THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

คาดรัฐบาลแจกเงินสดมูลค่า 2-3% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ควักกระเป๋าแจกแล้ว 1.55 แสนล้านหยวน

... • 30 ก.ย. 2024

HIGHLIGHTS

  • หุ้นโลกยังปรับตัวขึ้นได้ต่อหลังตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาด ตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk On ต่อเนื่อง จากการลดดอกเบี้ย Fed ในสัปดาห์ก่อน
  • เศรษฐกิจจีนน่ากังวลเพิ่มขึ้น ทำให้ทางการออกมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทั้งลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ดอกเบี้ย MLF ดอกเบี้ย LPR และดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน (Mortgage) รวมถึงอัดฉีดเม็ดเงิน 1.55 แสนล้านหยวนเข้าสู่มือกลุ่มเปราะบาง
  • อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนอาจไม่เพียงพอจะฟื้นเศรษฐกิจ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมองว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการแจกเงินเป็นวงกว้างมากกว่าเพียงแค่กลุ่มเปราะบาง โดยอาจต้องมีมาตรการแจกเงินในขนาด 2-3% ของ GDP จึงจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้น
  • สำหรับตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าจะได้รับแรงหนุนจากทิศทางดอกเบี้ยที่จะกลับเข้าสู่ขาลงที่คลังและ ธปท. อาจพูดคุยกันในสัปดาห์นี้ และนโยบายผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่คาดว่าจะยังหนุนการไหลเข้าของ Fund Flow

สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นโลกยังปรับตัวขึ้นได้ต่อ หลังตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาด ตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk On ต่อเนื่อง จากการลดดอกเบี้ย Fed ในสัปดาห์ก่อน ขณะที่หุ้น EM ปรับขึ้นแรง โดยเฉพาะในเอเชีย ได้ปัจจัยหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป้าหมายน่าจะเพื่อหนุน GDP ให้เติบโตได้ตามเป้าที่ 5% 

 

โดยที่ประชุมโปลิตบูโรของจีนในวันพฤหัสบดี (26 กันยายน) ระบุความกังวลในส่วนของการเติบโตเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น หลังตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาอ่อนแอ 

 

ทั้งนี้ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีการออกมาตรการด้านการเงินและตลาดทุนออกนำมาก่อน ได้แก่ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ดอกเบี้ย MLF ดอกเบี้ย LPR และดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน (Mortgage) ในระดับ 20-25 bps และลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) ระดับ 50 bps

 

รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนภาคอสังหา เช่น ลดเงินดาวน์บ้านหลังที่สอง รวมถึงประกาศสนับสนุนเงินให้รัฐบาลท้องถิ่นในการซื้อบ้านที่ขายไม่ออกมาเป็นบ้านเอื้ออาทร 100% จากเดิม 60% 

 

นอกจากนั้น PBOC จะสนับสนุนเงินกองทุน 8 แสนล้านหยวน ให้กับบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้น ด้านรัฐบาลจีนประกาศมาตรการการคลังเพื่อช่วยเหลือคนจนและกลุ่มเปราะบาง โดยจะอัดฉีดเม็ดเงิน 1.55 แสนล้านหยวนเข้าสู่กลุ่มดังกล่าว 

 

ด้านตลาดหุ้นไทยทรงตัว จากแรงขายทำกำไรเปลี่ยนตัวเล่น หลังขึ้นมาแรงในช่วงที่ผ่านมา ด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากใน 3Q24 อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของหุ้นส่งออก ราคาน้ำมันปรับลงหลังข่าวซาอุจะกลับมาเน้นเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดผ่านการผลิตและส่งออกเพิ่ม ทำให้ตลาดกังวลภาวะอุปทานส่วนเกิน

 

ยากระตุ้นเศรษฐกิจจีน ‘ยังไม่แรงพอ’

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า สาเหตุที่ PBOC ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นเป็นเพราะ 

 

1. เศรษฐกิจชะลอต่อเนื่อง ท่ามกลางการขยายตัวของปริมาณเงิน (M2) และสินเชื่อที่ชะลอลง บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นที่ผ่านมาไม่ได้ผล 

 

2. ภาคอสังหายังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เห็นจากยอดขายบ้านที่หดตัว ราคาบ้านที่ทรงตัว รวมถึงมาตรการกองทุน 3 แสนล้านหยวนของ PBOC ที่ออกมาช่วงก่อนหน้าเพื่อกระตุ้นการซื้อบ้านคงค้างมาทำเป็นบ้านเอื้ออาทรไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นไม่มีเงินทุนเข้าร่วมกับ PBOC ในการซื้อบ้านคงค้าง 

 

3. ค่าเงินหยวนที่เริ่มแข็งค่าขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยเกินคาด ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าในภูมิภาค ทำให้ทางการคลายความกังวลประเด็นเงินทุนไหลออกลง

 

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีขนาดใหญ่มากอย่างที่หลายฝ่ายมอง เนื่องจากการลดดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 0.2-0.3% (P.P.) ซึ่งเป็นระดับปกติที่ธนาคารกลางอื่นๆ ปรับดอกเบี้ย (แต่อาจสูงเมื่อเทียบกับการลดของ PBOC ในอดีต) ขณะที่การลด RRR ค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบ (ทางการมองว่าเป็นการเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านหยวน) ส่วนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาต่างๆ เป็นความพยายามพลิกฟื้นภาคอสังหาที่ซบเซา ซึ่งเกิดจากปัญหาหลักคือการขาดความต้องการซื้อ (Demand) 

 

ดังนั้น เรามองว่า หากรัฐบาลต้องการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องใช้มาตรการการเงินควบคู่กับมาตรการการคลัง ซึ่งล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณผ่อนคลายผ่านการอัดฉีดเม็ดเงิน 1.55 แสนล้านหยวนเข้าสู่กลุ่มเปราะบางจำนวน 4.74 ล้านคน ทั้งนี้ เรามองว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการแจกเงินเป็นวงกว้างมากกว่าเพียงแค่กลุ่มเปราะบาง โดยอาจต้องมีมาตรการแจกเงินในขนาด 2-3% ของ GDP จึงจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้น

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์จากกองทุนวายุภักษ์รอบใหม่ เลือก KTB, BBL, BCP, ADVANC, HMPRO

 

2. หุ้นเก็งกำไรซึ่งคาดได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง แนะนำ กลุ่มเช่าซื้อ (MTC) กลุ่มอสังหา (AP) กลุ่มค้าปลีก (CPALL) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF) กลุ่ม REITs (LHHOTEL, DIF)

 

3. หุ้นเก็งกำไรซึ่งได้อานิสงส์บวกจากสถานการณ์น้ำท่วม แนะนำ HMPRO, GLOBAL, CPALL, BJC, DCC และ TASCO

 

ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรุนแรงใน 3Q24 มองว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นที่มีรายได้จากการส่งออก แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนช่วงสั้น ได้แก่ TU, GFPT, CBG, KCE ส่วนนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทแข็งค่า แนะนำ AAV, GULF, GPSC, BCP

 

“ช่วงสั้นมอง SET จะยังแกว่งตัว Sideway Up แต่อาจเผชิญแรงขายทำกำไรระยะสั้นเป็นระยะๆ จากปัจจัยภายนอกและจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้มองว่าตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากทิศทางดอกเบี้ยที่จะกลับเข้าสู่ขาลง (คลังและ ธปท. จะพูดคุยกันในสัปดาห์นี้) และนโยบายผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทคาดว่าจะยังหนุนการไหลเข้าของ Fund Flow โดยประเมินว่าหาก SET จะปรับขึ้นได้แรงต้องเกิดจากการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร อสังหา อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว ขณะที่หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีก่อนหน้านี้คาดว่าจะยังให้ผลตอบแทนดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการของจีนและสหรัฐฯ คาดว่าจะยังชะลอตัวลง” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. ตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เดือนกันยายน จับตาอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น (จาก 4.2%) การจ้างงานนอกภาคเกษตรชะลอลง (จาก 142 K) ADP (จาก 99 K) และ JOLT (จาก 7.63 M) 

 

2. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการโดย ISM ของสหรัฐฯ เดือนกันยายน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม (ที่ 46.0 และ 51.5)

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: GULF - กำไรแกร่ง ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาลง

 

แนะนำ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชั้นนำของไทย โดยมีแผนขยายไปสู่ธุรกิจก๊าซ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสัมปทานกับรัฐบาล เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในระยะยาว

 

  • 2H24 คาดว่ากำไรปกติจะยังเติบโตแข็งแกร่ง แรงหนุนจากกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่ม เช่น โรงไฟฟ้า IPP ใหม่ GDP หน่วยที่ 4 (662.5 MW, เริ่มเดินเครื่องเดือนตุลาคม 2024) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อีกทั้งยังมีมุมมองบวกต่อดีลควบรวมระหว่าง GULF และ INTUCH 

 

  • ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลงและ Valuation น่าสนใจ โดยปัจจุบันซื้อขาย PER 24F ที่ 33 เท่า คิดเป็น -1.0 SD ของ PER เฉลี่ย 5 ปี ซึ่งมองว่ายังไม่ได้สะท้อนกำไรปกติที่แข็งแกร่ง โดยปี 2024 คาดเติบโต 28%YoY และเติบโตต่อ 25%YoY ในปี 2025 จากกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

  • เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 63 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 1.02 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละ 1.8%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นแรงหลัง PBOC ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ, สภาพคล่องและตลาดทุน นอกจากนี้ในการประชุมโปลิตบูโรของจีนยังแสดงความมุ่งมั่นมากขึ้น ซึ่งภาพรวมเรามองว่ามาตรการจะส่งผลดีกับตลาดหุ้น เพราะ PBOC ต้องการเรียกความเชื่อมั่นกลับมาในระยะสั้น แต่ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของแนวโน้มกำไรหรือเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจได้ เราแนะนำให้อยู่ในกลุ่มปัจจัยพื้นฐานดี

 

นโยบายการเงิน

 

1. PBOC ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 วันลง 20 Basis Point

 

2. ลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) ลง 50 Basis Point

 

3. ลดอัตราดอกเบี้ย MLF ลง 30 Basis Point เหลือ 2%

 

4. ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ลง 50 Basis Point



เรามองว่ามาตรการนี้ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ

 

นโยบายการคลัง

 

1. วางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษมูลค่า RMB2bn

 

2. เร่งการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น

 

3. ส่งเสริมการลงทุนภาครัฐเพื่อดึงดูดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

 

4. มีมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานและกลุ่มรายได้น้อย

 

มาตรการสำหรับภาคอสังหา

 

1. ผ่อนคลายข้อจำกัดซื้อบ้านและลด Down Payment จาก 25% เป็น 15% สำหรับบ้านหลังที่สอง

 

2. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.5%

 

3. เพิ่มการขยายเวลาสินเชื่อสำหรับโครงการ

 

เรามองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำให้ภาระทางการเงินน้อยลง และรัฐบาลพยายามลดความเสี่ยงในกลุ่มต่อเนื่อง แต่เรามองว่ามาตรการนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหายอดขายบ้านที่ตกต่ำได้ เพราะจะส่งผลให้บ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จมีปัญหาเนื่องจากผู้บริโภคจะเน้นไปที่บ้านมือสองมากกว่า

 

มาตรการการสนับสนุนตลาดทุน

 

1. อนุญาตให้กองทุนและโบรกเกอร์เข้าถึงแหล่งเงินทุนของ PBOC เพื่อซื้อหุ้นได้ 

 

2. ธนาคารจะสนับสนุนบริษัทในการซื้อหุ้นคืน

 

3. สนับสนุนให้ทำ M&A

 

  • แม้ในภาพรวมเราประเมินว่ามาตรการเหล่านี้จะยังการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี มองว่าจะหนุนการเติบโตระยะสั้น โดยคาดว่าจะหนุนการเติบโตเศรษฐกิจราว 0.2% ซึ่งจะช่วยหนุนเป้าหมายการเติบโตประจำปีที่ 5% และยังดีกว่าไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้มองผู้นำจีนมีความมุ่งมั่นกับมาตรการรอบนี้พอสมควร

 

ในส่วนของมุมมองการลงทุน เรามองว่าการสนับสนุนตลาดทุนจะทำให้ตลาดตอบสนองเชิงบวก โดยหุ้นใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่าหุ้นขนาดเล็ก หุ้นจีนที่เราชอบ


1. โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ China Mobile, CATL, CRRC, SMIC

 

2. Valuation ถูกและมีเงินปันผล ได้แก่ Ping An Insurance, Yili 

 

หุ้นที่มีพื้นฐานดี ได้แก่ Trip.com, Tencent, Xiaomi, BYD, Luxshare

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ แม้ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย 50 bps นอกจากนี้สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ข้อพิพาททางการค้า ความไม่แน่นอนบนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง หลังล่าสุดกองทัพอิสราเอลปลิดชีพผู้บัญชาการกองกำลังจรวดและขีปนาวุธของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รวมทั้งผู้บัญชาการทหารหลายราย 

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

US Yield Curve ยังคงปรับเพิ่มความชันมากขึ้น แบบ Bull Steepen ทำให้ความน่าสนใจของบอนด์ตัวสั้นลดน้อยลงเมื่อเทียบกับระยะกลาง เราเชื่อว่าสภาพคล่องจากเงินสดจะยังไหลเข้าตราสารหนี้อายุมากกว่า 1 ปี จากทิศทางดอกเบี้ยที่ยังเป็นแนวโน้มขาลง อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

 

เราคาดว่าความผันผวนของบอนด์จะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยบอนด์ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่บอนด์ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

Yield Curve ในปัจจุบันปรับตัวจาก ‘Inverted’ สู่ภาพของ ‘Normal Curve’ แล้ว

 

YTW ของ IG ปรับตัวลงตาม UST แต่ Spread ค่อนข้างทรงตัว ตลอดเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับ 10Y TGB Yield ที่ยังคงทรงตัว แนะนำลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond โดยยังแนะนำให้ลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี เพื่อ Lock Rate ในช่วงของ Curve Steepening โดยผลตอบแทนเฉลี่ย ยังอยู่ใกล้ 3.5%-4.8% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ "ระยะยาว“ ที่ 2.9%

 

High Yield Bond

 

ภาพรวมของตลาด HY ปรับตัวดีขึ้นจาก 

 

1. Default Rates ปรับตัวลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 

 

2. สัดส่วนของการ Upgrade จาก HY ขึ้นสู่ IG สูงกว่าการ Downgrade IG ลงมา HY โดย BB Rating มีการปรับมุมมองดีขึ้น 

 

3. ประเด็นเรื่อง Maturity Wall ที่เรากังวลว่าจะเห็นการเร่งตัวในปี 2568 ถูกปรับโครงสร้างจนการเร่งตัวอาจเลื่อนออกไปเป็นปี 2569 

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสม ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้งใน 4Q24 ครั้งละ 25 bps รวม 50 bps 

 

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93.6% ในช่วง 2Q24 

 

3. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง 

 

4. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต 

 

5. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก 

 

1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H24 จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเงิน 10,000 บาทต่อคน การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว 

 

2. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง โดยดัชนี SET ซื้อขายอยู่บนระดับ Valuation บน 12 M Forward P/E อยู่ที่ 14.7x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ -1.0 S.D. 

 

3. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว 

 

4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ของสหรัฐฯ ที่มากกว่าของ กนง.

