- ถ้อยแถลงประธาน Fed ต่อรัฐสภาที่ระบุว่าจะไม่ปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 50% หากความเสี่ยงเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 50% พุ่งขึ้นสู่ระดับ 78%
- ขณะที่ตลาดแรงงานยังเปิดเผยตัวเลขในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTS) ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 10.8 ล้านตำแหน่ง แม้จะลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็สูงกว่าคาดการณ์
- InnovestX มองว่า ตลาดคงต้องติดตามตัวเลขการจ้างงาน รวมถึงเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด โดยมองว่าเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อในระยะต่อไปอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงของปีก่อน
- สำหรับประเทศไทย เงินเฟ้อที่ปรับลดลงกว่าที่ตลาดคาดมาก ทำให้ความจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลง และทำให้บาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
- SET มีแนวรับเชิงจิตวิทยาที่ 1,600 จุด โดยตลาดยังกังวลการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยปรับดีขึ้นในต้นสัปดาห์จากตัวเลข Service PMI ของสหรัฐฯ วันศุกร์ก่อนหน้าที่ออกมาดี โดยขึ้นมาอยู่ระดับ 50.6 สูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ดัชนี ISM Service ก็ยังอยู่ในระดับสูงที่ 55.1 สูงกว่านักเศรษฐศาสตร์คาดที่ 54.3 อย่างไรก็ตาม ตลาดกลับมาปรับลดลงจากสาเหตุหลักดังนี้
- ถ้อยแถลงประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่อรัฐสภาที่ไม่ปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 50% หากความเสี่ยงเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 50% ไปสู่ 5-5.25% ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมพุ่งขึ้นสู่ระดับ 78%
- ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ช่วงกลางสัปดาห์ออกมาดีต่อเนื่อง โดยตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTS) ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 10.8 ล้านตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนที่ 11.2 ล้านตำแหน่ง แต่สูงกว่าตลาดคาดที่ 10.5 ล้านตำแหน่ง และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Report) ที่จ้างงานเพิ่ม 2.42 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดที่ 2 แสนตำแหน่ง โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มสูงสุดได้แก่ สันทนาการ และบริการการเงิน ส่วนภาคการผลิตและก่อสร้างขยายตัวต่ำหรือหดตัวลง
- ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของจีนเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยส่งออกหดตัว -6.8% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 9% ขณะที่นำเข้าหดตัวที่ -10.2% มากกว่าเดือนธันวาคมที่ -7.5% และตลาดคาดที่ -5.5% โดยแม้ว่านำเข้าที่หดตัวมากเป็นผลจากราคาโภคภัณฑ์ที่ลดลงและดอลลาร์แข็งค่า มากกว่าความต้องการในประเทศที่ลดลง แต่ก็บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนยังคงเปราะบาง จากความเชื่อมั่นที่อยู่ระดับต่ำและรายได้ที่หายไป
- จีนขยายอำนาจให้แก่กระทรวงสำคัญ พร้อมจัดตั้งสำนักงานใหม่ เพื่อให้เข้ามากำกับดูแลข้อมูลสำคัญ ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องการกำกับดูแลภาคเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของประเทศ และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยียุทธศาสตร์ เช่น AI และเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น
“สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดยปรับดีขึ้นในต้นสัปดาห์จากตัวเลข Service PMI ของสหรัฐฯ วันศุกร์ก่อนหน้าที่ออกมาดี โดยขึ้นมาอยู่ระดับ 50.6 สูงสุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดผันผวนมากขึ้นหลังถ้อยแถลงประธาน Fed ต่อรัฐสภาที่ไม่ปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 50 bps หากความเสี่ยงเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางตัวเลขตลาดแรงงานที่ดี เช่น ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTS) และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Report)”
ความเชื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ‘เพิ่มขึ้น’
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ หรือ InnovestX มองว่า การที่ประธาน Fed ส่งสัญญาณที่พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและยาวนานขึ้น เป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูดีกว่าคาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราว่างงาน รวมถึงตัวเลขล่าสุด เช่น ตำแหน่งงานเปิดใหม่ และการจ้างงานภาคเอกชน รวมถึงตัวเลข PMI โดยเฉพาะภาคบริการ ด้านตัวเลขเงินเฟ้อจาก Core PCE ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเงินเฟ้อ CPI ที่ลดลงน้อยกว่าคาด ก็มีผลทำให้ประธาน Fed ส่งสัญญาณดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทำให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย 50% ในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม InnovestX มองว่าตลาดคงต้องติดตามตัวเลขการจ้างงาน รวมถึงเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด โดยมองว่าเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อ (เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ในระยะต่อไปอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงของปีก่อน โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมที่ 50%
ทั้งนี้ InnovestX เชื่อว่าสัญญาณจากธนาคารกลางในระยะต่อไปจะสับสนขึ้น เนื่องจากมีสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นในระดับ 50% ซึ่งสัญญาณที่แตกต่างกันระหว่างคณะกรรมการอาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นในระยะถัดไป
ในส่วนของไทย เงินเฟ้อที่ปรับลดลงกว่าที่ตลาดคาดมาก และองค์ประกอบภายในก็ลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้ความจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลง และทำให้บาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังขาดปัจจัยหนุน และตลาดยังโฟกัสไปที่เศรษฐกิจมหภาค โดยกังวลการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ สัปดาห์นี้มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การประกาศตัวเลข CPI (เงินเฟ้อ) และ PPI ของสหรัฐฯ ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ‘Selective Buy’ ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยเน้นรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ดังนี้
- หุ้นที่น่าสนใจลงทุน หาก SET หลุดแนวรับเชิงจิตวิทยาแถว 1,600 จุด โดยในแง่พื้นฐานยังแข็งแกร่ง อีกทั้งราคาหุ้นปรับลงแรง YTD และแย่กว่า SET เลือก PTTEP, HMPRO, CPALL, SCGP, GULF
- หุ้นที่คาดผลบวกเชิงจิตวิทยาและอานิสงส์จากเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเลือกตั้ง เลือกกลุ่มสื่อ BEC, MAJOR และกลุ่มค้าปลีก CPN
- หุ้นปันผลที่มีคุณภาพดี โดยเน้นจ่ายปันผลต่อเนื่อง 20 ปีขึ้นไป คาดให้ Div. Yield
(หลังหักจ่ายระหว่างกาลไปแล้ว) ปี 2565 สูงเกิน 4% และปี 2566 คาด Div. Yield ดีขึ้นหรือใกล้เคียงเดิม อีกทั้งปี 2566 ผลประกอบการยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งราคาหุ้นยังมี Upside เกิน 10% เลือก KTB และ AP
ช่วงสั้น หุ้นแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงราคาปรับตัวลง หรือ Underperform ตลาด ดังนี้
- หุ้นที่โดนปรับลดประมาณการกำไร (Downgrade) หรือหุ้นที่ราคามี Downside หรือหุ้นที่มีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ ได้แก่ AEONTS, BEM, SAWAD, TCAP, TIDLOR, TLI, TTB, MST, MTC, TQM
- หุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการ 1Q66 คาดยังหดตัวต่อ YoY และ QoQ ได้แก่ GFPT, CPF, BTS, ASP
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตลาดคาดจะชะลอลงมาอยู่ที่ 6.2% (InnovestX คาด 6.1%) จาก 6.5% ในเดือนมกราคม
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีน เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนสินทรัพย์ถาวรว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตาม PMI หรือไม่ (โดยเฉพาะยอดค้าปลีกที่น่าจะกลับมาขยายตัว)
- ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ว่าจะยังขยายตัวดีต่อจากเดือนก่อนที่ +3.0%
- การประชุมนโยบายการเงินของ ECB ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps สู่ 3% หรือไม่
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: SCGP - จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ 1Q66
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- ดำเนินธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออิงส่วนแบ่งตลาดจากยอดขายที่ 36%
- มองผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 4Q65 และ 1Q66 คาดกำไรจะฟื้นตัวดีขึ้น QoQ แรงหนุนจากการรับรู้ต้นทุน RCP ระดับต่ำ และมีปริมาณการขายที่ดีขึ้น (หลังอุปสงค์ในอาเซียนฟื้นตัวและส่งออกไปจีนมากขึ้น) ขณะที่ต้นทุนพลังงานคาดจะอยู่ในระดับทรงตัว QoQ
- ปี 2566 คาดกำไรปกติจะอยู่ที่ 7.045 พันล้านบาท พลิกกลับมาเติบโต 22%YoY จากการรับรู้ต้นทุน RCP ระดับต่ำใน 1H66 (ปรับตัวตามหลัง Spot Price อยู่ 4-5 เดือน) และปริมาณการขายที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นใน 1H66 โดยจะปรับตัวเพิ่มมากขึ้นใน 2H66 จากจีนเปิดประเทศ
- ราคาหุ้น SCGP ลดลง 7.5%YTD แย่กว่า SET ที่ลดลง 3.4%YTD ซึ่งคาดสะท้อนผลการดำเนินงาน 4Q65 ที่แย่กว่าตลาดคาดแล้ว และมองถัดจากนี้ราคาหุ้นมีโอกาสเข้าสู่โหมดฟื้นตัวสอดคล้องไปกับกำไรที่จะดีขึ้นตั้งแต่ 1Q66 จากต้นทุนที่ลดลงและมีปริมาณการขายที่ดีขึ้น
- InnovestX ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 65 บาท และมีเงินปันผลจ่ายจากกำไร 2H65 อีกหุ้นละ 0.35 บาท (XD 4 เมษายนนี้) คิดเป็น Div. Yield ราว 0.67%
Asset Allocation Strategy
เงินเฟ้อสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนว่า Fed จะดำเนินนโยบายที่เข้มงวดได้อีกมากน้อยเพียงใด กลับมาเป็นประเด็นที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดอีกครั้ง โดยแม้ว่า InnovestX จะมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางขาลงตลอดช่วงที่เหลือของปี แต่เนื่องด้วยตลาดแรงงานในภาคบริการยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ต้นทุนค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวช้ากว่าที่คาด และเป็นปัจจัยกดดันความคาดหวังของตลาดที่มีต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่ง InnovestX มองว่าความกังวลเงินเฟ้อและนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดทางฝั่งสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมการลงทุนในระยะนี้
ดังนั้นในภาพรวม InnovestX จึงยังคงแนะนำถือครองสภาพคล่องไว้ในระดับสูง สำหรับอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวของสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ยังมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางขาลง จึงยังคงแนะนำสะสมเพิ่มเติมได้ ในขณะที่ยังให้หลีกเลี่ยงตราสารหนี้ US High Yield เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าตลาดคาด
สำหรับการลงทุนในหุ้น InnovestX ยังคงมีมุมมองเป็นลบต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยแนะนำให้เน้นเลือกลงทุนในหุ้นคุณภาพที่มีศักยภาพในการรักษาระดับการทำกำไรได้ดีในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว InnovestX คงมุมมองบวกกับหุ้นเอเชียและจีน เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว โดยได้อานิสงส์หลักจากการเปิดประเทศของจีนที่จะช่วยหนุนการบริโภคและการท่องเที่ยว มองการย่อลงของตลาดเป็นโอกาสเข้าสะสมเพิ่มเติม
ด้านตราสารทางเลือก InnovestX ยังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์ / REIT แต่มีมุมมองบวกกับ TH REIT ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในส่วนของทองคำ InnovestX ยังคงมุมมองเป็นกลาง โดยมองว่ามีแนวโน้มถูกกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ InnovestX คงมุมมองเป็นกลาง มองราคาพลังงานเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางแม้มีการเปิดเมืองของจีนเข้ามาช่วยหนุน
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อสินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด เนื่องจากความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์เสี่ยงยังคงถูกปัจจัยกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างช้าๆ และยังอยู่ในระดับสูง Bond Yield ที่ยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้น และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังน่ากังวล
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงสั้น หลังถ้อยแถลงล่าสุดของประธาน Fed ค่อนข้าง Hawkish แต่คาดว่า Bond Yield จะเริ่มลดลงหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ในส่วน TH10YY ทรงตัวหลังต่างชาติกลับเข้าซื้อในต้นเดือนมีนาคม ระยะต่อไปอาจเคลื่อนไหวตาม US แต่ในอัตราที่น้อยกว่า เนื่องจากเงินเฟ้อไทยที่ลดลงเร็วกว่า US
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เราคาดว่า Spread ของ US IG มีแนวโน้มทรงตัวตามโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น แม้ว่าความผันผวนของดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นก็ตาม สำหรับ IG TH Yield ค่อนข้างทรงตัวต่ำตาม Gov’t Yield และ Corporate Spread ที่ทรงตัวต่ำ โดยเฉพาะอายุ < 3Y นอกจากนี้กลุ่ม BBB Spread ปรับลดลงมาใกล้ก่อนโควิด
แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยลดลง ผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่อหุ้นกู้ HY แต่ความผันผวนของตลาดการเงินและค่าเงินยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้โดยเฉพาะ HY ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงยาวนาน ส่งผลลบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่ม HY ในบางกลุ่ม เช่น อสังหาในเวียดนาม
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดฯ มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากการคาดการณ์ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ปี 2566 ที่ยังมีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลงต่อ ท่ามกลางต้นทุนที่ยังสูง รวมทั้งผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีธุรกิจ แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยลดลง ขณะที่ Valuation ของตลาดฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจาก UST Yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
Fund Flow ที่ไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป จากการที่ Valuation ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ หนุนตลาดหุ้นยุโรป อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินที่ยังคงมีแนวโน้มตึงตัว ในขณะที่ค่าแรงในยุโรปยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จะเป็นตัวกดดันแนวโน้มอัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
แนวโน้มการเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของ BOJ และทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว มีแนวโน้มส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นผันผวนในช่วงสั้น อย่างไรก็ดี Valuation ที่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศตามการเปิดเมือง จะช่วยจำกัด Downside ให้กับตลาดฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมือง มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
/ การคลัง มาตรการเยียวยาภาคอสังหา โดยเฉพาะในการประชุม NPC ที่จะสิ้นสุดวันที่ 13 มีนาคม รวมถึง Sentiment รายย่อยจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ประกอบกับดัชนีฯ ที่ Laggard เมื่อเทียบกับฝั่ง Offshore และ EPS ของดัชนีฯ ที่มีแนวโน้มถูกปรับขึ้น
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ความเสี่ยงการเพิกถอน บจ.จีน จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ลดลง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากข้อพิพาทกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงของประเทศ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
แม้ตลาดเผชิญแรงเทขายของต่างชาติท่ามกลาง GDP และ Earning ใน 4Q65 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด แต่ใน 2H66 ตลาดได้แรงบวกจากท่องเที่ยวที่หนุนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดีต่อ EPS ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศและเกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว ขณะที่ Valuation หุ้นไทยยังน่าลงทุน
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 2
ความกังวลบนตลาดหุ้นกู้ภาคอสังหายังคงอยู่ แม้รัฐบาลจะอนุมัติกฎหมายใหม่เพื่อหวังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยเรามองว่าโอกาสที่จะลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจยังมีค่อนข้างน้อย แต่ด้วยสัดส่วนน้ำหนักหุ้นกลุ่มอสังหาและกลุ่มธนาคารรวมกันอยู่ที่ 57% ของดัชนีฯ ทำให้ดัชนีฯ ยังถูกกดดันในระยะสั้น
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับลดลง สะท้อนถึงภาคการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวอ่อนแอ โดยดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากการขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มถ่านหิน รวมถึงการคาดการณ์การเติบโตของ EPS ในปีนี้ที่ไม่น่าดึงดูดเท่ากับกลุ่ม ASEAN โดยเศรษฐกิจอินโดฯ ได้รับประโยชน์จากจีนเปิดเมืองที่น้อยกว่า
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มผันผวน หลังจากที่ Fed กลับมาส่งสัญญาณว่ายังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้ตลาดยังคงปรับคาดการณ์ Terminal Rate ของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่า เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
อุปทานจากรัสเซียปรับตัวลดลงช้ากว่าคาด ส่งผลให้สมดุลในตลาดน้ำมันยังคงเป็นอุปทานส่วนเกินช่วง 1H66 ในขณะที่ Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง มีแนวโน้มกลับมากดดัน Sentiment บนความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้แก่น้ำมันในช่วงสั้น
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
แรงกดดันจาก Bond Yield อาจเริ่มกลับมา หลัง Fed มีท่าที Pause ดอกเบี้ยช้าออกไป แต่เราคาดว่าการ Pause ดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นใน 2H66 ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อ REITs ลงมาได้ในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม US ที่ฟื้นมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดทำให้ความน่าสนใจลดลง ขณะที่ญี่ปุ่นยังถูกกดดันจากนโยบายการเงินของ BOJ
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
จีนเปิดเมือง / ประเทศ หนุนท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในเอเชีย ดีต่อรีเทลและโรงแรม ซึ่งเอเชียมีอัตราเงินปันผลที่ดีขึ้นและสูงกว่า DM ขณะที่ 2H66 แรงฉุดจาก Bond Yield จะลดลง (โดยเฉพาะ Fed Pause ที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้มีความเสี่ยงที่อาจถูกเลื่อนออกไปช้าลง) จึงเป็นจังหวะเข้าสะสมช่วง Bond Yield เร่งตัวในระยะสั้น
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูง มีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2566