THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

Fed ดึงดอกเบี้ยลงยาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าคาด

... • 15 ม.ค. 2024

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงกว่าคาด โดยขยายตัว 3.4% ต่อปี (0.3% ต่อเดือน) สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.1% ต่อปี และ 0.1% ต่อเดือน แต่ตลาดปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากตลาดมองว่าเงินเฟ้อไม่ได้สูงกว่าคาดมากจนเกินไปนัก
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า Fed น่าจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงลำบากมากขึ้น ซึ่งภาพเช่นนี้จะเป็นความเสี่ยงต่อตลาดการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงในระยะต่อไป
  • สำหรับประเด็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยไทย เราเชื่อว่าประเด็นเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ ธปท. รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ 
  • การลงทุนตลาดหุ้นไทย แนะนำลงทุนในหุ้นที่ราคายัง Laggard เลือก AOT, BEM, HMPRO, GULF, ZEN และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการ e-Receipt ได้แก่ CRC, MINT และ ADVANC

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงต้นสัปดาห์ที่ยังไม่มีประเด็นใหม่ๆ นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคโนโลยีในช่วงอ่อนตัว โดยประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจมีดังนี้ 

 

1. เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงกว่าคาด โดยขยายตัว 3.4% ต่อปี (0.3% ต่อเดือน) สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.1% ต่อปี และ 0.1% ต่อเดือน ตามลำดับ 

 

2. ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงาน ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 202,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดที่ 210,000 ตำแหน่ง 

 

3. การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 216,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 170,000 ตำแหน่ง จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากสาธารณสุขและภาครัฐ แต่ขนส่ง โกดัง และลูกจ้างชั่วคราวแย่ลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีการปรับลดการจ้างงาน 2 เดือนก่อนรวม 39,000 ตำแหน่ง 

 

4. อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ทรงตัวที่ 3.7% 

 

5. รายได้ต่อชั่วโมงเฉลี่ย เพิ่มขึ้นที่ 4.1% ต่อปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 3.8% จากเดือนก่อนที่ 3.7% 

 

6. อัตราการมีส่วนร่วมที่ลดลงมากโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง (แรงงานอายุน้อย สูงอายุ รวมถึงชั่วคราว) โดยอยู่ที่ 62.5% จาก 62.8% ในเดือนก่อน บ่งชี้ว่าการจ้างงานโดยรวมเปราะบางขึ้น 

 

7. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ISM ภาคบริการสหรัฐฯ เดือนธันวาคม ลดลงมา 2.1 จุด มาอยู่ที่ 50.6 จุด โดยตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่ปรับลดลงมากสุดในรอบ 3 เดือนที่ 52.8 ขณะที่การจ้างงานลดต่ำสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 ที่ 43.3 

 

8. ธนาคารโลกประมาณการเศรษฐกิจทศวรรษนี้ว่าเติบโตต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้าจากดอกเบี้ยสูง การค้าโลกที่ตกต่ำ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลดลงที่ 2.4% จากปีที่แล้วที่ 2.6% และคาดการณ์การค้าโลกขยายตัวที่ 2.3% ในปีนี้จาก 2.7% ที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะขยายตัวที่ 1.6% และ 4.5% ในปีนี้ ชะลอลงจาก 2.5% และ 5.2% ตามลำดับ

 

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากมุมมองของตลาดที่มองว่าเงินเฟ้อไม่ได้สูงกว่าคาดมากจนเกินไปนัก โดยขยายตัว 3.4%YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.1% สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นว่า Fed อาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงเร็วดังคาด ด้านการจ้างงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวถึง 216,000 ตำแหน่ง แต่มีการปรับลด เดือนก่อนถึง 39,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 3.8% ส่วนเงินเฟ้อไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะหดตัวต่อในไตรมาส 1/24 ท่ามกลางกระแสข่าวที่หลายฝ่ายกดดันให้ ธปท. ลดดอกเบี้ย”​

 

Fed น่าจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงลำบากมากขึ้น

 

ประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐฯ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า เงินเฟ้อในเดือนนี้เป็นผลจากราคาพลังงานและอาหาร และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยในเงินเฟ้อที่ 3.4% เป็นผลจากหมวดอาหารและพลังงาน 0.83% (percentage point: p.p.) เร่งขึ้นจาก 0.55% ในเดือนก่อน และหมวดค่าจ้าง (Ex-housing Core Services) เพิ่มขึ้นจาก 0.14% เป็น 0.18% ซึ่งสอดคล้องกับค่าจ้างรายสัปดาห์เดือนธันวาคมที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.8% จาก 3.6% และ 3.2% ในสองเดือนก่อนหน้า ทำให้เรามองว่า Fed น่าจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงลำบากมากขึ้น ซึ่งภาพเช่นนี้จะเป็นความเสี่ยงต่อตลาดการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงในระยะต่อไป

 

สำหรับประเด็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยไทย เราเชื่อว่าประเด็นเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ ธปท. รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เนื่องจากสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายลดราคาพลังงานเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนของรัฐบาล ประกอบกับยังมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคอย่าง Easy e-Receipt ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา และอาจเริ่มโครงการได้เร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคม เรายังคงประเมินว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตลอดปีนี้ โดยเงินเฟ้ออาจเริ่มเป็นบวกในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป แต่หากเงินเฟ้อยังคงหดตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอลง และประเด็นฐานสูง ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยได้ในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นที่ราคายัง Laggard โดยตั้งแต่ปี 2023 - ปัจจุบัน ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงแรงกว่า SET จนทำให้ PER และ PBV ปี 2024 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ขณะที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2024 และยังมี Upside น่าสนใจ เลือก AOT, BEM, HMPRO, GULF และ ZEN 

2. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการ e-Receipt ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 50,000 บาท เริ่มในวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ ได้แก่ CRC, MINT และ ADVANC 

3. นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการจ่ายปันผลดี โดยคาดให้ Div. Yield (หลังหักจ่ายระหว่างกาลไปแล้ว) จากกำไรปี 2023 สูงเกิน 5% และคาดจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2024 เลือก AP, TISCO และ KTB 

4. ระยะกลางแนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มสินเชื่อ (MTC, SAWAD) กลุ่มยานยนต์ (SAT, STANLY) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF, GFPT, BTG)

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประชุม World Economic Forum ประจำปี 2024 GDP 4Q23 ของจีน, ดัชนียอดค้าปลีก, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการว่างงานเดือนธันวาคมของจีน

2. ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมของอังกฤษและยูโรโซน

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AP - ปันผลสูง…แข็งแกร่งสุดในกลุ่มอสังหา

 

สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (ได้แก่ ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และคอนโดมิเนียม ภายใต้ 18 แบรนด์) และกลุ่มลูกค้า จึงทำให้สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัทได้ในภาวะตลาดขาลง 
  • 4Q23 คาดกำไรสุทธิจะดีขึ้น YoY แต่ลดลงเล็กน้อย QoQ โดยการเปิดตัวโครงการใหม่ 23 โครงการมูลค่ารวม 3.57 หมื่นล้านบาท ใน 4Q23 ทำให้คาดยอดขายรายไตรมาสจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 4Q23 และหนุนให้ปี 2023 มียอด Presales อยู่ที่ 5.0-5.2 หมื่นล้านบาท ตามที่เราคาดไว้ (เพิ่มขึ้น 0-4%YoY) แต่ยังต่ำกว่าเป้าของบริษัทที่ 5.8 หมื่นล้านบาท อยู่ 11% 
  • มี Backlog แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2023 มีมูลค่า 3.25 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 41% จะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2023 และที่เหลือจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2024-2026 ดังนั้นเราจึงคงคาดปี 2023 มีรายได้ที่ 4.08 หมื่นล้านบาท (+6%YoY) และกำไรสุทธิทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 6.24 พันล้านบาท (+6.2%YoY)
  • ฐานะการเงินและสภาพคล่องยังแข็งแกร่ง โดยสิ้น 3Q23 มี Interest Coverage Ratio 44.3 เท่า และ Current Ratio 3.4 เท่า อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอติดต่อกันมา 21 ปี ด้วย Dividend Yield ที่สูงจูงใจเฉลี่ยราวปีละ 6%
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 15 บาท อิงวิธี PER เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 7.4 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.69 บาท คิดเป็น Div. Yield สูงถึงปีละ 6%

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งความหวัง Soft Landing ในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดออกมาดีกว่าที่คาด ขณะที่สภาพคล่องมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ ทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลางและข้อพิพาทในไต้หวัน

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

10Yr UST Yield ปรับตัวขึ้น หลังจากการจ้างงานแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด และตลาดปรับลดโอกาสในการลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคมลง อีกหนึ่งประเด็นที่อ่อนไหวต่อ Yield คือตัวเลขเงินเฟ้อ ที่ถึงแม้จะอยู่ในทิศทางขาลงแต่ยังห่างจากเป้าหมายของ Fed ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสช้ากว่าที่ตลาดคาด

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นกู้ IG ยังได้แรงหนุนจาก 1) เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจำกัด 2) Yield ยังสูงเมื่อเทียบกับอดีต และ 3) เงินเฟ้อปรับลดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของ Yield ที่ซึมซับข่าวไปมากอาจทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด เราจึงแนะนำให้เน้นเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการ Manage Duration หรือ Selective Bond รายตัว 

 

US High Yield OAS Spread ยังค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี โดยเรามองว่ากิจกรรมการ Refinance ที่จะเริ่มเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2024 มีโอกาสจะทำให้ Supply Bond ของ HY เพิ่มขึ้น และ Spread ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Valuation ตึงตัวมากขึ้น โดย 12M-FWD P/E แตะระดับ 19.8X ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในปี 2023 ถึงเรายังมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงแบบ Soft Landing แต่การ Pricing เรื่อง Monetary Easing อย่างรวดเร็ว เพิ่มความเสี่ยงการปรับฐานได้ หากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ไม่เป็นไปตามคาด

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Consensus คาดว่า EPS ของดัชนี STOXX 600 ในปี 2024 มีแนวโน้มขยายตัวเพียงเล็กน้อย YoY ตามความกังวลโมเมนตัมเศรษฐกิจโลก รวมถึงยุโรปที่ยังมีความเสี่ยงขาลงอยู่ อย่างไรก็ดี ความหวังของตลาดบนการลดดอกเบี้ยของ ECB ที่มีมากขึ้นในปี 2024 จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของ Valuation ผ่าน Bond Yield ที่ลดลง

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

บจ.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มออกมาตรการหนุน ROE และ Valuation มากขึ้น ตามข้อเรียกร้องของทาง TSE และรายย่อยมีแนวโน้มซื้อหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น ตามการเริ่มโครงการ New NISA ในเดือนมกราคม ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มชะลอการปรับนโยบายการเงินตึงตัวออกไป หลังการเผยเงินเฟ้อและค่าจ้างล่าสุด รวมถึงการเกิดเหตุแผ่นดินไหว

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม โดยล่าสุดทางการจีนเผยว่า อาจปรับลด RRR ลงเพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภาคอสังหาจีนที่ยังคงซบเซา และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในประเด็นช่องแคบไต้หวัน จะยังกดดันดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ขณะที่ Valuation ไม่แพง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยง Default ของกลุ่มอสังหา ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ ข้อพิพาททางด้านเทคโนโลยี และการกลับมาคุมเข้มกับกลุ่ม Online Gaming ซึ่งจะสิ้นสุดการสำรวจความคิดเห็นในวันที่ 22 มกราคม จะจำกัดการฟื้นตัวของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 4Q23 ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฤดูท่องเที่ยว ขณะที่มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายมีแนวโน้มส่งผลบวกต่อ Sentiment โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีก นอกจากนี้ ตามสถิติตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเดือนมกราคม ในขณะที่ Valuation ปัจจุบันยังน่าสนใจ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ ยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนชัดเจน แม้ FDI ยังเข้ามาต่อเนื่อง และการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่อาจเป็นผลของ Seasonal ในช่วงเทศกาล / ข้อมูล PMI เดือนธันวาคม แม้จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ในขณะที่ความกังวลในหุ้นกู้ภาคอสังหาที่จะครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ยังมีอยู่

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นจากเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่หุ้นขนาดใหญ่ โดยเรามีมุมมองเป็นบวกจากภาพการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีแนวโน้มราบรื่นมากขึ้น โดย Prabowo Subianto ได้รับคะแนนนิยมทิ้งห่างจากพรรคคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การคงดอกเบี้ยของ BI เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินจะยังกดดันภาคการบริโภคและการลงทุน

 

ตลาดหุ้นอินเดีย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นจาก Mid/Small Cap ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น Large Cap ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดัชนีฯ ถูกผลักดันด้วยนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยมหภาคที่ดีขึ้น (เงินเฟ้อลดลง / น้ำมันปรับตัวลง) เรามองว่าเงินลงทุนต่างชาติจะกลับมามีอิทธิพลต่อดัชนีฯ มากขึ้น เราชอบหุ้น Large > Mid/Small Cap

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาทองคำมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์ สรอ. เทียบสกุลเงินหลักตามคาดการณ์ที่ว่า Fed จะเริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 ประกอบกับแรงซื้อทองคำของธนาคารกลางต่างๆ ที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเมื่อปี 2023 อาจส่งผลให้ทองคำเผชิญแรงขายทำกำไรในระยะสั้น

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ซาอุดีอาระเบียลดราคาน้ำมันส่งออกไปเอเชียมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สะท้อน Demand ที่อ่อนแอในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ปริมาณผลผลิตน้ำมันของทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เพอร์เมียน ซึ่งมีอัตราการเติบโต YoY สูงสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคา DM REIT เริ่มทรงตัว หลัง Bond Yield ฟื้นตัวในระยะสั้น ขณะที่ Demand Indicators ในส่วนของ Net Absorption และ Vacancy Rate อ่อนแอลงเล็กน้อยในเชิง Valuation เมื่อพิจารณาจาก P/BV อาจดูน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และ Dividend Yield Spread ยังไม่น่าสนใจ

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

EM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังปรับตัวขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมี Valuation และเงินปันผลอยู่ในระดับน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกทั้งสภาพคล่องของ REITs ไทยที่อยู่ในระดับต่ำ และสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังกระจุกตัวที่ Sponsor เป็นหลัก 

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ปรับมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority); Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง แต่ยังคงมุมมอง Private Real Estate ที่ Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 15 ม.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories