THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
หุ้นไทย
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

หุ้นไทยสัปดาห์นี้มีลุ้นทะลุ 1,750 จุด แนะทยอยลดพอร์ตลงทุน

... • 21 ก.พ. 2022

HIGHLIGHTS

  • รายงานการประชุม FOMC ของ Fed ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่เคยได้ส่งสัญญาณเอาไว้ จึงไม่กระทบต่อตลาดการเงินมากนัก
  • ตลาดการเงินโดนชี้นำจากท่าทีของรัสเซียเกี่ยวกับการถอนหรือไม่ถอนกำลังทหารออกจากชายแดนของยูเครน ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงผันผวน
  • สัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย 4Q21 ของสภาพัฒน์
  • ตลาดหุ้น EM ถือว่าแข็งแกร่ง เนื่องจากยังคงมีปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้า ส่วนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีลุ้นแตะ 1,750 จุด แนะเริ่มลดพอร์ตลงทุน
  • หุ้นเด่นประจำสัปดาห์นี้ แนะนำ BDMS เนื่องจากโมเมนตัมกำไรดี แต่ราคาหุ้นยัง Laggard

ตลาดการเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนโยบายการเงิน หลังรายงานการประชุม FOMC เป็นไปตามที่ Fed ส่งสัญญาณไว้ ในขณะที่ตลาดเริ่มปรับตัวได้กับแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงสูง ส่งผลให้ Sentiment ของตลาดการเงินถูกชี้นำจากท่าทีของรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องการถอนหรือไม่ถอนกำลังทหารจากชายแดนของยูเครน ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น ราคาน้ำมันดิบ รวมถึง Cryptocurrency เช่น Bitcoin ผันผวน 

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ Core PCE สหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะเริ่มทรงตัวที่ 4.9% ความคาดหวังเงินเฟ้อของ U of Michigan ว่าจะทรงตัวหรือลดลงบ้างหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิต่อนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ว่าจะเริ่มทรงตัวบ้าง ตามทิศทางตลาดการเงินที่เริ่มฟื้นตัวบ้างหรือไม่

 

นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) แถลงตัวเลข GDP 4Q21 ของไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม 2022 

 

เราประเมินว่า ตลาดเริ่มผ่อนคลายกับความเสี่ยงเงินเฟ้อ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed (ล่าสุด Fed Fund Futures สะท้อนว่าโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้น 0.50% ลดลงต่ำกว่า 50%) ส่งผลให้มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) จะเริ่มทรงตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อ Sentiment การลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตามคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย จากกรณีของยูเครน อาจกระทบต่อเศรษฐกิจและราคาพลังงาน หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการ Sanction ด้านเศรษฐกิจ

 

ตลาดหุ้น EM ยังแข็งแกร่ง 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.8% โดยตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 1% โดยได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมออกมาต่ำกว่าที่คาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง แม้ว่าผลประกอบการ 4Q21 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้น EM ถือว่าแข็งแกร่ง เนื่องจากยังคงมีปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังกลับมาเปิดประเทศ และนโยบายการเงินไม่ตึงตัวเท่ากับทางตลาด DM 

 

ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์นี้มีโอกาสฟื้นตัว เนื่องจากผลกระทบจากเรื่องเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลดลง ทั้งนี้ หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ไม่เปลี่ยนแปลงมาก คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องรัสเซีย-ยูเครน เชื่อว่าจะจบด้วยการเจรจา ซึ่งทำให้ต้องระมัดระวังสำหรับราคาน้ำมันดิบที่มีโอกาสลดลงต่ำกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

นอกจากนี้ต้องติดตามการประกาศผลประกอบการ 4Q21 ของบริษัท Alibaba, AXA, BASF, Dell, Deutsche Telekom, eBay, Iberdrola, Mercedes Benz, Moderna, Petrobras 

 

หุ้นไทยมีโอกาสทดสอบ 1,750 แนะนำเริ่มลดพอร์ต

 

ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) สัปดาห์นี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบบริเวณ 1,750 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้า การเปิดประเทศ และผลประกอบการที่เป็นไปตามคาด แนวรับสำคัญอยู่บริเวณ 1,670 จุด หากต่ำกว่าจะเป็นการยืนยันการปรับฐานรอบใหม่  

 

กลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์ แนะนำเริ่มทยอยลดพอร์ต หาก SET Index ไปทดสอบบริเวณ 1,750 จุด โดยเฉพาะหุ้นธนาคารและพลังงาน (เริ่มมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันดิบ) 

 

สำหรับการซื้อเพื่อเก็งกำไร แนะนำหุ้นที่ราคายังต่ำกว่า Pre-COVID สวนทางกำไรที่สูงกว่า Pre-COVID อย่าง PTT, ZEN, OSP, TTW, MTC, GPSC และ หุ้นที่มีแนวโน้มได้รับผลบวกจากระแสเงินไหลเข้า แต่ราคายังไม่ขึ้นอย่าง PTT, AOT, PTTEP, CPALL, LH, CPF ส่วนธีมการลงทุนในตลาดหุ้นโลก แนะนำหุ้น Reopening 

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  • สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ทั้งตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์

 

  • สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลข GDP 4Q21 ของไทย และ ส.อ.ท. แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม 2022

 

  • การรายงานผลประกอบการ 4Q21 ของ บจ.ไทย ซึ่งสัปดาห์หน้ามีหุ้นขนาดใหญ่ที่จะประกาศ อาทิ AP, HMPRO, SPALI, SPRC, BCH, IVL, OSP, TU, CPALL, BAM, BGRIM, CHG, CPF, CRC, LH, MINT

 

BDMS หุ้นเด่นประจำสัปดาห์  ‘โมเมนตัมกำไรดี ราคาหุ้น Laggard’

 

สัปดาห์นี้ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เลือกแนะนำบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  1. เป็นผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่มากสุดในไทย (มีโรงพยาบาล 49 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) ซึ่งคาดได้ประโยชน์จากอุปสงค์ทางการแพทย์ในไทยและต่างประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นในระยะยาว 

 

  1. ช่วงสั้นกำไรมีแนวโน้มดี โดย 4Q21 คาดมีกำไรปกติ 2.2 พันล้านบาท เติบโต 76%YoY จากรายได้ที่สูงขึ้น และมีฐานกำไรต่ำปีก่อน ขณะที่ 1Q22 คาดกำไรดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ หลังมีการกลับมาดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจและผู้ป่วยกลับมารักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด  

 

  1. ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนผลกำไรที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจุบันราคาหุ้นของ BDMS ยังต่ำกว่า -11.1% จากช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่ปี 2022 คาดกำไรโตเด่น 31%YoY สู่ 9.25 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2019 แล้ว โดยเราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 28 บาท และคาดให้อัตราผลตอบแทน (Div. Yield) ราวปีละ 1.3%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ผลกระทบของโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาด เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อใหม่ และอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตของกลุ่ม DM ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับผลประกอบการ บจ. ของกลุ่ม DM ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด  

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นฯ มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังสูง และการเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ตามแนวโน้มการทยอยดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed 

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  •  SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)

กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากแนวโน้มที่ในการประชุม Fed เดือนมีนาคม ที่ประชุมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และปรับ Dot Plot ขึ้น รวมทั้งอาจเห็นรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับแผนปรับลดขนาดงบดุล 

 

อย่างไรก็ดี ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่ลดลงไปค่อนข้างมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับแนวโน้มการซื้อคืนหุ้นมากขึ้นของ บจ.สหรัฐฯ จะยังสามารถช่วยประคองตลาด ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อหุ้นกลุ่ม Value อยู่ที่ 60:40

 

ตลาดหุ้นยุโรป

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ตลาดหุ้นยุโรป มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เรามองว่าปัญหาอาจไม่บานปลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ในระยะสั้นตลาดได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการใน 4Q21 ที่แข็งแกร่ง 

 

ขณะที่ในระยะกลางเรามองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานมีแนวโน้มชะลอลง เช่นเดียวกับการบรรเทาลงของปัญหาอุปทานขาดแคลน ทำให้ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยกว่ากลุ่มประเทศอื่น

 

กองทุนแนะนำ

 

  • Europe High Dividend Fund หรือ EHD

กองทุน EHD ลงทุนในกองทุน NN (L) European High Dividend บริหารโดยบริษัท Investment Management สำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่เน้นการจ่ายเงินปันผลสูง เน้นลงทุนในกลุ่ม Financial และ Consumer Staples ในชื่อที่ทุกคนรู้จัก เช่น Nestlé หรือ AstraZeneca   

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ Valuation ยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่น แต่มองตลาดได้รับรู้ข่าวมาตรการกระตุ้นไปมากแล้ว ขณะที่ในช่วงสั้นตลาดเริ่มขาดปัจจัยสนับสนุนและดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 ยังมีแนวโน้มผันผวน ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอน และรัฐบาลญี่ปุ่นขยายเวลาห้ามต่างชาติเข้าประเทศจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

 

อย่างไรก็ดี BOJ ยังมีท่าที Dovish แต่เริ่มชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ในส่วนของ Commercial Paper และ Corporate Bond แม้ยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETF และ J-REITs 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

หุ้นจีน H-Share เริ่มมี Valuation ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Internet ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการคุมเข้มกฎระเบียบที่รุนแรงลดลงจากปีก่อนหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะ ADR Delisting และการกีดกันด้านเทคโนโลยี และจากผลประกอบการ บจ.จีน ที่มีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง (โดยกลุ่ม Internet จะเริ่มทยอยรายงานผลประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์) จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ โดยรวม

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

หุ้นจีน A-Share โดยดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนอาจออกมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ เช่น การเร่งเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับลด RRR ลงเพิ่มเติม โดยต้องติดตามการประชุม NPC ที่จะเริ่มในวันที่ 5 มีนาคม ซึ่งอาจเห็นความชัดเจนของแผนกระตุ้นต่างๆ มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ทางการจีนจะคงมาตรการควบคุมการระบาดภายใต้ Zero-COVID Policy ต่อ แม้จะสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนนี้ จะกดดันการฟื้นตัวของการบริโภค นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังคงมีอยู่ อาจกดดัน Sentiment การลงทุนในช่วงสั้น

 

ตลาดหุ้นไทย

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ตลาดหุ้นไทย เรามองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดเศรษฐกิจหลังปัญหาการแพร่ระบาดที่บรรเทาลง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รวดเร็วกว่าคาด ด้านนโยบายการเงินและการคลังยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

ขณะที่การประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic Play ที่มีรายได้จากในประเทศเป็นหลัก เช่น ธนาคาร ค้าปลีก ขนส่ง อสังหาฯ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม ได้แรงหนุนจากแนวโน้มเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นของเวียดนาม โดยทางการเวียดนามได้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด และจากแนวโน้มการทยอยเบิกจ่าย ตามโครงการกระตุ้นล่าสุด วงเงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยหนุนอุปสงค์ในประเทศ 

 

นอกจากนี้ การที่ EPS Growth ของ VN-Index ใน 4Q21 ยังขยายตัวแข็งแกร่ง โดย +16.6%YoY จะช่วยหนุนให้ Consensus ทยอยปรับประมาณการ EPS ของดัชนีฯ ในปี 2022 และปี 2023 เพิ่มขึ้นต่อ

 

กองทุนแนะนำ 

  ​​

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

ทองคำ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ทองคำได้รับปัจจัยบวกจากที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูง และเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยจากสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน 

 

อย่างไรก็ตาม ทองคำยังมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยลบ จากการที่ Fed เร่งดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

น้ำมัน

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

SCB CIO ได้ปรับเพิ่มมุมมองที่มีต่อ ‘น้ำมัน’ เพิ่มขึ้นหนึ่งระดับ มาอยู่ที่ระดับ 4 เนื่องจากราคาน้ำมันได้รับแรงหนุน หลังนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังคงอยู่ในสภาวะตึงตัวต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปกพลัสยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันยังคงแข็งแกร่ง แม้อิหร่านมีแนวโน้มที่จะกลับมาส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกก็ตาม

 

REITs ประเทศพัฒนา

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดยังถูกจำกัด

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

REITs ไทย ยังคง Laggard และได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Test & Go แต่ผลกระทบที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของ REITs ไทยอยู่ 

 

ขณะที่สิงคโปร์มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นสูงอีกครั้ง อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อ REITs สิงคโปร์ในระยะข้างหน้า

 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 21 ก.พ. 2022

READ MORE



Latest Stories