นับถอยหลังอีกเพียงไม่ถึงร้อยวันประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าสู่วันเลือกตั้ง แต่การสื่อสารถึงประชาชนเรื่องความเข้าใจในเรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่ถูกสื่อสารในเรื่องลึกๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐที่ควรมีบทบาทเท่าใดนัก
โคทม อารียา อดีต กกต. ชุดแรก เคยกล่าวไว้ในงานเสวนา ‘การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สถานการณ์ในสังคมไทย’ ว่าอยากจะให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ผลิตรายการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้แล้ว เนื่องจากถูกใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอข้อมูลทางเดียว เกี่ยวกับผลงานรัฐบาลและ คสช.
ขณะที่ทั้ง คสช. และรัฐบาล จะยังอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และไม่ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเป็น
นี่เป็นหนึ่งในเรื่องใหม่ๆ ของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลจะถูกจำกัดบทบาทลงเพื่อให้การแข่งขันเลือกตั้งไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบจนเกินไป
หันกลับไปดูบรรยากาศการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา วาทกรรมปฏิรูป และปรองดองดูเหมือนจะเลือนรางลง เกมการเมืองเกิดขึ้นแบบเก่าภายใต้เงื่อนไข กติกา ที่ดูเป็นเพียงฉากใหม่ ในขณะที่รายละเอียดและผู้เล่นดูจะไม่เปลี่ยนแปลง
สมรภูมิการเมืองและการเลือกตั้งจะยังมีอะไรใหม่ๆ อีกบ้าง THE STANDARD ขอพาผู้อ่านมาลองพิจารณาไปด้วยกัน
1. โซเชียลมีเดียที่มากไปกว่าเฟซบุ๊ก และสารพัดแอปฯ เพื่อทำการเมือง
‘ตาสับปะรด’ หลายคนอาจลืมชื่อนี้ไปแล้ว การเลือกตั้งปี 2557 กกต. ได้นำเสนอแอปพลิเคชัน 3 ตัว เพื่ออำนวยความสะดวก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมการเลือกตั้ง
แต่ฟากพรรคการเมืองเวลานั้นแทบไม่เห็นการหยิบแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้มากนัก นอกจากการหาเสียงตรงๆ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งหากดูโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ยิ่งน้อยมาก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 พรรคการเมือง 40 พรรคที่ส่งผู้สมัครแข่งขัน มีเพียง 26 พรรคที่มีเว็บไซต์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่ามีเพียง 4 พรรคที่ใช้สื่อออนไลน์ ที่ถึงขั้นใช้ได้และอยู่ในระดับดี
โดยเวลานั้นพรรคที่มียอดแฟนเพจเฟซบุ๊กมากที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ 27,903 คน แต่ทวิตเตอร์ แชมป์เป็นของพรรคเพื่อไทย 7,575 คน ส่วนเพจนักการเมืองที่มีผู้ติดตามมากสุด คือเพจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 671,093 คน และทวิตเตอร์ @abhisit_dp มี 11,717 คน
ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2554 เวลานั้นมีสถิติผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยเพียง 909,630 ราย แต่วันนี้มีผู้ใช้รวม 12 ล้านราย
ตัดภาพกลับมาในปัจจุบัน เมื่อติดตามข้อมูลนักการเมืองในพรรคต่างๆ จะพบว่านอกจากเฟซบุ๊กที่ทุกพรรคในระดับแกนนำหรือหัวหน้าพรรคใช้กัน หรือการมีเพจ Official ของพรรคแล้ว ตัวสมาชิก-เครือข่ายของพรรค ยังมีเพจของตัวเองเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย เช่น อนาคตใหม่ เพจ New Gen หรือรวมพลังประชาชาติไทย Act Youth
กระบวนการการมีส่วนร่วมที่พรรคการเมืองออกแบบแอปพลิเคชันก็มีเพิ่มมากขึ้น การให้โหวตออนไลน์เพื่อเลือกโครงฝ่ายบริหารพรรค หรือทำไพรมารีที่ดุเดือดกันชัดๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีแอปพลิเคชัน d-elect ก็มีบทบาทอย่างมาก เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นอีกพรรคที่ทำเว็บไซต์ให้โหวตออนไลน์
การปรับตัวของพรรคการเมืองในวันนี้ ที่โลกออนไลน์มี 12 ล้านบัญชีทวิตเตอร์ และ 50 ล้านบัญชีเฟซบุ๊ก ถือว่าน่าจับตามากๆ แต่ข้อกังวลยังมีอยู่ เพราะหากสังเกตดีๆ จะพบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่แค่ใน กทม. ส่วนจังหวัดรองลงมา อย่าง ชลบุรี เชียงใหม่ กลับมีผู้ใช้เพียง 1-2 ล้านบัญชีเท่านั้น
ดังนั้นการลงพื้นที่ และสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ยังคงเป็นภาคบังคับที่เป็นต้นทุนสูงของพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก และพรรคใหม่ ที่ต้องแย่งกันสร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้นในเวลาจำกัดนี้
2. กติกากาบัตรใบเดียว ท้าทายทีมโฆษกพรรค
กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ที่กำหนดให้ ‘กาบัตรใบเดียว’ นับเป็นอาวุธร้ายแรงที่กระทบทุกพรรค ซึ่งนักการเมือง นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าก่อผลให้เกิดการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การหาเสียง
‘เลือก ส.ส. ที่รัก เลือก พรรค ที่ชอบ’ คือผลจากระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้ปี 2554 เราได้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย แม้จะมีคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งเพียง 14,272,771 คะแนน แต่คะแนนจากบัตรใบที่สองเพื่อเลือกพรรค กลับมากกว่าคะแนนที่ประชาชนลงให้กับ ส.ส. แบ่งเขตแต่ละเขต โดยมีมากถึง 15,744,190 คะแนน
เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ได้คะแนนรวมของ ส.ส. เขตทุกเขตที่ส่งผู้สมัครลง 10,111,954 คะแนน แต่คะแนนบัตรใบที่สองกลับได้ถึง 11,433,762 คะแนน
เท่ากับว่าวัฒนธรรมการเมืองไทยที่แสดงออกผ่านการกาบัตร 2 ใบ ประชาชนนับล้านคนขึ้นไป ไม่ได้ยึดติดกับพรรคพรรคเดียวเสมอไป สะท้อนว่ามีประชาชนเป็นล้านที่ถ้าเขาเลือกได้ เขาจะเลือก ส.ส. เขตที่รัก แต่เลือกอีกพรรคที่ชอบ
ทว่าครั้งนี้ ประชาชนต้องเลือกแบบ 3 in 1 คือเลือก ‘คนที่รัก พรรคที่ชอบ นายกฯ ที่ใช่’ โดยต้องตัดสินใจลงในบัตรใบเดียว แถมผลจากการถูกเกลี่ยจำนวน ส.ส. ด้วยการออกแบบกติกาทำให้พรรคไหนได้ ส.ส. เขตมาก หากผลรวมของ ส.ส. เขตที่ทุกพรรคได้ รวมกันแล้วเกิน 375 คน จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองจะถูกลดทอนลงแล้วเกลี่ยคะแนน เกลี่ยจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ใหม่อีกรอบ
แม้กติกาใหม่จะให้นับรวมคะแนนเสียงตกน้ำ หรือคะแนนของพรรคที่แม้ไม่ได้มีคะแนนสูงสุดในสนามเลือกตั้งเขตนั้นๆ จากแต่ละเขต เพื่อมาคำนวณรวมกันจากทุกเขตเลือกตั้งที่พรรคส่งผู้ลงสมัครแข่งขันเป็นคะแนนหาจำนวน ส.ส. ที่พรรคพึงมีได้ ก็ใช่ว่าหารออกมาแล้วแปลงเป็นจำนวน ส.ส. เพื่อจะได้ ส.ส. ครบตามที่ควรจะมี
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นไปได้ว่าจะมีพรรคที่สื่อสารกติกาใหม่ให้กับผู้ลงคะแนนเสียงคลาดเคลื่อน หรือเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ลงสมัครขัดแย้งกันเองในพรรค แย่งกันลงสนามแบบเขตกับบัญชีรายชื่อ เพราะเข้าใจกติกาผิด
ผลที่ตามมาคือ ผู้ลงคะแนนที่ไม่ได้ยึดติดพรรคใดเพียงพรรคเดียว ซึ่งจากการลงคะแนนปี 2554 สะท้อนให้เห็นว่ามีราวๆ 1-3 ล้านคน อาจแปรเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อได้กว่า 15-45 คน ก็จะเป็นงานหนักที่ทุกพรรคต้องแข่งกันสื่อสาร และหาผู้สมัครน้ำดีมาสังกัดพรรคเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องคิดมากว่าจะเลือกเพราะคนที่รัก หรือพรรคที่ชอบ
3. คะแนนเสียงตกน้ำ กับขั้วตระกูลการเมือง บทพิสูจน์เลือดข้นกว่าน้ำ
ปรากฏการณ์ยุบพรรคการเมือง ที่นำไปสู่การตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งหลายหนในทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการสร้าง ส.ส. หน้าใหม่เข้าสู่ตลาดการเมืองจำนวนมาก
แต่ในความใหม่นี้ ส่วนหนึ่งใหม่เพียงชื่อ แต่นามสกุลยังเป็นตระกูลการเมืองเดิม บ้างสังกัดพรรคเดิม บ้างอยู่พรรคใหม่ อาจเรียกได้ว่าเข้าสู่ตำแหน่งเพราะนามสกุล
ขณะเดียวกันการเลือกตั้งรอบนี้ เมื่อตัวจริงพ้นห้วงเวลาของการถูกตัดสิทธิ อาจไม่แปลกที่จะสั่ง ส.ส. นอมินีถอยทัพ แล้วตัวจริงก็สวมสูทลงสนามอีกครั้ง ซึ่งทำให้กลายเป็นปัญหาย้ายขั้วสลับข้างเพื่อหาที่ทางให้ตัวเองสำหรับตัวแสดงแทน
แต่กติกาครั้งนี้ เมื่อทุกคะแนนเสียงในทุกอันดับมีความหมาย ส.ส. แถวสอง แถวสาม ของตระกูลการเมืองเดียวกัน จึงไม่จำเป็นว่าต้องถอยเสมอไป เพราะชื่อชั้นของการทำงานพื้นที่มีความหมายสำหรับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะหาคนลงแข่งขันชิงคะแนนตกน้ำ แม้รู้ว่าจะสู้ตัวจริงไม่ได้ก็ตาม
กติกาแบบนี้ด้านหนึ่งก็อาจเพิ่มความขัดแย้งในตระกูล หรือกลับกันก็อาจวิน-วิน เพราะได้ขยายพื้นที่การเมืองให้คนในตระกูล ซึ่งเลือดก็อาจข้นกว่าน้ำอยู่แล้ว
4. ผู้ออกเสียงหน้าใหม่ นักการเมืองก็หน้าใหม่
อย่างที่หลายสื่อนำเสนอกันแล้ว สำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าตัวเลขจะเป็น 6.4 ล้าน หรือ 7-8 ล้านก็ตาม ล้วนแต่เป็น New Voter ที่อยู่ในช่วงวัย 18-24 ปี ที่ยังไม่เคยผ่านการเลือกตั้งที่บรรลุผลจนจบกระบวนการ เพราะต้องไม่ลืมว่าปี 2557 ที่มีการจัดการเลือกตั้งบางคนได้ใช้สิทธิ แต่คะแนนทั้งหมดที่คนฝ่าฟันไปเลือกตั้ง ต้องตกน้ำจมหายไปไม่ได้มี ส.ส. เข้าสภา เนื่องจากการเลือกตั้งถูกสั่งให้เป็นโมฆะในเวลาต่อมา นี่จึงเป็นกลุ่มที่ยังไม่ชัดเจนในการตัดสินใจ เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องดึงเอาคะแนนจากคนกลุ่มนี้
แน่นอนว่านอกจากผู้ออกเสียงหน้าใหม่แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผู้สมัครหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก คนรุ่นอายุ 25-31 ปี จำนวนมากก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้ลงแข่งในสนามเลือกตั้งมา 7-8 ปี ครั้งนี้แต่ละพรรคจึงแข่งกันเปิดตัวนักการเมืองรุ่นใหม่กันเพียบ
ทั้งรุ่นอายุ 26 ปี อย่าง ไต๋ พรรคภูมิใจไทย หรือเพื่อไทย รุ่นอายุเริ่มเลข 3 เช่น เผ่าภูมิ, ตรีรัตน์ เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ ที่ทำงานเยาวชนมาหลายสิบปี โดยมีเครือข่ายยุวประชาธิปัตย์ทำงานแข็งขัน มีหน้าใหม่อย่าง ไอติม พริษฐ์ หลานอภิสิทธิ์ ที่เดินหน้าเข้าไปขอสมัครทหารเกณฑ์ พรพรหม ลูกชายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ที่นำเสนอประเด็น LGBT เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อดูจากสถิติอายุ จำนวนผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ผ่านมามีผู้สมัครรวม 1,410 โดยผู้สมัครที่อายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 ปีมีเพียง 85 คน (ร้อยละ 6.03) อายุ 31-40 ปี มี 167 คน (ร้อยละ 11.84) ที่เหลือร้อยละ 82.13 เป็นผู้สมัครอายุ 41-มากกว่า 80 ปี
จึงต้องติดตามว่าครั้งนี้ สัดส่วนคนรุ่นต่ำกว่า 40 ปี จะทะยานขึ้นไปในสภามากแค่ไหน หลังจากคนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพ สนช. หลับ หรือ สนช. บางคนต้องมีคนพยุงเข้าสภากันมาแล้วบนโลกออนไลน์
5. ใบส้ม จับผิดจุดเล็กๆ แต่อำนาจทำลายล้างกว้างขวางจนหญ้าแพรกแหลกลาญ
ครั้งนี้การเลือกตั้งในแต่ละเขตจะถูกระงับได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่มีใบเหลืองซึ่งเป็นเรื่องของการทุจริตเลือกตั้ง (ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครทุจริต หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริต กกต. มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครเลือกตั้งไม่เกิน 1 ปีได้ ซึ่งถ้าคนที่โดนใบเหลืองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่) หรือ ใบแดง ใบดำ ที่เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง อันเป็นความผิดของตัวผู้สมัคร พรรคการเมืองที่ส่งผู้ลงสมัครเช่นกัน
เพราะเกิดการเขียนกติกาเพิ่ม ‘ใบส้ม’ มาอีกใบ ใบส้มนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการทุจริตโดยตรง แต่เป็นเรื่องความบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจคุณสมบัติ คุณลักษณะที่ห้ามสมัครเป็น ส.ส. ซึ่งมีข้อห้ามมากมาย
ผลของการได้รับ ‘ใบส้ม’ หากผู้สมัครคนที่คุณสมบัติไม่ครบได้เป็นผู้ชนะเลือกตั้ง ใบส้มจะให้อำนาจ กกต. มาก ถึงขั้นยกเลิกการเลือกตั้งในเขตนั้นแล้วเลือกใหม่ ทั้งยังห้ามเอาคะแนนของผู้สมัครทุกคนในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ไปคำนวณให้เป็นคะแนนพรรคการเมือง (คะแนนปาร์ตี้ลิสต์)
เท่ากับว่าแทนที่พรรคอื่นๆ อันดับสอง อันดับสาม จะได้ประโยชน์จากคะแนนเสียงตกน้ำในการเลือกตั้งรอบแรก ก็ต้องมาลุ้นว่าเลือกตั้งรอบใหม่ คะแนนตัวเองจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง และต้องลุ้นว่าประชาชนที่มาใช้สิทธิไปแล้วรอบหนึ่ง จะมาเลือกตั้งรอบสองมากเท่าเดิมไหม
หรือประชาชนจะรู้กันหรือไม่ว่าจะต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่ เพราะในกฎหมายไม่ได้มีบทลงโทษ กกต. หาก กกต. ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ได้ทั่วถึงเพียงพอให้คนรับรู้ว่าต้องจัดเลือกตั้งใหม่
การเลือกตั้งครั้งนี้ จากกติกาแจกใบส้มที่มีผลรุนแรงถึงขั้นลบล้างคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบให้กับพรรคที่ได้เป็นอันดับสองอันดับสาม ย่อมส่งผลให้โอกาสของพรรคกลาง พรรคเล็กที่หวังมุ่งทำการเมืองแบบสะอาดเข้าสภายากขึ้น เพียงเพราะพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 เล่นการเมืองสกปรกหรือตัวเองไม่รอบคอบในเรื่องคุณสมบัติ
6. มีกติกาบังคับให้พรรคต้องหาจำนวนสมาชิก แต่ก็มีกติกาที่เอื้อให้พรรคไม่ต้องรับฟังสมาชิก
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะกติกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มุ่งให้การเลือกผู้ลงสมัครแข่งขันในสนามเลือกตั้งปลอดจากอิทธิพลหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค นายทุนพรรค ชนชั้นนำในพรรค
ดังนั้นจึงเขียนให้พรรคต้องทำกระบวนการไพรมารีโหวตระดับเขตเลือกตั้ง เท่ากับว่าเราจะมีการทำไพรมารีโหวต 350 เขตเลือกตั้ง หากพรรคนั้นๆ ต้องการส่งผู้ลงสมัครครบทุกเขต และหมายความว่าสมาชิกพรรคที่พรรคการเมืองนั้นต้องหา คือเขตเลือกตั้งละ 100 คนขึ้นไป รวมเป็น 35,000 คนทั่วประเทศ
โดยประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรคในทุกเขตเลือกตั้งจะมีอำนาจออกเสียงชี้ว่า อยากให้พรรคการเมืองส่งใครมาเป็นผู้สมัครให้ประชาชนทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ได้เลือก
ผลของความหวังดีนี้ จะทำให้แคนดิเดตที่อยากลงแข่งในสนาม ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคก่อน ไม่ใช่ไปเกาะโต๊ะผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อให้ส่งตนเองลงสมัครแข่งที่ตัวเองอยากลง
แต่ คสช. กลับออกคำสั่งให้ยกเว้น แล้วบอกว่าการเลือกตั้งครั้งแรกให้ทำไพรมารีโหวตระดับจังหวัดก็พอ เท่ากับว่าแค่พรรคการเมืองเอาสมาชิกพรรคจากเขตเลือกตั้งเพียงเขตเลือกตั้งเดียวมาเพียง 100 คน ประชุมหยั่งเสียงกัน ก็สามารถแสดงเจตจำนงแทนสมาชิกพรรคได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งนี่เป็นคำสั่งที่ออกมาก่อนการเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ
แต่หลังเปิดตัว คสช. ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13 /2561 มาทำลายการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคอีกหน เพราะคราวนี้ถึงขั้นยกเลิกไม่บังคับทำไพรมารีโหวต ผลคือแค่มีคณะกรรมการสรรหา 11 คน ก็จะเป็นผู้ชี้ขาดได้ว่าเขตเลือกตั้งไหนจะส่งใครลงสนาม
เมื่อกติกาเพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคถูกคำสั่ง คสช. กลบฝังมิด ความหวังว่าจะปฏิรูปการเมืองคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้หวังลงสนามเลือกตั้งก็จะไม่ต้องเคารพเสียงประชาชน แค่เกาะโต๊ะคณะกรรมการสรรหา 11 คนก็พอ แต่พรรคก็ยังมีหน้าที่ต้องหาสมาชิกให้ได้จำนวนตามที่กฎหมายกำหนดอยู่ดี
7. เดินหาสมาชิกได้ แต่ห้ามชี้แจงนโยบาย
ปกติแล้วพรรคการเมืองหาเสียงได้ทุกเวลา แต่เพราะคำสั่ง คสช. ที่ 57 /2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทำให้การหาเสียง การนำเสนอนโยบาย ถูกเหมารวมไปด้วย
ขณะที่คำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 มีรายละเอียดให้พรรคการเมืองทำอะไรได้บ้าง เกินกว่านั้นคือ ‘ห้ามทำ’ โดยเฉพาะอะไรที่เข้าข่ายเป็นกิจกรรมทางการเมือง
ดังนั้น การนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกสมัครพรรคไหนก็ทำได้ยาก
ต้องไม่ลืมว่าครั้งนี้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกเพื่อเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำจังหวัดละ 100 คน เพื่อที่จะให้มีตัวแทนจังหวัดในจังหวัดนั้นๆ ก่อน ถึงจะสามารถส่งผู้สมัครลงแข่งขันในทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดนั้นๆ ได้
เท่ากับว่าพรรคไหนมุ่งจะส่งทุกเขตต้องหาสมาชิก 7,700 คน แล้วจะให้ประชาชนมาสมัครสังกัดพรรค ทั้งๆ ที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่าพรรคนั้นจะมีนโยบายอะไรกินใจ มาแก้ปัญหาสารพัดของแต่ละคนได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้งในระบบปกติทั่วไป
ในศึกแย่งชิงประชาชนเป็นสมาชิก พรรคก็ต้องหาจุดเด่น แล้วถ้าจุดเด่นที่จะให้ประชาชนได้ตัดสินใจสมัครสมาชิก ไม่ใช่นโยบาย แล้ว คสช. จะให้พรรคจูงใจให้ประชาชนสมัครสมาชิกด้วยอะไร นั่นคือบรรยากาศในห้วงก่อนการ ‘ปลดล็อกทางการเมือง’ ที่ดูผิดฝั่งผิดฝาอย่างยิ่ง
ทั้งหมดนี้คือ 7 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยปีนี้ และจะส่งผลไปสู่การเลือกตั้งปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากกติกาใหม่ ที่ทำให้พรรคการเมืองต่างต้องพยายามหาทางหนีทีไล่ใหม่ๆ ส่วนประชาชนก็ต้องทำความเข้าใจ และรู้เท่าทันกลเกมการเมืองแบบใหม่ๆ ซึ่งสุดท้ายจะได้เห็นโฉมหน้าทางการเมืองใหม่ๆ หรือไม่ คงต้องไปรอลุ้นกันตอนเลือกตั้งอีกครั้ง
ฉากใหม่ในการเมืองแบบเก่า ที่มี ม.44 ควบคุม
หลายทศวรรษที่ผ่านมาคนไทยคงคุ้นชินกับสองคำนี้ คือ ‘ปฏิรูป’ และ ‘ปรองดอง’ ด้วยมีความพยายามจากทุกขั้วที่จะหยิบฉวยสองคำนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด แน่นอนว่าโดยเนื้อความของการอธิบายล้วนต้องการให้ประเทศ ‘เดินหน้า’ ไปในทิศทางที่ดี แต่ยุทธวิธีและรายละเอียดการแสวงหาความร่วมมือและความชอบธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิสูจน์ว่าจะได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มอย่างไร แม้แต่ในรัฐบาลนี้เช่นเดียวกัน ที่สุดท้ายทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะแผ่วเบาลง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ประโคมอย่างหนัก เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง
การเข้ามาควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลที่แล้ว ดูเหมือนว่าจะพยายามชี้ให้เห็น ‘ข้อเสีย’ ของนักการเมือง ที่เป็นเพียงนักเลือกตั้งที่มุ่งหวังแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ให้ตัวเองมากกว่าประชาชน เป็นประหนึ่ง ‘น้ำเสีย’ ที่ไม่อาจไหลรวมสายธารของแม่น้ำทั้ง 5 สายได้
แต่แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องการกระชับอำนาจ และตามที่หลายฝ่ายมองว่าต้องการทอดอำนาจตัวเองออกไป นักการเมืองเหล่านั้นกลับกลายเป็น ‘ผู้เล่น’ ที่ได้รับการดึงดูดเข้าร่วมงาน ภายใต้ปีกของ 4 รัฐมนตรีที่มาจากแม่น้ำสาขาหลักของ คสช. รวมทั้งดาบอาญาสิทธิ์ ที่เรียกว่า ‘มาตรา 44’ คอยกำกับจังหวะขยับของทุกคนอยู่ได้
เงื่อนไขกติกาของการปกครองประเทศ และการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเป็นเรื่องใหม่หลายอย่าง อย่างน้อยๆ ก็ 7 ข้อที่ THE STANDARD ได้นำเสนอ ทั้งหมดนั้นอธิบายความหมายของคำว่าสิ่งใหม่ในกลเกมแบบเก่า ผู้เล่นเดิมๆ และยุทธวิธีทางการเมืองแบบเก่าๆ ที่หลายคนบอกว่าหวนคืนกลับมาอย่างเข้มข้น
มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะเลือกกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศนี้ เพราะอำนาจอันทรงพลังนั้นอยู่ในมือของ ‘ประชาชนทุกคน’ นั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.tcijthai.com/news/2018/3/scoop/7808
- www.tcijthai.com/news/2018/3/watch/7809
- gmlive.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%8710%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99
- www.it24hrs.com/2012/infographic-thailand-twitter-stats-2011
- thestandard.co/attasit-pankaew-interview
- thestandard.co/political-party-nominee
- www.khaosod.co.th/politics/news_1779700