- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกทรงตัวจากแรงกดดันในช่วงต้นสัปดาห์ จากข่าว AI จีน DeepSeek ที่ทำให้เกิดความกังวลต่อการพัฒนาหรือการลงทุนใน AI ในอนาคตว่าอาจไม่มากอย่างที่คาด
- FOMC มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย สะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น ด้านประธาน Fed ยืนยัน ไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสู่เป้าหมาย 2%
- อย่างไรก็ตาม บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังเชื่อว่าจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยลดในช่วงครึ่งปีแรก จาก 4 ปัจจัยสนับสนุน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกทรงตัวจากแรงกดดันในช่วงต้นสัปดาห์ จากข่าว AI จีน DeepSeek ที่ทำให้เกิดความกังวลต่อการพัฒนา หรือการลงทุนใน AI ในอนาคตว่าอาจไม่มากอย่างที่คาด เนื่องจาก DeepSeek จะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาต่ำกว่า AI อื่นมาก กดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 3.2% แต่กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายสัปดาห์หลังภาพรวมงบออกมาเติบโตดีกว่าคาด
ด้าน FOMC มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย สะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น ด้านประธาน Fed ยืนยันไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย จนกว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสู่เป้าหมาย 2% อย่างต่อเนื่อง หนุนหุ้นกลุ่มการเงินปรับเพิ่มขึ้น 1.2%
ด้าน GDP สหรัฐฯ ใน 4Q24 เติบโต 2.3%QoQ ต่ำกว่าคาดจากการระบายสินค้าคงคลัง แต่การบริโภคยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 4.2%QoQ ด้าน ECB ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ตามคาดสู่ 2.75% และเปิดโอกาสในการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอ นำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ส่วนเงินเฟ้อจะยังอยู่ที่ 2.4% สูงกว่าเป้าหมาย 2% และมีสัญญาณการชะลอตัวของค่าจ้างและตลาดแรงงาน
ตลาดหุ้น EM ปรับขึ้นเล็กน้อย แม้หลายตลาดในเอเชียจะปิดเนื่องในเทศกาลตรุษจีน
ตลาดน้ำมันปรับตัวลงกดดันจากตัวเลข PMI จีนที่อ่อนแอ และทรัมป์ที่เรียกร้องให้ OPEC เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ
ตลาดหุ้นไทยยังคงอ่อนแอกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค กดดันจากแรงขายจากกลุ่มที่มีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น กลุ่มเครื่องดื่มจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากหุ้น DELTA ในประเด็นความกังวลกับการเข้ามาของ DeepSeek ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
Fed ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในครึ่งปีแรก
ในส่วนมุมมองต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปัจจุบัน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า FOMC ยังคงแสดงความระมัดระวังเป็นพิเศษต่อเงินเฟ้อ โดยต้องการเห็นการชะลอตัวที่ชัดเจนก่อนพิจารณาลดดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดการเงินเริ่มส่งสัญญาณลบจากท่าทีระมัดระวังนี้ สะท้อนผ่านตลาดหุ้นที่ปรับตัวลง Yield Curve ที่ชันขึ้น และผลกระทบของดอกเบี้ยจำนองสูงต่อภาคอสังหาและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะถัดไป
นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากแรงกดดันทางการเมืองที่อาจกระทบความเป็นอิสระของ Fed และนโยบายของทรัมป์ที่อาจสร้างความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังเชื่อว่าจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยลดในช่วงครึ่งปีแรกจาก
- มาตรการของรัฐบาลทรัมป์ที่ยังไม่เปลี่ยนมาก (โดยเรามองว่านโยบายของทรัมป์จะรุนแรงขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะกดดันความคาดหวังเงินเฟ้อ)
- เงินเฟ้อจะลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัจจัยฐานสูง (โดยเฉพาะราคาน้ำมัน) และนโยบายทรัมป์ในการกดดัน OPEC รวมถึงสนับสนุนให้สหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิต
- ดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่สูงขึ้นเริ่มทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะ Mortgage Rates ที่อยู่สูง ตามมุมมอง Rob Kaplan
- ความเสี่ยงความผันผวนทางการเงินจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป จากดอกเบี้ยที่ยังสูงและการทำ QT ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เราจะติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและท่าทีของคณะกรรมการ FOMC อย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากการที่รัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะนำ กลุ่มพาณิชย์ (CRC, HMPRO, CPALL, TNP) กลุ่มท่องเที่ยว (MINT, AWC, ERW, AOT)
- นักลงทุนที่ต้องการหุ้นปันผลสูงซึ่งคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายที่เหลือจากกำไรปี 2024 คิดเป็น Dividend Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, BBL, PTT
- หุ้น Earnings Play ซึ่งมองว่าราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้น สะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q24 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU, HTC
- Trading Idea: 1) หุ้นที่คาดว่ามีโอกาสเพิ่มอัตราการจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืน เนื่องจากมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า และมีสภาพคล่องทางการเงินสูง เลือก PTT, KBANK, BBL และ 2) หุ้น Mid-Small Cap ที่ราคาหุ้นปรับลง YTD มากกว่าตลาด แต่ 4Q24 และปี 2025 คาดกำไรยังเติบโตดีและมีฐานะการเงินแกร่ง เลือก AMATA, AU, BCH, BLA, TIDLOR
“มองดัชนี SET ยังมีแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1,350 จุด โดยแม้ภาพการลงทุนในตลาดต่างประเทศจะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนและผลประกอบการนอกกลุ่มการเงินของ บจ. สหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจากการปรับลดดอกเบี้ยที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ในประเทศยังไร้ปัจจัยใหม่มาช่วยหนุนบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกไทยน่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อที่ต่ำ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่โดดเด่นมากนัก ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยยัง Underperform ตลาดหุ้นทั่วโลก” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมกราคม
- ความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อแคนาดาและเม็กซิโก 25% และจีน 10%
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: TIDLOR - ฟื้นตัวดี มี Valuation ถูก
แนะนำ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำในตลาดไมโครไฟแนนซ์ที่มีขนาดใหญ่และยังมีการเข้าถึงจำกัด โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, อันดับ 2 ในตลาดไมโครไฟแนนซ์, อันดับ 3 ในตลาดจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยให้รายย่อย และอันดับ 7 ในธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย
- กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดี โดย 4Q24 คาดกำไรจะเพิ่มขึ้น 9%QoQ และ 20%YoY ขณะที่ปี 2024 คาดกำไรจะเติบโต 12%YoY และเติบโตต่ออีก 15%YoY ในปี 2025 โดยได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโต 10% รวมถึง NIM ที่ขยายตัว 64 bps และ Credit Cost ที่ลดลง 5 bps
- Valuation ถูกสุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน และราคาหุ้นปรับขึ้น 2.3%YTD ซึ่งมองยังไม่สะท้อนกำไรที่ฟื้นตัวดี อีกทั้งมองว่ามีโอกาสจะปรับเพิ่มอัตราจ่ายเงินปันผลหลังปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเป็น Holding Company
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 21 บาท (อิง P/BV 1.7 เท่า) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.37 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละราว 2%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ตลาดมีความผันผวนผลจากหุ้นกลุ่มเทคและเซมิคอนดักเตอร์ที่ในช่วงต้นสัปดาห์มีความกังวลจากการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหม่ DeepSeek ที่เป็นบริษัทจีนซึ่งพัฒนาโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าและต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทเทคในสหรัฐฯ แต่ก็กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายสัปดาห์ หลังภาพรวมงบออกมาเติบโตดีกว่าคาดและมีความคาดหวังในการฟื้นตัวทั้ง META, TSLA, AAPL ยกเว้น MSFT ที่ราคาปรับตัวลงหลังรายได้คลาวด์ผิดคาด สะท้อนความคาดหวังที่สูง
- DeepSeek เป็น AI ที่คล้ายกันกับ ChatGPT, Gemini และ Claude แต่มีการทำ Agentic AI ซึ่งเป็นการนำ AI ไปเชื่อมกับ AI อื่นและนำมาเป็นของตัวเอง แตกต่างจากสหรัฐฯ ที่เอาข้อมูลไปเรียนรู้และพัฒนาเอง ทำให้ใช้พลังงานในการประมวลผลน้อยและมีต้นทุนที่ถูกโดยอยู่ที่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเจ้าอื่นที่ 100-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Cost of Model Training)
- เราประเมินว่าการเข้าตลาดของ DeepSeek อาจส่งผลให้ 1. ต้นทุนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และ CAPEX เปลี่ยนหรือลดลงได้ในระยะถัดไป แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบได้ หลังยังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจน เช่น โมเดลการทำงาน DeepSeek ทำให้เรายังคงติดตามทิศทางธุรกิจ 2. มองว่าการที่ Generative AI ถูกลงจะช่วยหนุนให้มีการใช้งาน AI มากขึ้น 3. เรามองว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือกลุ่ม AI ปลายน้ำที่จะใช้งานในต้นทุนที่ถูกลง โดยเฉพาะกลุ่มซอฟต์แวร์ รวมถึงมองข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการใช้งานอาจส่งผลให้ความต้องการ Cybersecurity เพิ่มขึ้น 4. แนะระมัดระวังกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์หลังยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราภาษีของทรัมป์และประเด็น DeepSeek ที่ยังไม่ชัดเจน
ด้านภาพรวมผลประกอบการกลุ่มเทคใหญ่ออกมาเติบโตและดีกว่าคาด ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดี
- Microsoft เผย งบดีกว่าคาดและเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ อย่างไรก็ดี รายได้คลาวด์เติบโตต่ำกว่าคาดและ CAPEX เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดตอบสนองเชิงลงต่องบที่ออกมา ขณะที่เรามองเป็นจังหวะการสะสมหุ้นที่ดี เชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตยังดีอยู่จาก AI
- TSLA เผย งบอ่อนแอหลังธุรกิจ EV ซบเซาจากสงครามราคา และค่าใช้จ่ายด้าน AI กดดันมาร์จิ้น แต่อย่างไรก็ดี หุ้นปรับตัวขึ้นตามความคาดหวังการฟื้นตัวในปี 2025 จาก FSD และรถรุ่นประหยัด ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่าราคาหุ้นปรับตัวไม่สมเหตุสมผลกับภาพการฟื้นตัวที่ไม่ได้ชัดเจน ทำให้เรายังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยง
- META งบโตดีกว่าคาด หลังมีแรงหนุนจากรายได้ Ads ที่ฟื้นตัว และธุรกิจ Reality Labs มีภาพการฟื้นตัว นอกจากนี้บริษัทเตรียมลงทุนใน AI และศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้น หลังมอง Meta AI จะช่วยหนุนให้มีผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนมาใช้บริการในปี 2025 ทั้งนี้ เตรียมพัฒนาโมเดล Llama 4 ขณะที่เราเชื่อว่าราคาหุ้นจะยังไปต่อได้ในปี 2025 จาก AI และ Ads ทำให้เราแนะนำให้เก็งกำไรเป็นรอบๆ
- AAPL เผยงบ 4Q24 ดีกว่าคาด โดยรายได้มีแรงหนุนจากกลุ่ม Service และ iPad ที่โตราว 15%YoY อย่างไรก็ดี การเติบโตยังมีแรงกดดันจากยอดขายในจีน และ iPhone ที่หดตัวลงอยู่ ด้านราคาหุ้นตอบสนองเชิงบวกต่อคาดการณ์บริษัทที่สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าราคาหุ้นปรับตัวไม่สมเหตุสมผลกับภาพการฟื้นตัวที่ไม่ได้ชัดเจน รวมถึงภาพ Innovation ยังตามหลัง Peers เราจึงยังไม่ชอบ
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยล่าสุดทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้าจำพวกชิปคอมพิวเตอร์ ยา และเหล็ก ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ผลิตในสหรัฐฯ
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชันยังมีอยู่ โดยยีลด์ตัวยาวมีโอกาสทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นต่อ ทั้งจากการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น เงินเฟ้อที่ยังหนืด (ตามนโยบายกีดกันการค้าและกีดกันผู้อพยพ) และ Fed ที่มีแนวโน้มระมัดระวังการลดดอกเบี้ยหลังถ้อยแถลงล่าสุดของพาวเวลล์มองว่ายังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในตอนนี้ ทั้งนี้ บอนด์อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ไม่มากนัก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้น่าสนใจลงทุน และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge
US Treasury & IG
UST Yield มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความกังวลในตลาดว่า Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ย เห็นได้จากการที่ล่าสุดพาวเวลล์ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ และจะไม่ดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีข้อมูลที่แน่นอน ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น จากแนวนโยบายของทรัมป์ แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ยีลด์เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
US HY มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกตาม
- Default Rate ของ US HY อยู่ที่ 1.5% ซึ่งต่ำกว่าของ Leveraged Loan ที่ 4.5%
- ตัวเลขหุ้นกู้ Rising Stars ยังมีแนวโน้มมากกว่า Fallen Angels สอดคล้องกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี และ HY Spread ที่ยังต่ำ
3. ความผันผวนของ US HY ยังต่ำ - ประเด็น Maturity Wall ของ US HY ปี 2025 อยู่ที่เพียง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ด้วย HY Spread ที่แพง และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ จึงอาจทำให้ Upside ของ US HY มีจำกัด
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
- ปัจจัยพื้นฐานที่ดี ตามภาพรวมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
- ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ จำนวน 50 bps
- งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต
- Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
อย่างไรก็ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวขึ้นจากนโยบายของทรัมป์และเงินเฟ้อที่หนืดยังเป็นปัจจัยกดดัน US REITs
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนในระยะยาวจาก
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ เช่น โครงการบ้านเพื่อคนไทย
- แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. ใน 1H25 อีก 25 bps
- กำไรของ บจ. ที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและทยอยปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง โดยผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วง 4Q24 ออกมาดีกว่าตลาดคาด
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นดัชนีฯ เผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์และความกังวลด้านธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นเรายังไม่แนะนำลงทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก โดยนักลงทุนยังคงรอติดตามผลประกอบการของ บจ. ในช่วง 4Q24 ที่ทยอยออกมา
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนระยะสั้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลประเด็น DeepSeek แอปพิลเคชัน AI สัญชาติจีน ต่อหุ้นในกลุ่มที่เกาะกระแส AI และความไม่แน่นอนจากนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และเสถียรภาพทางการเมืองในเยอรมนีลดลง
หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่าและการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาดฯ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นอาจส่งผลลบต่อหุ้นส่งออกและดัชนีฯ
หุ้นสหรัฐฯ
ความคาดหวังของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ขณะที่ Consensus คาดว่า การเติบโตของรายได้ และกำไรของ S&P500 ใน 4Q24 จะ +4.5% และ +9.1%YoY ตามลำดับ ตลาดคาดหวังต่อนโยบายปรับลดภาษีเงินได้ของทรัมป์ ซึ่งล่าสุดทรัมป์ย้ำว่าต้องการลดภาษีเงินได้แก่บริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ จาก 21% เหลือ 15%
นอกจากนี้ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกระแส AI แม้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็น DeepSeek แอปพลิเคชัน AI สัญชาติจีนยังมีอยู่ ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจาก
- วัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ Neutral Rate ที่ 2%
- Valuation ของดัชนีฯ ที่ถูกกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 40% ขณะที่ค่าเงิน USD ที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบกับ EUR มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Healthcare
นอกจากนี้การเปิดตัวของ DeepSeek ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ามีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ASML
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของเยอรมนีเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ ที่จะมีแนวโน้มชัดเจนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 และประเด็นการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังเผชิญความท้าทายในปี 2025 จาก
- 10Y UST Yield ที่ปรับสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
- ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังการสาบานตนของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจ
- ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาค แม้อาจปรับลดขนาด
ความเร็วลงตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ทั้งนี้ เน้นลงทุนในตลาดฯ ที่มีความยืดหยุ่นและพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียเผชิญแรงกดดันระยะสั้นจาก
- ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 ลงอยู่ที่ 6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2%
- 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และเงินรูปีอ่อนค่า
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ 4Q24 จนถึงปีนี้
- Valuation ของดัชนีฯ ที่ค่อนข้างแพง
อย่างไรก็ดี เราคาดว่าดัชนีฯ ยังได้รับแรงหนุนจากการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบธนาคาร เพื่อปูทางสู่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภค (คิดเป็น 60% ของ GDP)
นอกจากนี้เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัดจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีระยะยาว
หุ้นอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีและ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปราโบโว ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภคและก่อให้เกิดการจ้างงาน
- ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2025 และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2025 อีกราว 50 bps มาที่ 5.25% หลังเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps เพื่อกระตุ้นการบริโภค
- Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลกดดันภาคการส่งออกเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหา และตลาดทุนของทางการจีน รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรบริษัทในดัชนีฯ หลังกำไรภาคอุตสาหกรรมล่าสุดกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากที่ลดลงติดต่อกัน 4 เดือน ขณะที่ความไม่แน่นอนบนข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ยังมีอยู่ โดยล่าสุดมีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจาก Bloomberg ว่า เจ้าหน้าที่ของทรัมป์กำลังพิจารณามาตรการควบคุมเพิ่มเติมในการขายชิปของ NVIDIA ให้กับจีน
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
- เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า
- Fund Flow ของ ETF ที่กลับมาซื้อสุทธิใน 2H24 ราว 113 ตัน
อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ยังอยู่สูงจากความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ อาจกดดันราคาทองคำในระยะสั้น
ภาพ: Chip Somodevilla / Staff / Getty Images