- ตลาดการเงินโลกเดือนกันยายนไม่สดใสนักเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากสารพัดปัจจัยลบรุมเร้า ขณะที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญความเสี่ยงภาวะ Stagflation
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในหลายประเทศใกล้ยุติ ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและโควิดยังไม่หายไป จึงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการเก็งกำไร
- ปัญหาหนี้ Evergrande อาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน แต่เชื่อว่าจะยังมีผลเฉพาะกับตลาดจีนเท่านั้น
- SCBS ยกหุ้น BEM เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์ จาก 5 เหตุผลหลัก พร้อมเคาะราคาเป้าหมายต่อหุ้นที่ 10 บาท
บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินโลกตั้งแต่เดือนกันยายนถือว่าไม่สดใส เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม สาเหตุหลักๆ คือ ความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจที่กำลังตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมขึ้นภาษี
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยง Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว การว่างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) รวมถึงทางการจีนยังคงออกมาตรการคุมเข้มต่อเนื่องครอบคลุมหลายธุรกิจ
แนวโน้มตลาดการเงินยังคงเห็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ว่าจะมีการประกาศแผนการลดทอน QE เมื่อไร ซึ่งตลาดคาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนี้ ประเด็น Evergrande ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีน ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ถึงกว่า 2 ใน 3 ของหนี้ที่ครบชำระกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นระยะสั้นที่อาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนได้ ถึงแม้ว่าเราจะคาดว่าผลกระทบจะมีเฉพาะต่อจีนเป็นหลักก็ตาม
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า ยังคงมุมมองด้านเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัว ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังยุติ ด้านความเสี่ยงเงินเฟ้อและโควิดยังไม่หายไปไหน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี เพิ่มความระมัดระวังในการเก็งกำไร
สำหรับภาพรวมตลาดทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 0.3% เป็นการลดลงในส่วนของตลาดเกิดใหม่ (EM) -2.5% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ยังทรงตัว โดยได้รับแรงกดดันจากตลาด EM จากประเด็นความกังวลของการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่าง Evergrande ในขณะที่ตลาด DM นั้นมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดหนุนผลตอบแทนในช่วงสั้น
แนวโน้มตลาดหุ้นโลกยังคงมีโอกาสอ่อนตัว ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และผลการดำเนินงานที่คาดว่ามีความเสี่ยงฟื้นตัวช้ากว่าคาดในช่วงไตรมาส 3-4 เนื่องจากประเด็นต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงการที่มาตรการผ่อนคลายทางการเงินกำลังจะลดขนาดลง
ทั้งนี้ ตลาด EM เริ่มน่าสนใจมากขึ้น หลังจากมีการได้รับวัคซีนมากขึ้น ทำให้โอกาสเปิดประเทศมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องมากขึ้น
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นโลก ยังแนะนำกลยุทธ์ Defensive โดยรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากคาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานในเดือนกันยายน ทั้งนี้ ในระยะสั้นเห็นโอกาสในการเก็งกำไรตลาด EM ยกเว้นจีน ในขณะที่ตลาด DM มีความเสี่ยงผันผวนสูงขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจที่กำลังตึงตัวขึ้น
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงแกว่งตัว แนะนำการเก็งกำไรประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะประเด็นการเปิดเมืองในช่วงเดือนตุลาคม โดยแนะนำหุ้นที่ราคายังฟื้นตัวไม่มาก
ยก BEM หุ้นเด่นประจำสัปดาห์
สัปดาห์นี้แนะนำ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จาก 5 เหตุผลสำคัญ
- เป็นผู้นำการให้บริการทางด่วน และระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งมีกระแสเงินสดเข้าอย่างต่อเนื่องและฐานะการเงินแข็งแกร่ง
- ผลดำเนินงานช่วงไตรมาส 3 ปี 2021 คาดเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ โดยกำไรจะลดลง QoQ และ YoY จากปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT ที่ลดลง เพราะมีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อคุมการแพร่ระบาดหนักของโควิด ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2021 อย่างไรก็ดี คาดจะเห็นกำไรฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2021 หลังเริ่มทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
- ช่วงสั้นมองตลาดจะกลับมาสนใจ BEM หลังปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT ผ่านจุดแย่สุดในเดือนสิงหาคมแล้ว และจะฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนนี้
- ราคาหุ้น BEM ที่ปรับขึ้น 6.0%YTD ต่ำกว่า SET Index ที่ปรับขึ้น 12.3%YTD มองสะท้อนผลกระทบโควิดไปแล้ว
- Valuation น่าสนใจและยังไม่แพง หลังปัจจุบันราคาหุ้น BEM ยังซื้อขายต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 18% และปี 2022 คาดกำไรจะกลับมาเติบโตเด่น 227%YoY สูงสุดในกลุ่มขนส่งทางบก
SCBS ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 10 บาท ซึ่งยังไม่รวมการมีโอกาสชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเป็น Upside อีก 1.50 บาท
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้
- การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) โดยตลาดจับตาการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยติดตามการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในระดับปานกลาง
- ติดตามการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ของญี่ปุ่น และการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี
SCBS ระบุว่า เริ่มเห็นตลาดพูดถึง Stagflation มากขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ต้นทุนและราคาสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเรามองว่าจะเป็นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 ถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2022 ในช่วงเวลาที่เป็น Stagflation ในไตรมาส 4 ปี 2021 นั้น กลุ่มที่ควรจะ OW ในธีม Stagflation ได้แก่ Utilities, REIT, Energy, Growth, Quality, High Pricing Power หลังจากนั้นเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงลดลง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงของการวางสถานะอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1 ปี 2022 ส่วนเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการ Reopening ในภาคการบริการและท่องเที่ยว นั้นเราให้จับตาหุ้นกลุ่ม Consumer Disc, Industrials, High Beta, Growth, HY, IG
นอกจากนี้ SCBS ยังระบุด้วยว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกับภาคการผลิตทั่วโลก ทั้งในส่วนของการส่งของที่ใช้เวลามากขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จะกระทบกับอัตราการทำกำไรในช่วงครึ่งหลังปี 2021 ซึ่งสะท้อนได้จากส่วนต่างของ PPI และ CPI ที่กว้างขึ้น
ส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่มีปัญหาเป็นในฝั่งของอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ฝั่งอุปสงค์มีการฟื้นตัวแบบ V-Shape ในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปนั้นมีปัญหาในกลุ่มยานยนต์ ในขณะที่ฝั่งเอเชียมีปัญหาในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการขนส่งทางเรือ
SCBS ระบุว่า สถานการณ์เหล่านี้จะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2022 หลังจากที่สภาวะขอโควิดดีขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยที่ลดลงและวัคซีนที่มากขึ้น ในฝั่งของไทยนั้นยังไม่มีสัญญาณของผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตมากนัก แต่กระทบในฝั่งของ Finished Goods มากกว่า
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed
กองทุนแนะนำ
- SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดย บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ: 4
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แม้ Fed มีแนวโน้มส่งสัญญาณ Advance Notice เรื่อง Taper ในการประชุมวันที่ 21-22 กันยายนนี้ รวมทั้งความคาดหวังต่อการผ่านร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infra Bill) วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในวันที่ 27 กันยายนนี้
ประกอบกับการที่ข้อเสนอในการขึ้น GILTI Tax ของสภาผู้แทนราษฎร พรรคเดโมแครต อยู่ที่ 16.5% (ต่ำกว่าข้อเสนอเดิมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ 21%) จะช่วยลดความเสี่ยงบน Earnings ของกลุ่ม Growth ทั้งนี้ เราแนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นสไตล์ Value/Defensive ที่ 70:30
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ: 4
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นยุโรป ช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี นำโดยหุ้นกลุ่ม Value/Cyclical การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม EU Fit for 55 ล่าสุดที่มุ่งเป้าการลดการปล่อยก๊าซให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 และการที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU Bond Yield ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก จับตาการเลือกตั้งเยอรมนีในวันที่ 26 กันยายน และ Chancellor คนใหม่
กองทุนแนะนำ
- MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO
กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี Valuation ยังถูก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และ EPS Growth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มโดดเด่นมากกว่าหรือเท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปในระยะต่อไป
นอกจากนี้ การลงจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น พรรค LDP (พรรคหลักในสภาปัจจุบัน) ยังมีแนวโน้มครองเสียงข้างมาก
กองทุนแนะนำ
- Krungsri Japan Hedged Dividend Fund หรือ KF-HJAPAND
กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
ตลาดหุ้นจีน H-share
ความน่าสนใจระดับ: 2
ตลาดหุ้นจีน H-share ยังมีความไม่แน่นอนสูง ตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของทางการจีน ซึ่งปัจจัยนี้จะยังคงกดดันราคาของหุ้นกลุ่ม Internet Platform รายใหญ่ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ทางการจีนเตรียมออกกฎระเบียบกำกับดูแล FinTech โดยจะบังคับให้ Ant group แยกแอปพลิเคชัน Alipay ออกจากธุรกิจสินเชื่อของบริษัท
นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นความเสี่ยง ADRs Delisting ประกอบกับ Sentiment เชิงลบจากวิกฤตสภาพคล่องของ Evergrande จะเป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นจีน Offshore ให้มีแนวโน้ม Underperform ต่อ
ตลาดหุ้นจีน A-share
ความน่าสนใจระดับ: 3
ดัชนีหุ้นจีน Onshore มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เช่น Semiconductor, Green Energy และกลุ่มการผลิตขั้นสูง ตามที่กลุ่มฯ ยังมีแนวโน้มได้รับมาตรการสนับสนุนจากทางการ และสามารถเติบโตอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของทางการบนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของ Evergrande มีแนวโน้มสร้าง Sentiment เชิงลบ ต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาชะลอลง เช่น ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนสินทรัพย์ถาวร จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นจีน Onshore ในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ: 2
การระบาดของโควิดยังกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้า แต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม เรามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประกอบการของ บจ. ในช่วงครึ่งหลังปี 2021 อาจถูกปรับประมาณการลง และมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ: 4
แม้ตลาดหุ้นเวียดนามอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด แต่เศรษฐกิจยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยคาด GDP เติบโตได้ราว 5-6% ในปี 2021-2025 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว การบริโภคภายใน และการใช้จ่ายภาครัฐที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการ บจ. ยังมีแนวโน้มออกมาดี แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงในไตรมาส 3 ปี 2021 แต่สถานการณ์ลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
กองทุนแนะนำ
- Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนามซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return