ตลาดหุ้นโลกปรับลดลงจากความกังวลต่อท่าที่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน รวมไปถึงยุโรป รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายหลังจากข้อมูลเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัว จากยอดขายบ้านหดตัวแรงกว่าคาด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำกว่าคาด และตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด
นอกจากนั้นสหรัฐฯ เตรียมออกกฎหมายควบคุมส่งออกชิปไปจีน เพื่อลดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน กดดันหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ โดย Nvidia แม้จะประกาศงบไตรมาส 4 และคาดการณ์ไตรมาส 1 ดีกว่าคาด แต่ราคาหุ้นกลับอ่อนตัวลงสะท้อนความกังวลต่อนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายในจีน ทำให้กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 5.6% ส่วนหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลดลง 3% เป็นผลจากกำลังซื้อและยอดขายกลุ่มยานยนต์ที่อ่อนแอ
ด้านตลาดหุ้นยุโรปมีทั้งแรงหนุนจากความชัดเจนจากผลการเลือกตั้งในเยอรมนี อย่างไรก็ตามแรงกดดันที่มาจากประเด็นสงครามการค้าหลังทรัมป์ส่งสัญญาณจะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และสินค้าอื่นๆ จากยุโรปในอัตรา 25% แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
ตลาดหุ้นจีนที่ได้ปัจจัยบวกจากความคาดหวังด้านเศรษฐกิจในการประชุม สภาประชาชนแห่งชาติประจำปีในวันที่ 5 มีนาคม ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับลดต่อเนื่องกดดันจากทิศทางผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาด อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากกระแสเงินไหลออกจาก ภูมิภาคต่อเนื่อง แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยเหนือความคาดหมายของตลาด ด้านราคาน้ำมันอ่อนตัวลงจากความกังวลอุปสงค์ชะลอตัว กดดันจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น
เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอ กดดันการค้าโลก
PMI ล่าสุดทั้งจากสหรัฐฯ และยูโรโซนกำลังส่งสัญญาณยืนยันภาวะ Soft landing โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ดัชนี PMI ภาคบริการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ส่วนในยูโรโซน ดัชนี PMI รวมทรงตัว เยอรมนีฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ฝรั่งเศสชะลอตัวอย่างรุนแรง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะเป็นผลดีต่อการควบคุมเงินเฟ้อและช่วยให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ก็จะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายภาษีของทรัมป์กำลังกระทบความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ และเมื่อประกอบกับโอกาสการยุติสงครามรัสเซียยูเครนที่มากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันลดลง โดยล่าสุดน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 72.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 83.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานลดลง แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า
ขณะท่ีการลดดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งนี้สะท้อนการยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดไว้ โดยเป็นผลจากทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมและแรงกดดันจากรัฐบาล ภาคเอกชน และข้อเสนอแนะจาก IMF
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการหดตัวของสินเชื่อ SMEs และคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมลง
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนตุลาคม เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยืนยันแนวโน้มการชะลอตัว และผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะกดดันการส่งออกของไทยมากขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Earnings Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไรไตรมาส 4 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU, HTC
- หุ้น Undervalued สำหรับลงทุนใน SET 100 เลือก CPALL, BDMS, MTC, MINT, BTG
- หุ้น Dividend Play ซึ่งมี Div. Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, KBANK, BBL, PTT, SPALI
- Trading Idea: 1) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาลง แนะนำ กลุ่ม REITs (LHHOTEL, DIF) กลุ่มค้าปลีก (CPALL, CPAXT) กลุ่มอสังหา (AP, SIRI) กลุ่มธนาคาร (TISCO, KKP) กลุ่มเช่าซื้อ (MTC, TIDLOR) และกลุ่มไฟฟ้า (GULF, GPSC) 2) หุ้นที่คาดได้ Sentiment บวกจากงาน Opp.Day ซึ่งคาดจะมีโทนประชุมเป็นบวกในสัปดาห์หน้า อย่าง CPALL, BCP, AMATA, KLINIQ
“มอง SET ฟื้นตัวจำกัด ทั้งนี้มองว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากความกังวลเสถียรภาพทาง
การเมืองในประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำและฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดีหากเปรียบเทียบ Valuation จะพบว่า ระดับ PER ของ SET ที่ 12-13 เท่า ดูสูงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่สัดส่วนของภาคบริการของไทยมีมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอตัวลง แต่จะได้รับแรงหนุนจากการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เช่นเดียวกันกับ ธนาคารกลาง ECB ส่วนภาพเศรษฐกิจจีนยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการของรัฐ” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
สัปดาห์หน้าต้องติดตาม
- อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนกุมภาพันธ์
- การประชุมนโยบายการเงินของ ECB
- การเปลี่ยนแปลงและความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ และท่าทีตอบโต้ของประเทศอื่นๆ
- การประชุมสองสภาของจีนระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BTG ปี 2025 คาดกำไรเติบโตดีสุดในกลุ่ม
แนะนำ บมจ.เบทาโกร หรือ BTG เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรชั้นนำในไทย โดย
ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุกรและสัตว์ปีก ไข่ไก่ อาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟาร์ม
- ไตรมาส 1 ปีนี้คาดกำไรปกติจะเติบโตทั้งจากปีก่อน และจากไตรมาสก่อน หลังราคาสุกรในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองลดลง อีกทั้งจะรับรู้กำไรส่วนเพิ่มจากการเข้าซื้อกิจการไข่ไก่ในประเทศสิงคโปร์ที่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา ขณะที่ทั้งปี 2568 คาดมีกำไรปกติ 3.78 พันล้านบาท เติบโต 59% จากปีก่อน
- มองราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นเนื่องจากกำไรปีนี้จะเติบโตแข็งแกร่งสุดในกลุ่มอาหาร ขณะที่มูลค่าไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PER และ PBV ปี 2568 ที่ 9.5 เท่า และ 1.2 เท่า ตามลำดับ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
- เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2568 ที่หุ้นละ 23.50 บาท และมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2567 หุ้นละ 0.50 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 11 มีนาคม คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนราว 2.6%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ภาพรวมตลาดสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้มีแรงกดดันจากนโยบายภาษีทรัมป์และการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลกระทบต่อ Nvidia สะท้อนผ่านราคาที่ปรับตัวลงถึงแม้ว่าผลประกอบการจะออกมาเติบโตดีกว่าคาด
ประกอบกับการลงทุนใน Data center ของกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยภาพนี้ทำให้เราเชื่อว่า Microsoft, Amazon.com, Google, Meta รวมถึง Nvidia ยังมีตำแหน่งธุรกิจที่ดีที่ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ AI และ Data Center ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
Nvidia เผยงบเติบโตแกร่งและดีกว่าคาดหนุนจากรายได้กลุ่ม Data center หลังความต้องการชิป Blackwell และ AI ที่แกร่ง โดยเฉพาะจากบริษัทเทคใหญ่ เช่น Microsoft และ Meta อย่างไรก็ดีตลาดตอบสนองเชิงลบหลังมีความกังวลจาก
1) ข้อจำกัดด้านการส่งออกชิปของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้นซึ่งอาจทำ
ให้รายได้จากจีนลดลง
2) แนวโน้มการปรับลดงบลงทุน (CapEx) ของกลุ่มเทคฯใหญ่หลังประเด็น DeepSeek และรายงานข่าว Microsoft ได้ยกเลิกสัญญาเช่าศูนย์ข้อมูลจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ดีบริษัทเผยยังคง CapEx และปริมาณการลงทุนใน AI ระดับเดิม
ขณะที่เรายังไม่เห็นสัญญาณการปรับลด CapEx ของกลุ่มเทคใหญ่และยังคงเห็นการลงทุนในการพัฒนา AI ต่อเนื่อง
ด้าน Amazon.com เผยกำลังลงทุนอย่างมากในการปรับปรุง Alexa ด้วย AI และอุปกรณ์เสริมใหม่ รวมถึงมองหาการสร้างรายได้จาก Alexa ผ่านการสมัคร
สมาชิก ขณะที่ Amazon Cloud สร้างชิปควอนตัมคอมพิวเตอร์ “Ocelot” ที่มีศักยภาพในการลดต้นทุนที่จำเป็นลงราว 90%
ส่วน Meta วางแผนเปิดตัวแอปพลิเคชันแชตบอต Meta AI แยกออกจากแอปพลิเคชันอื่นในไตรมาส 2 เพื่อแข่งขันกับ ChatGPT และแชตบอต AI อื่นๆ โดยตั้งเป้าผู้ใช้งานราว 1 พันล้านคน ขณะที่ Apollo Global Management กำลังหาเงินทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับ Meta เพื่อช่วยพัฒนาศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ โดย META ยังคงเป้าลงทุน AI และ Data Center ที่ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์
Apple เผยแผนการลงทุน 5 แสนล้านดอลลาร์ ในสหรัฐฯ ช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยอุตสาหกรรมที่เน้นลงทุนคือ AI, วิศวกรรมซิลิคอนและการผลิตขั้นสูง
ในภาพรวม บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่า
- ภาพการลงทุน AI และ Data Center ที่เพิ่มขึ้นยังเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าอุปสงค์ AI มีแนวโน้มดีอยู่ ในส่วนการยกเลิกค่าเช่าของ Microsoft มองเป็นการปรับแผนกลยุทธ์ในระยะสั้นเท่านั้นเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น นโยบายของทรัมป์ พร้อมมองหุ้นกลุ่มชิปประมวลผล เช่น Nvidia และโรงไฟฟ้ายังได้รับประโยชน์จากภาพนี้
- เราประเมินมาตรการคุมเข้มเซมิคอนดักเตอร์ไปจีนของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อ Nvidia ราว 13% หลังเป็นสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 4 ที่มาจากจีนเมื่อเทียบกับรายได้รวม และเชื่อว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงไปรับรู้ประเด็นนี้ไปพอสมควร รวมถึงเชื่อว่าแนวโน้ม AI ที่โตจากส่วนอื่นสามารถชดเชยได้ ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่าราคาหุ้น
ที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสในการเก็งกำไรใน Nvidia พร้อมคาดหวังการเติบโตที่มาจาก AI ต่อเนื่อง
- มอง AI ยังเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตกลุ่มเทคอย่าง Microsoft Amazon Google และ Meta ที่ช่วยเสริมระบบนิเวศและการสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังทำให้มีการใช้งานทางธุรกิจจริงเพิ่มขึ้น
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน สงครามในยูเครน และข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศ โดยล่าสุดทรัมป์ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกตามกำหนดเดิมที่เคยระบุไว้ และสหรัฐฯ จะเพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตัวยาวจะกลับมาเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ ตามที่มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น หลังสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ผ่านร่างงบประมาณที่รวมแผนลดภาษี และเพิ่มเพดานหนี้ แต่ตัดงบด้านสวัสดิการ โดยคณะกรรมการดูแลงบประมาณของรัฐบาลกลาง (CRFB)
คาดร่างข้างต้นจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปี ขณะที่ความเสี่ยงแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่ทยอยออกมามากขึ้น อาจยังทำให้ Fed ระมัดระวังในการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในระยะสั้น ทั้งนี้บอนด์ตัวสั้น มีความเสี่ยง duration ต่ำ และมี coupon ที่สูงมากพอ จึงทำให้ยังมีความน่าสนใจลงทุน
U.S. Treasury & IG
UST yield มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ตามที่ทรัมป์ ระบุว่า สหรัฐฯ จะเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก และจะเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 10% ต่อสินค้าจากจีน โดยมีผลวันที่ 4 มีนาคม แม้ความหวังว่า Fed จะชะลอการทำ QT จนกว่าปัญหาเพดานหนี้จะได้รับการแก้ไข รวมถึง ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน ทั้งนี้ แนะนำลงทุน UST และ US IG bond โดยเน้น duration สั้น ที่ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed
High Yield Bond
US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวก จาก
1) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ 12 เดือนย้อนหลังของ US HY ยังต่ำอยู่ที่ 3.8% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับของ US Leveraged loan ที่ 7.1%
2) สัดส่วนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดีขึ้น มีแนวโน้มสูงกว่า หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตแย่ลง
3) การ leverage (Net debt to EBITDA) ที่ยังต่ำ
4) หุ้นกู้ HY ที่ครบกำหนดในปี 2568 ไม่สูงมาก อยู่ที่เพียง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ด้วย US HY spread ที่อยู่ต่ำมาก และ USY yield ตัวยาว ที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ อาจทำให้ upside ของ HY จำกัด
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs เป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed – Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง Occupancy Rate อยู่ในระดับสูงราว 94% กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) เติบโตต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มดีขึ้น จากต้นทุนการเงินที่ลดลง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวม 0.5% ภายในสิ้นปี 2568 ส่วนงบดุลที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตในอนาคตได้ และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง เทียบค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้น จากนโยบายทรัมป์และเงินเฟ้อหนืด
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตอัตราที่ชะลอลงแบบจัดการได้ (soft landing) อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (first lien seniority)
หุ้นไทย
ดัชนี SET ได้รับปัจจัยกดดันในระยะสั้นจาก
1) ความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์
2) ประเด็นด้านความเชื่อมั่นตลาดทุนจากความกังวลด้านธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไทย
3) แรงขายกองทุนรวม LTF ที่ออกมาต่อเนื่อง
4) ความกังวลต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้
อย่างไรก็ดี เราคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ที่ทยอยออกมา จะช่วยหนุนโมเมนตัมเศรษฐกิจครึ่งปีแรก นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาแผนการจัดตั้งกองทุน Thai ESG ใหม่ ซึ่งจะช่วยชะลอแรงขาย LTF ดังนั้น เราจึงแนะนำให้เลือกลงทุน โดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีธรรมาภิบาลที่ดี
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนบนนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มีมากขึ้น แต่ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกำไรที่ยังขยายตัวดี และเป็นวงกว้าง ส่วนหุ้นยุโรป ได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของ ECB จากผลการเลือกตั้งเยอรมนี ที่จะช่วยหนุนแนวโน้มการใช้จ่ายการคลังในเยอรมนี และจากความหวังการยุติสงครามในยูเครน ที่จะช่วยลดต้นทุนพลังงาน แม้ยุโรปยังเผชิญความเสี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะบนรถยนต์ ขณะที่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ได้รับอานิสงส์จากเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่กลับมา และจากการปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่น แม้ผลลบจากเงินเยนที่กลับมาแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี และข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ อาจกดดันโมเมนตัมกำไรก็ตาม
หุ้นสหรัฐฯ
Consensus คาดว่า S&P500 EPS ในปี 2568 และปี 2569 จะเพิ่มขึ้น +10% และ +14% จากปีก่อน ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มเติบโตเป็นวงกว้างขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังของตลาดต่อแนวโน้มที่รัฐบาลทรัมป์ จะผลักดันแผนลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ นอกจากนี้ กระแส AI ในสหรัฐฯ ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบจ.ในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้น อาจสร้างความกังวลต่อแนวโน้ม GDP สหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดัน P/E และจำกัดการปรับ EPS ดีขึ้น นอกจากนี้ แรงขายหุ้น Nvidia ที่เพิ่มขึ้นยังสร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการชิปสำหรับ AI ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้เล่นใหม่อย่าง DeepSeek
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ neutral rate ที่ 2% ขณะที่ Valuation ของดัชนีน่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งเยอรมนี มีแนวโน้มเพิ่ม sentiment เชิงบวกต่อประเด็นการขยายเพดานหนี้ debt brake ขณะที่ พัฒนาการเชิงบวกบนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งผลบวกระยะยาว อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้า 25% บนกลุ่มยานยนต์และสินค้าหลักอื่นๆ ที่สหรัฐฯ กล่าวว่า จะประกาศอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ซึ่งจะกระทบต่อ
หุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก
1) ความคาดหวังการผ่านร่างงบสำหรับปีงบประมาณถัดไป
2) การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่น ที่จะหนุน ROE และ P/BV ของตลาด
3) ความคาดหวังการเพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นญี่ปุ่น จากกองทุนบำเหน็จบำนาญ
4) แรงซื้อหุ้นจากรายย่อย ผ่านโครงการ new NISA และ EPS ที่เติบโตดี ตามเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่กลับมา แม้ว่า ผลกระทบทางลบจากเงินเยนที่กลับมาแข็งค่า YTD และความเสี่ยงข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ อาจกระทบ EPS หุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มยานยนต์ ก็ตาม
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย ยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจาก
1) ความเสี่ยงบนแผนการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมา ซึ่งจะกดดันการค้าการลงทุน และหนุนเงินดอลลาร์
2) ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี ตลาดฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายของแต่ละประเทศ แม้ขนาดการผ่อนคลายการเงินอาจจำกัด ตามที่บางประเทศอาจกังวลความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ทั้งนี้ เรายังให้เน้นลงทุนในตลาดที่ยืดหยุ่น และเน้นอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดีย เผชิญแรงกดดันในระยะสั้นจาก
1) ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดคาดการณ์ GDP ในทั้งปี 2568 ลง
2) การอ่อนค่าของเงินรูปีเทียบเงินดอลลาร์
3) นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสุทธิหุ้นอินเดียต่อเนื่อง
4) Valuation ของตลาดยังตึงตัว อย่างไรก็ดี เราคาดตลาดยังได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของ RBI ในการประชุมล่าสุด และจากงบประมาณประจำทั้งปี 2568 ที่เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัด จากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ หลังล่าสุด สหรัฐฯ-อินเดีย จับมือยกระดับการซื้อขายยุทโธปกรณ์ และมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า
หุ้นอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ได้รับปัจจัยหนุนจาก
1) เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ FDI ที่เพิ่มขึ้น 33.3% จากปีก่อน โดย GDP ในช่วงไตรมาส 4 ขยายตัว 5.02% จากปีก่อน ดีกว่าตลาดคาดที่ 4.98%
2) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Prabowo ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค และ ก่อให้เกิดการจ้างงาน
3) ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจาก แนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2568 อีกราว 0.5%
4) Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม EPS ดัชนี ซึ่งถูกปรับประมาณการลงในช่วงต้นปีนี้ ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด รวมทั้ง ความกังวลต่อนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ ส่งผลกดดันดัชนีในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และจากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีน โดยให้จับตาการประชุม NPC ที่จะเริ่มต้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเราคาด ที่ประชุมจะเพิ่มเป้าขาดดุลการคลัง และเพิ่มโควตาการออกพันธบัตรพิเศษ
นอกจากนี้ ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนเพิ่มจากกระแส AI ในจีน หลัง DeepSeek เร่งเปิดตัวโมเดล R2 ให้เร็วที่สุด แม้ข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ จะเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 10% ต่อสินค้าจากจีน ในวันที่ 4 มีนาคม อาจสร้างความผันผวนต่อดัชนีก็ตาม
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
1) เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงคราม และ การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
2) ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง สนับสนุนการถือครองทองคำ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
3) เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
4) Fund Flow ของ ETF ที่ซื้อสุทธิทองคำต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิราว 18 ตัน ในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ ที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดัน และทำให้ราคาทองคำผันผวนในระยะสั้น
ภาพ: thitivong / Getty Images