THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
ดอกเบี้ยโลกขาขึ้น
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ดอกเบี้ย โลกขาขึ้น จับตาไตรมาส 3 เข้าสู่ช่วงเวลาที่ตลาดเงินมีความเสี่ยงสูงสุดในปีนี้

... • 20 มิ.ย. 2022

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ตลาดการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความผันผวนจากสารพัดปัจจัย โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูง ทำให้ Fed ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 
  • นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ช่วงไตรมาส 3 จะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงสูงสุดของปีนี้
  • สัปดาห์นี้ต้องติดตามท่าทีของประธาน Fed ในการตอบคำถามเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย 
  • แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอก โดย SCBS ยกให้ CPF เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์ เนื่องจากมีแนวโน้มฟื้นตัวตามราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น

กรณี ดอกเบี้ย ขาขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดผันผวนและปรับตัวลดลงจาก 1. ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่มีทิศทางชะลอลง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อคุมความคาดหวังเงินเฟ้อ นอกจากนั้นดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็ยังคงสูงเกิน 10% เช่นกัน 2. ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ผันผวนและกระชากขึ้นแรงในช่วงต้นสัปดาห์ จากปัจจัยเงินเฟ้อและเกิดภาวะเส้นผลตอบแทนกลับหัว (Inverted Yield Curve) ในช่วงหนึ่ง นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบทำให้พันธบัตรในยุโรปปรับเพิ่มขึ้น จนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องประชุมฉุกเฉินและออกมาตรการเข้าช่วยเหลือที่คล้ายกับ QE ในช่วงก่อนหน้า 

 

  1. ค่าเงินเยนอ่อนในรอบกว่า 2 ทศวรรษ และทำให้นักธุรกิจกังวลต่อต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น 4. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เริ่มกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน จากเงินเฟ้อในระดับสูง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และ 5. ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูงและเศรษฐกิจที่หดตัว 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับปัจจัยบวกจาก 1. คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และปรับประมาณการ Dot Plot ขึ้นรุนแรง บ่งชี้ว่า Fed ตั้งใจจะคุมเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดมองเป็นภาพบวกและฟื้นตัวขึ้นบ้าง และ 2. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นหลังการเปิดเมือง 

 

ทั้งนี้ในมติการประชุม FOMC เดือนมิถุนายน มีสาระสำคัญดังนี้ 

 

  1. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.5-1.75% 

 

  1. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงจาก 2.8% และ 2.2% ในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 1.7% ทั้งคู่ 

 

  1. ปรับเพิ่มอัตราว่างงานจาก 3.5% ในปีนี้และปีหน้าเป็น 3.7% และ 3.9% ขณะที่ปรับเพิ่มเงินเฟ้อขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.3% และ 2.7% 

 

  1. ปรับเพิ่มการคาดการณ์ดอกเบี้ย (Dot Plot) รุนแรง จาก 1.9% และ 2.8% ในปีนี้และปีหน้าเป็น 3.4% และ 3.8% ตามลำดับ ก่อนจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.4% ในปี 2024  

 

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยและปรับ Dot Plot รุนแรงเป็นผลจากเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.6% แทนที่จะลดลง ทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง Fed จึงต้องส่งสัญญาณตึงตัวนโยบายการเงินมาก เพื่อให้ความคาดหวังเงินเฟ้อลดลง ซึ่งเรามองว่าการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยและตึงตัวนโยบายการเงินแรงเช่นนี้ (และเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป) จะทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป ทำให้เศรษฐกิจชะลอลงรุนแรงขึ้น เป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน 1-2 ปีข้างหน้าได้  

 

ทั้งนี้ทิศทางดอกเบี้ยและนโยบายการเงินในระยะต่อไปจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคตเป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันการเริ่มเปิดเมืองของจีน และราคาวัตถุดิบบางประเภท เช่น สินแร่โลหะที่เริ่มลดลง ก็เป็นสัญญาณบวกในระดับหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาในระยะต่อไปได้แก่ ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง

 

SCBS ประเมินว่าแรงกดดันจากนโยบายการเงินตึงตัวของสหรัฐฯ ได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลัง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 3Q22 จะเป็นช่วงที่เวลาที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงสูงสุดในปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของนโยบายการเงินตึงตัว (Tightening Risk) และความกลัวเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว (Growth Fear) ที่คาดว่าสัญญาณจะชัดเจนขึ้น ดังนั้นการลงทุนในสภาวะตลาดแบบนี้ นักลงทุนยังคงต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ 

 

มุมมองต่อการลงทุน

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 3.2% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 3.3%, ตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 3.2% โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มากกว่าที่คาด เช่นเดียวกับ ECB ที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวกว่าที่คาด ซึ่งมาพร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น

 

หุ้นกลุ่ม Growth (-3%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (-3.4%) หุ้นขนาดใหญ่ (-3.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (-4.3%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงมากที่สุด 6.4% จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวลง ในขณะกลุ่มการเงินและกลุ่มเทคโนโลยีเริ่มปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดหลังจากที่ปรับตัวลดลงแรง

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ 

 

  1. ท่าทีของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการตอบคำถามเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย 

 

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประเมิน Stress Tests หากมีการว่างงานเพิ่มขึ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา ซึ่งไม่น่าจะมีความเสี่ยงใหม่ 

 

  1. การประชุมผู้นำยุโรป ซึ่งคาดว่าเรื่องรัสเซียจะเป็นประเด็นใหญ่ 

 

  1. จีนยังคงดอกเบี้ย 

 

  1. ยอดส่งออกเกาหลีที่จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 

 

  1. PMI ยุโรปและสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวแบบชะลอตัวลง 

 

  1. เม็กซิโกและฟิลิปปินส์จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.75%

 

“เงินเฟ้อก็ต้องไปดูที่ปัญหารัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ จนกลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ หากเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย ความคาดหวังของผลตอบแทนก็ไม่ควรสูงเช่นกัน และอาจจะเป็นการเด้งเพื่อรอภาพการย่อตัวจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ดังนั้นเรายังมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยที่เป็นจุดกลับตัวของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นความไม่ชัดเจนของจีนต่อมาตรการควบคุมโควิด และปัญหารัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ ทำให้การลงทุนช่วงนี้ยังมีความเสี่ยง การลงทุนในช่วงเวลานี้ต้องเป็นการลงทุนสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและต้องเป็นหุ้นที่มีการฟื้นตัวของแนวโน้มกำไรชัดเจน”

 

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้

 

การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัด และหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น

 

หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เลือก KBANK, BBL, BLA และ THREL ซึ่งคาดราคาหุ้นจะตอบสนองเชิงบวกต่อการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาดของ ธปท. และยังเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรช่วง 2Q-4Q22 ปรับตัวดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ

 

หุ้นท่องเที่ยว เลือก AOT และ AWC ซึ่งได้รับผลลบจากดอกเบี้ยขาขึ้นจำกัด ขณะที่ช่วงที่เหลือปีนี้คาดจะเห็นภาพผลประกอบการที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ซึ่งสนใจหุ้นที่ราคาปรับลงมาแรงแล้ว ทำให้มี Risk/Reward ที่ดี อีกทั้งล่าสุดได้ผลบวกปัญหาอุปทานมีแนวโน้มคลี่คลายลงและอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้น แนะนำหาจังหวะเก็งกำไรในหุ้น Recovery อย่าง MAKRO และ CBG

 

ในช่วงที่ตลาดยังคงกังวลต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินอยู่ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฯลฯ รวมไปถึงความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงของ Fed ในการรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจ Recession ส่งผลให้ตลาดยังคงผันผวนต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำคือหุ้นกลุ่ม Defensive และ Quality

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPF - ฟื้นตัวตามราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น

 

สัปดาห์นี้เลือกแนะนำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ซึ่งมีฐานการผลิตและตลาดในหลายประเทศ รวมทั้งมีสินค้าจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการทำกำไรที่สูง 
  • 2Q22 คาดกำไรดีขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาลและการกลับมาของแรงงานในโรงงานไก่เนื้อในประเทศ อีกทั้งจะปรับตัวดีขึ้นอีกใน 2H22 จากรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นของบริษัทร่วม (CPALL, MAKRO และ CTI) หนุนให้ปี 2022 คาดมีกำไรปกติ 7.57 พันล้านบาท เพิ่มจากปี 2021 ที่ทำได้แค่ 672 ล้านบาท 
  • ช่วงสั้นคาดผลประกอบการจะได้อานิสงส์บวกจากวิกฤตราคาอาหารทั่วโลกที่สูงขึ้น หลังเกิดปัญหาอุปทานเนื้อสัตว์ (สุกรและไก่) ตึงตัว แต่มีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหลังหลายประเทศคลายล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าต้นทุนอาหารสัตว์ (ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง) ที่เพิ่มขึ้น 
  • ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันราคาหุ้น CPF ปรับขึ้นเพียง 3.9%YTD ซึ่งมองยังไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 1Q22 และจะเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q22 จากราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับขึ้นทุกประเทศหลัก  
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 30 บาท (วิธี SOTP) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 ที่หุ้นละ 0.65 บาท คิดเป็น Div. Yield 2.5%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ เช่น Fed, BOE และ ECB เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากภาวะอุปทานขาดแคลน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ปี 2022 ที่ยังขยายตัวได้ดี จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวได้

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากการที่ Fed มีแนวโน้มเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การที่ EPS ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และส่วนใหญ่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง จะช่วยหนุนแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนการจ่ายเงินปันผลมากขึ้น และช่วยประคองตลาด ขณะที่ YTD ตลาดปรับลดลงค่อนข้างมาก (Valuation เริ่มลดความตึงตัวลง) จะเป็นการช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงได้

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

 

ตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีนจะช่วยผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่อุปทานไปได้บ้าง แต่วิกฤตในยูเครนที่ยืดเยื้อยังคงส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อยุโรปเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ECB มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นแรงกดดันเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองว่ามีความเสี่ยงที่ EPS ตลาดหุ้นยุโรปตั้งแต่ 2Q22 เป็นต้นไปและทั้งปีนี้จะถูกปรับประมาณการลดลงและกดดันหุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ในช่วงท้ายเดือนพฤษภาคมเริ่มเห็นการเร่งตัวขึ้นของดัชนี ตามความคาดหวังของนักลงทุนต่อมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่อาจถูกกลับมาใช้ การคลายล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ และเงินเยนที่อ่อนค่าสนับสนุนการส่งออก แต่ปัญหา Supply Constraint น่าจะส่งผลให้การลงทุนและภาคการผลิตของญี่ปุ่นใช้เวลาในการฟื้นตัว ขณะที่มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัด (คาดว่าจะ Entry without Limit ในปี 2023) และการบริโภคในประเทศยังเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูง

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ส่วนใหญ่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการ Delisting หุ้นจีน ADRs กว่า 150 แห่ง ที่ยังมีอยู่ ตามที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่านร่างกฎหมายที่เร่งกระบวนการ Delisting ให้เร็วขึ้นจาก 3 ปี เป็น 2 ปี ในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ขณะที่การที่ผลประกอบการ บจ. ในกลุ่ม Platform ที่มีแนวโน้มชะลอลงและทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 4 

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share โดยดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มต้องเร่งออกพันธบัตรพิเศษให้ครบเต็มจำนวนโควตาทั้งปีภายในสิ้นเดือนนี้ และจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายลงทุนให้หมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเมืองหลัก และการที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด เช่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนสินทรัพย์ถาวร และยอดค้าปลีก แม้ว่าการที่จีนยังคงนโยบาย Zero-COVID อาจจะกดดัน Sentiment ของนักลงทุนอยู่ก็ตาม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เราปรับลดระดับความน่าสนใจหุ้นไทยจากระดับ 5 เหลือระดับ 4 ตามความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ทำให้ Fed อาจเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้เรายังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสถูกปรับขึ้นใน 2H22 ถึง 2 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวที่มากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อ EPS ของหุ้นไทย อย่างไรก็ดี หุ้นไทยอาจยังพอมี Upside จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทางการ ขณะที่ Valuation ของตลาดที่ยังไม่แพง จึงทำให้ Downside ตลาดค่อนข้างจำกัด

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เราปรับลดระดับความน่าสนใจของตลาดหุ้นเวียดนามจากระดับ 5 เหลือระดับ 4 โดยตลาดยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวภายในประเทศในช่วงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดการเงิน และตลาดอสังหาของทางการ แต่เรามองว่าความกังวลดังกล่าวจะจำกัด Upside ของตลาดหุ้นเวียดนามเพียงช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ Downside ตลาดเริ่มมีจำกัด ตามแรงขายจาก Margin Call/Forced Sell ที่เริ่มบรรเทา และตาม Valuation ของตลาดที่ปรับลดลงมามาก ดังนั้นเราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม ตามที่ตลาดยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และผลประกอบการ บจ. ปีนี้ที่ยังขยายตัวโดดเด่น

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ รวมไปถึงทิศทางเงินดอลลาร์ที่พักฐานช่วงสั้น จากการที่ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มมีท่าที Hawkish มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดัน และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ยังเพิ่มสูงขึ้น (โดยเฉพาะใน 2Q22) ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

เราปรับเพิ่มมุมมองต่อสินค้าในกลุ่มอาหารและน้ำมันจากระดับ 3 เป็นระดับ 5 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากภาวะอุปทานที่ตึงตัวมากขึ้น โดยสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลให้อุปทานสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพดลดลง ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม EU ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย แม้ว่าทาง OPEC จะปรับเพิ่มโควตาการผลิต แต่ก็ยังเจอกับปัญหากำลังการผลิตสำรองที่ทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามเป้า ในขณะที่อุปสงค์เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ในเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ของจีน

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศของหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และ ECB รวมทั้งการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่บ้าง ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจถูกกดดันและมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ผลให้ Upside ของตลาดถูกจำกัด

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เราปรับลดระดับความน่าสนใจต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จากระดับ 5 เหลือระดับ 3 ตามความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของโลก (สะท้อนจากภาวะ Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง) ซึ่งจะกระทบต่อผลตอบแทนของกลุ่ม REITs ที่มีรายได้ค่าเช่าค่อนข้างคงที่ ทำให้ Total Return ของ Asia REITs มีข้อจำกัดในการขยายตัว แม้ว่าหลายประเทศจะได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว เช่น สิงคโปร์ที่ยกเลิกมาตรการคุมโควิดเกือบทั้งหมด ไทยที่อาจปรับลดการคุมเข้มด้านโควิดในกลางเดือนนี้ต่อเนื่องถึงเดือนหน้า พร้อมยืดหยุ่นมาตรการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้มากขึ้น

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 20 มิ.ย. 2022

READ MORE




Latest Stories