัญหาความเชื่อมั่นในภาคการธนาคาร มีเพียงภาคบริการของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเท่านั้นที่ยังคงแข็งแรง

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงระยะสั้นจากการเจรจา เพื่อผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานการกู้เงินให้ทันก่อนที่เงินในคลังจะหมดลง และไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลได้ ซึ่งล่าสุดเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากทั้งสองพรรคการเมืองว่าไม่ต้องการให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น แต่การเจรจายังมีรายละเอียดที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ จึงอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดได้อยู่

 

ด้านตลาดหุ้นเอเชียอยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับในประเทศพัฒนาแล้ว ด้านอานิสงส์ของการเปิดเมืองจีนเริ่มกระจุกตัวอยู่เพียงภาคบริการเป็นหลัก ในขณะที่การส่งออกที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากความต้องการเศรษฐกิจโลกก็เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแอลงเช่นกัน 

 

โดยความเสี่ยงหลักที่ยังต้องระวังคือ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นและสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และจีน ที่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีรุนแรงขึ้น รวมถึงช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มข้อพิพาทกับจีนมากขึ้น

 

ด้านตราสารทางเลือกเรายังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์ / REIT ประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อ REIT ไทยและอาเซียน ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แนะนำให้ถือลงทุนทองคำในพอร์ต เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อสินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด โดยเศรษฐกิจโลกได้รับแรงส่งจากการเปิดประเทศของจีนและเอเชีย แต่ถูกกดดันด้วย Recession Risks ใน DMs ที่รวมถึงภาวะสินเชื่อตึงตัว ส่วนหนึ่งจากปัญหาภาคธนาคาร นอกจากนี้ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังส่งสัญญาณเชิงลบอยู่เป็นระยะๆ

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 5

US Bond Yields เป็นขาลงจาก Recession Risks, Fed มีท่าทีหยุดขึ้นดอกเบี้ย, เงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่อง และการจ้างงานลดความตึงตัว ทั้งนี้ Yields มีโอกาสปรับขึ้นบ้างจากเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงช้า ภาคแรงงานและผู้บริโภคที่แข็งแรง และ Fed ไม่รีบลดดอกเบี้ย / TH Bond Yields เคลื่อนไหวสอดคล้องกับ US

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

US IG ได้รับแรงหนุนหลักจาก Govt Bond Yields ที่มีแนวโน้มเป็นขาลงและมี Buffer จากงบดุลที่ค่อนข้างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม IG Spreads มีความน่าจะเป็น widening อยู่บ้างจากเศรษฐกิจขาลงและความเสี่ยง Recession ซึ่งเริ่มสะท้อนจากจำนวนบริษัทยื่นล้มละลายที่สูงขึ้น ในขณะที่ TH IG Spreads ค่อนข้างทรงตัว

 

US HY Spreads มีความเสี่ยง Widening มากกว่า IG Spreads อย่างชัดเจน เหตุจาก Recession Risks โดยเฉพาะจากความตึงตัวในภาวะการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถูกกดดันเพิ่มเติมจากวิกฤตธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯ ที่ถึงแม้ว่าจะผ่อนคลายลง แต่ยังคงสร้างความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินจากความเสี่ยงสภาพคล่อง

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

ยังถูกกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจหดตัว ภาวะสินเชื่อตึงตัว การบริหารสภาพคล่องของกลุ่มธนาคารภูมิภาค และปัญหา Debt Ceiling อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานและผู้บริโภคที่แข็งแรงกว่าปกติ, ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง, Bond Yields ขาลง และ Earnings ที่ดีกว่าคาดของ Mega Tech ช่วยจำกัด Downside ของดัชนีฯ 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง YTD จนทำให้ Valuation ดัชนีฯ เริ่มแพงเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ยุโรป ประกอบกับ ECB ยังมีแนวโน้มใช้นโยบายเงินตึงตัวเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป ซึ่งยังคงไม่มีท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ ขณะที่โมเมนตัมเศรษฐกิจยุโรปเริ่มแผ่ว จึงทำให้ Upside ของดัชนีฯ เริ่มมีจำกัดมากขึ้น 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 2

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีอยู่ JGB Yields ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเงินเยนที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าตามความเป็นไปได้ในการปรับ YCC ในปีนี้ รวมทั้งผลประกอบการใน FY นี้ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลดลง อย่างไรก็ดี Valuation ตลาดฯ ที่ยังไม่แพงช่วยจำกัด Downside ตลาดฯ

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 5

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากโมเมนตัมเศรษฐกิจจีนที่ยังดี นำโดยภาคการบริโภคและบริการตามเงินออมส่วนเกินที่ยังสูง และจาก EPS ดัชนีฯ ในปีนี้ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการขึ้นหลังงบใน 1Q66 ออกมาดี และจากแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมจากทางการจีน โดยเฉพาะในการประชุม Politburo เดือนกรกฎาคม

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และจากการคุมเข้มกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากข้อพิพาทเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มากขึ้น และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

ในระยะสั้นปัจจัยด้านการเมืองในประเทศอาจเป็นตัวสร้างความผันผวนในตลาด แต่โดยรวมเรายังคงมองว่า พัฒนาการด้านการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีแผนเพิ่มเที่ยวบินเข้าไทย จะเป็นปัจจัยหนุนในช่วง 2H66

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 2

ความท้าทายเศรษฐกิจจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติและรายย่อยเริ่มชะลอการลงทุนในเวียดนาม แม้รัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่การเติบโตของสินเชื่อกู้ยืมยังมีแนวโน้มอ่อนแอ อีกทั้งสภาพคล่องบนธุรกิจภาคอสังหายังตึงตัว ทำให้ปัจจัยบวกในระยะสั้นมีจำกัด

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

ยอดการส่งออกที่ลดลง 29%YoY ในเดือนเมษายน ตอกย้ำถึง Cycle ถ่านหินที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนฟื้นตัวจากจากหมวดสินค้าจำเป็น แสดงถึงความกังวลบนเศรษฐกิจ ทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด อย่างไรก็ดี ให้จับตามอง FDI ที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนใน EV Value Chain ในระยะยาว

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาทองคำได้แรงหนุนจาก US Bond Yields ขาลง, เงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และความเสี่ยงโลก อาทิ US Debt Ceiling อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมี Upside จำกัด เนื่องจากอาจมีแรงขายทำกำไร และ Fed ยืนยันท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ยสำหรับการทยอยเข้าซื้อ ควรรอให้ราคาปรับลดลงในระดับเหมาะสมก่อน

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

ในระยะข้างหน้าอุปสงค์โลกเป็นตัวแปรที่สำคัญ กล่าวคือชะลอตัวลงในกลุ่ม DMs โดยเฉพาะจากภาวะสินเชื่อตึงตัวในระดับใกล้เคียงช่วงเผชิญ Recession ในอดีต แต่ภาคบริการฟื้นตัวได้ต่อไป อย่างไรก็ดี อุปสงค์กำลังทยอยฟื้นตัวในเศรษฐกิจจีนและเอเชีย แต่ไม่ร้อนแรงและไม่ทั่วถึง แต่ดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 2

แนวโน้ม Hybrid Working และ E-Commerce สินเชื่อ Commercial RE ตึงตัวมากขึ้น และเศรษฐกิจขาลงท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่สูง สะท้อนใน Office Vacancy Rate ที่สูงขึ้น และ Mortgage Defaults ที่เพิ่มมากขึ้น โดยรวมส่งผลลบต่อมูลค่า DM REITs แม้ว่า Bond Yield ขาลงจะส่งผลดีต่อ REIT-Govt Yield Spreads

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 4

ได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมือง / ประเทศ และผลตอบแทนในรูปเงินปันผลยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ Bond Yields สหรัฐฯ เป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น กดดัน Bond Yields ในภูมิภาคน้อยลง นอกจากนี้ Office Leasing และ Vacancy Rates ที่แย่ลงต่อเนื่องใน DMs กลับค่อนข้างทรงตัวได้ในเอเชีย

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 2

Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate; สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2566

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 22 พ.ค. 2023

READ MORE




Latest Stories