- ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏมากขึ้นในหลายจุด โดยเฉพาะผลการดำเนินงานกลุ่มค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าคาด จากปัญหาต้นทุนการผลิตและค่าจ้างที่สูงขึ้น
- จับตารายงานการประชุม Fed ว่าจะส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัวเพียงใด รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อและความคาดหวังเงินเฟ้อจาก U of Michigan สหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางลดลงตาม CPI หรือไม่
- กลยุทธ์หุ้นไทยสัปดาห์นี้ คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก โดยชูหุ้น OSP เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น โดยในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวดีช่วงต้นสัปดาห์จากตัวเลขยอดค้าปลีกที่ดีเกินคาด แต่ปรับลดลงแรงปลายสัปดาห์จากผลประกอบการบริษัทค้าปลีกที่แย่ลงเพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ด้านเงินเฟ้ออังกฤษสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ความเสี่ยง Stagflation มีสูงขึ้น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจจีนแย่เกินคาดจากการล็อกดาวน์ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ดีเกินคาด แต่สภาพัฒน์ปรับประมาณการลงจากความเสี่ยงโลก
ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า สัปดาห์นี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏขึ้นในหลายจุด
- ภาคการบริโภคสหรัฐฯ ที่แม้ยอดค้าปลีกยังคงขยายตัวได้ดี (1%MoM, 8.2%YoY สูงกว่าคาดที่ 6.9%YoY) แต่ตัวเลขผลประกอบการของผู้ประกอบการด้านการค้าปลีกในสหรัฐฯ เช่น Target, Walmart และ Costco กลับปรับตัวลดลงจากปัญหาต้นทุนการผลิตและค่าจ้างที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้มากนัก บ่งชี้ว่าปัญหาซัพพลายเชนและเงินเฟ้ออาจเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป หากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกต้นทุนที่สูงขึ้นและต้องส่งผ่านไปยังลูกค้า
- เงินเฟ้ออังกฤษที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ 9% ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มองว่าอัตราเงินเฟ้ออาจปรับขึ้นถึงระดับ 2 หลักในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งระดับเงินเฟ้อที่สูงนั้น ทั้งผู้ว่าการฯ BOE และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ มองว่าเป็นปัญหาของโลก ซึ่งนโยบายการเงินการคลังอาจช่วยเหลือได้ไม่มากนัก นอกจากนั้นการที่อัตราว่างงานอังกฤษที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี ที่ 3.7% บ่งชี้ว่าการทำนโยบายการเงินการคลังตึงตัวเพื่อลดเงินเฟ้ออาจทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นตามความสัมพันธ์ของ Phillips Curve และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
- ตัวเลขเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว นั้นสะท้อนผลกระทบจากการล็อกดาวน์จากนโยบาย Zero-Covid ที่เรามองว่าภาครัฐจะยังไม่ยกเลิกนโยบายนี้ก่อนพิธีรับตำแหน่งสมัยที่สามของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ทำให้ปัญหาซัพพลายเชน รวมถึงการบริโภคภายในประเทศจะยังเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง
สัปดาห์นี้ต้องจับตารายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ว่าจะส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัวเพียงใด รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) และความคาดหวังเงินเฟ้อจาก U of Michigan สหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางลดลงตาม CPI หรือไม่ โดยตลาดมองว่า Core PCE อาจปรับลดลงเล็กน้อย (เหลือ 5% จาก 5.2%) ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อจะทรงตัวที่ 5.4%
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกยังอยู่ในช่วงปรับฐาน โดยปรับตัวลดลง 1.5% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 1% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง -1.8% โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขภาคการผลิตที่มีสัญญาณการชะลอตัวลง และผลประกอบการของหุ้นกลุ่มค้าปลีกสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด ส่งผลให้ตลาดกังวลกับแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ท่าทีของธนาคารกลางยังไม่เปลี่ยนแปลงที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว หุ้นกลุ่ม Value (-1.1%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-2%) หุ้นขนาดเล็ก (+0.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-1.7%) หุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% กลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 0.5% ในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลง 3.6% จากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และกลุ่ม Staples ปรับตัวลดลง 6.6% หลังผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของ Target และ Walmart อ่อนแอกว่าที่คาดและถูกปรับลดกำไรลง
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การเลือกตั้งของออสเตรเลีย
- ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนญี่ปุ่น
- ECB จะออกรายงาน Financial Stability Review ซึ่งธนาคารในยุโรปไม่น่าจะมีปัญหานี้
- รายงานการประชุม FOMC จับตาท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง
- ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Alibaba, Baidu, Costco, Dell, Dollar General, Gap, Nvidia, Pinduoduo, Singapore Telecom และ Zoom Video Communication
“ตลาดยังมีความผันผวนในทิศทางที่เป็นขาลง มองไปรอบด้านเรายังไม่พบสัญญาณของข่าวดีในระยะสั้น รวมถึงแนวโน้มของข่าวดีน่าจะเริ่มเห็นในช่วงปลาย 3Q22 ไปจนถึงช่วงต้นของ 4Q22 ดังนั้นจากช่วงปัจจุบันถึงช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีความไม่แน่นอนสูงและกำไรก็ยังไม่ได้ถูกปรับลดมากนักจากการเติบโตที่ชะลอตัวลง ทำให้ในช่วงนี้ที่เป็น Low Season ของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงก็จะทำให้ตลาดผันผวนสูง เรายังไม่ได้มองว่าจะเป็นรอบขาขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้
การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัดและหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น
คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANK, AMATA, LH, GULF, ADVANC หุ้นที่กำไร 1Q22 ดีเกินคาด และ 2Q22 โมเมนตัมกำไรดีต่อเนื่อง เลือก IVL, AMATA, MTC, CPALL
หุ้นที่กำไรผ่านจุดแย่สุดไปแล้วและจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q22 เลือก OSP ระมัดระวังหุ้นกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ โรงไฟฟ้า อสังหา บรรจุภัณฑ์ ที่มีโอกาสถูก Downgrade Earning จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังประกาศงบ 1Q65
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: OSP - พ้นจุดต่ำสุด...ก้าวสู่ช่วงฟื้นตัว
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยที่มีศักยภาพเติบโตและกระแสเงินสดดี โดยมีแบรนด์สินค้าหลักที่รู้จักกันดี เช่น M-150, ลิโพ, ซี-วิท, เบบี้มายด์, ทเวลฟ์ พลัส, ลูกอมโบตันและโอเล่ ฯลฯ
- ผ่านจุดต่ำสุดปีนี้ไปแล้วและกำไรจะเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง โดย 2Q22 คาดกำไรจะฟื้นตัวทั้ง YoY และ QoQ โดยได้ประโยชน์เต็มไตรมาสจากการปรับขึ้นราคาขาย M-150 จากขวดละ 10 บาท เป็น 12 บาท และตลาดส่งออกดีขึ้น อีกทั้งรับรู้ยอดขายจากสินค้าเครื่องดื่มใหม่ที่มีส่วนผสม CBD
- ปี 2022 คาดกำไรฟื้นตัว 18%YoY แม้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มแต่คาดถูกหักล้างได้ด้วยหลายปัจจัยบวก เช่น กำลังซื้อที่ฟื้นตัว มีแผนเปิดสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ และรุกธุรกิจต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแผนลดต้นทุนตามกลยุทธ์ ‘Fast Forward 10X’ โดยตั้งเป้าลดต้นทุน 5 พันล้านบาท ใน 5 ปี
- มองราคาหุ้น OSP กำลังเข้าสู่โหมดฟื้นตัวเช่นเดียวกับผลการดำเนินงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยราคาหุ้นปัจจุบัน OSP ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ -15.4% เทียบกับ SET ที่เพิ่มขึ้น 2.2% จากก่อนโควิดแล้ว
- เป็นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืนและมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 37 บาท พร้อมคาดจ่ายเงินปันผลจากกำไรปีนี้หุ้นละ 1.41 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังคงกดดัน Sentiment ตลาดฯ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักใน DM
อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ. ในกลุ่ม DM ใน 1Q22 ที่ดีกว่าคาด และนำไปสู่การทยอยปรับประมาณ EPS ทั้งปีนี้ดีขึ้น จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้นฯ ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลวิกฤตยูเครน และการที่ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม และจะเริ่มลดขนาดงบดุลในเดือนมิถุนายน
นอกจากนี้ หลังจากที่ CPI เดือนเมษายนออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้นักลงทุนยังจับตา Core PCE (รายงานวันที่ 27 พฤษภาคม) และเริ่มกังวลมากขึ้นว่า Fed อาจเร่งดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น จนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เรามองว่า EPS ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปีนี้ที่ยังถูกปรับประมาณดีขึ้นต่อ จะช่วยประคองตลาดฯ ไว้ได้
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
วิกฤตยูเครนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อภาคครัวเรือนและต้นทุนการผลิต ขณะที่ภาคการผลิตยังถูกกดดันจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาอุปทานที่แย่ลงจากการล็อกดาวน์ในจีน ประกอบกับแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของ ECB ที่ยังกดดันตลาดฯ อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามากจะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นดัชนีมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อและมาตรการล็อกดาวน์ของจีนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแผนที่จะเปิดประเทศในเดือนมิถุนายน
ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลัง GDP ใน 1Q22 หดตัว -1%QoQ จากที่ขยายตัว +3.8%QoQ ใน 4Q21 และการที่ญี่ปุ่นเข้าใกล้การเลือกตั้งสภาสูงในเดือนกรกฎาคมนี้
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน H-Share ดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ส่วนใหญ่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยกเว้นกลุ่ม Live Streaming ขณะที่ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า จะส่งเสริมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมการระดมทุนในตลาดหุ้น
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ และผลประกอบการ บจ. จีน โดยเฉพาะกลุ่ม Platform ที่ส่วนใหญ่อาจมีแนวโน้มทำจุดต่ำที่สุดในช่วง 2Q22 ตามผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ในจีน จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ โดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน A-Share ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ ขณะที่แม้ว่าเมืองเซี่ยงไฮ้เริ่มผ่อนคลายการคุมการระบาดบางจุดและจะยกเลิกล็อกดาวน์ในวันที่ 1 มิถุนายน แต่การที่มาตรการคุมการระบาดโดยรวมที่ยังดำเนินต่ออย่างน้อยก่อนถึงการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เดือนพฤศจิกายน จะยังกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสร้าง Sentiment เชิงลบต่อการลงทุนในหุ้นจีน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 5
ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยพักฐานจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจ (เห็นได้จาก GDP ใน 1Q22 ซึ่งออกมาดีกว่าคาด) และการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง ที่เน้นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะที่เรามองว่า Valuation ตลาดฯ สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตัวเองในอดีต ดังนั้นเราจึงแนะนำลงทุนบนตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ธนาคาร ท่องเที่ยว และสุขภาพเป็นหลัก
กองทุนแนะนำ
- SCB Dividend Stock Open End Fund
กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 5
ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับการคุมเข้มในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นกู้ และตลาดอสังหา แต่เราเชื่อว่าความกังวลดังกล่าวจะกดดันให้ตลาดหุ้นเวียดนามพักฐานเพียงช่วงสั้น และมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมตลาดหุ้นเวียดนาม เนื่องจากตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจและผลประกอบการ บจ. เวียดนามที่เติบโตดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดฯ ล่าสุด ที่อยู่ในระดับน่าสนใจอย่างมาก
กองทุนแนะนำ
- SCB Vietnam Equity Fund
กองทุน SCB Vietnam ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนาม และ/หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และ Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะใน 2Q22) ตามแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
อุปสงค์น้ำมันได้รับแรงกดดันจากมาตรการ Zero Covid ของจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน แม้ว่าเซี่ยงไฮ้วางแผนจะยุติมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ก็ตาม ด้านอุปทานน้ำมันยังคงตึงตัวจากการที่ EU เตรียมบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย และยูเครนปิดท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป
ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และกลุ่ม OPEC+ ยังเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด แม้ว่าความเสี่ยงเรื่องอุปทานน้ำมันที่อาจมากขึ้นจากเวเนซุเอลายังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าติดตามก็ตาม
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 5
REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs สิงคโปร์มีการยกเลิกมาตรการคุมโควิดเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และรัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะอันใกล้ รวมทั้งมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้มากขึ้น