THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

หุ้นญี่ปุ่นหมดรอบขาขึ้น? คาด BOJ ขึ้นดอกเบี้ย เม.ย. ดึง ‘เงินเยนแข็งค่า’

... • 19 ก.พ. 2024

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับลดลงจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงน้อยกว่าคาด ส่วนฝั่งตลาดหุ้น EM ปรับตัวขึ้นหนุนโดยตัวเลขการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมกราคมที่ขยายตัวสูงกว่าตลาดคาดนั้นยังไม่น่ากังวล และตลาด Over-react เกินไปกับตัวเลขดังกล่าว

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับลดลงจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ตาม S&P 500 ฟื้นตัวได้ช่วงปลายสัปดาห์ จากความหวัง Fed อาจลดดอกเบี้ยได้เร็ว สะท้อนผ่านผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หลังตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมกราคมออกมาต่ำกว่าคาด 

 

ในฝั่งของ EM ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นหนุนโดยตัวเลขการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ในส่วนของมุมมองการลดดอกเบี้ยของ Fed ตลาดเริ่มปรับมุมมองไปเดือนมิถุนายน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำจุดสูงสุดในรอบ 34 ปี แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยหลัง GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้ตลาดคาดว่า BOJ อาจยังไม่ปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นในระยะสั้น รวมถึงปัจจัยบวกจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง  

 

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ มาตรการ Digital Wallet ยังไม่มีข้อสรุป ผลประกอบการของหุ้นใน SET50 ที่ประกาศออกมาถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม แรงส่งเชิงบวกยังอยู่ในกลุ่มของการท่องเที่ยวจากตัวเลขนักท่องเที่ยวรายสัปดาห์ฟื้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีหนุนโดยนักท่องเที่ยวจีน ด้านราคาน้ำมันปรับขึ้นเล็กน้อยได้แรงหนุนจากประเด็นการเจรจาระหว่างอิสราเอล-ฮามาสไม่มีความคืบหน้า

 

เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าคาด ‘ยังไม่น่ากังวล’

 

เรามองว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมกราคมที่ขยายตัวสูงกว่าตลาดคาดนั้นยังไม่น่ากังวล เพราะหากพิจารณาองค์ประกอบเงินเฟ้อ (Contribution to Inflation) พบว่าองค์ประกอบหลักอย่าง 1. อาหารและการขนส่ง และ 2. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน ลดลงต่อเนื่อง มีเพียง 3. ค่าจ้างที่ปรับขึ้นบ้าง เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงร้อนแรง แต่ในระยะต่อไปตัวเลขค่าจ้างมีสัญญาณลดลงหลังจากอำนาจการต่อรองของนายจ้างที่มีมากขึ้น 

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมองว่าตลาด Over-react เกินไปกับตัวเลขดังกล่าว อย่างไรก็ตามมองว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่ำกว่า 3% ได้ยาก จากเศรษฐกิจที่ยังพอไปได้ (Soft Landing) แต่จะขึ้นสูงก็ยากเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยการส่งออกเงินฝืดจากจีนเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อ

 

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยเราไม่กังวลมากนัก เนื่องจากหากเทียบรายปีตัวเลข GDP ขยายตัวชะลอลงบ้าง แต่ก็ทำให้ทั้งปี 2023 ขยายตัวประมาณ 1.8% สูงสุดในรอบทศวรรษ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้รายได้จากต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มชะลอลง ผลจากเงินเฟ้อที่สูงยาวนานอาจกระทบต่อการบริโภคระยะต่อไป ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ BOJ จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยในเดือนเมษายนนี้

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาในไทยที่มีการฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองมากนัก เลือก AOT, MINT  

 

2. หุ้นปันผลคุณภาพดีที่คาดว่าจะประกาศจ่ายเงินปันผลในสัปดาห์หน้า (XD ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้) โดยคาดให้ Div. Yield ปี 2023 (หลังหักจ่ายระหว่างกาลแล้ว) เกิน 5% เลือก AP, BCP, KTB

 

3. นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC ซึ่งเป็นหุ้น SET100 ซึ่งเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และมี ESG Ratings ระดับ AAA/AA, Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี และผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง

 

“มองตลาดหุ้นไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ช่วงสั้นมองตลาดหุ้นไทยยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากไร้ปัจจัยหนุนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างรอดูผลประกอบการ 4Q66 ของ บจ.ไทยที่จะทยอยออกมา ซึ่งคาดว่ายังมีแนวโน้มอ่อนแอ นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มองตลาดรับรู้ไปแล้วในระดับหนึ่ง” 

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. สภาพัฒน์รายงานตัวเลข GDP 4Q23 และ ส.อ.ท. แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม 2024

2. รายงานการประชุมนโยบายการเงิน FOMC เมื่อวันที่ 30-31 มกราคม 2024

3. ดัชนี Flash PMI ของสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยต้องจับตาว่าดัชนีของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่ดัชนีของยุโรปจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้หรือไม่

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BDMS - หุ้นปลอดภัยที่มีกำไรแข็งแกร่ง

 

แนะนำ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายมากที่สุดในไทย (โรงพยาบาล 57 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรงพยาบาลเอกชนทั่วโลกในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งคาดได้ประโยชน์จากอุปสงค์การแพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว 
  • กำไรมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง โดย 4Q23 คาดกำไรปกติ 3.6 พันล้านบาท เติบโต 16%YoY จากรายได้ที่แข็งแกร่ง แต่จะลดลง 7%QoQ จากปัจจัยฤดูกาล ส่วนปี 2023 คาดกำไรปกติ 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 12%YoY และเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 8%YoY ในปี 2024 แรงหนุนจากรายได้และ EBITDA Margin ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากบริการผู้ป่วยต่างชาติมากขึ้น และการใช้ประโยชน์สินทรัพย์ได้ดีขึ้น
  • เป็นหุ้นปลอดภัยและ Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PER 2024F ที่ 29 เท่า ต่ำกว่าระดับ -2SD ของ PER เฉลี่ยในอดีตที่ 32 เท่า และราคาหุ้นยังมีความผันผวนต่ำ สะท้อนได้จากราคาหุ้น BDMS ปรับขึ้น 0.7%YTD ดีกว่า SET ที่ปรับลง 2.2%YTD  
  • เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2024 ที่หุ้นละ 35 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 1.8% 

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

หุ้นกลุ่มเชิงรับในช่วงนี้จะให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าตลาด คาดเป็นผลมาจากความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตที่เริ่มชะลอตัวลง หลังการปรับขึ้นราคาทำได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ดีจากผลประกอบการที่ออกมาสะท้อนได้ว่ากลุ่ม Personal Care และเครื่องดื่มยังมีแรงซื้อที่แกร่งและยืดหยุ่นกว่ากลุ่มอาหาร

 

  • งบกลุ่มเครื่องดื่มในช่วง 4Q23 นั้น KO ออกมาดีกว่าคาด และยอดขายในส่วนเครื่องดื่มยังเติบโต 6.4%YoY สวนทางกับ PEP ที่งบออกมาผิดคาด และมียอดขายลดลง -2.4% นอกจากนี้ แม้จะมีการปรับขึ้นราคา แต่ปริมาณการขายของ KO ยังเพิ่มขึ้นได้สวนทาง PEP ที่มีปริมาณการขายลดลง 

 

  • ในทางเดียวกัน กลุ่มอาหารอย่าง KHC เผยงบผิดคาด โดยรายได้และ EPS ลดลง รวมถึงมีปริมาณการขายที่ลดลงเช่นเดียวกันกับ PEP ที่มีสัดส่วนธุรกิจในกลุ่มอาหารมากกว่า KO 

 

  • ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าปริมาณการขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Personal Care อย่าง Colgate-Palmolive (CL) และ Procter & Gamble (PG) จะมีภาพที่ฟื้นตัวสวนทางกลุ่มอาหาร โดยจากไตรมาสล่าสุดนั้น CL มีปริมาณการขายที่ฟื้นตัวเป็นบวกหลังจากปีก่อนติดลบ ขณะที่ P&G มีปริมาณการขายที่หดตัวในระดับที่น้อยลงจากปีก่อน 

 

  • เรามองว่าในปี 2024 กลุ่มเชิงรับจะยังคงมีแรงกดดันจากการปรับขึ้นราคาขายที่ทำได้อย่างจำกัดแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตในระยะถัดไปมีภาพที่ชะลอตัวลง ซึ่งหากเล่นเพื่อคาดหวังการเติบโตเรามองว่ากลุ่มนี้ค่อนข้างไม่ตอบโจทย์ อย่างไรก็ดีบริษัทยังคงมีลักษณะที่เป็นหุ้นเชิงรับที่ดี ทำให้เรามองว่าหุ้นประเภทนี้อาจเหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย หรือช่วงที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าในช่วงนี้ที่กลุ่มอื่นดูจะฟื้นตัวได้ดีกว่า นอกจากนี้หากให้เลือกในกลุ่มนี้ เราแนะมองกลุ่ม Personal Care และกลุ่มเครื่องดื่มที่ดูเหมือนจะมีแรงซื้อที่แกร่ง และยืดหยุ่นจากการปรับขึ้นราคามากกว่ากลุ่มอาหาร

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง/เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะของสหรัฐฯ หลัง CPI สหรัฐฯ ล่าสุดสูงกว่าที่คาด ขณะที่ความหวัง Soft Landing ในสหรัฐฯ ยังมีอยู่ นอกจากนี้สภาพคล่องยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังดำเนินต่อ

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

‘Higher for Longer’ Sentiment ได้กลับมาอีกครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมมาสูงกว่าคาดการณ์ โดยตลาดได้ปรับลดความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ลงจาก 6 ครั้งในช่วงปลายปี 2023 เป็น 4 ครั้งในปัจจุบัน  และ TGB Yield ยังอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง หลังตัวเลขเศรษฐกิจยังบ่งชี้ภาวะเงินฝืด และผลการประชุม กนง. ส่งสัญญาณมีโอกาสมากขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

พันธบัตรของธนาคารภูมิภาคได้รับแรงกดดันจาก NYCB ที่ประกาศผลประกอบการที่อ่อนแอจากการขาดทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (CRE) Spread ขยายตัว แต่ Spread โดยรวมทั้งตลาดฯ ยังคงหดตัวต่อ โดย ICE BofA US Corporate Index Option-Adjusted Spread อยู่ที่ระดับ 0.98% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี  

 

ICE BofA US High Yield Index OAS Spread ยังปรับตัวลงต่ออีก 5 จุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.38% ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างตึงตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี โดยเรามองว่ากิจกรรมการ Refinance ที่จะเริ่มเร่งตัวขึ้นใน 2H24 มีโอกาสที่ Supply Bond ของ HY เพิ่มขึ้น และ Spread ปรับเพิ่มขึ้นได้

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

1. Valuation ของดัชนีฯ อยู่ในระดับที่สูงกว่า 90 Percentile ซึ่งเป็นระดับราคาที่ตึงตัวมาก

2. ตลาดเลื่อนคาดการณ์การลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จากเดือนมีนาคมเป็นเดือนมิถุนายน

3. กำไรและคาดการณ์กำไรที่ฉีกห่างกันมากขึ้นระหว่างหุ้น ‘7 นางฟ้า’ และหุ้น S&P 493 ขณะเดียวกันกำไรและคาดการณ์กำไรภายในกลุ่ม 7 นางฟ้าเริ่มไม่ได้ไปในทางเดียวกัน โดยเริ่มเห็นความต่างกันระหว่างกลุ่มที่ทำได้ดีและกลุ่มที่ต่ำกว่าคาดชัดเจนขึ้น

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

STOXX600 EPS ยังเสี่ยงถูกปรับลง ตามที่เรามองว่า Consensus คาด EPS ปีนี้ ไว้สูงเกินไปที่ +5.8%YoY เมื่อเทียบกับโมเมนตัมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี Valuation ของดัชนีฯ ที่ยังไม่แพง และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยปีนี้ของ ECB และ BOE จะช่วยหนุน P/E แม้ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในยุโรปอาจเพิ่มความผันผวน

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 2

ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้นมามากในปีที่ผ่านมา และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องค่อนข้างดีนับจากต้นปี (YTD) ส่งผลให้ Valuation ของดัชนีฯ ตึงตัวมากขึ้น ขณะที่ในระยะถัดไป ดัชนีฯ ยังเสี่ยงเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการทยอยเริ่มคุมเข้มทางการเงินของ BOJ ในช่วงการประชุมฯ เดือนเมษายนนี้ ที่จะหนุนแนวโน้มการทยอยกลับมาแข็งค่าของเงินเยน และหนุนแนวโน้มการทยอยเพิ่มสูงขึ้นของ Bond Yield ญี่ปุ่น

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีนที่ยังอยู่ แม้ยอดระดมทุนรวมล่าสุดออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดก็ตาม ขณะที่แนวนโยบายของทางการยังเน้นไปที่การส่งเสริมเสถียรภาพตลาดหุ้นในประเทศ แม้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ จะยังกดดันดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ P/E ดัชนีฯ ยังไม่แพง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนจะชะลอลงกว่าที่คาด และข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ กับจีน โดยล่าสุด EU เสนอมาตรการจำกัดการค้ารอบใหม่กับบางบริษัทจีน จากข้อกล่าวหาการหนุนรัสเซียรบกับยูเครน จะยังสร้างความผันผวน และจำกัดการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ มีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอนในโครงการ Digital Wallet ในขณะที่การเมืองในประเทศมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในเดือนมกราคม และการเข้าสู่ฤดูกาลวันหยุดปีใหม่จีนเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ โดยเราเริ่มเห็นการกลับเข้ามาซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 

  1. แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 
  2. การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว 
  3. FDI ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
  4. ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป 
  5. ธุรกิจธนาคารมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่กลับสู่ขาขึ้น และ NPL ผ่านจุดสูงสุดแล้ว นอกจากนี้ Valuation ของดัชนีฯ อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยมี FWD P/E ที่ 10.1x (-1 s.d. บน ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี)

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนระยะสั้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีแนวโน้มสำเร็จในรอบแรก โดย ปราโบโว ซูเบียนโต มีคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 58% อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวการบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ ในขณะที่การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ยังโดนกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2024 ลดลง -8.1%YoY ทำให้เรายังคงมุมมอง Neutral บนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

 

ตลาดหุ้นอินเดีย

ความน่าสนใจระดับ 4

เราชอบกองทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากคาดว่า Fund Flow ต่างชาติมีโอกาสกลับมาหลังเห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง นอกจากนี้ ผลตอบแทนที่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก และ Valuation ที่อยู่ในระดับแพงมีความเสี่ยงที่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจะเริ่มเข้าสู่ช่วงพักฐานหลังโมเมนตัมของกำไรเริ่มลดความร้อนแรงลง

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเห็น Bond Yield กลับปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าคาด และตัวเลขแรงงานที่แข็งแกร่ง เราคาดว่าจะเห็น Physical Demand ที่ยังคงแข็งแกร่งของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่สะสมทองคำเพื่อใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

ภาพรวมของตลาดน้ำมันยังมีแนวโน้มเป็นอุปทานส่วนเกิน โดย IEA คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2024 จาก 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2023 ด้านสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 12 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนซึ่งมากกว่าคาด ขณะที่ค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 4.2 ล้านบาร์เรล WoW และอัตราการกลั่นปรับลดลง 1.8% สู่ระดับ 80.6% ขณะที่อุปสงค์ต่อน้ำมันเบนซินและ Jet Fuel ปรับลดลง

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

อัตราพื้นที่ว่าง (Vacancy Rate) ของอสังหาริมทรัพย์ประเภท Office ทำจุดสูงสุดใหม่ และเริ่มกลับมากังวลเกี่ยวกับประเด็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (CRE) อีกครั้ง หลัง NYCB ประกาศงบที่แย่กว่าคาด โดยเรามองว่าการปรับลดมูลค่าของกลุ่ม CRE (Impairment) จะยังมีต่อด้าน Valuation จาก P/BV น่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และในส่วน Dividend Yield Spread ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

EM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังเพิ่มขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมี Valuation และเงินปันผลที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกทั้งสภาพคล่องของ REITs ไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการกระจุกตัวของสินทรัพย์ที่ไปลงทุน คู่สัญญา และ เจ้าของเดิมที่ขายทรัพย์สินเข้ากอง (Sponsor) ที่ค่อนข้างสูง

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง 

 

ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่ 

 

ภาพ: Javier Ghersi / Getty Images

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 19 ก.พ. 2024

READ MORE




Latest Stories