- แลนด์บริดจ์โครงการมหากาพย์ของไทย นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตั้งแต่ปี 2528 วางเป้าหมายร่นระยะทางข้ามทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ให้เป็นที่ตั้งศูนย์ธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จ้างงานในภูมิภาค
- หลายรัฐบาลพยายามปัดฝุ่นโครงการ แม้แต่ญี่ปุ่นที่ให้เงินทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมไปถึงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยยกให้ดูไบเวิลด์ไปศึกษาก็ไม่สำเร็จ กระทั่งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำโครงการนี้มาบรรจุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
- ภาครัฐต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ทุกมิติ ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จนอกจากเป็นประตูเชื่อมการค้าโลก ยังช่วยเพิ่ม GDP ไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง 10% อย่างน้อย 10 ปี
- แลนด์บริดจ์ แม่เหล็กดึงดูดนักลงทุน หลังเศรษฐาจีบทุนจีน ‘CHEC’ และซาอุดีอาระเบีย
แลนด์บริดจ์สำคัญกับคนไทยอย่างไร พื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงไหน ? THE STANDARD WEALTH ชวนหาคำตอบ
ที่ไปที่มา ‘แลนด์บริดจ์’
‘แลนด์บริดจ์’ เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นในหลายรัฐบาล เรียกได้ว่าเป็นโครงการมหากาพย์ของไทย นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตั้งแต่ปี 2528
ในขณะนั้นก็วางเป้าหมายไว้ว่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า ช่วยร่นระยะทางข้ามทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ให้เป็นที่ตั้งศูนย์กลางด้านธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเพิ่มอัตราการจ้างงานในภูมิภาค
ทว่า การสร้างแลนด์บริดจ์ ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมหาศาล บวกกับศึกษาความคุ้มค่าที่ต้องแลกด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นในอดีตที่ผ่านมา แลนด์บริดจ์จึงเป็นเพียงภาพฝันที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปในหลายรัฐบาล
เริ่มมาตั้งแต่ 2536 ญี่ปุ่นให้ทุนสนับสนุนในการศึกษาความเป็นไปได้ ต่อมารัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ยกโครงการแลนด์บริดจ์ให้บริษัทดูไบเวิลด์ไปศึกษา จนมาถึงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลุกโครงการขึ้นมาอีกครั้งและนำโครงการนี้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ณ ปัจจุบัน แลนด์บริดจ์ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้ากระทรวงคมนาคมในรัฐบาลเศรษฐา ประกาศพร้อมลุยโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ มูลค่า 1 ล้านล้าน โดยจะเปิดทางให้เอกชนลงทุน 100%
และล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อนุมัติให้เร่งศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ และเดินหน้าดึงนักลงทุนจากจีน โดยบริษัท CHEC ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน ดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนาน ภายใต้ชื่อจดทะเบียนบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) รวมไปถึงนักลงทุนซาอุดีอาระเบีย
“ฝันให้ใหญ่ไว้ก่อนว่า โครงการนี้จะสามารถเปิดบริการเฟสแรกภายในปี 2573 หรือในระยะเวลา 8 ปี”
‘แลนด์บริดจ์’ อยู่ตรงไหน
‘แลนด์บริดจ์’ เป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเลคือ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร
ได้แก่ ทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 2 ทาง เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกับ ‘คลองไทย’ ที่ต้องการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า ลดทั้งระยะทาง เวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ที่ไม่ใช่แค่ทางผ่านหรือทางลัดอย่างเดียว
ซึ่งหากดูภาพให้เข้าใจโดยง่าย คือการสร้างท่าเรือจากจังหวัดระนอง ซึ่งเป็น ‘ฝั่งทะเลอันดามัน’ กับท่าเรือจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็น ‘ฝั่งอ่าวไทย’ เข้าด้วยกัน
ด้วยปัจจุบันการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดียต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง ซึ่งจากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบ มะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำต่อปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ เกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี
ดังนั้น ประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน มีชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทร 2 ด้านทั้งฝั่งอ่าวไทย อันดามัน ส่วนตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความได้เปรียบทางที่ตั้งและภูมิศาสตร์
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์ ภายใต้โครงการนี้จะประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง และระบบท่อส่งนำ้มัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า มูลค่าการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
มีแล้วคนไทยได้ประโยชน์อะไร?
รัฐบาลประเมินว่า หากโครงการแล้วเสร็จ
- สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโต และหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594
- รองรับการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือระนอง จำนวน 20.36 ล้านทีอียู และท่าเรือชุมพร จำนวน 19.47 ล้านทีอียู
- ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี
- สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เกือบ 5 แสนล้านบาท สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับชุมชน
- เป็นจุดขนส่งสินค้าระหว่างสหภาพยุโรป ตะวันออก อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม จีน โดยลูกค้าหลักจะเป็นเรือสินค้าฟีดเดอร์ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน
“หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะลดเวลาการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศที่มีเส้นทางจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ผ่านอ่าวไทยไปอันดามัน เข้าสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ได้ประมาณ 2 วันครึ่ง เมื่อเทียบกับการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาอีกด้วย”
มากไปกว่านั้น แลนด์บริดจ์จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการลงทุนของ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและอาหาร ชีวภาพ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชื่อมเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ในอีกฝั่งเช่นกัน
มูลค่าลงทุน 1 ล้านล้านบาท เปิดทางต่างชาติลงทุน 100%
สำหรับมูลค่าการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ โดยจะใช้เวลา 8 ปี มีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนองเป็นพี้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ
- ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท
- ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท
- ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท
- ระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท
ส่วนรูปแบบการลงทุน เบื้องต้นจะเป็นการประมูลรวมทุกแพ็กเกจที่รวมทั้งท่าเรือน้ำลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ โดยใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding ที่ให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศเป็นผู้ลงทุน 100%
ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลย้ำว่า โครงการนี้ไม่ได้ต้องการสร้างท่าเรือเพื่อมาแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ แต่ต้องการช่วยระบายเรือที่ต้องการเข้ามาขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นประตูการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ
ลุ้น ‘CHEC’ บิ๊กคอร์ปคมนาคมเอเชีย
ในการเดินทางเยือนจีนของเศรษฐา ได้หารือกับ หวังถงโจว ประธาน บริษัท CHEC ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคเบอร์ 1 ของจีนและเอเชีย ชวนลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ และตั้ง Regional Office ในไทย
โดย CHEC เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนาน ภายใต้ชื่อจดทะเบียนบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2537 มีการลงทุนจากบริษัทฯ ในไทย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง จนถึงเฟส 3 ดังนั้น One Belt One Road หรือ BRI จะเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือเข้าสู่มิติใหม่ รวมไปถึงนักลงทุนซาอุดีอาระเบีย ต่างสนใจที่จะเข้ามาลงทุน
ใครได้ใครเสีย
เนื่องจากแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้วงเงินลงทุนสูง และต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษที่แตกต่างจากการลงทุนทั่วไป ในแง่ของการลงทุนจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล
ขณะเดียวกันในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน เพราะโครงการนี้ประกอบด้วยหลายโครงการย่อย ทั้งท่าเรือ ถนน รถไฟ ท่อน้ำมัน และอุตสาหกรรม หลีกเลี่ยงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EHIA) โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน ไปแล้วหลายต่อหลายครั้งก็ตาม
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าอภิมหาโปรเจกต์นี้รัฐบาลเศรษฐาจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่
อ้างอิง: