THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
ดอกเบี้ย Fed
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

‘ต้นทุนบ้านสูง-ผลกระทบภาษี-ราคาน้ำมันต่ำลง’ 3 ปัจจัยดันเงินเฟ้อ ‘เร่งตัว’ อาจทำให้ Fed มีแนวโน้ม ‘คงดอกเบี้ย’ ตลอดปีนี้

... • 19 พ.ค. 2025

HIGHLIGHTS

  • สหรัฐฯ และจีนจำเป็นต้องลดระดับสงครามการค้า เนื่องจากสัญญาณเตือนที่ชัดเจนจากภาคการขนส่งทางทะเล โดยจำนวนเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปยังสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2025 ลดลงเหลือเพียง 49.6 ลำต่อวัน
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงการหดตัวของการค้าที่รุนแรง ซึ่งนำไปสู่การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ที่ลดลง 21% ในเดือนล่าสุด
  • ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ เดือนเมษายน ที่ขยายตัวระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี มีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวด ‘Food & Transport’ ที่ลดลงจาก 0.86% ในเดือนมกราคมเหลือเพียง 0.16% ในเดือนเมษายน
  • จากนี้ไป ยังปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา 3 ประการ ได้แก่ ต้นทุนที่อยู่อาศัยที่ยังสูง การส่งผ่านต้นทุนภาษีนำเข้าสู่ผู้บริโภคที่จะชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง และฐานราคาน้ำมันที่ต่ำลงในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวถึง 3.6% ในช่วงปลายปี ทำให้ Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดปีนี้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นหลังสหรัฐฯ-จีน บรรลุข้อตกลงลดภาษีชั่วคราว 90 วัน โดยจีนจะลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10% ขณะที่สหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้าจีนจาก 145% เหลือ 30% นอกจากนั้นสหรัฐฯ เตรียมลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากจีนที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน หรือ ‘De Minimis’ จากเดิม 120% เหลือเพียง 54% 

 

ด้านจีนหยุดมาตรการระงับการส่งออกแร่ธาตุหายาก สะท้อนภาพความเสี่ยงที่ลดลงต่อเนื่อง 

 

กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นเด่น สะท้อนการยกเลิกการควบคุมการส่งออกชิปของรัฐบาลไบเดน (AI Diffusion) กลุ่ม Healthcare ปรับตัวลดลง 1.6% จากความกังวลของนโยบายที่สหรัฐฯ จะลดราคายา 80% 

 

ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าคาดที่ 0.3% โดยอัตราเงินเฟ้อรายปีลดลงเหลือ 2.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ลดลงเหลือ 2 ครั้ง และการลดครั้งแรกช้าลงไปในเดือนกันยายน (CME FedWatch) คาดเป็นผลจากความกังวลผลกระทบภาษีนำเข้าผ่อนคลายลง 

 

ด้านตลาดหุ้น EM ปรับขึ้นเช่นกัน ตอบรับข่าวบวกการลดภาษีดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้เงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนเมษายน ยังคงลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนความพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของจีนที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

 

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่ำกว่า 1,200 จุด จากการขายทำกำไรหลังปรับตัวขึ้นมามาก ด้านราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลงหลังการเจรจาสหรัฐฯ-จีน

 

‘เงินเฟ้อเร่งตัว’ ทำให้ Fed คงดอกเบี้ยตลอดปีนี้

 

บล.อินโนเวสท์ วิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ และจีน จำเป็นต้องลดระดับสงครามการค้า เนื่องจากสัญญาณเตือนที่ชัดเจนจากภาคการขนส่งทางทะเล โดยจำนวนเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปยังสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2025 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือเพียง 49.6 ลำต่อวัน หดตัวถึง 8.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่การจองเรือขนส่งจากจีนลดลง 60% และปริมาณการนำเข้าที่ท่าเรือ LA ลดลง 35% 

 

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงการหดตัวของการค้าที่รุนแรง ซึ่งนำไปสู่การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ที่ลดลง 21% ในเดือนล่าสุด กระนั้นก็ตาม เรามองว่าการลดระดับสงครามการค้าครั้งนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ในระยะสั้น 

 

เรามองว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ เดือนเมษายนที่ขยายตัวระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี มีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวด ‘Food & Transport’ ที่ลดลงจาก 0.86% ในเดือนมกราคมเหลือเพียง 0.16% ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ Brent ที่ลดลงกว่า 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก 3.73 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในปี 2024 เหลือเพียง 3.25 ดอลลาร์ในปี 2025 

 

ปัจจัยนี้สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจากสงครามการค้า และการกดดันของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อกลุ่ม OPEC+ ให้เพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม สินค้าบางหมวดหมู่เริ่มแสดงผลกระทบจากภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์ เช่น ราคาอุปกรณ์เครื่องเสียงที่พุ่งสูงขึ้นถึง 8.8% 

 

ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา 3 ประการในระยะต่อไป ได้แก่ ต้นทุนที่อยู่อาศัยที่ยังสูง การส่งผ่านต้นทุนภาษีนำเข้าสู่ผู้บริโภคที่จะชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง และฐานราคาน้ำมันที่ต่ำลงในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวถึง 3.6% ในช่วงปลายปี ทำให้ Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดปีนี้ 

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้น Earning Play ซึ่งโมเมนตัมกำไรยังเติบโตแข็งแกร่ง โดย 1Q68-2Q68 คาดกำไรปกติจะเติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ เลือก ADVANC, TRUE, BTG, CPF และ CPALL
  2. หุ้นที่คาดเป็นเป้าหมาย ThaiESGX โดย 1. ปี 2568 คาดกำไรเติบโต YoY  2. ฐานะการเงินแกร่ง และ 3. จ่ายปันผลสม่ำเสมอ คาดให้ Div. Yield อย่างน้อยปีละ 3% พบหุ้นน่าสนใจ SET50 : ADVANC, BDMS, CPALL, PTT และ SET100 : BCH, BTG, AP
  3. หุ้น SET50 ที่มี SETESG Rating A ขึ้นไป พร้อมคาดให้ Div. Yield ตั้งแต่ 5% ขึ้นไป อีกทั้งเราแนะนำ Outperform แนะนำ PTT KTB BBL HMPRO 
  4. Trading Idea : เก็งกำไรสำหรับหุ้น Undervalued ซึ่งปัจจุบันซื้อขายที่ PER และ PBV 68F ระดับ -2SD ขณะที่ปี 2568 คาดกำไรยังเติบโตได้ดี YoY และมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง แนะนำ GULF, MTC, CBG, AMATA และ BJC 

 

“ช่วงสั้นมอง SET มีโอกาสพักตัวรอหาปัจจัยหนุนใหม่ และความคืบหน้าการเจรจาการค้าไทยกับสหรัฐฯ หลังดัชนีปรับตัวขึ้นไปตอบรับสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ที่ผ่อนคลายลงแล้วในระดับหนึ่ง จนทำให้ SET ปรับขึ้นมายืนเหนือ 1,200 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 3% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคก่อนเกิดเหตุการณ์ ปธน. ทรัมป์ประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศคู่ค้าแล้ว อย่างไรก็ดี หากดัชนีปรับลงหรือพักตัวลงมาที่ระดับ 1,155/1,120-1,100 มองจะเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสมสำหรับนักลงทุนระยะยาว หลังประเมินว่าสถานการณ์สงครามการค้าโลกที่เลวร้ายสุดมีโอกาสผ่านไปแล้ว รวมทั้งอยู่ระหว่างประกาศดีลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ในระยะถัดไป” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

สัปดาห์นี้ต้องติดตาม

 

  1. GDP ของไทย ไตรมาส 1/2025 ตลาดคาด 3.0%YoY จาก 3.2% ไตรมาสก่อน ในวันที่ 19 พฤษภาคม 
  2. ตัวเลขกิจกรรมเศรษฐกิจจีน: ยอดค้าปลีก, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, การลงทุนสินทรัพย์ถาวร เดือนเมษายน ในวันที่ 19 พฤษภาคม
  3. การส่งออกของญี่ปุ่นเดือนเมษายน และการส่งออกของไทยในวันที่ 21 พฤษภาคม
  4. ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า รวมทั้งไทย 

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BJC - หุ้น Undervalued ที่กำไรยังเติบโตดี

 

แนะนำ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ทั้งธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำของไทย (MSC; Brand Bigc), ธุรกิจ PSC ซึ่งผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมรายใหญ่สุดในไทย รวมทั้งธุรกิจ CSC ซึ่งผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวเกรียบ สบู่ มันฝรั่งทอด และกระดาษชำระ 
  • 2Q25 คาดกำไรจะเพิ่มขึ้น QoQ จากผลฤดูกาล และเติบโต YoY จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้นของกลุ่ม Non-MSC พร้อมกับต้นทุนวัตถุดิบระดับต่ำ ส่วนกลุ่ม MSC คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะดีกว่า 1Q25 เพราะไม่มีฐานสูงของผลิตภัณฑ์กลุ่ม soft line และยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็นมาร์จิ้นต่ำลดลงใน 2Q25TD 
  • มองเป็นหุ้น Undervalued โดยปัจจุบันซื้อขาย PER 2025F ที่ 17.6 เท่า (-2SD.) ขณะที่ปี 2025 คาดกำไรจะเติบโต 17%YoY ดีเป็นอันดับสองของกลุ่ม อีกทั้งคาดเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกองทุน Thai ESGX หลังมี SETESG Rating ‘AA’
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 28.50 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7.2% และอัตราเติบโตระยะยาว 2%) และคาดให้ Div. Yield ปีนี้ราว 3.4%  

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ผลประกอบการหุ้นจีนขนาดใหญ่ใน 1Q25 ส่วนใหญ่ดีกว่าคาด โดย JD.com  มีรายได้และกำไรเติบโตเด่น แม้เผชิญต้นทุนเพิ่มจากการแข่งขัน ด้าน Tencent มีรายได้ที่เติบโตจากธุรกิจเกมและโฆษณา แม้มีการลงทุนใน AI มากขึ้น ส่วน NetEase ฟื้นตัวต่อเนื่องจากธุรกิจเกม ขณะที่ Alibaba ยังเผชิญแรงกดดันจากการบริโภคในประเทศ เราประเมินว่าผลประกอบการที่แข็งแกร่งเป็น Sentiment บวกต่อตลาดหุ้นจีนในระยะสั้น โดยเราแนะหุ้นจีนที่มีรายได้ในประเทศและแนวโน้มเติบโตชัดเจน อย่าง Tencent, HKEX และ Trip.com

 

ภาพรวมผลประกอบการหุ้นจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

หุ้นจีนขนาดใหญ่ประกาศผลประกอบการ 1Q25 ส่วนใหญ่ดีกว่าคาดและเติบโตดี โดยมี 

 

  1. JD.com งบดีกว่าคาด โดยมีกำไรสุทธิ +53.5% ด้านรายได้รวม +15.8% หนุนจาก JD Retail +16.3%, JD Logistics +11.6% และ New Business +18.4% อย่างไรก็ดี ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการแข่งขันในธุรกิจจัดส่งอาหาร 
  2. Tencent รายได้รวมเติบโต 13% ดีกว่าที่คาดหนุนจาก ธุรกิจเกมในจีน +24%, เกมต่างประเทศ +23%, Marketing Services +20%, Social Network รายได้ +7% และ FinTech +5% ด้านกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 14% แต่ต่ำกว่าที่คาดจากการเพิ่มงบลงทุนใน AI 
  3. NetEase เผยกำไรต่อ ADS 17.51 หยวนสูงกว่าที่คาด ด้านรายได้รวม +7.4% หนุนจากธุรกิจเกมและบริการมูลค่าเพิ่ม +12% ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดใน 3Q24 ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ มีรายได้ลดลง อย่าง Youdao -6.7%, Cloud Music -6.4%
  4. ในทางตรงกันข้าม Alibaba รายงานรายได้ +7% ต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ และโลจิสติกส์ ที่มีรายได้ต่ำกว่าคาด รวมถึงผลตอบแทนจากธุรกิจ AI และ Cloud ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ด้านกำไรสุทธิ +22% สูงกว่าที่คาด

 

มุมมองด้านการลงทุน

ภาพรวมผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของหุ้นจีนขนาดใหญ่เรามองเป็น Sentiment ที่ดีต่อเนื่อง จะสามารถช่วยพยุงตลาดได้ในระยะถัดไป เราประเมินว่า 1. ธุรกิจเกมและระบบนิเวศ WeChat ของ Tencent ที่มีช่องทางการสร้างรายได้หลากหลายประกอบกับเมื่อมีการพัฒนา AI เข้ามาใช้งานจะหนุนเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง 2. ธุรกิจ e-Commerce อย่าง JD.com และ Alibaba ที่มีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว อาจมีแรงกดดันด้าน Margin ที่เพิ่มขึ้นหลัง JD.com เข้าสู่บริการส่งอาหารเพื่อแข่งขันกับ Baba และ Meituan 3. ในระยะสั้นเราจึงแนะหุ้นจีนที่มีรายได้ภายในประเทศสูงและมีการเติบโตที่ชัดเจน โดยเราชอบ Tencent, HKEX และ Trip.com

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าที่ยังดำเนินต่อ รวมทั้งความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น ความขัดแย้งภายในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยล่าสุดประธานาธิบดี Putin ของรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับยูเครนที่ตุรกี ขณะที่ การเจรจาไร้ข้อสรุป ส่งผลให้รัสเซียยิงถล่มยูเครนด้วยโดรน และ จุดชนวนความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์อีกระลอก

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

ปัญหาการขาดดุลการคลังสหรัฐฯ ที่ยังน่ากังวล รวมทั้งท่าทีของ Powell ประธาน Fed ล่าสุด ที่ส่งสัญญาณไม่รีบลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับคาดว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มหนุนให้ UST Yield โดยเฉพาะตัวยาว ปรับเพิ่มขึ้น ด้านตราสารหนี้ไทย เรามองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขาลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีแนวโน้มลดลงได้มากกว่าระยะยาว  ดังนั้น เราจึงยังแนะนำลงทุนตราสารระยะสั้นถึงกลาง ทั้งไทยและสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยง duration ต่ำ

 

U.S. Treasury & IG

 

เราคาดว่า UST Yield ตัวยาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความกังวลเสถียรภาพของสหรัฐฯ โดยล่าสุด Moody’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จาก Aaa ลงมาอยู่ที่ Aa1 ขณะที่ ดัชนี US IG bond ยังมีความเสี่ยง credit ต่ำ และมีปัจจัยพื้นฐานดี เมื่อเทียบกับ US HY bond บ่งชี้จาก Net margins และ Interest Coverage Ratios ที่สูงกว่า ทั้งนี้ เราแนะนำลงทุน UST และ US IG Bonds โดยเน้น Duration ระยะสั้นถึงกลาง ที่ช่วยลดความเสี่ยงพอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่

 

High Yield Bond

 

ความไม่แน่นอนของผลกระทบสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ US HY default rate และ HY Credit Spread จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับ UST Yield ตัวยาว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ที่สูง และความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงหนืด ซึ่งล่าสุด การคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้า พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2524 อาจจำกัด upside ของ US HY แม้ว่า ตัวเลข Leverage ยังไม่ได้น่ากังวล และยอดหุ้นกู้ US HY ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ไม่ได้สูงมากนัก ก็ตาม

 

สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs

 

ในระยะสั้น REITs มีแนวโน้มถูกกดดันจาก 10Y UST Yield ที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ Dividend  Yield Spread มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอก

 

US REITs 

 

ผลประกอบการใน 1Q68 ของ US REITs ส่วนใหญ่ออกมาตามตลาดคาด และสะท้อนผลประกอบการที่แข็งแกร่ง จากการเติบโตของ NOI ที่ 3.7% และอัตราการเช่าพื้นที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 93.8% เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่ม Data center และ Healthcare เนื่องจาก ยังมีศักยภาพในการเพิ่มทั้ง Occupancy rate และอัตราค่าเช่าได้ในระยะยาว ในขณะที่มีมุมมองเชิงลบต่อกลุ่ม Office เนื่องจาก อัตราเช่าพื้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และผู้เช่ามีแนวโน้มชะลอการเช่าพื้นที่ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เรามีมุมมองเชิงบวกกับกลุ่ม Industrial ที่ได้รับประโยชน์ จากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้ามาในสหรัฐฯ (Reshoring) มากขึ้น

 

Private Credit *สำหรับนักลงทุน Ultra High Networth เท่านั้น

 

เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อจำกัด ตามที่ Fed ยังมีท่าทีระมัดระวังบนความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังหนืด ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้ แม้ว่า Soft Data อย่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ จากความกังวลบนภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันในระยะสั้น หลังดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้ 1200 จุด โดยเรามองว่า EPS ของดัชนี SET ในปัจจุบัน ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกปรับประมาณการลง นอกจากนี้ติดตามการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งหากอนุมัติงบประมาณล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ของรัฐบาล และสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ในระยะกลาง-ยาว ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก ความคืบหน้าด้านเจรจาการค้า หลังจากที่ รมว.คลังของไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง และ แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. อีก 2 ครั้งในปีนี้ 

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

แม้ความไม่แน่นอนของแผนภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จะยังสร้างความผันผวนต่อหุ้นสหรัฐฯ แต่การที่สหรัฐฯ มีความคืบหน้าในการหารือทางการค้ากับประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ จีน และเกาหลีใต้ อาจช่วยหนุน Sentiment หุ้นสหรัฐฯ และหุ้นยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการทหารกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเยอรมนี แม้ต้องจับตาสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงเพิ่มขึ้น ด้านหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการปฏิรูปบรรษัทภิบาล และความคาดหวังผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แม้ความเสี่ยงการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนจะกระทบโมเมนตัม EPS หุ้นญี่ปุ่นก็ตาม  

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

เรามองว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อคู่ค้าที่ยังมีอยู่มีแนวโน้มทำให้นักลงทุนบางส่วนยังระมัดระวังในการลงทุน แต่ในระยะสั้นดัชนีฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามความเสี่ยงขาลงของ EPS ดัชนีฯ ที่ลดลง ภายหลังมีความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะจีน หลังสหรัฐฯ และจีน ตกลงหยุดสงครามการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ส่วนในระยะกลาง-ยาว เรามองกำไร บจ. สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตและกระจายตัวเป็นวงกว้าง โดยได้อานิสงส์จากกระแส AI ในสหรัฐฯ และแผนลดภาษีเงินได้ควบคู่กับการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยล่าสุดทางการสหรัฐฯ มีแนวโน้มประกาศลดข้อกำหนดเงินทุนของภาคธนาคารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ

 

หุ้นยุโรป

 

ความคืบหน้าในการต่อรองทางการค้าที่ EU เตรียมเสนอต่อสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ที่รวมถึงการเพิ่มการลงทุนของ EU ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นปัจจัยส่งเสริมดัชนีฯ ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อเบื้องต้นที่สูงกว่าตลาดคาด อาจส่งผลให้ ECB ชะลอการลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน 2568 อย่างไรก็ดี แผนเพิ่มการขาดดุลการคลัง เพื่อเพิ่มงบป้องกันประเทศ และ การจัดตั้งกองทุน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอด 10 ปีของรัฐบาลเยอรมนี มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและ Sentiment การลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคาร ผ่านการเติบโตของสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ Valuation ปัจจุบันของดัชนีฯ อยู่ในระดับที่น่าสนใจเทียบกับดัชนีฯ หุ้นสหรัฐฯ

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

ดัชนีฯ ได้แรงหนุนจาก 1. ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ลดลง หลังสหรัฐฯ และจีน บรรลุข้อตกลงภาษีการค้าชั่วคราว 90 วัน ทำให้หุ้นยุโรปที่มีความสัมพันธ์กับการค้าและเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมากได้รับประโยชน์ 2. ผลประกอบการบจ.บนดัชนี Stoxx600 ใน 1Q68 ยังเติบโตค่อนข้างดี แม้เงินยูโรที่แข็งค่าและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อาจส่งผลกดดันกำไร บจ. 3. นักลงทุนในประเทศ ได้จัดสรรเงินลงทุนใหม่ ไปในตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มขึ้น จากก่อนนี้ที่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก และ 4. เศรษฐกิจได้แรงหนุนจาก แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และแผนเพิ่มการขาดดุลการคลังเพื่อเพิ่มงบป้องกันประเทศ และการจัดตั้งกองทุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเยอรมนี 

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

แม้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ยังมีอยู่  ผ่านการค้า และการลงทุน ที่มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี เราคาดว่า จะเริ่มเห็นหลายประเทศในเอเชียรีบเร่งเจรจากับสหรัฐฯ รวมทั้งอาจเห็นความร่วมมือภายในภูมิภาคมากขึ้น โดยล่าสุด ไทย-เวียดนาม บรรลุข้อตกลง 8 ฉบับ ครอบคลุมทุกมิติเศรษฐกิจ-การค้า-ความมั่นคง นอกจากนี้ยังคาดว่าทางการของประเทศต่างๆ ในเอเชีย มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้น เพื่อลดผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนทางการค้า

 

หุ้นอินเดีย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการรายงานผลประกอบการ 4QFY2568 ที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ดัชนีฯ มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติในช่วง QTD แม้ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน และ การเจรจาทางการกับสหรัฐฯ ที่อินเดียมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น หลังจากสหรัฐฯ และจีน สามารถบรรลุข้อตกลงทางภาษีนำเข้าที่เบาลง โดยดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับปัจจัยสนับสนุน จาก 1. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ RBI บนประมาณการเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้า 4% 2. อินเดียส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อย 2% ของ GDP และ 3. หุ้นกลุ่ม consumers ที่มีสัดส่วนราว 20% ของดัชนี Nifty 50 มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากบริโภคในประเทศ ท่ามกลางสงครามการค้าโลก

 

หุ้นจีน

 

แม้ตลาดหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากผลกระทบของกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่เราคาดว่า ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ นำโดยการใช้นโยบายการคลัง เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ ประกอบกับ เราคาด จีน และสหรัฐฯ มีแนวโน้มทยอยลดท่าทีแข็งกร้าวทางการค้าต่อกัน เห็นได้จากล่าสุด Bessent รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คาดว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีน จะพบปะกันอีกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ราคาทองคำ มีแนวโน้มได้แรงหนุนระยะสั้นจาก 1. Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จากหนี้สาธารณะที่อยู่สูงและภาระขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น 2. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังมีอยู่ และ 3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว เช่น ยอดการค้าปลีก ทั้งนี้ เรายังแนะนำลงทุนในทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตหลัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้าและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นของสหรัฐฯ นอกจากนี้แรงซื้อทองคำของธนาคารกลางจีนยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมาอยู่ที่ 6.8% ของมูลค่าทุนสำรองทั้งหมด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำในระยะกลางถึงยาว

 

ภาพ: Syed Muhammad Yasir Noor / Shutterstock  

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 19 พ.ค. 2025

READ MORE



Latest Stories