THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ผลประชุม Fed-ECB ชี้ชะตาตลาดหุ้นโลก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว

... • 12 ธ.ค. 2022

HIGHLIGHTS

  • หุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ประกาศออกมาดีเกินคาดที่ 2.63 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.0 แสนตำแหน่ง
  • InnovestX มองว่าตัวเลขตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงที่ 2.63 แสนตำแหน่ง เป็นเพราะการจ้างงานภาคบริการที่ยังคงแข็งแกร่งจากการเปิดประเทศ ทำให้มีความต้องการด้านบริการ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นการจ้างงานภาคบริการบางภาค เช่น ค้าปลีกเริ่มหดตัวลง
  • จากตัวเลขจ้างานที่ดีกว่าคาด ตลาดจึงเริ่มมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนานขึ้น แม้จะเริ่มลดระดับการปรับขึ้นก็ตาม 
  • การลงทุนในจีนได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดเพิ่มขึ้น และการหันมาเน้นสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเชื่อว่าจีนจะสามารถเปิดประเทศได้ในไตรมาส 2/23 ตามเป้าหมาย
  • ขณะที่ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะยังขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ InnovestX จึงคาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,640 จุด และแนะนำให้เลือกลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงหลังจากปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ดีเกินคาด ทำให้ตลาดเริ่มมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นดอกเบี้ยยาวนานขึ้น แม้จะเริ่มลดระดับการขึ้นลง โดยตัวเลขตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น 2.63 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดที่ 2.0 แสนตำแหน่ง ขณะที่การว่างงานทรงตัวที่ 3.7% ส่วนค่าแรงรายชั่วโมงและรายสัปดาห์ยังทรงตัวที่ระดับ 5.1% และ 3.9% ตามลำดับ 

 

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเศรษฐกิจเชิงลบหลายประการ เช่น

 

1. ตัวเลขส่งออก-นำเข้าจีนที่หดตัวแรงกว่าคาด โดยส่งออกหดตัว -8.7% ขณะที่นำเข้าหดตัว -10.6% ต่อปี บ่งชี้ความต้องการของโลกและความต้องการในประเทศที่หดตัวลง 

 

2. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่หดตัวทั้งหมด โดยสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น อยู่ที่ 47.7, 47.1, 49.4 และ 49.0 บ่งชี้ว่า ภาพเศรษฐกิจชะลอชัดเจนขึ้น 

 

3. ราคาน้ำมันโลกที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง แม้มีการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย (โดยตั้งเพดานราคาน้ำมันที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาที่รัสเซียขายที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI อยู่ที่ 77.9 และ 72.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ 

 

4. สหรัฐฯ และยุโรปกำลังพิจารณาเก็บภาษีสินค้านำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีนและประเทศที่ทำให้เกิดมลภาวะในการผลิตเพิ่มเติม 

 

5. ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น GS, JPM และ BofA ออกมาเตือนเกี่ยวกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า 

 

6. รัสเซียเตรียมระงับการขายน้ำมันให้บางประเทศ เพื่อตอบโต้การที่ EU และชาติตะวันตก ที่บังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในจีนได้รับปัจจัยบวกจากสัญญาณจากทางการจีนที่ประกาศผ่อนปรนมาตรการโควิดครั้งสำคัญ โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการของโรคกักตัวที่บ้าน แทนการถูกส่งตัวไปยังสถานที่กักตัวที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ และยกเลิกหลักเกณฑ์การแสดงผลตรวจเป็นลบในการเข้าพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ พร้อมกับการที่คณะกรมการเมือง (Politburo) ของจีน ที่หันมาเน้นสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นและดัชนีตลาดหุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้น

 

“สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ดีเกินคาด ทำให้ตลาดเริ่มมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยยาวนานขึ้น แม้จะเริ่มลดระดับการขึ้นลง นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ทั้งตัวเลขส่งออก-นำเข้าจีนที่หดตัวแรงกว่าคาด และดัชนี PMI ภาคการผลิตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง แม้จะมีการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากทางการจีนที่พร้อมเปิดประเทศมากขึ้น พร้อมกับการที่คณะกรมการเมืองของจีนหันมาเน้นสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นและดัชนีตลาดหุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้น” 

 

InnovestX มองว่า ส่วนเรื่องการจ้างงานสหรัฐฯ นั้น ตัวเลขตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงที่ 2.63 แสนตำแหน่ง เป็นเพราะการจ้างงานภาคบริการที่ยังคงแข็งแกร่งจากการเปิดประเทศ ทำให้มีความต้องการด้านบริการ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นการจ้างงานภาคบริการบางภาค เช่น ค้าปลีกเริ่มหดตัวลง ซึ่ง InnovestX มองว่าในระยะต่อไปการจ้างงานภาคบริการจะเริ่มชะลอลงหรือหดตัวแรงขึ้น จากเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลงทำให้ชาวอเมริกันเริ่มชะลอการใช้จ่าย โดยหันมาใช้จ่ายสินค้าจำเป็นแทน ทำให้การใช้จ่าย ค่าจ้าง และเงินเฟ้อ ชะลอลงในระยะต่อไป

 

ในส่วนการเปิดเมืองของจีนที่ทาง Politburo ผลักดันอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการจีนหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจโลกและจีนชะลอลงมาก อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศในช่วงต่อไปอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจีนจะยังคงเพิ่มระดับการเปิดประเทศต่อเนื่อง โดยอาจมีการหันกลับมาคุมเข้มขึ้นบ้างหากการระบาดมีมากขึ้น ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ทำให้จีนจะสามารถเปิดประเทศได้ตามเป้าที่ไตรมาส 2/23 ซึ่งจะเป็นบวกกับเศรษฐกิจและการลงทุนจีน

 

ในส่วนของราคาน้ำมัน InnovestX เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ราคาลดลงนั้นเป็นเพราะความต้องการที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจ โดยตัวเลขในไตรมาส 3/22 พบว่า ความต้องการน้ำมันโลกอยู่ที่ 99.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้อยกว่าปริมาณการผลิตที่ 100.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภาพดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันอาจไม่ปรับสูงขึ้นมากหรือไม่ตกลงนักในปี 2566 เนื่องจากความต้องการน้ำมันในซีกโลกตะวันตกที่กำลังลดลงจะถูกทดแทนความต้องการจากจีนที่เพิ่มขึ้น

 

“ตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจาก Fed Hawkishness ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์หรือตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

 

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง 2.1% (EM -0.5%, DM -2.3%) โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงผู้บริหารธนาคารในสหรัฐฯ ออกมาเตือนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลประกอบการ นอกจากนั้นรัสเซียมองว่าความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นและสงครามจะยืดเยื้อ ในขณะที่จีนออกมาตรการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง

 

โดยหุ้นกลุ่ม Value (-1.7%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-2.5%) หุ้นขนาดใหญ่ (-2.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (-2.8%) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่อิงกับเศรษฐกิจอย่างกลุ่มพลังงานและธนาคารปรับตัวลดลง 3-5% กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 3% ในขณะที่กลุ่มเชิงรับลดลงน้อยกว่า 1%

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

ช่วงสั้นมอง SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,640 จุด หลังตลาดยังอยู่ระหว่างรอปัจจัยชี้นำใหม่ โดยสัปดาห์น้ามีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ การประชุมนโยบายการเงินของ FED, BoE และ ECB  

 

ดังนั้นกลยุทธลงทุนจึงยังคงแนะนำ Selective Buy โดยเน้นรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้

 

  • หุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าได้อานิสงส์จากการทำ Window Dressing (ราคาหุ้นปรับลง QTD และมีสถิติผลตอบแทนดีในช่วงปลายปี) เลือก CPF และ ADVANC
  • หุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าได้อานิสงส์จากการเปิดตัวของ Tesla ในไทย เลือก AMATA, WHA และ TISCO 
  • หุ้นที่คาดว่าโมเมนตัมกำไร 4Q65 เติบโตแข็งแกร่ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังน่าสนใจ เลือก BBL, GULF, AOT, CPALL และ AU

 

ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

  

  • หุ้นที่คาดว่าจะถูกนำออก SET50 ซึ่งจะประกาศวันที่ 16 ธันวาคมนี้ และมีผลบังคับใช้ใน 1H66 เช่น BLA, IRPC, KCE และ SAWAD (SET100 ที่คาดว่าจะถูกนำออก MAJOR, STEC, SUPER, SYNEX, TASCO และ TTA)
  • หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่าและผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q65
  • หุ้นเดินเรือที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประชุมนโยบายการเงินของ FOMC ในวันที่ 13-14 ธันวาคม ตลาดคาด Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50%

 

2. การประชุมนโยบายการเงินของ ECB และ BoE ในวันที่ 15 ธันวาคม ตลาดคาด ECB และ BoE จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.50% และ 3.50% ตามลำดับ

 

3. การประกาศหุ้นเข้า-ออกดัชนี SET50 และ SET100 รอบ 1H23 ในวันที่ 16 ธันวาคม 

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AEONTS-Valuation ถูกและกำไรฟื้นตัวดี

สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ หรือ AEONTS เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

1. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภคชั้นนำ โดยให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเช่าซื้อ (รถจักรยานยนต์, รถมือสอง, เครื่องใช้ไฟฟ้า) โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 9% ในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิต และ 11% ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล

 

2. บริษัทกำลังดำเนินการจัดตั้ง AMC เพื่อบริหาร NPL ที่ไม่มีหลักประกันที่ซื้อมาจากสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตจาก ธปท. ภายในเดือนธันวาคมนี้ และจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งธุรกิจใหม่ AMC คาดว่าจะช่วยหนุนรายได้อื่นและผลการดำเนินงานให้เติบโตในระยะยาว

 

3. 3QFY22 (กันยายน-พฤศจิกายน 2565) คาดว่ากำไรเติบโต 34%YoY และ 21%QoQ สู่ 1.1 พันล้านบาท แรงหนุนจากสินเชื่อที่จะเติบโตเร่งตัวขึ้น อีกทั้งคาดว่าจะรับรู้กำไรจากขาย NPL จำนวนมากและหนี้สูญได้รับคืนที่เพิ่มขึ้น ส่วน NIM คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และ Credit Cost จะยังอยู่ในระดับสูงที่ 7.85% ขณะที่ OpEx คาดว่าจะอยู่ในระดับทรงตัวทั้ง YoY และ QoQ

 

4. ปี FY2565 คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวได้ดีราว 19%YoY และ 9%YoY ในปี FY2566 ปัจจัยขับเคลื่อนจะมาจากสินเชื่อที่คาดว่าเติบโตดีขึ้นที่ 7% และ Credit Cost คาดว่าจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมองการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ตั้งแต่ 4QFY65

 

5. Valuation ถูก โดยซื้อขายที่ PER 9.1x และ PBV 1.8x ในปี FY2566 ขณะที่ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 203 บาท และคาดว่าจ่ายปันผลปีนี้หุ้นละ 5.91 บาท คิดเป็น Div. Yield 3.5% 

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 4

เน้นถือครองเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่อง เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงเผชิญปัจจัยกดดันจาก 

 

1. ธนาคารกลางหลักต่างๆ ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังสูง

 

2. ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

3. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

 

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

10y UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่ Fed ยังทยอยขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มลดลง หลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย (คาดว่าในช่วง 2Q66) และจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในส่วนของ TH Yield ปรับตัวลดลงตามแรงซื้อของต่างชาติที่เข้ามามากขึ้นทั้ง ST และ LT โดยเฉพาะอายุ 5-10y ที่ Yield ลดลงค่อนข้างมาก

 

กองทุนแนะนำ

 

 

Krungsri Yenjai Fund

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว

 

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

IG ต่างประเทศ เราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลงเล็กน้อย สำหรับ IG ไทยยังคงได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่มีต่อเนื่อง หากพิจารณาจาก Bond Yield และ Corporate Spread ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะระยะยาว

 

หุ้นกู้ HY ไทยและต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยงในภาวะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และ HY ใน EM บางประเทศกำลังเสี่ยงปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะจีนที่มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาในจีน ตามกิจกรรมในภาคอสังหาจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ Valuation จะลดความตึงตัวลง การซื้อหุ้นคืนของ บจ. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และกลุ่ม Defensive อย่างกลุ่มเฮลท์แคร์ จะช่วยประคองตลาดฯ แต่คาดว่าตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันหลักจาก Earnings ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลดลง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยที่ยังสูง

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังถูกกดดันและมีความเสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอยจากต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามค่าจ้างที่ส่งสัญญาณเร่งตัวขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินยังคงมีแนวโน้มตึงตัว และ ECB เริ่มถอนสภาพคล่องผ่านโครงการ TLTRO-III และ APP ในช่วงปี 2566 มีโอกาสนำไปสู่การชะลอตัวลงของสินเชื่อ

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

Sentiment การลงทุนในระยะสั้นยังถูกหนุนด้วยการเปิดประเทศและ Valuation ที่ต่ำ แต่เศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงมีแนวโน้มกดดันการลงทุนในช่วง 1H66 ในขณะที่ตลาดเริ่มกลับมาจับตาการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของญี่ปุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่า และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ดัชนีฯ จะได้รับแรงหนุนจากมาตรการของทางการที่หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาบวกกับ Sentiment จากการเปิดเมือง แต่ดัชนีฯ ยังถูกจำกัดด้วยภาคอสังหาที่ยังซบเซาและสถานการณ์การระบาดในจีน

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ Valuation จะไม่แพง ความคาดหวังต่อการเปิดเมืองของจีน บวกกับความเสี่ยงหุ้นจีน ADRs Delisting ที่ลดลง แต่ตลาดฯ ยังเผชิญปัจจัยกดดันจาก 

 

  1. ความตึงเครียดของสหรัฐฯ-จีน ที่มีอยู่
  2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
  3. การที่จีนยังผลักดัน Common Prosperity ทำให้ Upside ของดัชนีฯ ถูกจำกัด 

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

EPS ที่ยังโตได้ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่ยัง Laggard กว่าภาคส่วนอื่นๆ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้หุ้นไทยมีโอกาสผันผวนต่ำหากเทียบกับ EM ในหลายประเทศ โดยให้มุ่งเน้นที่กลุ่ม High Quality โดยเฉพาะ Domestic-Related เช่น Commerce และ Transportation

 

กองทุนแนะนำ

 

 

SCB Dividend Stock Open End Fund

  • กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ในระยะกลาง-ยาว ตลาดฯ จะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจและผลประกอบการ บจ. ที่โตได้ดี ขณะที่ Valuation ที่ไม่แพง แต่ด้วยความกังวลในประเด็นการปราบปรามการทุจริต ปัญหาสภาพคล่องตึงตัว และความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคอสังหา จึงทำให้ Upside ของตลาดฯ ยังคงถูกจำกัด 

 

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

เศรษฐกิจยังคงได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งช่วยผลักดันให้ EPS ยังเติบโตได้ ท่ามกลางความเสี่ยงในภาคส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ความผันผวนของตลาดโลกอาจส่งผลต่อตลาดอินโดนีเซีย จึงควรเน้นกลุ่ม High Quality & Liquidity เช่น ธนาคารขนาดใหญ่

 

กองทุนแนะนำ 

 

 

SCB Indonesia Equity Fund

  • กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก), สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย

 

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังเพิ่มขึ้น ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ทองคำยังมีแรงหนุนจาก

 

1. ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในภาวะที่ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจ

 

2. ธนาคารกลางต้องการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น 

 

3. แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์

 

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

ราคาน้ำมันถูกกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว แต่การที่ราคามีการปรับตัวลงมามาก และยังสามารถใช้ Hedge ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้คาดว่าราคายังมีโอกาสฟื้นตัวตามความคาดหวังในการเปิดเมืองของจีนและอุปทานน้ำมันที่ยังคงตึงตัว

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

REITs เคลื่อนไหวตามปัจจัย LT Bond Yield เป็นสำคัญ แม้แรงกดดันจะลดลงบ้างเป็นช่วงๆ แต่นโยบายการเงินที่ตึงตัวและเงินเฟ้อที่สูงจะฉุดรั้งการเติบโตของ REITs ในส่วนของยุโรปถูกกดดันเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจถดถอยและต้นทุนการเงินสูง (ยุโรปมีอัตรา Leverage สูงกว่าภูมิภาคอื่น) ส่งผลต่ออัตรากำไรของ REITs

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

ผลตอบแทน REITs เอเชีย เคลื่อนไหวตาม Bond Yield เช่นกัน แต่แรงกดดันอาจไม่มาก โดยเฉพาะ REITs ไทยที่ Bond Yield ลดลงมาก ท่ามกลางปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเปิดเมือง (Upside Risk ที่มาจากการเปิดเมืองของจีน) และ Relocation-FDI หนุนกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรมหรือโกดัง

 

 

Private Asset 

ความน่าสนใจระดับ 2

Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 12 ธ.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories