วันเลือกตั้ง

ช่อ พรรณิการ์ ว่าที่โฆษกอนาคตใหม่ จากสื่อสู่นักการเมือง บทบาทที่ท้าทายใต้อุดมการณ์เดิม

18.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ช่อ พรรณิการ์ บอกกับ THE STANDARD ว่า วิชาชีพสื่อมวลชน คือเส้นทางที่ไม่ได้หวังเดินเป็นก้าวแรก แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อได้ออกท่องโลกไปเรียนต่างประเทศ มิติและมุมมองเรื่องสังคม บ้านเมือง และการตอบโจทย์ตัวเองก็เปลี่ยนให้มาเดินเส้นทางนี้
  • ช่อ พรรณิการ์ เปิดตัวชัดเจน จากสื่อ ลาจอทีวี เบนเข็มมาเป็นนักการเมือง ว่าที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เธอบอกว่า ผลไม้ที่หล่นลงจากต้นเองมีแต่ของเน่า อนาคตที่หวังไม่อาจรอเฉยแล้วจะได้มา แต่ต้องเริ่มทำเลย นั่นเป็นแรงผลักให้เธอเลือกเส้นทางใหม่นี้

เราเริ่มต้นการสนทนากับ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ซึ่งตอนนี้เธอกลายเป็นอดีตสื่อมวลชนไปแล้ว หลังจากที่หลายปีก่อนหน้านี้เธอทำหน้าที่สื่อมวลชน วิเคราะห์ วิพากษ์ หลายเรื่องในสังคมอย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมา ด้วยบุคลิกของสาวมั่นและชัดเจนต่ออุดมการณ์ที่เธอยึดถือ

 

ช่อ พรรณิการ์ บอกกับเราว่า ย้อนกลับไปเมื่อครั้งสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เธอเลือกแอดมิชชันคณะรัฐศาสตร์ ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ลังเล เพราะตอนนั้นมีความฝันอยากเป็นนักการทูต

 

แต่การได้ไปเรียนต่อที่ The London School of Economics and Political Science หรือ LSE คือจุดเปลี่ยน เธอตั้งคำถามถึงอาชีพที่จะกระจายความคิดสู่สังคม ทำให้ ณ เวลานั้น อาชีพข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นักการทูต ไม่ใช่คำตอบของชีวิต

 

การก้าวเข้ามาบนเส้นทางสื่อจึงเป็นเส้นทางใหม่ที่เธอเลือกเดิน และเธอเลือกร่วมงานกับวอยซ์ ทีวี สื่อที่ยืนหยัดอยู่ตรงข้ามคณะรัฐประหาร แม้ไม่มั่นคงทางรายได้ แต่ทำให้เธอสามารถมีความมั่นคงในจิตวิญญาณความเป็นวิชาชีพสื่อได้

 

จนวันนี้ ปีที่ 6 ของการเป็นสื่อ เธอได้เคลื่อนย้ายมาสู่บทบาทใหม่ เพื่อทำงานการเมือง ในฐานะว่าที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นพรรคที่จะไม่ร่วมทางกับคณะรัฐประหาร และต่อจากนี้คือทุกคำตอบของ ช่อ พรรณิการ์ ในวันที่บทบาทเปลี่ยน แต่อุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมยังไม่เปลี่ยนไป

 

เพราะถึงที่สุดแล้ว สำหรับ ช่อ พรรณิการ์ สื่อมวลชนและนักการเมือง ล้วนทำงานให้ประชาชนเพื่อมวลชนในภาพกว้างเหมือนกัน ทั้งคู่ล้วนเป็นอาชีพที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่คุณเชื่อว่ามันดี  

 

ดังนั้นความเป็นสื่อจึงมีอยู่ในนักการเมือง และความเป็นนักการเมืองก็มีอยู่ในสื่อ เพียงแต่ว่าคุณไม่สามารถทำสองอย่างพร้อมกันได้ เพราะหากเป็นสื่อ คุณต้องเป็นกลาง นำเสนอเรื่องของทุกฝ่าย แต่หากเป็นนักการเมือง คุณคือผู้เล่น และวันนี้ ช่อ พรรณิการ์ คือสื่อ ที่เลือกมาเป็นนักการเมือง

อยากทำอะไรที่ทำให้ความคิดของเรามันกระจายสู่คนมากขึ้น และคิดว่าการเป็นสื่อ จะกระจายความคิดของเรา ทำให้ความคิดที่เราเชื่อมันขยายไปสู่คนวงกว้างได้จริง

 

กระโดดเข้ามาทำด้านสื่อได้อย่างไร

เริ่มต้นไม่ได้อยากทำงานด้านสื่อเลย เรียนรัฐศาสตร์มา อยากทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นคนที่ตั้งแต่สอบแอดมิชชันไม่ได้ลังเล เลือกรัฐศาสตร์ 4 อันดับ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับ ปกครอง ใกล้เคียงกัน เราอยากทำงานกระทรวงการต่างประเทศ วางแผนตั้งแต่ปี 2 ว่าจะไปเรียนโทต่อ ในด้านสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

อะไรคือจุดเปลี่ยน

จุดเปลี่ยนก็ตอนไปเรียนโทที่ LSE ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยค่อนข้างหัวก้าวหน้า เรียนการเมืองโลก คือ Global Politics ซึ่งไม่ใช่ International Relation เพราะไม่ได้ผูกติดกับชาติ (National) เรียนไปก็คิดได้ว่า จริงๆ แล้วทำเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในฐานะรัฐมันไม่พอ มันเก่าไปแล้ว ถ้าเราอยากเปลี่ยน อยากทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คิดว่า ณ ตอนนั้นการเป็นข้าราชการมันไม่ตอบโจทย์เรา

 

สุดท้ายพอเรียนจบแล้วต้องเลือกอาชีพจริงๆ เราเริ่มคิดว่าเราอยากทำอาชีพที่รับใช้ความคิดของเรา อยากทำอะไรที่ทำให้ความคิดของเรามันกระจายสู่คนมากขึ้น และคิดว่าการเป็นสื่อ จะกระจายความคิดของเรา ทำให้ความคิดที่เราเชื่อมันขยายไปสู่คนวงกว้างได้จริง เพราะหากเป็นข้าราชการ มันต้องผูกติดกับอะไรหลายๆ อย่างเป็นเรื่องขาวดำ และมันก็มีกรอบอะไรมากมายที่ซ่อนอยู่

คิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกวอยซ์เพราะวอยซ์ไม่คิดดูถูกคนดูในประเทศไทยว่า ‘ทำแบบนี้ไปแล้ว คนจะดูไหม’ เขากล้าทำในสิ่งที่คิดว่าสังคมจะต้องรู้ และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แม้มีรัฐประหารใน 4-5 ปีหลัง

 

ตอนเด็กๆ ชอบดูทีวี สนใจข่าวสาร หรือทางบ้านมีส่วนบ่มเพาะความสนใจในด้านนี้ไหม

ดูข่าว อ่านมติชนสุดสัปดาห์ตลอด อ่านต่วย’ตูนพิเศษด้วย ดูรายการของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นประจำ เป็นช่วง ม.ต้น-ม.ปลาย ที่เติบโตมากับเมืองไทยรายสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ ถ้าเด็กเกิดทันจำได้นะ รายการคุณสนธิเป็นรายการที่พูดถึงข่าวต่างประเทศได้เข้มข้น วิเคราะห์ดีมาก เป็นแฟนรายการเลยตอนนั้น แต่พอคุณสนธิเริ่มมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่

 

เราเป็นรุ่นที่เริ่มปี 1 ด้วยรัฐประหาร 49 แล้วจบปี 4 ด้วยเมษาฯ-พฤษภาฯ 53 แล้วเรียนรัฐศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่เริ่มปีหนึ่งด้วยรัฐประหาร จบปี 4 ด้วยสังหารหมู่ในกรุงเทพมหานคร แล้วไปเรียนต่อโทพอดี ยังคิดอยู่เลยว่าที่ LSE รับเพราะเป็นคนไทย เขาอยากได้คนไทยไปสะท้อนเรื่องพวกนี้ในคลาส ซึ่งก็จริงเพราะโดนถามเยอะมาก ประเทศไทยได้รับความสนใจเยอะในเหตุการณ์นั้น

 

มาทำสื่อที่แรกคือวอยซ์ ทีวี หรือเปล่า

ที่แรกอยู่ยาวเลย เพราะเราตัดสินจะเป็นสื่อ ซึ่งสื่อที่จะพูดถึงการเมือง การเมืองระหว่างประเทศได้อย่างเข้มข้น น่าจะทันสมัยที่สุด ณ ตอนนั้นเป็นยุคที่ดาวเทียมกำลังขึ้นมาเทียบเท่ากับช่องหลัก แต่ช่องหลักเหล่านั้นก็ไม่ได้เน้นข่าว แต่เน้นบันเทิงทั่วไป ส่วนไทยพีบีเอส รู้สึกมีความพิเศษกับไทยพีบีเอสเนื่องจากตอนเมษาฯ-พฤษภาฯ 53 ไทยพีบีเอสแทบเป็นช่องเดียวที่บันทึกเหตุการณ์นั้น ถ่ายทอดสด ทำให้ได้เห็นภาพทหารยิงประชาชน ก็รู้สึกว่าช่องนี้เหมาะกับเรา แต่ที่กลายเป็นวอยซ์ได้เพราะว่าเราได้เห็นวอยซ์มาสัมภาษณ์อาจารย์ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ บ่อยๆ อาจารย์ที่คณะก็ไปจัดรายการ ก็เลยได้ดูบ่อยๆ ไปด้วย แล้วเห็นว่าช่องที่กล้าคิด กล้านำเสนอเหมือนอย่างต่างประเทศ กลายเป็นวอยซ์ เป็นสไตล์ที่เข้ากัน ในขณะที่ไทยพีบีเอสเหมือนเสนอเป็นสารคดีมากกว่า วอยซ์กล้านำเสนอสิ่งที่ปกติไม่ค่อยนำเสนอเพราะกลัวเจ๊ง จะมีคนดูหรือเปล่า

 

คิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกวอยซ์เพราะวอยซ์ไม่คิดดูถูกคนดูในประเทศไทยว่า ‘ทำแบบนี้ไปแล้ว คนจะดูไหม’ เขากล้าทำในสิ่งที่คิดว่าสังคมจะต้องรู้ และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แม้มีรัฐประหารใน 4-5 ปีหลัง

ด้วยสภาพแบบนี้ทำให้ความมั่นคงในอาชีพมันไม่แน่นอน จะโดนปิดเมื่อไรไม่รู้ แต่ในแง่จิตวิญญาณความเป็นสื่อ มันมั่นคง

 

ภาวะของวอยซ์ที่อยู่ในสถานะสื่อที่ยืนหยัดตรงข้ามกับอำนาจรัฐจนถูกคุกคามอยู่บ่อยๆ ในแง่ความมั่นคงของวิชาชีพสื่อกระทบอย่างไรบ้าง แล้วหากมองในแง่ภูมิทัศน์สื่อ เป็นอย่างไรบ้าง

 

การเป็นสื่อ หนึ่งไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง แต่เราคิดว่าการอยู่ในช่องที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แล้วเจอการปิด ไม่ว่าจะปิดโดยม๊อบ โดยทหาร ตลอดจนคำวิพากษ์จากวงการสื่อด้วยกันก็ไม่ค่อยจะดีนัก เนื่องด้วยติดภาพการเมือง เราก็ได้แต่พิสูจน์ตัวเองกับเพื่อนในวงการสื่อและกับคนดู ว่าเราเป็นสื่อจริงๆ ไม่ใช่สื่อแอบใช้การเมือง  

 

ด้วยสภาพแบบนี้ทำให้ความมั่นคงในอาชีพมันไม่แน่นอน จะโดนปิดเมื่อไรไม่รู้ แต่ในแง่จิตวิญญาณความเป็นสื่อ มันมั่นคง อาจจะมั่นคงมากกว่าการอยู่ในช่องที่มั่นคงทางรายได้ มันสวนทางกัน เพราะว่ายิ่งผ่านเส้นทางที่ลำบาก ถูกท้ายทาย นี่คือประโยชน์ของการถูกตั้งคำถาม นี่ถ้าคุณเป็นสื่อที่ถูกยกยอปอปั้นมากๆ อยู่แล้ว คุณอาจไม่จำเป็นต้องพยายามพิสูจน์ตัวเอง ทบทวนตัวเองบ่อย แต่พอคุณถูกตั้งคำถามตลอดเวลามันทำให้ต้องหันกลับมาถามว่าที่ทำอยู่ถูกหรือเปล่า ตกลงเรารับใช้ใครไหม เป็นกลางพอหรือยัง ทำหน้าที่สื่อหรือยัง

 

ตลอด 6 ปีที่อยู่ เราถามตัวเองตลอดนะ ทุกครั้งที่เราถามตัวเอง แล้วเรายังตอบได้แบบที่ภาคภูมิใจ และยังเป็นคำตอบเดิมมันทำให้จิตวิญญาณความเป็นสื่อเรายังมั่นคง

 

 

ในเมื่อมีความมั่นคงในแง่จิตวิญญาณตลอด 6 ปี แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนให้ต้องเคลื่อนมาทำงานการเมือง หรือว่าถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

จริงๆ ตอนทำงานสื่อ สำหรับช่อไม่มีคำว่าเต็มอิ่มหรือยัง ไม่ใช่ว่าถึงจุดอิ่มตัวแล้วถึงมาทำงานการเมืองนะ ไม่ได้เป็นแบบนั้น คิดว่าเป็นสื่อตลอดชีวิตก็ยังไม่อิ่มตัว ความเป็นสื่อแล้วอิ่มตัวคืออะไร อิ่มตัวหมายความว่าคุณไม่มีอะไรท้าทายคุณอีกแล้ว คุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศนี้ได้แล้ว หมดหวัง ช่อคิดว่าไม่มีสิ่งนั้น ขยับไปทีละนิดๆ แต่ก็เห็นว่าสังคมนี้เปลี่ยนไปนะเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่แล้วก่อนรัฐประหาร กับปัจจุบันนี้ คิดว่าคนไทยเปลี่ยนไป แม้แต่สื่อก็เปลี่ยนไป จึงไม่มีความอิ่มตัวกับอาชีพสื่อ

 

แต่ที่หันมาทำงานการเมือง ช่อเคยพูดกับคุณเอก (ธนาธร) และอาจารย์ป๊อก (ปิยบุตร) ว่าถ้าใช้เหตุผลในการเปลี่ยนมาทำ คงไม่ได้เปลี่ยน แต่มันเป็นการใช้ความรู้สึก ใช้หัวใจตัดสินจริงๆ ไม่เคยคิดจริงจังมาก่อนว่าอยากทำงานการเมือง ปฏิเสธไม่ได้หรอก คนเรียนรัฐศาสตร์มันต้องมีบางจุดบางเสี้ยวในสมองที่รู้สึกว่า ‘หรือเราจะได้เป็นนักการเมือง ทำงานการเมืองไหมในอนาคต’

 

ก็มีบ้างตอนเรียน แต่ไม่มีความคิดจริงจัง แล้วตอนทำสื่อก็ไม่เคยคิดว่าจะใช้วิชาชีพไต่เต้ามาทำงานการเมือง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมีคนทำต่อเนื่องพอสมควร เพราะการเป็นสื่อรู้จักคนกว้างขวาง ได้คุยกับนักการเมืองต่างๆ แต่เราทำข่าวต่างประเทศ รู้จักนักการเมืองก็น้อย เฉพาะที่มาสัมภาษณ์ในรายการ แต่มาเริ่มต้นจริงๆ เมื่อคุณเอก อาจารย์ป๊อกมาชักชวนอย่างจริงจังว่าเห็นในศักยภาพ แล้วใช้คำพูดว่า “พี่น่าจะทำอะไรได้มากกว่าทำสื่อมวลชน” ตอนนั้นโกรธมากนะ ย้อนถามเลยว่า

 

“คุณคิดว่ามาเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะเป็นนักการเมืองในพรรคคุณ คุณแน่ใจเหรอว่าเราจะทำอะไรได้มากกว่าเป็นสื่อมวลชน คุณคิดว่าเป็นสื่อมวลชนทำอะไรได้น้อยเหรอ”

โฆษกพรรคการเมืองยังกว้างกว่านั้นอีก ไม่ใช่แค่สื่อสาร แต่คิดว่าทำอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับแนวทางในอนาคตของพรรคเรา ทั้งยังเป็นประโยชน์กับประชาชนด้วย อันนี้คล้ายกับสื่อ คือไม่ได้คิดแค่ทำอย่างไรให้ขายได้ แต่ต้องคิดว่าเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติหรือเปล่า

 

ซึ่ง ธนาธร ปิยบุตร ก็ให้คำตอบไม่ได้ แต่เราก็ได้มาไตร่ตรอง คือตอนโดนชวนยังไม่มีกระทั่งชื่อพรรค รู้แค่ว่าเป็นพรรคที่ ธนาธร ปิยบุตร ร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งจะตั้งขึ้นมา กระแสจะดี จะแป้ก จะโดนด่าไหม จะต้องติดคุก ลี้ภัยไหม การเมืองตอนนี้มันเป็นไปได้ทุกอย่างโดยเฉพาะการเมืองที่เรารู้อยู่แล้วว่า เราไม่ได้ยืนอยู่ข้างทหารแน่ๆ มันอันตรายแน่ๆ ถ้าคุณตั้งพรรคเพื่อเป็นพรรคของพลเอก ประยุทธ์ มันก็ปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพลเอก ประยุทธ์ คุณก็ต้องพิจารณาแล้วว่าความปลอดภัยในชีวิตคุณจะมีแค่ไหน หลังจากคิด ใช้เหตุผล ความคุ้มค่าต่างๆ นานา ไม่มีอะไรคุ้ม เป็นการลงทุนที่สูงมาก เหมือนเล่นหุ้นทั้งๆ ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน แล้วซื้อตัวแพงๆ ไปเลย

 

แต่จะบอกว่านับแต่วันที่โดนชวน เราหยุดคิดถึงมันไม่ได้เลย ไม่เคยหยุดคิดถึงความเป็นไปได้ว่าถ้าเราเข้ามาทำงานการเมืองเราจะทำได้แค่ไหน ซึ่งตอนโดนชวนมา มีการพูดถึงหลักการ อุดมการณ์พรรค ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทุกคนตอนนี้รู้แล้วว่ามันไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นพรรคที่โอบอุ้มคน ให้คนธรรมดามาทำงานการเมือง นี่คือพรรคที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ต้องการให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในสังคมไทย ให้ทุกคนมีพื้นที่ เป็นพรรคที่เอารัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เอาแค่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย แต่เอาประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้จริงๆ สักที ซึ่งแทบไม่เคยมีมาก่อนเลยในประเทศนี้ เคยมีเพียงช่วงสั้นๆ ในประวัติศาสตร์ แล้วทั้งหมดก็คือถามคำเดียวว่า ‘เราจะเอาไหมกับเรื่องพวกนี้’ นี่แหละคือสิ่งที่คิด จะทำให้เป็นไปได้ไหม

 

คือไม่ได้คิดว่าเราจะไปร่วมกับคุณเอก อาจารย์ป๊อกไหม แต่คิดว่าเราเอาไหม ที่เราจะทิ้ง comfort zone ที่เราอยู่กับมันมา 6 ปีกว่า มันเป็นที่ที่เราคุ้นเคย รู้จัก และยังทำอะไรให้สังคมได้ กับที่ใหม่ที่ที่อาจเปลี่ยนสังคมได้มากกว่า รับใช้อุดมการณ์ของเราได้มากกว่า หรือจะน้อยกว่าเราไม่รู้ แต่มันคือความเป็นไปได้

สื่อควรรับใช้มวลชน ถ้าคุณเป็นสื่อมวลชน แต่ถ้าคุณเป็นสื่อทหารคุณก็รับใช้ทหาร คุณเป็นสื่อมวลชนก็ควรยืนข้างมวลชน ทำประโยชน์ต่อมวลชนที่สุด

 

กลับมาที่ปัจจุบัน การมารับบทบาทโฆษก เป็นกระบอกเสียง เป็นเพราะบทบาทของคุณหรือเพราะอะไร ถึงตัดสินใจเป็นโฆษก

ก่อนอื่น คือว่าหนึ่ง โฆษกไม่ใช่กระบอกเสียง เหมือนเวลาที่สื่อถูกบอกว่าเป็นกระบอกเสียง คือมันไม่ใช่นะ งานสื่ออาจมีบางส่วนเป็นกระบอกเสียง แต่สื่อเป็นมากกว่านั้น ดังนั้นจรรยาบรรณสื่อถึงต้องมี วิชาชีพสื่อถึงเป็นวิชาชีพที่น่าเคารพวิชาชีพหนึ่ง เป็นนักการเมืองหรือเป็นโฆษกพรรคการเมืองก็เช่นกัน

 

จริงๆ ตอนคุยกันตอนแรกก็ได้รับการเสนอให้เป็นโฆษก แต่ว่าตอนที่ช่อคิดไม่ได้คิดเรื่องมาเป็นโฆษกหรือเป็นอย่างอื่น คือเราคิดในภาพกว้างของการมาทำงานการเมือง แต่มาคิดตอนที่ตกลงมาร่วมหัวจมท้ายแล้ว ว่าเป็นหน้าที่ที่เหมาะกับเราที่สุด น่าจะได้ใช้ความสามารถเราที่สุด แต่ถามว่าโฆษกพรรคการเมืองเป็นคนรับสคริปต์มาพูดกับสื่อแค่นั้นหรือเปล่า ก็ต้องถามว่า แล้วเวลาเราเป็นสื่อเราจัดรายการ เราแค่เป็นพิธีกรรับสคริปต์มาพูดให้คนหน้ารายการหรือเปล่า ตอบว่าไม่ใช่เลย แม้สคริปต์เราไม่ได้เขียนเองทุกข่าวแต่ก็มีจำนวนหนึ่ง และทุกข่าวเราต้องหาข้อมูลเพิ่ม หรืออาจต้องหาประเด็นคิดเองด้วยซ้ำว่าอยากพูดประเด็นไหนในการคุยกับ บก. จึงคิดว่ามันคล้ายกันมากกับงานโฆษกพรรคการเมือง

 

เพียงแต่โฆษกพรรคการเมืองยังกว้างกว่านั้นอีก ไม่ใช่แค่สื่อสาร แต่คิดว่าทำอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับแนวทางในอนาคตของพรรคเรา ทั้งยังเป็นประโยชน์กับประชาชนด้วย อันนี้คล้ายกับสื่อ คือไม่ได้คิดแค่ทำอย่างไรให้ขายได้ แต่ต้องคิดว่าเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติหรือเปล่า

 

 

มองการทำหน้าที่ การมีบทบาทของสื่อผ่านจุดยืนของคุณในฐานะที่ตอนนี้เป็นคนทำงานการเมืองคนหนึ่งอย่างไร

สื่อควรรับใช้มวลชน ถ้าคุณเป็นสื่อมวลชน แต่ถ้าคุณเป็นสื่อทหารคุณก็รับใช้ทหาร คุณเป็นสื่อมวลชนก็ควรยืนข้างมวลชน ทำประโยชน์ต่อมวลชนที่สุด ในมุมของเราที่เคยเป็นสื่อมาก่อน เราเข้าใจ ที่ว่าสื่อเป็นแนวหน้า ที่เจอกับ คสช. ตัวเป็นๆ อยู่ทุกวัน หลายคนบอกสื่อต้องอยู่เป็น เพื่อรักษาแหล่งข่าว แต่กลับกันก็ยกย่องนะ ที่มีสื่อซึ่งกล้าถามตรงๆ กับ คสช. เป็นที่น่ายกย่องมาก แล้วคนที่เสนอข่าวแบบสนับสนุนทหาร หากเขาเชื่อจริงๆ แบบนั้น ก็ไม่มีปัญหา สื่อที่เป็นกลางไม่ใช่ต้องเสนอว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจน ให้เหตุผลชัดเจน ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอง แต่ในสื่อของคุณก็ควรมีข่าวของอีกฝั่งหนึ่ง ข่าวของฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่เมื่อคุณประกาศจุดยืนชัดเจน ประชาชนก็จะมีวิจารณญาณเองว่าควรให้น้ำหนักกับข่าวของคุณแค่ไหน นี่คือสื่อในโลกเสรี ซึ่งอาจตรงข้ามกับที่พลเอก ประยุทธ์ มองในตอนนี้

 

เพราะสื่อโลกเสรี เชื่อว่าประชาชนคิดได้ว่าควรเชื่อสื่อแค่ไหน แต่ของเราคือขอความร่วมมือสื่อตลอดเวลา คุณคิดว่ามันต้องกรองตั้งแต่ตัวสื่อ ประชาชนรอรับแต่สิ่งที่กลั่นกรองมาแล้ว เหมือนเป็นเด็กเล็กๆ มันไม่ใช่ แต่สื่อควรมีจุดยืนชัดๆ แล้วคนดู คนอ่าน จะเป็นผู้ตัดสิน

 

แต่บทบาทสื่อที่มีอิสระอยู่ในสายเลือด สามารถตั้งคำถาม วิจารณ์กับหลายๆ เรื่องได้ เราจะจัดการกับมันอย่างไร เมื่อต้องเปลี่ยนบทบาท

ตอนนี้ได้คำตอบอย่างหนึ่งว่า เป็นสื่ออาจมีอิสระ คือพูดได้มากกว่า แต่ทำได้น้อยกว่า แต่มาเป็นนักการเมือง ถึงจะพูดได้น้อยกว่า แต่ทำได้มากกว่า นี่คือสิ่งที่ต้องเสียสละบางส่วน ถ้าจะขยายความก็เช่นกรณีเห็นชอบหลักการร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 กว่า 3 ล้านล้านบาท หากเป็นสื่อคงมีประเด็นขยี้ ทั้งเรื่องความคุ้มค่า แจงรายละเอียดโครงการ ฯลฯ แต่พอเป็นพรรคการเมือง เราต้องนำเสนอว่าถ้าเป็นพรรคเราจะนำงบมาใช้แบบไหน ซึ่งใน 3 ล้านล้าน กว่า 1 ล้านล้านคืองบที่รัฐบาลจะเอามาบริหารภาครัฐไทยแลนด์ 4.0 บทบาทของพรรคการเมือง มันเหมือนตั้งรัฐบาลเงาในต่างประเทศ ถ้าเป็นคุณ ศักยภาพที่คุณมี บุคลากรที่คุณมี คุณจะทำแบบไหน หาก คสช. จะนำข้อเสนอไปพิจารณาก็จะเป็นพระคุณ เพราะประเทศชาติจะได้ประโยชน์ พรรคการเมืองต้องเสนอสิ่งที่เราคิดว่าดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้รัฐบาล หากรัฐบาลนำไปใช้เราก็ขอบคุณ คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน ประเทศชาติ

ถ้ามันล้มเพราะรัฐบาลทหารไม่ต้องการให้มันเกิดมันก็ต้องล้มไป เพราะในความเป็นจริงไม่มีอะไรขัดขวางอำนาจเผด็จการได้ เราจึงเรียกมันว่าอำนาจเผด็จการ แต่ถ้าเรากลัวว่ามันจะถูกยุบก็ไม่ต้องตั้งพรรคการเมืองนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นถามว่าทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่บนอะไร เรามีชีวิตอยู่บนความเชื่อมั่นในประชาชน

 

การขับเคลื่อนต่อจากนี้ของอนาคตใหม่ หากได้รับการจัดตั้งพรรคการเมืองจะเป็นไปในทิศทางไหน

ตอนนี้เราทำสิ่งที่เราทำได้ คือการพบปะเครือข่ายในต่างจังหวัด ซึ่งไม่ใช่การปราศรัยหาเสียง แต่เป็นการเตรียมเครือข่ายในต่างจังหวัด และได้เห็นสื่อต่างๆ และมหาวิทยาลัยพยายามจัดเวทีให้นักการเมืองไปแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากในยุคที่เรายังไม่สามารถหาเสียงได้อย่างเต็มที่ เวทีเหล่านี้ก็จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้แนวทาง จุดยืน กรอบนโยบายของเราระหว่างนี้ แล้วหากได้การรับรองจัดตั้งพรรคเมื่อไร ก็เป็นการระดมทุน อย่างที่บอกว่าว่าพรรคนี้ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของ ไม่ต้องการให้ใครเอาเงินสิบล้านมาฟาดใส่แล้วจะทำให้เขามีอำนาจเหนือพรรคนี้ ดังนั้นต้องการ 300, 500 หรือ 10 บาท 20 บาท จากทุกคน

 

แปลว่า คสช. ควรรีบปลดล็อก แล้วให้โอกาสประชาชนใช่ไหม

ไม่ใช่ควรรีบปลดล็อก แต่ถามว่าควรมีไหม การล็อก แล้วพลเอก ประยุทธ์ ก็บอกว่าถ้าไม่มีล็อกพรรคการเมือง เดี๋ยวก็ออกมาทะเลาะกัน กลับไปที่ประเด็นว่าคุณพูดแบบนี้คุณดูถูกประชาชนว่ามีวิจารณญาณคิดได้เองงั้นหรือ รัฐต้องสกรีนก่อนว่าจะพูดอะไร ประชาชนไม่สามารถสกรีนได้เอง คิดได้เองว่าคำพูดไหนเขาควรจะเชื่อถือ ประชาธิปไตยเป็นแบบนั้น พรรคการเมืองอยากพูดอะไรพูดไป หากล้ำเส้น กฎหมายหมิ่นประมาทมี คุณก็ไปฟ้องกันได้ หรือว่าหากอีกฝ่ายรู้สึกว่าเป็นธรรมดาของการเมืองก็เลยไม่ฟ้อง ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสินเอง ถ้าประชาชนไม่โอเคกับที่พรรคพูดออกมา ก็จะไม่เลือกพรรคนั้น หรือการสาดโคลน ใส่ร้าย ประชาชนก็อาจเห็นว่านี่ไม่ใช่การสาดโคลน แต่เป็นเนื้อหาที่เขาควรจะได้รู้ว่าใครทำอะไรไม่ดีไว้ ประชาชนก็ไม่เลือกพรรคนั้น นี่คือกลไก วิถีทางประชาธิปไตย เพียงแต่พลเอก ประยุทธ์ อาจจะไม่รู้ ไม่เข้าใจ เพราะท่านไม่เคยผ่านการลงเลือกตั้งมาก่อน

 

แล้วความเสี่ยงของการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกหลายๆ อย่างปะทะเข้ามา หากอยู่ดีๆ มันล้มไป คุณมองอย่างไร

ถ้ามันล้มเพราะรัฐบาลทหารไม่ต้องการให้มันเกิดมันก็ต้องล้มไป เพราะในความเป็นจริงไม่มีอะไรขัดขวางอำนาจเผด็จการได้ เราจึงเรียกมันว่าอำนาจเผด็จการ แต่ถ้าเรากลัวว่ามันจะถูกยุบก็ไม่ต้องตั้งพรรคการเมืองนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นถามว่าทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่บนอะไร เรามีชีวิตอยู่บนความเชื่อมั่นในประชาชน เราคิดว่าทุกวันนี้ที่เรายังอยู่รอดมาได้ทั้งที่ถูกคุกคาม แต่ก็ยังอยู่มาได้ เราคิดว่าเพราะเราได้รับการยอมรับพอสมควรจากประชาชน กระแสที่ประชาชนมีต่อเราทั้งบวกและลบกำลังจับตามองเราว่าจะเติบโตอย่างไร ถ้าเราไปไม่ถึงการเลือกตั้งก็จะได้รู้ว่าอำนาจเผด็จการทำอะไรได้บ้างในประเทศนี้ และต่อให้พรรคถูกยุบเราก็ยังมีการต่อสู้ในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปในอุดมการณ์เดิมของเรา

อย่ารอ ต้องเริ่มทำ เพราะผลไม้ที่หวานหอมไม่หล่นมาใส่มือคุณง่ายๆ หรอก คุณต้องปีนขึ้นไป ไอ้ที่หล่นลงมามีแต่ของเน่า อนาคตที่สวยงาม ที่เราคิดว่าอยากจะเห็นมันเป็น เราต้องเริ่มทำมันเลย ไม่ต้องหวัง

 

สุดท้ายนี้หากถอดบทบาทของคุณออกไป ทั้งบทบาทงานการเมือง บทบาทสื่อ มองอนาคตของประเทศไทยอย่างไร

เนื่องจากสังคมไทยทุกวันนี้ถูกบังคับให้มอง หรือไม่ก็หลอกตัวเอง ว่าสิ่งไม่ปกติเป็นสิ่งปกติมานานมากเกินไปแล้ว กว่าสิบปีของวังวนรัฐประหาร ม็อบ รัฐประหาร ม็อบ แล้วคิดว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป อดทนผ่านตรงนี้ไปได้ ฟ้าสีทอง ฟ้าวันใหม่ รอเราวันข้างหน้าอยู่ เราคิดว่าการหลอกตัวเองให้อยู่ในความไม่ปกติแล้วคิดว่าเดี๋ยวมันก็จะปกติเอง ทนๆ มันไปก่อน เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในวังวนนี้ สิ่งที่ต้องทำคือการเลิกหลอกตัวเอง เลิกรู้สึกดีเนื่องจากตัวคุณชินกับความยากลำบาก แต่ว่าต้องเริ่มจากตัวเอง ทำวันนี้ให้มันดี ไม่ต้องรอใคร เริ่มจากหยุดยอมรับความไม่ปกตินี้ แต่ต้องรู้ตัวว่ามันไม่ปกติ แล้วสัญชาตญาณจะพาไปเอง มาทำให้ประเทศไทยกลับมาปกติ

 

อย่ารอ ต้องเริ่มทำ เพราะผลไม้ที่หวานหอมไม่หล่นมาใส่มือคุณง่ายๆ หรอก คุณต้องปีนขึ้นไป ไอ้ที่หล่นลงมามีแต่ของเน่า อนาคตที่สวยงาม ที่เราคิดว่าอยากจะเห็นมันเป็น เราต้องเริ่มทำมันเลย ไม่ต้องหวัง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X