THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
Fed
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

Fed จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing ยังเป็นไปได้

... • 5 ส.ค. 2024

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวในช่วงต้นสัปดาห์ นำโดยหุ้นกลุ่มเทคสะท้อนประเด็นข่าวรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่อนปรนการส่งชิปจากบางประเทศพันธมิตรไปยังจีน นอกจากนั้นยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธาน Fed หลังประชุม FOMC ที่คงดอกเบี้ยตามคาด แต่มุมมองข้างหน้าถือว่า Dovish ทำให้ตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายน และอาจลดถึง 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่า 4.0% 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์หลังตัวเลขเศรษฐกิจและการจ้างงานออกมาอ่อนแอกว่าคาด นำไปสู่ความกังวลว่าการลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนอาจช้าเกินไป ส่งผลให้กลุ่มธนาคารที่อ้างอิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจปรับลดลง 

 

ส่วนผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มเทค ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด แต่ความกังวลกลับมาอยู่ในส่วนของการลงทุน AI ที่สูง และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น 

 

ด้านกลุ่มที่ปรับตัวได้ดีกว่าตลาดจะอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับลดลง เช่น สาธารณูปโภคและอสังหา รวมถึงกลุ่ม Defensive เช่น การแพทย์ ปรับตัวขึ้นได้

 

ด้านตลาดหุ้น EM ปรับตัวขึ้นได้จากความคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนั้นโอกาสลดดอกเบี้ยของ Fed นำไปสู่ค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำให้กระแสเงินไหลมาในหุ้นเอเชีย รวมไปถึงตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นได้ 2.4% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่าหุ้นไทยใน 2H24 จะฟื้นในทิศทางเดียวกับหุ้นเอเชีย นอกจากนั้น ความชัดเจนในส่วนของกองทุน TESG ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินดังกล่าว รวมถึงการฟื้นของราคาน้ำมันหลังความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น

 

Fed จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ 

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การประชุม FOMC ครั้งนี้ Fed ให้ความสนใจกับความเสี่ยงของเป้าหมายทั้ง 2 ด้าน (Dual Mandate) คือเงินเฟ้อและการว่างงานมากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่า Fed จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะ Soft Landing ตามที่เราคาด 

 

ส่วนในกรณีของ BOJ มองว่า

 

1. การลดการทำ QE เหลือ 3 ล้านล้านเยน ในเชิงพฤตินัยคือการทำ QT เพื่อดูดสภาพคล่องกลับให้เงินเยนไม่อ่อนค่าลงมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจะมีพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 6 ล้านล้านเยน เท่ากับการทำ QE ของธนาคารกลาง 

 

  1. มองว่า ความเสี่ยงเงินเฟ้อญี่ปุ่นเริ่มปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพใหญ่เริ่มมีโมเมนตัมชะลอลง ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยและลดการทำ QE ครั้งนี้จึงจำเป็น 

 

  1. คาดว่าเป็นไปได้ที่อาจเห็นการชะลอการทำนโยบายการเงินตึงตัว (ไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้) เนื่องจาก BOJ ต้องหาสมดุลระหว่างการคุมเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลง (เศรษฐกิจไตรมาส 1/24 หดตัว -0.2%) ซึ่งการเริ่มลดดอกเบี้ยของ Fed และธนาคารกลางชั้นนำจะช่วยได้ในส่วนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กระแส Unwinding Yen Carry Trade ไม่รุนแรงจนกระทบกับสภาพคล่องโลก

 

ในส่วนของค่าเงินบาท มองว่าในระยะต่อไปเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจแข็งค่ามากขึ้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นว่าจะลดดอกเบี้ย ท่ามกลางการขาดดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อย ทำให้เรามองว่าในไตรมาส 3-4 ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉลี่ยอาจอยู่ที่ 36.5 และ 35 บาทต่อดอลลาร์ตามลำดับ ทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้นที่คาด 2Q24 กำไรจะยังสามารถเติบโตทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพงเลือก ADVANC, TU, CPAXT, BTG, CBG, BCP, GPSC, AU
  2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน ThaiESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดเวลาถือเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, AOT, CPALL, BDMS, BBL, KTB, GULF
  3. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ Cover Short หลัง ตลท. เริ่มใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เลือก DELTA, TOP, BEM, AOT
  4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET ยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการ 2Q24 ของ บจ.ไทย กลุ่ม Real Sector ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น และเราเริ่มเห็น Fund Flow ไหลเข้าสู่ตลาด EM มากขึ้น ซึ่งคาดไทยมีแนวโน้มจะได้รับกระแสเงินนี้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งมองว่าตลาดอาจมีความคาดหวังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของจีนหลังตัวเลขเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอ อย่างไรก็ดี มองดัชนีหุ้นไทยจะยังมี Upside จำกัด ระหว่างรอความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและสงครามเทคโนโลยีที่มีท่าทีรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกได้”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของประเทศพัฒนาแล้ว 
  2. ตัวเลขเงินเฟ้อในไทย เดือนกรกฎาคม ตลาดคาด 0.6% เท่าเดือนก่อน เราคาด 0.8% 
  3. ยอดส่งออกจีน เดือนกรกฎาคม ตลาดคาด 9.0% จาก 8.6%
  4. เงินเฟ้อจีน เดือนกรกฎาคม ตลาดคาด 0.4% จาก 0.2% เดือนก่อน

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: OSP - ยอดขายฟื้นและต้นทุนลด หนุนกำไรดี

 

แนะนำ บมจ.โอสถสภา หรือ OSP เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยที่มีศักยภาพ เติบโตดี โดยสินค้าที่รู้จักดี เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลังแบรนด์ M-150 และลิโพ, เครื่องดื่ม Functional แบรนด์ C-vitt และของใช้ส่วนบุคคลแบรนด์เบบี้มายด์ 2Q24 คาดกำไรปกติ 960 ล้านบาท เติบโต 74.9%YoY และ 15.9%QoQ แรงหนุนจากยอดขายเครื่องดื่มทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศทรงตัว แต่หากรวมการบันทึกขาดทุนจากด้อยค่าราว 300 ล้านบาท จะกดดันให้กำไรสุทธิปรับลดลงสู่ 660 ล้านบาท ยังเติบโต 20.2%YoY แต่หดตัว 20.3%QoQ
  • แม้กำไรปกติ 3Q24 มีแนวโน้มลดลง QoQ จากโลว์ซีซัน แต่คาดยังเพิ่มขึ้น YoY ขณะที่ปี 2024 คาดกำไรปกติ 3.05 พันล้านบาท เติบโตเด่น 45.7%YoY แรงหนุนจากการบริหารต้นทุนดีขึ้นและการฟื้นตัวของยอดขาย ทั้งนี้ยังไม่รวม Upside จากมองว่าเป็นอีกหุ้นที่จะได้อานิสงส์บวกจากความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
  • เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 29 บาท อิง -0.5SD PER ที่ 32 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.87 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละ 3.6%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มเทคออกมาในทิศทางที่ดีกว่าคาด ถึงแม้จะมีบางภาคส่วนของธุรกิจที่ต่ำกว่าคาด และบางบริษัทยังให้แนวโน้มในอนาคตที่น้อยกว่าคาด รวมถึงกลุ่มที่มีรายได้จากจีนมีแรงกดดันจากตลาดจีนที่อุปสงค์ยังชะลอตัว แต่ยังเห็นการเติบโตของกำไรในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังมีแนวโน้มการเติบโต ด้วยภาพนี้แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคและเซมิคอนดักเตอร์ช่วงที่ราคาหุ้นย่อตัว

 

  • บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ประกาศผลประกอบการโดยรวมยังดีกว่าที่คาดแต่มีบางภาคส่วนของธุรกิจที่ต่ำกว่าคาดและมีการให้คาดการณ์ในอนาคตที่ต่ำกว่าคาดจากความคาดหวังที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงบริษัทที่มีรายได้จากจีนยังถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัว จึงทำให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลง
  • ด้วยแรงหนุนจากความต้องการชิป AI ส่งผลให้กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์อย่าง AMD กำไรดีกว่าคาด และยังให้คาดการณ์ที่ดีกว่าคาด ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้น รวมถึง META ที่ได้แรงหนุนจาก Ads ที่ดีขึ้นจากการนำ AI มาใช้พัฒนา ทำให้งบออกมาแข็งแกร่ง ส่วน QCOM และ ARM แม้จะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคาด แต่อย่างไรก็ดีด้วยรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ ARM ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และยอดขายสมาร์ทโฟนของ ARM ที่ทรงตัว ด้วยภาพนี้ทำให้ตลาดตอบสนองเชิงลบ ภาพคล้ายกับ AMZN งบออกมาดีกว่าคาดการณ์ ธุรกิจ AWS มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่ให้แนวโน้มต่ำกว่าที่คาดจากมาร์จิ้นที่อ่อนตัวจากการลงทุนใน AI ที่อยู่ในระดับสูง
  • ทางด้าน Apple เอง ภาพรวมผลประกอบการดีกว่าคาดจาก iPad ที่ออกรุ่นใหม่และการบริการที่ทำจุดสูงสุดใหม่ แต่รายได้จากจีนต่ำกว่าที่คาดจากอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ แต่ iPhone 16 ที่จะออกน่าจะส่งผลดีกับแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรใน 2H24

 

ในภาพรวมนี้ทำให้ 

 

  1. เราระมัดระวังกับการลงทุนในบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากจีนสูง ทั้งนี้อาจจะเห็นการปรับลดประมาณการได้หลังการประกาศผลประกอบการ รวมถึง Guidance ที่ต่ำกว่าที่คาด เพราะการฟื้นตัวช้าของจีน 
  2. กลุ่มเทค แม้ระยะสั้นยังคงผันผวนสูงจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความคาดหวังที่สูง แต่ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง แนวโน้มมีผลประกอบการที่ดี หนุนด้วยความต้องการจาก AI แนะนำลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้นย่อตัว

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด/สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความผันผวนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่มากขึ้น (บ่งชี้จาก VIX Index ที่เพิ่มขึ้น) และจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีน-คู่ค้าต่างๆ ข้อพิพาทในไต้หวัน และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แม้เริ่มมีความคืบหน้าในการเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสก็ตาม

 

ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว

 

ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่อ่อนแออย่างมาก ทำให้ตลาดฯ กังวลต่อการเกิด Recession มากขึ้น เรายังคงมุมมองว่า Real Yield มีความน่าสนใจ ในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มค่าที่จะถือเพื่อ Hedge ในกรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด 

 

เราคาดว่าความผันผวนของบอนด์จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยบอนด์ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่บอนด์ช่วง Mid-Curve (2-4 ปี) มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

High Yield Bond

 

US HY Spreads ปรับขึ้นแรงกว่า 25 bps ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนภาวะ Market Sentiment ที่เป็น Risk-Off อย่างไรก็ตาม Yield-to-Worst ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจาก UST Yield ที่ปรับลง ซึ่งช่วยชดเชย Spread ที่ดีดตัวขึ้น เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และซัพพลายของการรีไฟแนนซ์ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024

 

สินทรัพย์ผสม/กึ่งหนี้กึ่งทุน/REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ 

 

สินทรัพย์ผสม ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 

 

  1. Bond yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจาก FedWatch Tool ของ CME Group พบว่า มีความน่าจะเป็นราว 100% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน
  2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่เติบโต 
  3. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ CMBS ในภาค Office ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง 
  4. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก 

 

  1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H24 จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว 
  2. ดิจิทัลวอลเล็ตที่มีรายละเอียดชัดเจนขึ้น โดยเริ่มลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มการบริโภค 
  3. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง ขณะที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว 
  4. ค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้น หลังการลดดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านการเมืองที่ยังไม่แน่นอนอาจกดดัน Sentiment ลงทุน 

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

Sector Rotation เกิดขึ้นเป็นวงกว้างบนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว จากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลง และ Guidance ของหุ้นกลุ่ม Growth ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มนำตลาดก่อนหน้านี้ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงของสหรัฐฯ และตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลงแรง สร้างความกังวลบนประเด็น Recession ทำให้ตลาดฯ ให้น้ำหนักที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม จาก 75 bps เป็น 125 bps ในปี 2024 ด้วย Valuation Gap ระหว่างหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นขนาดเล็กที่ต่างกันมาก ทำให้ Fund Flow มีการ Rebalancing เข้าสู่ Defensive ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มวัฏจักรอย่าง Semiconductor/Auto และ Luxury มีการปรับฐานแรง

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

Sentiment นักลงทุนเข้าสู่ภาวะ Risk-Off หลังตัวเลขแรงงานอ่อนตัวลงต่อเนื่อง และอัตราการว่างงาน เดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.3% นักลงทุนย้ายการลงทุนออกจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าสูง ไปยังกลุ่ม Defensive ได้แก่ Utilities, Healthcare และ Consumer Staple ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และกำไรกิจการมีเสถียรภาพมากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ 

 

นอกจากนี้ Sentiment เชิงลบจากคณะทำงานของไบเดนที่เล็งเพิ่มความเข้มงวดทางการค้าเพื่อสกัดอุตสาหกรรมชิปในจีน ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทค (ที่เกี่ยวกับซัพพลายเชนของชิปและเซมิคอนดักเตอร์) อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ได้แรงหนุนจากกำไรของ บจ. ใน 2Q24 ที่มีแนวโน้มดีกว่าคาด และกระจายตัวมากขึ้น 

 

หุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ที่หนุนทั้ง Valuation และหนุน EPS ตลาดฯ นอกจากนี้ EPS ยังได้แรงหนุนเพิ่มจากโมเมนตัมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดีขึ้น โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง และมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ความเสี่ยงข้อพิพาททางการค้ากับจีน รวมถึงกับสหรัฐฯ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง และความไม่แน่นอนทางเมือง

 

การคลังในฝรั่งเศสตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังมีอยู่อาจสร้างความผันผวน และกดดัน Sentiment ตลาดฯ โดยรวม 

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

เราคาดว่าหุ้นกลุ่ม Value ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่น ที่จะช่วยหนุน Valuation และ ROE นอกจากนี้หุ้นกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการคุมเข้มทางการเงินของ BOJ เพิ่มเติม (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยต่อ และเริ่มลดการเข้าซื้อ JGB) ท่ามกลางความเสี่ยงที่หุ้นกลุ่มส่งออกและหุ้นกลุ่ม Growth นำโดยเทคอาจพักฐาน

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

การประชุม 3rd Plenum ของรัฐบาลจีน มีมุมมองสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนต้องแข่งกับภาพการบริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงอ่อนตัวถึงแม้จะได้ในส่วนการส่งออกมาช่วยก็ตาม

 

การส่งออกยังเป็นภาพของการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่เริ่มกระจายตัวจากธีม AI มายังกลุ่ม Conventional อย่าง สมาร์ทโฟน, Data Server โดยเราคาดว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์ในกลุ่มนี้จะมีสัญญาณชัดเจนขึ้นใน 2H24

 

หุ้นอินเดีย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุน จากการใช้จ่ายภาครัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยการประกาศงบประมาณปี FY2025 บ่งชี้ว่า รัฐบาลยังคงเป้าขาดดุลงบประมาณลดลง อยู่ที่ 4.9% ของ GDP แม้ว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และเงินปันผลของธนาคารกลางที่สูงขึ้น นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมงบประมาณในโครงการกระตุ้นการจ้างงาน (Employment linked incentive scheme) ซึ่งช่วยปิดจุดอ่อนรัฐบาลโมดี ด้านการจ้างงานที่อ่อนแอใน 2 เทอมที่ผ่านมา

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีฯ มีปัจจัยหนุนในระยะยาวจาก 

 

  1. เศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง จากภาคการบริโภคที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ BI คาดว่า GDP อินโดนีเซียจะขยายตัว 4.7-5.5% ในปีนี้ 
  2. FDI ที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้น จากการมีแร่นิกเกิลจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV  
  3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วง 2Q24 เป็นต้นไป 
  4. Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง 
  5. ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลัง Fed ลดดอกเบี้ย ขณะที่ในระยะกลาง-ยาว ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าเกินเป้าหมายของ BI ที่ 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ อาจเป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก EPS Growth ใน 1Q24 ที่ผ่านจุดต่ำไปแล้ว และจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในการประชุมโปลิตบูโรปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลัง GDP ทั้งปีเสี่ยงพลาดเป้า 

 

นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น และทางการจีนยังมีแนวโน้มเข้ามาช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง และรักษาเสถียรภาพของตลาดฯ

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก 

  1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้  
  2. เริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ 
  3. ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 5 ส.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories