วันเลือกตั้ง

2019 ปีที่ต้องจับตากฎหมายหลายฉบับ มรดกตกทอดจาก คสช. เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ สนช.

28.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ชี้ว่า คำสั่ง คสช. ที่ถูกปลดล็อกเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งไม่ได้ถูกยกเลิกทั้งฉบับ บางข้อที่เหลืออยู่ เป็นไปได้ที่ คสช. คิดไว้แล้วว่าตั้งใจจะเอามาใช้ต่อไปในช่วงเลือกตั้ง
  • ช่วงที่ทุกสายตาในสังคมจับจ้องไปที่การเลือกตั้ง ยิ่งต้องจับตาว่า สนช. จะฉวยโอกาสผลักดันร่างกฎหมายแย่ๆ ที่เดิมทีมีกระแสต่อต้านจากสังคมสูงออกมาหรือไม่ โดยเฉพาะเนื้อหาของกฎหมาย 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิประชาชน

 

 

ช่วงเวลานี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้องค์กรนิติบัญญัติที่ชื่อว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนานนับ 5 ปี

 

ที่ผ่านมามีการออกกฎหมายจำนวนมากโดยไม่ได้พิจารณาให้ละเอียด ซึ่งหลายฉบับต้องตามมาแก้ไขด้วยการใช้มาตรา 44

 

ขณะที่กฎหมายหลายฉบับที่ควรได้รับความเห็นชอบ เพราะสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนหรือเพิ่มความเท่าเทียมกลับถูกดองไว้ แต่ทว่าช่วงนี้กลับถูกเร่งพิจารณาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จึงเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่จะต้องร่วมจับตากัน

 

THE STANDARD พูดคุยกับ ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ จาก iLaw ในฐานะผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ถึงปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นและอนาคตของการรับมือ

 

 

ทำไมต้องจับตาการผ่านกฎหมายของ สนช.

ต้องเล่าย้อนสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2550 ช่วงจะหมดวาระ ซึ่งมีการเร่งผ่านกฎหมายหลายสิบฉบับต่อวัน มันไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีใครมาถ่วงดุล โดย 2-3 สัปดาห์สุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง สนช. ชุดนั้น ผ่านร่างกฎหมายไปกว่า 40 ฉบับ เช่น พ.ร.บ. ความมั่นคง ที่ยังใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

 

ดังนั้นเราคิดมาตลอดว่า สนช. ชุดนี้จะเหมือนกันไหม เพราะว่ายิ่ง 2-3 สัปดาห์สุดท้าย ข่าวคราวก็จะโฟกัสไปที่การเลือกตั้ง คนก็จะไม่ได้สนเท่าไรว่าเขาจะผ่านกฎหมายอะไรบ้าง แล้วบางอันหาก สนช. ให้ความเห็นชอบผ่านออกมาจะหน้าตาจะเป็นแบบไหน อย่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ ที่อาจอาศัย 2-3 สัปดาห์สุดท้าย ก็เข้าไป แล้วผ่านก็เป็นไปได้ ซึ่งช่วงนั้นอาจมีกระแสต้านน้อย

 

ด้านกฎหมายอื่นๆ เป็นน่าแปลกดี ที่กฎหมายในด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ก็มาเข้า สนช. ในช่วงท้ายๆ เยอะ อย่างร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ร.บ. ต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งทั้งหมดเป็นกฎหมายที่ทำกันมานาน อย่างเรื่องต้านการทรมาน ทำมาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่ง สนช. อยู่มาจะ 5 ปีแล้ว ทำไมเพิ่งมาทำช่วงนี้ ก็มองได้ 2 อย่าง

 

อย่างแรก เป็นไปได้ที่กฎหมายพวกนี้จะถูกผลักดันผ่านจนเสร็จ แต่เนื้อหาอาจมีปัญหา ทั้งนี้รัฐบาลก็ยังสามารถบอกกับชาวโลกได้อยู่ดีว่ารัฐบาลนี้เห็นอกเห็นใจสิทธิมนุษยชน และก้าวหน้าเพราะโดยชื่อมันดูเหมือนอย่างนั้น แต่สำหรับ NGO ในการรณรงค์จะลำบากเพราะประชาชนเข้าใจว่ากฎหมายมันผ่าน แต่เนื้อหาบางมาตราดูมีปัญหา อธิบายยาก

 

และความเป็นไปได้ที่สอง คือจะเข้า สนช. และได้พิจารณาอยู่สักพักแต่หมดวาระก่อน แล้วเป็นเครื่องมือให้หาเสียงว่าถ้าได้กลับเข้ามาจะผลักดันกฎหมายที่ค้างอยู่ต่อหลังการเลือกตั้ง ก็เป็นเครื่องมือในการค้างไว้เพื่อหาเรื่องกลับมา แต่กลับมาจะทำไหมก็เป็นอีกเรื่อง

 

 

กระบวนการ ช่องทางที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นมันเปิดกว้างจริงไหม

ก็พูดได้ว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แม้ดีไม่มาก คือรัฐธรรมนูญมีมาตรา 77 ที่ทำให้เมื่อจะตรากฎหมาย ต้องเปิดร่างกฎหมายให้เข้าถึงทางเว็บ lawamendment.go.th ซึ่งโอเคว่าสุดท้ายตอนมันผ่าน สนช. อาจหน้าตาเหมือนร่างนี้หรือไม่ก็ได้

 

แต่ก่อนหน้านี้จะดูกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการร่าง เข้าถึงยากมาก แต่พอมีมาตรา 77 ก็ทำให้เขาต้องขึ้นเว็บ ทีนี้ตามระเบียบของ มาตรา 77 ออกมา กลับกำหนดว่าต้องขึ้นเว็บอย่างน้อย 15 วัน แต่คนธรรมดาไม่รู้หรอก ว่าคุณจะขึ้นเว็บวันนี้แล้วให้เวลา 15 วัน แล้วโหลดมา มีเวลาศึกษา 15 วัน จะผลิตข้อเสนอแนะที่มีคุณภาพ เป็นไปได้ยาก

 

ปีหน้ามีการเลือกตั้ง จากนั้นมรดก คสช. อย่างประกาศ คำสั่ง ต่างๆ จะหายไปไหม

ประกาศ คำสั่ง คสช. มีประมาณ 540 ฉบับ ยกเลิกไปบ้างราวๆ 50 ฉบับ และอีกไม่เกิน 20-30 ฉบับ ที่แปลงเป็น พ.ร.บ. โดยมีเนื้อหาเหมือนกัน อีกสักร้อยกว่าฉบับมันสิ้นผลในตัวมันเองไปแล้ว เช่น คำสั่งแต่งตั้งข้าราชการ ส่วนที่เหลืออาจสัก 200-300 ฉบับที่ยังอยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 279 ก็รับรองให้ ประกาศ คำสั่ง คสช. มีผลใช้ตลอดไป จนกว่าจะมีการออก พ.ร.บ. มายกเลิก

 

ตอนนี้คำสั่งห้ามชุมนุม ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม อันนี้ยกเลิกหมดแล้ว แต่อำนาจพิเศษอื่นๆ ก็ยังอยู่ ที่ชัดเจนคือ ที่ให้อำนาจทหารในการบุกค้นบ้าน จับกุมตัวประชาชน เอาไปขังในค่ายได้ 7 วัน อันนี้ก็ยังอยู่

 

 

ก็แสดงว่าหลังเลือกตั้ง ก่อนได้รัฐบาลใหม่ต้องดูว่าจะมีการยกเลิกสิ่งเหล่านี้ไหม

ถ้าดูวาทกรรมของทาง คสช. เขาจะบอกว่าปลดล็อกพรรคการเมืองแล้ว ซึ่งเมื่อ 11 ธันวาคม มีการยกเลิกใน 9 ประเด็น คือยกเลิกบางข้อในแต่ละฉบับ

 

ทีนี้เมื่อดูในแต่ละฉบับ ยังมีอะไรเหลืออยู่ ก็ต้องโฟกัสว่านี่คืออำนาจที่เขาตั้งใจจะใช้ เพราะถ้าเขาไม่คิดจะใช้ คงยกเลิกไปหมดแล้ว  

 

ผมคาดการณ์ ค่อนข้างฟันธงว่าจะใช้ ถ้าไม่ใช้คงยกเลิก อย่างน้อยไปที่บ้าน หรือเอาคนมาค่ายทหารสักคืนสองคืน ก็น่าจะใช้อยู่

 

 

โฟกัสมาที่ประกาศระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะออกมา มีอะไรที่น่าจับตา ให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ก็มีสัก 3 เรื่อง เอาจากที่น่าสนใจน้อยก่อนละกัน หนึ่ง กกต. จะจัดให้ทุกพรรคได้หาเสียงทางทีวีตามหลักเกณฑ์ของตัวเอง ทีนี้ถ้า กกต. ไม่เป็นกลาง แล้วกำหนดหลักเกณฑ์ให้บางพรรคได้เปรียบเสียเปรียบมันก็เป็นไปได้ เช่น วันหนึ่งออก 3 เวลา 6 โมงเช้า เที่ยง 6 โมงเย็น ซึ่ง 6 โมงเช้าคนดูน้อยสุดอยู่แล้ว ใครจะได้ออก 6 โมงเช้า หรือ 6 โมงเย็นล่ะ อันนี้ไม่แน่

 

สองก็คือการติดป้าย คือกฎหมายเลือกตั้งปีนี้กับปี 2550 คล้ายกัน คือขนาด จำนวนป้าย สถานที่ติดป้าย จำกัดได้ แต่มันคงจำกัดในระดับที่รับได้ เขาก็ติดกันเต็มถนน แต่อำนาจการจำกัดสถานที่ มันไม่ได้บอกว่าจะจัดหาอย่างไร เช่น ถ้า กกต. ไปจำกัดว่าห้ามติดริมถนน สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า แล้วจะไปติดที่ไหนได้ มันก็มีแนวโน้มที่จะออกแบบที่เฉพาะเพื่อให้ติดป้ายแล้วป้ายก็อยู่รวมๆ กัน

 

สาม คือการหาเสียงออนไลน์ คำถามก็ตามมาเยอะ เช่น ถ้าสมมุติพรรคเพื่อไทยไม่ได้หาเสียงที่เพจพรรคเพื่อไทย แต่ไปหาเสียงที่เพจสุดารัตน์ หรือคนหนึ่งคน เอามาโพสต์ที่ตัวเอง แต่เขาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย อาจเป็นหรือไม่เป็นสมาชิก มันก็จะยากขึ้นมาก แล้วข้อจำกัดเรื่องเวลา มันก็จะแปลกมาก สมมุติคุณห้ามหลัง 6 โมงเย็นของวันสุดท้าย แล้วสมมุติโพสต์ตอน 4 โมงเย็น แต่คนแชร์ตอน 1 ทุ่มจะได้ไหม แล้วจะซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กได้ไหม ห้ามซื้อโฆษณาทางทีวีแล้วซื้อทางเฟซบุ๊กได้ไหม จำกัดเงินเท่าไร

 

หลังเลือกตั้ง บางพรรคบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางพรรคบอกแก้ไม่ได้ คิดว่าตัวรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนวิกฤตหลังเลือกตั้งไหม

ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดแน่ๆ แต่ไม่ใช่เพราะจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขจะเป็นชนวนหนึ่ง การจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นอยู่กับว่า หนึ่ง คนที่จะแก้นั้นเสนออะไร สอง มี ส.ส. อยู่ในมือแค่ไหน แล้วคุณแตะเรื่องไหน

 

 

iLaw ชวนจับกฎหมาย 4 ฉบับดังต่อไปนี้

1) ร่าง พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิต: ฝันค้างหลายปีของกลุ่ม LGBT ไทย

ระบบจดทะเบียนคู่ชีวิตถูกสร้างขึ้นมาสำหรับคู่รักที่ไม่ใช่คู่รักเพศชายกับเพศหญิงตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพราะมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การสมรสทำได้ระหว่าง ‘ชายและหญิง’ เท่านั้น แต่เมื่อคนสองคนประสงค์จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน การจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตจึงเข้ามาแทนที่เพื่อช่วยให้คู่รักมีสถานะทางกฎหมายรองรับ และสามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน หรือได้รับมรดกของคู่รักอีกฝ่ายได้ หวังแก้ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพย์สินที่คู่รักเพศเดียวกันต้องประสบมาตลอด

 

ร่าง พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิต ฉบับที่เห็นในรัฐบาล คสช. ยังไม่รับรองการมีบุตรร่วมกันของคู่รักที่ไม่ใช่หญิงและชาย จึงไม่ได้กำหนดให้คู่ชีวิตที่จดทะเบียนแล้วมีสิทธิรับบุตรบุญธรรม หรือใช้เทคโนโลยีช่วยมีบุตร (อุ้มบุญ) และเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสอีกหลายฉบับ ยังเขียนให้สิทธิสำหรับ ‘คู่สมรส’ ไว้ ดังนั้นคู่รักที่จดทะเบียนเป็น ‘คู่ชีวิต’ ก็ยังไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ตามมาอย่างครบถ้วน เช่น สิทธิในการตัดสินใจว่าจะรับการรักษาพยาบาลหรือไม่ในกรณีที่อีกคนหนึ่งไม่อยู่ในสภาพที่แสดงเจตนาได้ หรือสิทธิได้รับสวัสดิการในฐานะเดียวกับคู่สมรส ฯลฯ

 

ร่าง พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิต เคยถูกร่างและนำเสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 2556 แต่คณะรัฐมนตรีชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้รับไปเสนอต่ออย่างจริงจัง ในยุครัฐบาลของ คสช. ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายได้น้อย กฎหมายฉบับนี้ถูกหยิบขึ้นมาทำงานต่ออีกครั้งในรายละเอียดแตกต่างไปจากร่างฉบับเดิมบ้าง

 

แต่ที่น่าสนใจคือ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBT จำนวนมากก็ยังไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะเชื่อว่าการรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะครบถ้วนสมบูรณ์ควรต้องใช้วิธีการไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ให้บุคคลสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ โดยไม่จำกัดเพียงแค่ ‘ชายและหญิง’

 

 

2) พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระวัง! จะไม่คุ้มครองถ้าทหารเป็นคนละเมิด

เป็นเรื่องแปลกมากท่ามกลางการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ รวมทั้งผู้มีอำนาจรัฐ สามารถเข้าถึงการติดต่อสื่อสารและใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน เพื่อเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ ไปทำโฆษณา หรือใช้ประโยชน์ทางธุรกิจและทางการเมืองของตัวเองได้ โดยประชาชนไม่มีเครื่องมือจะไปต่อสู้ ประชาชนจึงเรียกร้องมาตรการการดูแลข้อมูลส่วนตัวทั้งหลายมาต่อเนื่องนับสิบปี ร่างกฎหมายหลายฉบับเคยถูกเขียนขึ้นแต่ไม่ค่อยก้าวหน้าเมื่อไปถึงมือของผู้มีอำนาจรัฐ

 

ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถูกเสนอในรัฐบาล คสช. ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2558 พร้อมชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลที่มีเสียงคัดค้านดังหนาหู และถูกดองยาวเอาไว้ จนกลับมาอีกครั้งในเดือนกันยายน 2561 พร้อมหลักการใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้น คือการเก็บข้อมูลใดๆ การนำข้อมูลไปใช้ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ต้องไปรับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนเท่านั้น แต่กลับยกเว้นว่า หลักการนี้ไม่ใช้บังคับกับการเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐเพื่อความมั่นคง ไม่ใช้กับการเปิดเผยข้อมูลของสื่อมวลชน และไม่ใช้กับบริษัทข้อมูลบัตรเครดิต นอกจากนี้การเก็บข้อมูลของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการดำเนินการตามกฎหมายหรือการใช้อำนาจรัฐ ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตด้วย

 

ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้โดย สนช. ด้วยข้อยกเว้นกว้างขวางมากมายเช่นนี้ ก็เท่ากับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยังไม่ถูกคุ้มครองในกรณีสำคัญๆ อยู่ดี เพียงแค่ได้ชื่อว่า ซ้ำร้ายการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลโดยหน่วยงานของรัฐกลับจะมีข้ออ้างว่า ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วเสียด้วย

 

 

3) เสรีกัญชายังไม่จริง! สนช. แค่จ่อขยับไปอีกก้าวหนึ่ง

ข่าวดีช่วงปลายปีสำหรับชาว ‘สายเขียว’ ผู้นิยมใช้กัญชาทั้งในฐานะสิ่งบันเทิงและเพื่อประโยชน์ด้านอื่น คือ สนช. ลงมติผ่าน พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยเนื้อหาหลักเป็นการปลดล็อกให้กัญชาและกระท่อมสามารถเอามาใช้งานได้ในบางกรณี จากเดิมกฎหมายถือว่าเป็นสิ่งเสพติดที่ต้องห้ามเสพ ห้ามครอบครองเด็ดขาด ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังเป็นกระแสโลกที่หลายประเทศแก้ไขกฎหมายไปก่อนแล้ว และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองไม่น้อยด้วย

 

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จะเปิดช่องให้สามารถออกใบอนุญาตเพื่อผลิต นำเข้า และส่งออกได้ ผู้จะขออนุญาตได้ต้องเป็นหน่วยงานราชการ หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เปิดช่องให้สามารถครอบครองและใช้กัญชาและกระท่อมเพื่อรักษาโรคได้ โดยมีใบรับรองแพทย์ และให้คณะกรรมการกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ข้อเสนอครั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดให้ทุกคนสามารถปลูกหรือเสพกัญชาหรือกระท่อมเพื่อความบันเทิงได้อย่างอิสระ หรือยังไม่ได้ผลักดันให้มี ‘เสรีกัญชา’ ได้จริง

 

 

4) พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ลุ้นหนักอีกที่ข้อยกเว้น

หลังความพยายามผลักดันต่อเนื่องหลายปี ประเทศไทยก็ยอมลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) แล้ว ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวสั่งให้ไทยต้องมีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดฐานทรมานจะถูกดำเนินคดีได้เพียงฐานทำร้ายร่างกายเท่านั้น และยังต้องสร้างกลไกการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยให้มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมากฎหมายเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับความสนใจ และยิ่งดูเหมือนจะผลักดันได้ยากในยุครัฐบาลทหาร

 

ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ถูกเสนอเข้าสู่ สนช. วันที่ 20 ธันวาคม 2561 อีกไม่กี่วันก่อนสิ้นปี ข้อเสนอในร่างนี้ได้กำหนดให้การทรมานและการอุ้มหายบุคคลเป็นความผิดเฉพาะขึ้นมา แต่ประเด็นความรับผิดของผู้บังคับบัญชายังกำหนดให้รับผิดต่อเมื่อได้สั่งงานหรือรู้เห็นโดยตรงเท่านั้น ไม่ได้ให้รับผิดเพราะการปล่อยปละละเลย และยังไม่ได้ห้ามการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน

 

สำหรับประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงมายาวนาน และทำให้ร่างกฎหมายนี้เดินหน้าอย่างล่าช้าตลอดมา คือการห้ามส่งกลับผู้ลี้ภัยที่อาจถูกทรมานจากการส่งตัวกลับประเทศ และการกำหนดห้ามทรมานไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ไม่ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินหรือในภาวะสงคราม ซึ่งฝ่ายทหารยังอยากให้เก็บข้อยกเว้นในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ จึงต้องลุ้นต่ออีกว่า เมื่อกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ที่มีสมาชิก 58% เป็นทหาร ข้อยกเว้นจะถูกใส่กลับเข้ามาหรือไม่ และหากการทรมานยังถูกยกเว้นให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีคุณค่าอะไรที่ต้องประกาศใช้อีก

 

ร่างกฎหมายเหล่านี้ โดยหลักการใหญ่แล้วอาจจะเป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพ และเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น แต่ไม่เคยถูกพูดถึงตลอดการทำงานกว่า 4 ปีของ คสช. และ สนช. เมื่อถูกยกมาพูดถึงและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในช่วงท้ายๆ ก่อนที่ สนช. กำลังจะหมดอายุ จึงควรที่จะจับตากระบวนการโค้งสุดท้ายของสภาแห่งนี้ให้ดี ไม่ว่ากฎหมายเหล่านี้จะผ่านการพิจารณาได้ทันเวลาหรือไม่ ก็อาจสะท้อนให้เห็นสาเหตุที่ถูกยื่นเข้า สนช. ในเวลากระชั้นชิด และเห็นแรงจูงใจทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายเหล่านี้ด้วย ซึ่งอาจพิจารณาความเป็นไปได้ออกเป็นสามประการ

 

 

ประการแรก หากกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันให้ผ่าน สนช. และประกาศใช้ได้ทันเวลา โดยยังคงเนื้อหาภายในที่เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็พอจะเป็นผลงานที่ สนช. สามารถนำไปอวดอ้างได้ สามารถใช้สร้างความนิยมให้กับรัฐบาล คสช. ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งได้ และยังเป็นการช่วงชิงเอาเรื่องที่ประชาชนสนใจที่พรรคการเมืองหลายแห่งเตรียมนำเสนอเป็นนโยบายของพรรคมาทำก่อน ทำให้ คสช. ได้เปรียบในสนามการเลือกตั้ง

 

ประการที่สอง หากกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันให้ผ่าน สนช. และประกาศใช้ได้ทันเวลา แต่เนื้อหาภายในเต็มไปด้วยข้อยกเว้นที่เป็นประโยชน์กับภาครัฐเองมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน คสช. ก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเองได้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพยังไม่เกิดขึ้นจริง และเมื่อตัวกฎหมายที่มีชื่อสวยงามประกาศใช้แล้ว การที่ฝ่ายประชาชนจะอธิบายสวนทางว่า สิทธิเสรีภาพยังมีปัญหาอยู่ และยังต้องแก้ไขกฎหมายให้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องยากกว่าการไม่มีกฎหมายออกมาเลย

 

เนื่องจากรัฐบาลของ คสช. มาจากการทำรัฐประหารและมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตานานาชาติ และยังถูกข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยอำนาจทหารอย่างหนักหน่วง การผ่านกฎหมายเหล่านี้จึงเป็นวิธีการที่ทางรัฐบาลของ คสช. สามารถใช้เพื่อตอบคำถามนานาชาติได้ว่า คสช. พยายามออกมาตรการ หรือกฎหมายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะใส่ข้อยกเว้นในรายละเอียดที่ทำให้การคุ้มครองสิทธินั้นไม่เกิดขึ้นจริง หรือแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ไว้ด้วย ซึ่งต่างชาติอาจไม่ได้ทราบรายละเอียดเหล่านี้

 

ประการที่สาม หากกฎหมายเหล่านี้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณา แต่ สนช. ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทันก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองของ คสช. ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงได้ว่า หากพรรคของ คสช. ได้รับการเลือกตั้งกลับมาบริหารประเทศ จะยกกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาต่ออีกครั้ง

 

 

ปีหน้า ประชาชนจะอยู่กับมรดก คสช. กฎหมาย คำสั่งประกาศต่างๆ อย่างไร

เราต้องมีมุมมองต่อกฎหมายแบบใหม่ เราควรจะค่อยๆ ผ่อนปรนความเชื่อ ถ้าใครเชื่อว่ากฎหมายคือความถูกต้อง ใครทำผิดกฎหมายมันต้องผิด มันต้องเลว เราต้องค่อยๆ ผ่อนปรน ต้องเข้าใจว่ากฎหมาย แท้จริงแล้วมันออกมาเพื่อสนองประโยชน์ของคนออกกฎหมายบางช่วงบางเวลาเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายมันก็ไม่ใช่คนชั่วคนเลว มันแค่ทำไม่ถูกต้องตามใจของผู้มีอำนาจในยุคหนึ่งของสังคม

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising