- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดอ่อนตัวลงเล็กน้อย หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงเด่นชัดขึ้น ซึ่งสะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอลงอย่างพร้อมเพรียง
- ตัวเลขเศรษฐกิจยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเดือนมิถุนายนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่, ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมิถุนายนจะชะลอต่อเนื่องหรือไม่, การส่งออกจีนจะหดตัวน้อยลงหรือไม่ รวมถึงความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ใน 1 ปีข้างหน้าของ University of Michigan
- สำหรับประเทศไทย แม้เงินเฟ้อจะลดลงมากแล้ว แต่ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ธปท. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมต้นเดือนสิงหาคมนี้
- ขณะที่หุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยในประเทศ คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้ จึงแนะนำให้ Selective Buy
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดอ่อนตัวลงเล็กน้อยหลังปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงเด่นชัดขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 49.0 ในเดือนมิถุนายน จาก 48.8 ในเดือนพฤษภาคม แต่ยังอยู่ในโซนหดตัว ขณะเดียวกัน กิจกรรมในภาคบริการอ่อนตัวลงเป็น 52.8 จาก 53.8 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่วนดัชนี ISM ภาคการผลิตสหรัฐฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่ 46 จาก 46.9 ในเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีย่อยอื่นๆ ก็ปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการจ้างงาน คำสั่งซื้อ และต้นทุนการผลิต
ด้านประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ก็รุนแรงขึ้นหลังจีนประกาศแบนการส่งออกแร่ธาตุหายากอย่างแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ที่จีนเป็นผู้ผลิตถึงกว่า 70% ของการผลิตโลก ทำให้กระทบต่อการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยแกลเลียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่เจอร์เมเนียมใช้สำหรับการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้อง โดยเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่เตรียมออกมาตรการใหม่เพื่อควบคุมการส่งออกชิปไปจีน
ขณะที่กลุ่มประเทศ OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาการลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม ขณะที่รัสเซียประกาศลดการส่งออก 5 แสนบาร์เรล ทำให้กำลังการผลิตจาก OPEC+ ทั้งหมดลดลง 5.16 ล้านบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
รายงานการประชุม Fed เดือนมิถุนายนส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยกล่าวว่าคณะกรรมการเกือบทั้งหมดเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ยต่อ ขณะที่ตลาดแรงงานยังตึงตัวและเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 2 และ 10 ปีเพิ่มขึ้น โดยผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปีขึ้นถึงระดับ 5% ขณะที่ 10 ปีขึ้นไประดับ 4% ทำให้ภาวะ Inverted Yield Curve รุนแรงต่อเนื่อง
ส่วนตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ออกมาแข็งแกร่งเกินคาดมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 4.97 แสนตำแหน่ง มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.28 แสนตำแหน่ง โดยการจ้างที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ได้แก่ ภาคบริการ เช่น สันทนาการ ก่อสร้าง การค้า การศึกษา ขณะที่ภาคที่หดตัว ได้แก่ ภาคการผลิตและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ชะลอลงต่อ โดยยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ 2.48 แสนตำแหน่ง จาก 2.36 แสนตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) อยู่ที่ 9.8 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน จาก 10.3 ล้านตำแหน่งในเดือนก่อน ขณะที่ ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ 53.9 จุดในเดือนมิถุนายน จาก 50.3 ในเดือนก่อน
เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียง
เรามองว่าตัวเลขเศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงอย่างพร้อมเพรียงมากขึ้น เห็นได้จาก Flash Composite PMI ของประเทศพัฒนาแล้วที่ปรับลดลงแรงขึ้น จากดัชนี PMI ของจีน โดยเฉพาะภาคการผลิตของทางการที่หดตัวต่อเนื่อง และจากดัชนี ISM ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง รวมถึงเงินเฟ้อสหรัฐฯ (Core PCE) และการใช้จ่ายครัวเรือนสหรัฐฯ (Household Spending) ชะลอตัวลง
ภาพต่างๆ บ่งชี้ว่าการชะลอตัวจากภาคการผลิตกำลังเข้าสู่ภาคบริการ นโยบายการเงินที่ตึงตัว นำไปสู่สภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น และเริ่มกดดันภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับเงินออมส่วนเกินกำลังจะหมดลง และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากภาคการผลิต ที่จะเริ่มชะลอตัวลงตามราคาโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อจากจีนที่หดตัว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายการเงินที่จะยังตึงตัวเพื่อกดดันความคาดหวังเงินเฟ้อ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะประเด็นสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะมีต่อเนื่อง และความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ภาคธุรกิจที่มีมากขึ้นจากรายได้ที่ลดลงตามเศรษฐกิจ ขณะที่รายจ่ายจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะต่อไป
โดยยังคงต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประกอบด้วย
- ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเดือนมิถุนายนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ (ตลาดคาด 0.5% เดือนพฤษภาคม 0.2%)
- ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมิถุนายนจะชะลอต่อเนื่องหรือไม่ (ตลาดคาด 3.6% เราคาด 3.8%)
- การส่งออกจีนจะหดตัวน้อยลงหรือไม่ (ตลาดคาด -3.1% เดือนพฤษภาคม -7.5%)
- ความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ใน 1 ปีข้างหน้าของ University of Michigan (ตลาดคาด 3.1% เดือนพฤษภาคม 3.3%)
ในส่วนของไทย เงินเฟ้อปรับลดลงมาก ทำให้เรายังคงมุมมองว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว ทำให้ราคาพลังงานและอาหารลดลง โดยเรามองว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 1.5% อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า ธปท. พร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมวันที่ 2 สิงหาคม แม้เงินเฟ้อจะต่ำมาก เนื่องจาก ธปท. หันมาให้ความสำคัญกับหนี้ครัวเรือนที่ขึ้นสูงถึง 90.6% ต่อ GDP แทน
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นที่คาดผลการดำเนินงาน 2Q66 จะยังเติบโตได้ดี YoY เลือก AOT, BBL, ADVANC, MINT, OSP, BDMS, BEM
- หุ้นพื้นฐานดีซึ่งคาดยังมีศักยภาพจ่ายเงินปันผลสูง โดยคาดให้ Div. Yield ปี 2023 มากกว่าปีละ 5% เลือก TISCO, LH, AP
- นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แนะนำซื้อเก็งกำไรหาก SET ปรับลงมาแถว 1,450 จุด สำหรับหุ้นที่คาดมีโอกาสฟื้นตัวหลังราคาปรับลงลึกจนซื้อขายด้วย PER และ PBV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -1SD เลือก CRC, GULF, SCGP
ขณะที่ช่วงสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน
- หุ้นกลุ่มอาหาร (TU, CPF, GFPT, BTG) หลังมองมีโอกาสที่ตลาดจะปรับลดคาดการณ์กำไรลงหลังประกาศงบ 2Q66 ซึ่งคาดภาพรวมอ่อนทั้ง YoY และ QoQ
- หุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญจากกำลังซื้อภาคเกษตรที่ลดลง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL), กลุ่มสินเชื่อ (MTC, SAWAD) กลุ่มยานยนต์ (SAT, STANLY) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG มีต้นทุนน้ำตาลสูง) กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (CKP) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF, GFPT)
- หุ้นเทคโนโลยี (DELTA, HANA, KCE) จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน อีกทั้งผลการดำเนินงาน 2Q66 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
“มอง SET มีโอกาสได้รับแรงกดดันจาก Beige Book ของ Fed ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มของกิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว อีกทั้งเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และอังกฤษที่ปรับตัวลงค่อนข้างช้า ขณะที่ในประเทศรอติดตามความคืบหน้าผลการโหวตนายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำให้ตั้งรับและ Selective Buy”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม
- ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ และจีนในเดือนมิถุนายน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ADVANC - การแข่งขันและกำไรดูดีขึ้น
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในไทย มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในด้านจำนวนผู้ใช้บริการสูง 45% อีกทั้งยังมีจำนวนคลื่นในมือมากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพและผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ดีในระยะยาว
- มองภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือในไทยยังคงมีสัญญาณดูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 2Q23 คาดกำไรจะเติบโต QoQ และ YoY จากการฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจมือถือและ Fixed Broadband (FBB) รวมถึงการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการตลาด
- ปี 2023 มองเป็นปีแห่งการฟื้นตัว โดยคาดมีกำไรปกติ 2.74 หมื่นล้านบาท กลับมาโต 5.1%YoY จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวซึ่งจะหนุนรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ ซึ่งคิดเป็น 3-5% ของรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
- เป็นหุ้นปลอดภัยภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยราคาหุ้น ADVANC ปรับขึ้น 10.8%YTD ดีกว่า SET ที่ปรับลง 9.6%YTD อีกทั้งมองมี Upside Risk ในเรื่องการปรับลดค่าเช่า JASIF ซึ่งจะลดแรงกดดันในเรื่องผลประกอบการระยะสั้นภายหลังการเข้าซื้อกิจการ
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 225 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 7.83 บาท โดยคาดจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหลังงบ 2Q23 อยู่ที่ราวหุ้นละ 3.5 บาท
สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุน
ผลการประชุม Fed ครั้งล่าสุดตอกย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบ จนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวอยู่ในระดับที่ Fed เห็นว่าเหมาะสม ทำให้ตลาดมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะขึ้นอีกครั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคมค่อนข้างแน่นอนแล้ว ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นจึงมีโอกาสปรับฐานเพื่อรับความเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนี้ สภาพคล่องในเดือนกรกฎาคมจะหายไปจากเศรษฐกิจมากขึ้น ตามปริมาณการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นของกระทรวงการคลัง ด้านยุโรปยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม และนโยบายการเงินตึงตัวที่กดดันอุปสงค์ไปตลอดปี 2023 นี้ แต่มียังพอมีข่าวดีจากทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงเร็วกว่าที่คาด ช่วยลดแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB
ภูมิภาคเอเชียและจีนชะลอลงเช่นกัน หลังการเปิดเมืองของจีนกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายสินค้าได้เพียงระยะสั้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระยะถัดไปทำให้ภาคครัวเรือนไม่กล้าใช้จ่าย ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังขาดความมั่นใจที่จะลงทุนเพิ่ม จึงเริ่มเห็นมาตรการจากภาครัฐออกมาเพิ่มเติม เช่น การขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการลดดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้น เรามองว่าภาพการฟื้นตัวของตลาดจีนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเกิดจากพื้นฐานภายในประเทศเป็นหลักควบคู่กับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเมื่อเห็นเศรษฐกิจแสดงสัญญาณที่แย่ลงกว่าเดิม จุดแข็งเดิมของจีนคือ Valuation ที่ถูกกว่าตลาดอื่น รอเพียงการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เด่นชัดและเม็ดเงินลงทุนที่หมุนกลับเข้าตลาดจีนเท่านั้น
ด้านตราสารทางเลือก เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์/REIT ประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อ REIT ไทยและอาเซียน ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนะนำให้ถือลงทุนทองคำในพอร์ตเพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีโอกาสให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย (อาจถูกปรับขึ้นเพิ่ม และคาดว่าจะไม่รีบปรับลด) มากขึ้น โดยที่เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจด้านต่ำใน DMs แม้ว่าความวิตกแผ่วลงไปบ้าง ทั้งนี้ ได้แรงส่งจากภาคบริการและการเปิดเมืองของจีนและเอเชีย ซึ่งค่อนข้างแย่กว่าคาด
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
UST Yields ใน 6-12 เดือน มีโอกาสลงมากกว่าขึ้น จากเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง Fed ใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ย และ Recession Risks ที่ยังคงมีอยู่ แต่มี Upside Risks จากเงินเฟ้อพื้นฐานหนืด Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มและไม่รีบลด และ Recession Risks ที่แผ่วลง / TH Bonds เผชิญต่างชาติ Net Buy แต่ถูกกดดันจากที่ 10Y UST ขึ้นถึง 4%
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
US IG หนุนด้วยงบดุลที่ดี และ UST Yields ที่มีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่าขึ้น แต่มี Upside Risks จากที่ Fed มีท่าทีขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มและไม่รีบลด รวมทั้ง จำนวนบริษัทล้มละลายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัย ทั้งนี้ High Grade อย่าง AA ขึ้นไป ค่อนข้าง Resilient ในช่วงเศรษฐกิจแย่ / ด้าน TH IG Spreads ค่อนข้างทรงตัว
US HY มีความเสี่ยง Spread Widening มากกว่า IG อย่างชัดเจน เหตุจาก Recession Risks ที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น จนใกล้เคียงระดับในช่วงเผชิญ Recessions ในอดีต อีกทั้ง จำนวนบริษัทยื่นล้มละลายสูงขึ้นชัดเจน ทั้งนี้ ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยยังดีกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่แผ่วลง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจาก ภาคผลิตหดตัว สินเชื่อตึงตัว Earnings หดตัว และ Fed มีท่าทีขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มและไม่รีบลด อย่างไรก็ดี การจ้างงานและผู้บริโภคที่แข็งแรง ภาคบริการฟื้นตัว และ EPS มีท่าที Bottom Out / Mega-Cap Tech หนุนด้วย EPS ที่ดีกว่าคาด และ AI Trend แต่ Valuations แพงขึ้น ทำให้ลดสัดส่วนได้บ้าง
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
Bond Yield เยอรมนี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม ECB ที่ยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนนี้ พร้อมเร่งทำ QT บน APP ขณะที่ Bond Yield อังกฤษ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ BOE นอกจากนี้ โมเมนตัมเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มแผ่วลงต่อจะเพิ่มความเสี่ยงขาลงต่อ EPS ใน 2Q23
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 2
ตลาดฯ เสี่ยงเผชิญแรงขายทำกำไร ขณะที่โมเมนตัมเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อ EPS ญี่ปุ่น ประกอบกับ มีโอกาสที่ BOJ จะปรับ YCC ในเดือนนี้ และอาจเป็นไปได้ที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งจะกดดันให้เงินเยนชะลอการอ่อนค่าเทียบดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มจะส่งสัญญาณผ่อนคลายมากขึ้นในการประชุม Politburo ปลายเดือนนี้ ซึ่งอาจรวมถึงการลด RRR ลงในช่วงครึ่งหลังปี ขณะที่ EPS บจ.จีน ยังมีแนวโน้มถูกปรับเพิ่มขึ้น แม้ความเสี่ยงหนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนจะยังน่ากังวลก็ตาม
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีน จาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ Valuation ที่ยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการกีดกันเทคโนโลยี และเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนค่า อาจสร้างความผันผวนและจำกัดการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
นักลงทุนต่างชาติ ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง ในขณะที่นักลงทุนรอดูผลการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ส่งผลให้ดัชนีฯ ยังคงมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ดี คาดการณ์ GDP ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคในช่วงครึ่งปีหลังจะทำให้ EPS น่าจะขยายตัวได้ดีใน 2H23
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 2
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว อย่างไรก็ดี แม้ตลาดปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่การที่เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับตลาดอสังหาที่ยังคงมีความเสี่ยง ทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 2Q23 มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนจะลดลงสู่กรอบที่ตั้งไว้ แต่ธนาคารกลางฯ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75% เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน ทำให้การฟื้นตัวการบริโภคภายในประเทศยังไม่ชัดเจน โดยต้องติดตามการบริโภคใน 2H23 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2024 รวมทั้งแนวโน้มของ FDI ที่กำลังรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ได้แรงหนุนจากที่ USD มีโอกาสอ่อนค่ามากกว่าแข็งค่า และ US (Real) Bond Yields ที่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำเผชิญอุปสรรคจากที่ Fed มีท่าทีขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มและไม่รีบลด และตลาดทยอยรับรู้และปรับมุมมองตาม Fed ซึ่งนับเป็นแรงต้านต่อทั้ง Real Yields ขาลง และ USD ด้านอ่อนค่า
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
อุปสงค์โลกเป็นตัวแปรสำคัญที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งค่อนข้างหดตัวในภาคผลิต แต่ขยายตัวต่อเนื่องในภาคบริการ นอกจากนี้ อุปสงค์โลกเป็นขาลงใน DMs ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจกลับออกมาดีกว่าคาดในสหรัฐฯ ท่ามกลางการฟื้นตัวในจีนและเอเชีย ซึ่งยังไม่ทั่วถึงและแย่กว่าคาด นับเป็นอุปสรรคต่อทั้งราคาพลังงานและอุตสาหกรรม
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 2
ถูกกดดันจากกลุ่ม Office จาก Hybrid Working, Occupancy Rate ลด, Vacancy Rate เพิ่ม และ Delinquency Rate เพิ่ม อีกทั้งสินเชื่อ CRE ตึงตัว, เศรษฐกิจขาลงแต่ดอกเบี้ยสูง ซึ่ง Fed มีท่าทีปรับเพิ่มขึ้นและไม่รีบลด นับเป็นการเพิ่ม Refinancing Risks อย่างไรก็ดี Net Operating Income ของกลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
หนุนด้วยเศรษฐกิจและท่องเที่ยวฟื้นตัว, REIT-Govt Yield Spreads สูง, Valuation ถูก และ Data Storage (ใน SG) อีกทั้งกลุ่ม Office ที่แย่ในสหรัฐฯ แต่ทรงตัวในเอเชีย ทั้งนี้ Bond Yields มี Upside Risks ภายนอก (Fed กลับมาเข้มงวด) ขณะที่ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชะลอลงใน SG และ Sentiment การเมืองอาจส่งผลกระทบใน TH
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate; สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2023