THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

เงินเฟ้อลดความร้อนแรง หลังศึก ‘ทะเลแดง’ ไม่กระตุ้นราคาน้ำมัน

... • 18 มี.ค. 2024

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากผลประกอบการบิ๊กคอร์ปที่ออกมาดี
  • ตลาดหุ้น EM ปรับตัวขึ้นดีกว่าตลาด DM เนื่องจากตลาดหุ้นปลุกความคาดหวังตลาดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
  • เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดความร้อนแรงลง บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เชื่อว่าความขัดแย้งในทะเลแดงไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น 
  • ขณะที่อัตราว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.9% จาก 3.4% เมื่อต้นปี 2023 และเงินเฟ้อ Core PCE ที่ลดลงจาก 4.9% สู่ 2.8% ในช่วงเดียวกัน บ่งชี้ว่า Fed น่าจะสามารถลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนตามคาด

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ปัจจัยบวกยังหนุนจากผลประกอบการของหุ้น Oracle ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด สะท้อนภาพบวกต่อเนื่องไปยังธุรกิจ AI ขณะที่ปัจจัยกดดันมาจากตัวเลขเงินเฟ้อทั้งฝั่งผู้บริโภคและฝั่งผู้ผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด รวมไปถึงตัวเลขการว่างงานที่ยังสะท้อนตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นสู่ 4.29% นำไปสู่การขายทำกำไรในช่วงท้ายสัปดาห์ จากความกังวลความเป็นไปได้ของการลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ซึ่งล่าสุดตลาดยังให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนที่ 60% ลดลงจากก่อนประกาศตัวเลข CPI ที่ระดับสูงกว่า 70% 

 

ด้านตลาด EM ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่า นำโดยหุ้นจีนจากความคาดหวังนโยบายหลังการประชุม 2 สภา และตัวเลขเงินเฟ้อที่ฟื้นตัว เป็นผลจากการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีน สะท้อนจากเงินเฟ้อในภาคบริการ โดยเฉพาะในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสันทนาการที่เพิ่มขึ้นที่ 23% 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นจีน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้ปัจจัยหนุนจากการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซียจากโดรนของยูเครน และการปรับคาดการณ์อุปสงค์เพิ่มขึ้น โดย IEA พร้อมปรับลดคาดการณ์อุปทานจากการควบคุมการผลิตของกลุ่ม OPEC+

 

คาด ‘เงินเฟ้อ’ ลดความร้อนแรง 

 

ในประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เราวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยหากพิจารณาจากองค์ประกอบเงินเฟ้อ จะพบว่าเงินเฟ้อที่ 3.2% (เท่ากับที่เราคาด) นั้นเป็นผลจากองค์ประกอบด้านราคาอาหารและการเดินทางที่ 0.76% (pp.) เพิ่มขึ้นจาก 0.64% ในเดือนก่อน ขณะที่ด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านลดลงจาก 2.11% สู่ 2.05% 

 

ขณะที่องค์ประกอบด้านค่าจ้างและอื่นๆ ทรงตัวที่ 0.36% ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นที่ 3.5 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เมื่อเทียบกับต้นปีที่ 3.2 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นหลังจากความไม่สงบในทะเลแดงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่าสถานการณ์ในทะเลแดงไม่รุนแรงมากนัก จึงไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจนมีผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญในระยะถัดไป 

 

ในส่วนของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นมากกว่าคาดที่ 2.75 แสนตำแหน่งนั้น เรามองว่าการจัดเก็บข้อมูลของทางการสหรัฐฯ อาจมีปัญหา เนื่องจากมีการ Revise ตัวเลขเก่าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.9% จาก 3.4% เมื่อต้นปี 2023 พร้อมกับเงินเฟ้อ Core PCE ที่ลดลงจาก 4.9% สู่ 2.8% ในช่วงเดียวกันนั้น บ่งชี้ว่า Fed น่าจะสามารถลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนตามคาด

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นเก็งกำไรจากราคาหุ้น Laggard, มีแนวโน้มจ่ายปันผลดีและให้ Div. Payout Ratio เพิ่มขึ้น และมีโอกาสซื้อขายด้วย PER Multiple สูงขึ้น เลือกกลุ่มแบงก์ (BBL, KBANK) กลุ่มอสังหา (AP) กลุ่มสื่อสาร (ADVANC)

2. หุ้นเก็งกำไรเชิงเทคนิคหลังราคาหุ้น Breakout Downtrend และเริ่มเห็น NVDR พลิกกลับมา Net Buy ในเดือนมีนาคม เลือก IVL, GULF, BDMS

3. หุ้นเก็งกำไรจากคาดได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการผลิต (โดยเฉพาะจีน) และผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับ Top Pick 2Q24 เลือก AOT, GFPT, GULF, KCE และ SCGP

4. นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC

 

“ช่วงสั้นมองตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องและลุ้นกลับมายืนเหนือ 1,400 จุด โดยในประเทศจะมีความคาดหวังต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเร่งตัวขึ้น ขณะที่ต่างประเทศคาดว่าการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และยังคงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประชุมนโยบายการเงินของ BOJ (19 มีนาคม), Fed (20-21 มีนาคม) และ BOE (21 มีนาคม) เพื่อหาทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป

 

2. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่สำคัญ เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, ยอดค้าปลีก, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของธนาคาร (LPR) ของจีน 1 ปีและ 5 ปี

 

3. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: SCGP - ผลประกอบการส่งสัญญาณฟื้นตัว

แนะนำ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • ดำเนินธุรกิจ Holding Company เพื่อให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส่วนแบ่งตลาดด้านยอดขายที่ 36%)
  • 1Q24 คาดผลประกอบการจะฟื้นตัว โดยเติบโต QoQ และ YoY เนื่องจากการดำเนินงานในอินโดนีเซียดูดีขึ้น โดยปริมาณการขายแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส และราคาขายเฉลี่ย (ASP) บรรจุภัณฑ์กระดาษทำจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนตุลาคม 2023 อีกทั้งการดำเนินงานในไทยจะยังแข็งแกร่งจากอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น 
  • ราคาหุ้น SCGP ลดลง 16.7%YTD จนปัจจุบันเทรดที่ระดับ -2SD ของ P/E Mean บ่งชี้ว่าปัจจัยลบสะท้อนในราคาหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งพบปริมาณขายชอร์ต SCGP ลดลงอย่างมาก หลัง ตลท. ระบุเตรียมจะออกมาตรการควบคุมการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรด จึงทำให้คาด Downside ของราคาหุ้นเริ่มจำกัด 
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 40 บาท (อิง -1.0SD PER ที่ 25.9 เท่า) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.55 บาท คิดเป็น Div. Yield ปีละ 1.8%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจในยุโรปยังคงน่ากังวล แต่อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของหุ้นยุโรปในภาพรวมและบริษัทใหญ่อย่าง Adidas Inditex VW กลับออกมาดีกว่าคาด รวมถึงคาดการณ์ของบริษัทในภาพรวมสะท้อนได้ว่าธุรกิจในตลาดหลักอย่างจีนเริ่มมีการฟื้นตัว ซึ่งภาพนี้ทำให้เราแนะรอจังหวะลงทุนในช่วง 2H24 ซึ่งคาดว่าในตอนนั้นการฟื้นตัวจะสม่ำเสมอและดูดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

 

  • 70% ของบริษัทในดัชนี STOXX 600 เผยผลประกอบการไตรมาส 4/23 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรายได้และกำไรรวมทั้งหมดบนดัชนีออกมาดีกว่าคาด แต่การเติบโตยังคงหดตัว ขณะที่ภาพรวมรายกลุ่มค่อนข้างผสม โดยเรามองว่า 1. กลุ่มที่ Outperform คือกลุ่มการเงินที่มีแรงหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นได้ 2. กลุ่มที่ Underperform คือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีแรงกดดันจากความคาดหวังสูง ฐานปีก่อนสูง และการปรับลดประมาณการปีนี้จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

 

  • ขณะที่หากดูที่ผลประกอบการกลุ่มบริษัทใหญ่อย่าง Adidas Inditex VW ออกมาดีกว่าคาดในทิศทางเดียวกันกับตลาด ซึ่งถึงแม้การเติบโตของยอดขายจะยังหดตัว เนื่องจากมีแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคและการแข่งขันที่สูงจากแต่ละอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ดีด้วยภาพ 1. การเติบโตมีการหดตัวในระดับที่น้อย 2. การควบคุมต้นทุนที่ดีช่วยหนุนแนวโน้มอัตรากำไรให้ขยายตัวได้ ภาพนี้สะท้อนพัฒนาการเชิงบวกในการฟื้นตัว นอกจากนี้ จากคาดการณ์และมุมมองที่ทั้ง 3 บริษัทให้สะท้อนได้ว่าอุปสงค์ในตลาดหลักอย่างจีนเริ่มมีภาพการฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าในระยะถัดไปจะช่วยหนุนให้การเติบโตของรายได้กลับมาเติบโตเป็นบวก ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่าการฟื้นตัวของกลุ่ม Discretionary จะสม่ำเสมอและดูดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก เราจึงแนะรอจังหวะลงทุนในช่วง 2H24 ที่จะเริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวของจีนที่ชัดเจนขึ้นกว่าตอนนี้

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลัง CPI และ Core CPI เดือนกุมภาพันธ์ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ สภาพคล่องรวมเงินสดยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

Fed และ ECB ยังคงท่าทีที่ ‘ไม่รีบเร่ง’ ในการลดดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลในเรื่องของเงินเฟ้อที่ยังมีโอกาสยืนในระดับปัจจุบันได้นานกว่าคาด (Sticky Inflation) / UST และ Euro Yield เริ่มเข้าสู่การพักฐานหลังเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา / TGB Yield ตัวยาวยังทรงตัวในระดับต่ำสุดในรอบปี สะท้อนโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจากสภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำในช่วงที่ผ่านมา

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

Fund Flow ยังมีทิศทางไหลเข้า US IG Bond ส่งผลให้ US IG Spread ยังทรงตัวได้ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะมี Supply Bond เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วก็ตาม เราคาดว่า Valuation ในเชิง Spread ค่อนข้างแพง แต่ในเชิง Yield-to-Worst ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าสนใจ แตะระดับ 5.36% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปี

 

OAS Spread ตึงตัวขึ้นมาก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขาลง ช่วยลดแรงกดดันต่อกระแสเงินสดและลดความตึงตัวในงบดุลของกิจการ ทำให้ราคาสินทรัพย์มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ Valuation ที่ตึงตัวจะเพิ่มความเสี่ยงที่ราคาจะผันผวนในระยะกลาง ทั้งนี้ แม้ Default Rate จะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่กำหนดการครบกำหนดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปลายปี 2024 และจะเร่งตัวตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าเล็ก โดยธีมหุ้น AI และหุ้น Quality ยังเป็นปัจจัยผลักดันผลตอบแทนของดัชนีฯ เรามองว่าตลาดได้ซึมซับข่าวดีของผลการดำเนินงาน 4Q23 ที่ดีกว่าคาดไปพอสมควร ขณะที่ Valuation อยู่ในระดับที่ตึงตัวมาก / ผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 เริ่มฉีกห่างออกจากกัน (ผลตอบแทน AAPL และ TSLA เป็นลบ YTD สวนทางตัวอื่นในกลุ่ม)

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

EPS ดัชนีหุ้นยุโรป ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วง 1H24 ขณะที่การเพิ่มขึ้น YTD ของดัชนีฯ ค่อนข้างเป็นการกระจุกอยู่ในหุ้นเพียงไม่กี่หุ้น จึงเสี่ยงที่ดัชนีฯ จะพักฐานและผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB ภายในปีนี้จะกดดัน Bond Yield และช่วยประคองการฟื้นตัวของ P/E ของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 2

ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากและต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ Valuation ดัชนีฯ ตึงตัวมากขึ้น ขณะที่เราคาด BOJ มีแนวโน้มคุมเข้มทางการเงินในการประชุมเดือนเมษายนเป็นอย่างเร็ว (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยจากที่ติดลบและยกเลิกมาตรการ YCC) ซึ่งจะส่งผลให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ และ JGB Yield เพิ่มขึ้น

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเยียวยาภาคอสังหา อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ เตรียมถอด TikTok ออกจากร้านค้าแอปในสหรัฐฯ อาจเพิ่มความผันผวนแก่ดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ตามแรงฉุดจากภาคอสังหาจีนที่ลดลง ขณะที่กลุ่ม Internet Platform มีแนวโน้มประกาศเพิ่มการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลด้าน Valuation ดัชนีฯ ที่ยังไม่แพง จึงมีความเสี่ยงขาลงจำกัด อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาททางระหว่างจีน-คู่ค้าที่มีอยู่จะจำกัด Upside ของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2024 โดยเฉพาะจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (มีสัดส่วน 39% ของดัชนี KOSPI) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกและวัฏจักรเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ รวมทั้งนโยบายเพิ่มมูลค่า บจ. ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร หลังตลาดหุ้นได้ปรับลงมาจน Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยมี Forward P/E อยู่ที่ 14.5x หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี -1SD กอปรกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นต้นเดือนเมษายน และการลดดอกเบี้ยของ กนง. ในปีนี้

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

กลุ่มธนาคารที่ได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายใหม่ของ Prabowo Subianto ที่จะช่วยสนับสนุนสินเชื่อภาคธุรกิจ ส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Bank Mandiri อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน และยอดขายรถยนต์ที่ยังหดตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ ยังเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นอินเดีย

ความน่าสนใจระดับ 2

ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี แต่ Valuation แพงเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ดัชนีฯ สะท้อนข่าวดีเรื่องการเลือกตั้งไปพอสมควร และตามสถิติในอดีตบ่งชี้ว่าดัชนีฯ มักจะพักฐานในช่วง 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้งเพื่อรอความชัดเจน / ก.ล.ต.อินเดีย คุมเข้มการซื้อขายหุ้นขนาดกลางและเล็ก กดดัน Sentiment การลงทุน เราแนะนำให้ ‘ทยอยขายทำกำไร’ และรอหาจังหวะเข้าสะสมหลังการเลือกตั้งผ่านพ้น

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่กลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออก และดัชนี PMI ที่กลับมายืนเหนือระดับ 50 นอกจากนี้ Valuation ของดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ อาจเผชิญความผันผวนในระยะสั้นจากการขายทำกำไรโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มอสังหา ก่อนการครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ก้อนใหญ่ในเดือนเมษายน 2024

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาน้ำมันดิบได้แรงหนุนจากน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ ลดลงเร็วกว่าที่คาด และ EIA ปรับคาดการณ์อุปทานน้ำมันในตลาดโลกในปีนี้ตึงตัวมากขึ้น โดยคาดว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นเพียง 800,000 bld อยู่ที่ 102.9 Mbl/d ซึ่งต่ำกว่าคาดเดิมที่ 103.8 Mbl/d พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในปีนี้ 1.3 Mbl/d ขณะที่ยูเครนใช้โดรนโจมตีคลังน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ 4 รายในรัสเซีย จะทำให้อุปทานน้ำมันลดลงในช่วงสั้น 

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกตามแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024 ส่งผลให้ 10Y UST Real Yield มีโอกาสปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจทำให้ Upside ราคาทองคำค่อนข้างจำกัด

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

DM REITs ปรับตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยกดดันจาก 10Y UST Yield ที่ปรับตัวขึ้น หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าตลาดคาด กอปรกับภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง โดยเมื่อพิจารณาจาก Dividend Yield Spread ของ US REITs อยู่ที่ -0.2% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 1.6% ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่น่าสนใจ 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

REITs ไทย ทรงตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภาพรวมยังมีสภาพคล่องที่ต่ำ เราจึงแนะนำให้เลือกลงทุนใน REIT ที่มูลค่าตลาดขนาดใหญ่ และได้รับประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว หรือการลงทุนทางตรง (FDI) ของนักลงทุนต่างชาติ ทางด้าน REITs สิงคโปร์ ภาพรวมยังมี Occupancy Rate ที่ดี และ Balance Sheet ที่แข็งแกร่งขึ้น หลังการปรับพอร์ตขายสินทรัพย์ออกในช่วงที่ผ่านมา

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุด และมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง 

 

ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่ 

 

ภาพ: franckreporter / Getty Images 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 18 มี.ค. 2024

READ MORE




Latest Stories