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

เรามองว่า การที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายบนสมมติฐานของเราที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยไม่ถดถอย จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับที่สูง (นำโดยหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย) อาจทำให้ผลตอบแทนอาจต่ำกว่า ‘Soft Landing’ ในรอบก่อนๆ 

 

BOJ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมฯ เมื่อเดือนกันยายน สะท้อนความระมัดระวังหลังเกิดเหตุการณ์ Unwind Yen Carry Trade 

 

เรายังคงแนะนำให้ทยอยสะสม โดยยังเน้นการลงทุนหุ้นในกลุ่ม Quality Growth และกลุ่ม Defensive ที่จะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในกรณีที่เกิด Soft Landing

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดี นำโดยภาคการบริโภค โดย GDP ใน 2Q24 ถูกปรับประมาณการรอบสุดท้ายสู่ระดับ 3%QOQ SAAR ซึ่งสูงกว่าการเติบโตที่เป็นเทรนด์ระยะยาวของสหรัฐฯ และสูงกว่าที่ตลาดคาดมาก 

 

ขณะที่ตัวเลข Jobless Claim ที่ออกมาน้อยกว่าคาดยังคงช่วยลดความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย เรายังคงเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ้ม Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive 

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราคาด BOE และ ECB จะลดดอกเบี้ยครั้งถัดไปในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมนี้ ตามลำดับ 

 

โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรป ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศสยังมีอยู่ หลังพรรคฝ่ายซ้ายจัด NFP เตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ฝรั่งเศส ในการเปิดประชุมสภาวันที่ 1 ตุลาคม อาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ดัชนีฯ อยู่ก็ตาม

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ตลาดหุ้นจีนตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ PBOC และรัฐบาลกลาง ทั้งรูปแบบของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดยดัชนีทั้ง A-Share และ H-Share ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.5% และ 14.4% ตามลำดับ โดยตลาดคาดหวังว่าจะมีนโยบายการคลังทยอยออกมาหลังวันหยุดช่วงวันที่ 1-7 ตุลาคมนี้ 

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลงจากฐานสูง สินเชื่อที่เติบโตช้า และการรัดเข็มขัดทางการคลังที่จะเริ่มส่งผลในช่วง 2H24 

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2H24 นำโดยกลุ่มการบริโภคในประเทศและกลุ่มการเงิน ขณะที่ Valuation ทั้ง FWD P/E และ P/BV ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

 

หุ้นอินเดีย

 

เรามีมุมมองระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้นจากการขยายตัวของ GDP ที่มีทิศทางชะลอตัวลง โดย GDP ใน CY2Q24 ขยายตัว +6.7%YoY ชะลอตัวลงจาก +7.8%YoY ใน CY1Q24 ขณะที่กำไรของ บจ. ถูกปรับประมาณการลง โดยได้รับแรงกดดันจากกำไรที่ตกต่ำในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ 12 M FWD P/E ของดัชนี MSCI India ยังคงอยู่ที่ 24.5 เท่า (+2.4 SD) สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าตลาด MSCI ASIA ตัวอย่าง Japan ราว 92% (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 54%) นอกจากนี้ 7 ใน 17 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมี Valuation ที่สูงกว่า +2.0 SD อย่างไรก็ดี โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีมีการอ่อนตัว

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 

 

1. เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่ขยายตัวดีราว 7.1%YoY ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BI โดยเราคาดว่า BI จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วง 4Q24 อีก 50 bps 

 

2. FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ในช่วง 2Q24 +16.6%YoY 

 

3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 2H24 

 

4. Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง 

 

5. ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าจากผลตอบแทนพันธบัตร BI ที่อยู่ในระดับสูงราว 7.0% ซึ่งจะช่วยดึงเงินไหลเข้า

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจาก Sentiment ของนักลงทุนที่ดีขึ้น หลังทางการออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งนโยบายการเงิน การคลัง การเยียวยาอสังหา และการส่งเสริมตลาดทุน ซึ่งจะช่วยทำให้ความเสี่ยงที่ GDP Growth ในปีนี้จะขยายต่ำกว่าเป้าที่ราว 5% มีน้อยลง ประกอบกับเรายังคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีนใน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้นผ่านการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้น

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก 

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ 

2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง โดยลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น 

3. เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำ เริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และ US Bond Yield ที่ปรับลดลงจากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ยังสนับสนุนราคาทองคำให้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 30 ก.ย. 2024

READ MORE



Latest Stories