- ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 1.6% ในสัปดาห์ก่อน ทั้งฝั่ง EM และ DM หลังผลประกอบการของกลุ่มเทคโนโลยีที่ออกมาไม่สดใสอย่างที่ตลาดคาดหวัง
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า งบกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดีในไตรมาส 3 แต่ด้วยความคาดหวังที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวน
- สำหรับหุ้นไทยช่วงสั้นมอง SET มีโอกาสฟื้นตัวจากระดับ 1,450 จุด โดยปัจจัยขับเคลื่อนคือผลประกอบการไตรมาส 3 แต่ความผันผวนของค่าเงินและ Fund Flow ที่ยังไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียยังเป็นแรงกดดันต่อ Upside ของ SET ที่ 1,500 จุด
- อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนทั่วโลกคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง จะทำให้ความผันผวนสูงขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นโลกปรับลดลงหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ตลาดกังวลว่าโอกาสในการลดดอกเบี้ยอาจลดลง พร้อมด้วยความผันผวนของตลาดเพิ่มขึ้นหลังเข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ ผลโพลยังสูสีระหว่าง 2 ผู้สมัคร นำไปสู่การขายลดความเสี่ยง
ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบกว่า 1 ปีและสูงกว่าคาด ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/24 ของสหรัฐฯ ขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย แต่ยังคงแข็งแกร่งหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวดี เงินเฟ้อ PCE เดือนกันยายนชะลอตัวลงสู่ 2.1% ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่สหรัฐฯ (JOLTS) เดือนกันยายนลดลงสู่ 7.4 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาด
ด้านหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) อ่อนตัวลงเช่นกัน กดดันจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อ และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกดดันจากฝั่งเอเชียเหนือทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนกลุ่มเทคโนโลยีสูง ด้านตลาดหุ้นจีนทรงตัวรอการประชุม NPC ในสัปดาห์หน้า ที่มีข่าวว่ารัฐบาลมีแผนอัดฉีดงบประมาณเพิ่มอีก 10 ล้านล้านหยวน
ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนฟื้นขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์จากแรงกดดันจากการส่งออกที่ต่ำกว่าคาดและปัจจัยการเมืองในประเทศ แต่ได้แรงหนุนจากการเข้ามาซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ราคาน้ำมันลดลงหลังอิสราเอลหลีกเลี่ยงการตอบโต้โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่าน ก่อนจะเริ่มฟื้นในช่วงปลายสัปดาห์
หุ้นเทคกำไรแย่กว่าที่คาด กดดันหุ้นทั่วโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 1.6% โดยตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ลดลง 1.4% และตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market) ลดลง 1.6% อิงจากราคาปิด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2024
ซึ่ง บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ตลาดได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่า ส่งผลให้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยอาจจะน้อยกว่าที่ตลาดคาด รวมไปถึงผลประกอบการของกลุ่มเทคโนโลยีที่ออกมาแล้วไม่สดใสอย่างที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนั้นความกังวลที่อิหร่านวางแผนจะโจมตีอิสราเอลก็กดดันตลาดอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 3.5% จากความกังวลเกี่ยวกับการทุ่มเงินลงทุนใน AI มากกว่าที่คาด ส่วนหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ปรับตัวลดลง 1.6% จากผลประกอบการของ Eli Lilly ที่ต่ำกว่าที่คาด ในขณะที่กลุ่มธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากเศรษฐกิจที่ไม่ได้แย่อย่างที่คาดและดอกเบี้ยจะไม่ปรับตัวลดลงเร็ว
สัปดาห์นี้ติดตามผลประกอบการ Marriott, NXP, Palantir, Yum Brand, SMCI, CVS, Gilead Sciences, Albemarle, Qualcomm, Moderna, Expedia, Fortinet, Akamai, Monster Beverage, BMW, Enel, Ferrari, Deutsche Post, SMIC, Kakao, Zalando, Vestas Wind System, Novo Nordisk และ Orsted
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Earning Play สำหรับการเก็งกำไรระยะสั้น โดยหุ้นที่คาดว่าจะประกาศกำไรไตรมาส 3 ออกมาเติบโตดีเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เลือก TIDLOR, CPAXT, TU, BCH, MTC, CBG และ WHA
- หุ้น Global Play คาดว่าระยะสั้นยังได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าและผลประกอบการยังฟื้นตัวต่อเนื่อง เลือก KCE, TU, MINT และ AOT
- หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุน เลือก BBL, ADVANC, HMPRO และ BCP
- สำหรับนักลงทุนที่ยังกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางและต้องการหุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET มีโอกาสฟื้นตัวจากระดับ 1,450 จุด ทั้งนี้ มองตัวเลขเงินเฟ้อจีนจะออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้จีนอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้น รวมไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดว่าจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ อาจมีความผันผวนสูงหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยในประเทศน่าจะถูกขับเคลื่อนด้วยผลประกอบการไตรมาส 3 ของ บจ.ไทย เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี ความผันผวนของค่าเงินและ Fund Flow ที่ยังไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยังเป็นแรงกดดันต่อ Upside ของ SET ที่ 1,500 จุด” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การเลือกตั้งสหรัฐฯ วันที่ 5 พฤศจิกายน
- การประชุม FOMC วันที่ 6-7 พฤศจิกายน คาดลดดอกเบี้ย 0.25%
- การประชุมสภาประชาชนจีน (NPC) วันที่ 4-8 พฤศจิกายน
- เงินเฟ้อของไทยเดือนตุลาคม คาด 1.2%
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: WHA - ได้ประโยชน์จากกระแส Data Center
แนะนำ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำการให้บริการแบบครบวงจรด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตที่ดี โดยแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์, ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล
- มองเป็นหนึ่งในผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากกระแสการขยายตัวของธุรกิจที่เป็นคลื่นลูกใหม่ เช่น Data Center อีกทั้งได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและขยายการลงทุนจากทั่วโลกมาไทยเนื่องจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กำไรเติบโตได้ราวปีละ 13-16% ในปี 2024-2025
- ไตรมาส 3 คาดว่ากำไรสุทธิ 727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8%YoY และไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ แรงหนุนจากการรับรู้รายได้จาก Backlog ส่วนปี 2024 คาดว่ากำไรเติบโต 12.7%YoY และโตต่อ 16.2%YoY ในปี 2025 หนุนด้วย Backlog และ FDI
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 6.60 บาท อิงวิธี PER เฉลี่ย 7 ปีที่ 17 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงวัฏจักรกำไรของบริษัท และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.21 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลราวปีละ 3.7%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีใหญ่เผย งบไตรมาส 3 ดีกว่าคาด แต่มีแนวโน้มค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการลงทุน AI ทำให้ตลาดตอบสนองในทิศทางต่างกันโดย
- เชิงบวก ได้แก่ AMZN และ GOOGL หลังมีความคาดหวังต่ำและรายได้โตกว่าค่าใช้จ่าย
- เชิงลบ ได้แก่ META และ MSFT หลังกังวลแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัว รวมถึง AAPL ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอแม้งบดีจากฐานต่ำ ขณะที่เรายังชอบ AMZN, GOOGL และ MSFT ที่มีภาพการฟื้นตัวและการเติบโตที่ดีอยู่
- META งบโตดีกว่าคาด หนุนจากรายได้โฆษณาที่ฟื้นตัวดีและการพัฒนา AI อย่างไรก็ดี การเติบโตของผลประกอบการถูกจำกัดจากธุรกิจ Reality Labs ที่ยังคงขาดทุน 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มต่ออย่างมีนัยสำคัญในปี 2025
- MSFT งบโตดีกว่าคาด หนุนจากกลุ่มคลาวด์ที่เติบโตดี โดยเฉพาะ Azure ที่โต 34% ซึ่งเป็นผลจากการเติบโต AI ราว 12% นอกจากนี้ธุรกิจอื่นๆ โตดีเพราะได้อานิสงส์จาก AI เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี คาดการณ์คลาวด์โตชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 4
- AAPL มีรายได้โตดีกว่าคาด หนุนจากการออก iPhone 16 ใหม่ที่มีฟีเจอร์ AI Intelligence และฐานการเติบโตที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ความต้องการผู้บริโภคถือได้ว่ายังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก โดยเฉพาะจีนที่มีแรงกดดันจากการแข่งขันของ HUAWEI และ Xiaomi
- Amazon เผย งบและคาดการณ์ดีกว่าคาด หนุนจากการเติบโตในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะคลาวด์และ Ads ที่โตราว 20%YoY นอกจากนี้มองว่าค่าใช้จ่ายในปี 2024-2025 เพิ่มขึ้นมาก แต่ด้วยแผนควบคุมต้นทุนที่ดี ทำให้การเติบโตรายได้และกำไรสูงกว่าค่าใช้จ่าย
เรามองว่างบกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดีในไตรมาส 3 แต่ด้วยความคาดหวังที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวน ขณะที่ในระยะถัดไปเราประเมินว่า
- ค่าใช้จ่ายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกดดันการลงทุนในระยะสั้นเท่านั้น หลังเป็นการลงทุนเพื่อเสริมความแกร่งธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพในระยะยาว
- อุปสงค์ AI ยังแกร่ง โดยเฉพาะคลาวด์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตรายได้ต่อเนื่อง
- มองกลุ่มโฆษณาและเทคโนโลยีจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่จะทำให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ในกลุ่มนี้เราชอบ MSFT, AMZN และ GOOGL
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
เงินสด / สภาพคล่อง มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังตัวเลข PCE สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้สภาพคล่องรวมถึงเงินสดยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดภายในตะวันออกกลางที่ยังดำเนินต่อ
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะปรับเพิ่มความชันแบบ Bear Steepener (ตัวยาวเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวสั้น) ต่อยังมีอยู่ โดยเฉพาะหากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ผลออกมาว่าพรรครีพับลิกันครองสภาคองเกรส และเตรียมผลักดันแผนใช้จ่ายการคลัง (ออก UST ตัวยาวเพิ่มมากขึ้น) โดยที่ Bond ตัวยาว (>7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงปรับตัวขึ้น ในขณะที่ Bond ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่มากเพียงพอ จึงทำให้ตราสารหนี้ตัวสั้นยังมีความน่าสนใจในการถือลงทุน เพื่อรับ Coupon Income และยังคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงาน ออกมาต่ำกว่าคาด
US Treasury & IG
10Y UST Yield ช่วงเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ดีกว่าคาด ซึ่งช่วยหนุนแนวโน้ม Soft Landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และลดความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยที่มากของ Fed ในระยะถัดไป ประกอบกับความกังวลยอดขาดดุลการคลังที่แย่ลงผ่านการออก UST ที่มากขึ้น หากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งและครองสภาคองเกรส / แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG (ซึ่ง Net Margins และสถานะด้านสภาพคล่องยังคงดี) โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield ในกรอบ 4.1-4.7% ซึ่ง Yield เฉลี่ยยังสูงกว่า ประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 2.9% เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
แม้เดือนตุลาคม UST Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ US HY มีผลตอบแทนรวมติดลบเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการแคบลงของ Spread ซึ่งสะท้อนว่า
- US HY LTM Default Rate ที่ทยอยลดลง ล่าสุดอยู่ 1.39%
- จำนวน HY Issuers ที่ถูก Upgrade มากกว่าที่ถูก Downgrade
- ความผันผวนของตลาด US HY ที่ยังต่ำ
- Maturity Wall ปี 2025 ยังไม่น่ากังวล โดยที่มียอดครบกำหนดเพียง 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับของปี 2026 ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่แพงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปี จึงทำให้ Upside ของ US HY มีค่อนข้างจำกัด
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปแบบกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
- Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้งในไตรมาส 4 ครั้งละ 0.25% รวม 0.5%
- Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94%
- กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
- งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต
- Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนี SET ได้ปัจจัยหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากโครงการแจกเงิน 10,000 บาท การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนตุลาคม
- การประกาศแผนลงทุนในไทยของ NVIDIA ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้าน Data Center และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีนี้
- ผลประกอบการ บจ. มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
- ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าจะช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมีการปรับพอร์ตลดความเสี่ยงรอดูผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
เรามองว่าการที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยไม่เกิด Recession จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับที่สูง (นำโดยหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย) ทำให้ผลตอบแทนอาจต่ำกว่า Soft Landing ในรอบก่อนๆ
ประกอบกับใกล้เลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น การรายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ และยุโรปที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แต่อาจออกมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ หากตลาดมีการปรับฐานเรายังคงแนะนำ Stay Invested หุ้นในกลุ่ม Quality Growth และ Defensive สหรัฐฯ
หุ้นสหรัฐฯ
แม้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดจะแผ่วลงมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวแบบ Soft Landing ยังมีอยู่ ตาม GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ยังขยายตัวดีอยู่ที่ +2.8%QoQ ต่อปี และ PCE เดือนกันยายนลดลงอยู่ที่ +2.1%YoY
ขณะที่การทยอยรายงานผลประกอบการของ S&P 500 ในไตรมาส 3 พบว่า โดยเฉลี่ย บจ.สหรัฐฯ ที่รายงานแล้ว มี EPS Surprise ที่ +7.8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.8% และอาจช่วยหนุนให้ Consensus ทยอยปรับประมาณการ EPS ทั้งปี 2024 ดีขึ้นตาม โดยเรายังเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม Quality Growth ผสมผสานหุ้นกลุ่ม Defensive
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรปที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจในฝรั่งเศสและอิตาลี (หลังนายกฯ เสนอแผนขึ้นภาษีและ Fitch Ratings ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสลงสู่ ‘เชิงลบ’ จาก ‘มีเสถียรภาพ) รวมทั้งข้อพิพาทการค้ากับจีน (หลังจีนบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวต่อการนำเข้าบรั่นดีจาก EU)
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
เงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชีย (ไม่รวมจีน) ส่วนใหญ่ หลังคะแนนเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ นำ คามาลา แฮร์ริส สร้างความกังวลต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และสกุลเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้น
ตลาดหุ้นจีนยังได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ทั้งระยะ 1 และ 5 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าทางการจะมีการออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมในการประชุม NPC ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอลง ขณะที่รายงานกำไรของ บจ. มีแนวโน้มออกมาน้อยกว่าคาดและอาจถูกปรับประมาณการลง ท่ามกลาง Valuation ที่แพงกดดันดัชนีระยะสั้น
หุ้นอินเดีย
เรามีมุมมองระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้นจากการขยายตัวของ GDP ที่มีทิศทางชะลอตัวลง โดย GDP ในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ +6.7%YoY และเริ่มส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดย EPS ในไตรมาส 3 มีแนวโน้มออกมาน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และ EPS ในปี 2024 มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง
นักลงทุนต่างชาติโยกเงินลงทุนออกจากอินเดียนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางอินเดียอาจยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยปีนี้หลังเงินเฟ้อเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Valuation ของดัชนียังอยู่ในระดับที่แพง อย่างไรก็ดี โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีมีการอ่อนตัว
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวดี นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ อาหาร ศักยภาพแรงงาน และการลงทุนมากขึ้น
- แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) โดยเราคาดว่า BI จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 4 อีก 0.5% จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
- FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ในไตรมาส 2 ขยายตัว +16.6%YoY
- กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง
- การเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภค
- Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง
หุ้นจีน
ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการตั้ง Swap Facility เพื่อหนุนการซื้อหุ้น และ Re-Lending Facility เพื่อหนุนการซื้อหุ้นคืน รวมทั้งบนความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นการคลังเพิ่มเติมในการประชุม NPC Standing Committee ในสัปดาห์นี้ หลัง Reuters รายงานว่า ทางการจีนพิจารณาที่จะอนุมัติการออกพันธบัตรพิเศษวงเงินกว่า 10 ล้านล้านหยวนสำหรับช่วงไม่กี่ปีนี้ในการประชุมข้างต้น ขณะที่ PMI ภาคการผลิตจีน โดยสำนักงานสถิติ เดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาวเนื่องจาก
- เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และประเทศหลักๆ ที่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง โดยลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศและสะสมทองคำมากขึ้น
- เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำ เริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นด้วยสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ปรับขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