- ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวนรุนแรงจากหลายปัจจัยลบทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีน และยุโรป บ่งชี้สัญญาณชะลอตัว
- ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น หากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และนโยบาย Zero-COVID ในจีนยังคงไม่คลี่คลายภายในครึ่งแรกปี 2022
- ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ คือท่าทีของรัสเซียต่อยูเครน โดยคาดว่าประธานาธิบดีปูตินจะพูดในสัปดาห์นี้ และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- แนวโน้มหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอก แนะคงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก
ภาพการลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นผันผวนแรง แต่ตลาดตราสารหนี้เริ่มทรงตัว เนื่องจากการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวอย่างเป็นลำดับ โดยจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในครั้งนี้ และส่งสัญญาณพร้อมจะขึ้นในอีก 2 ครั้งข้างหน้า แต่ปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รวมถึงเริ่มลดทอนขนาดงบดุลครึ่งหนึ่งของเป้าหมายการลดใน 3 เดือนแรก ตลาดจึงมองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาการลงทุนเผชิญปัจจัยลบจาก
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ISM ในสหรัฐฯ และ PMI ทั่วโลกโดยเฉพาะจีนและยุโรปที่ลดลง บ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ของสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกที่ลดลงเช่นกัน
- ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยจะพยายามลดการใช้น้ำมันดิบจากรัสเซียให้ได้ภายใน 6 เดือน และพยายามยุติการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2023 รวมถึงคว่ำบาตรธนาคาร Sberbank และอีก 2 ธนาคารใหญ่จากระบบ SWIFT
- นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ในจีนมากขึ้นหลังจากตัวเลข PMI ทั้งของทางการและเอกชนตกต่ำรุนแรง โดยตัวเลขภาคบริการของทางการที่ลดลงเหลือ 41.9 จุด จากที่ตลาดคาดที่ 46 จุด ขณะที่ตัวเลขชี้วัดอื่นๆ เช่น ยอดขายปูนซีเมนต์ ยอดขายรถตักดิน รวมถึงยอดขายโทรศัพท์มือถือลดลง 20-60% โดยเฉลี่ย ผลจากมาตรการ Zero-COVID ที่ยังคงล็อกดาวน์เมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ เพื่อคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ของจีนออกมาส่งสัญญาณว่าจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและหนุนตลาดที่อยู่อาศัยต่อไป
ภาพรวมตลาดหุ้นฟื้นตัวดีหลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไม่รุนแรง โดย
1. Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด
2. ปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย 0.75%
- ประกาศแผนการลดขนาด Balance Sheet ลง โดยเริ่มลดการถือครอง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นลด 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) วิเคราะห์ว่า
- สาเหตุที่พาวเวลล์ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในระยะสั้น เป็นเพราะเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณพีคแล้ว แม้ยังคงในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น เห็นได้จาก ISM, PMI ทั้งในสหรัฐฯ และโลก รวมถึงความเชื่อมั่นทั่วโลก
- มองว่าการประกาศแผน QT ชัดเจน รวมถึงการปิดประตูขึ้น 0.75% ในครั้งเดียวเป็นการส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัวที่น้อยกว่าตลาดคาดไว้เล็กน้อย จึงเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทั้งจากปัญหาซัพพลายเชนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อเค้ายืดเยื้อ และจากการล็อกดาวน์เพื่อคุมการระบาดของจีน
ประกอบกับต้นทุนทางการเงินสหรัฐฯ ที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน จะมีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูง (หรือสถานการณ์ Stagflation) อย่างต่อเนื่อง และหากความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ (ที่ปัจจุบันสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 5.4%) ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เราเชื่อว่า Fed ก็จะยังคงส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งจะส่งผลลบต่อการลงทุนในระยะต่อไป
SCBS มองว่า ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มทรงตัว แต่ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มีมากขึ้น หากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และนโยบาย Zero-COVID ในจีน ยังคงไม่คลี่คลายภายในครึ่งแรกปี 2022 (1H22) ประกอบกับนโยบายการเงินตึงตัวในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีต่อเนื่องในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะส่งผลให้ภาพการลงทุนมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง มีโอกาสปรับตัวลดลง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรใช้จังหวะนี้ในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้
มุมมองต่อการลงทุน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกค่อนข้างผันผวน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง -1.1% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น +2.5% โดยได้รับแรงหนุนจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ไม่ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเท่าที่ตลาดคาด รวมถึงสถานการณ์โควิดในจีนดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งการผลิต บริการ และตลาดแรงงาน มีสัญญาณการชะลอตัวลง
หุ้นกลุ่ม Growth (+2.1%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (+2%) หุ้นขนาดใหญ่ (+2.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+1.6%) กลุ่มพลังงานปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ได้รับแรงหนุนจากการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียของสหภาพยุโรป กลุ่มเทคโนโลยีได้รับแรงหนุนจากยีลก์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนกลุ่มเชิงรับปรับตัวในกรอบแคบ
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ท่าทีของรัสเซียต่อยูเครน โดยคาดว่าประธานาธิบดีปูตินจะพูดในสัปดาห์นี้
- เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ความคืบหน้าการเข้าร่วม NATO ของฟินแลนด์และสวีเดน
- การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
- ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Allianz, Bayer, BioNTech, Coinbase, Hon Hai, Honda, Infineon, Mitsubishi, Occidental, Porsche, Rivian, Siemens, SoftBank, Sony, Toyota, Walt Disney
“ตลาดจับตาความเสี่ยง 3 เรื่อง 1. เงินเฟ้อและต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยกดดันหลัก 2. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก เป็นเรื่องมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของจีน 3. ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยผิด ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด เมื่อไม่มีความชัดเจนก็ยังบ่งชี้ว่าตลาดยังอยู่ในทิศทางที่ย่อตัวลงจนกว่าจะมีความชัดเจนของสามประเด็นดังกล่าวที่ชัดเจนมากขึ้น”
กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้
การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัดและหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น
- คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANK, AMATA, LH, GULF, ADVANC
- หุ้นที่กำไรผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และราคาหุ้นลงแรงสะท้อนบอนด์ยีลด์ที่ขึ้นไปแรงใกล้จุดสูงสุดไปแล้ว เลือก MTC, SAWAD, GULF
- เก็งกำไรหุ้นส่งออกที่ได้อานิสงส์บาทอ่อน และสหรัฐฯ มีแผนลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เลือก DELTA, PSL, RCL
- หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q65 เติบโตดี YoY และยังฟื้นตัวต่อเนื่องใน 2Q65 เลือก ZEN, GFPT, TOP, BCP
- ระมัดระวังหุ้นกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ โรงไฟฟ้า อสังหา บรรจุภัณฑ์ ที่มีโอกาสถูก Downgrade Earning จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังประกาศงบ 1Q65 อีกทั้งล่าสุดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ราคาดีเซลจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BCP - กำไรธุรกิจหลักโรงกลั่นดีขึ้น
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- ผู้นำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทย (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) ที่มีการกระจายความเสี่ยงธุรกิจสู่พลังงานสะอาดซึ่งมีศักยภาพเติบโตดี เช่น โรงไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ, ร้านค้าปลีก, ร้านกาแฟ
- ฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลดี โดยมีประวัติการจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่องกว่า 17 ปี โดยคาดให้ Dividend Yield ปีนี้สูงราว 8%
- ไตรมาสแรก 2022(1Q22) คาดกำไรเพิ่มขึ้นโดดเด่นทั้ง YoY และ QoQ แรงหนุนจากกำไรสต๊อกน้ำมันจำนวนมากและ Crude Run ที่สูงขึ้น อีกทั้งคาดผลการดำเนินงานบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจ E&P จะยังอยู่ในระดับที่ดี เพราะราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้น และไม่มีขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์
- ช่วงสั้นมองราคาหุ้นมีโมเมนตัมปรับขึ้นต่อได้ตามทิศทางของ GRM ที่จะสูงขึ้น หลังจาก EU มีแผนเดินหน้าคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียอย่างเข้มข้นและอุปสงค์น้ำมันยังฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ประโยชน์ราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้นจากการถือหุ้นใน OKEA ซึ่งกลับมีมีกำไรตั้งแต่ปี 2021
- ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 40 บาท ด้วยวิธี SOTP ซึ่งประกอบด้วย มูลค่าธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันที่ 18 บาทต่อหุ้น (อิง PBV 0.6 เท่า) และมูลค่าธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่ 22 บาทต่อหุ้น (อิง DCF)
ถึงเวลาของการลงทุนในตราสารหนี้แล้วหรือยัง?
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายตามคาด 0.50% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ด้วยสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง แต่อย่างไรก็ดีเรามองว่าดอกเบี้ยและ QT ได้สะท้อนอยู่ในราคาแล้วระดับหนึ่ง การขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อตลาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นการ Re-Price
สำหรับความคาดหวัง การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเมื่อมีการผ่านจุดสูงสุดและ PMI เริ่มชะลอตัวลงจะทำให้ตลาดหุ้นมีการย่อตัว จากสถิติในอดีต 6 ใน 8 ครั้ง เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรผ่านจุดสูงสุดตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลง ส่วนความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นอยู่ในระดับสูง ในปี 2022 กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวแล้วแต่ตลาดหุ้นยังไม่ปรับตัวลดลงตามภาพที่ชะลอตัวลง
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
บรีฟอาร์ต: ระดับความน่าสนใจของตลาดต่างๆ รบกวนทำกราฟิกแถบพลังตาม Format ลิงก์นี้จ้ะ https://thestandard.co/120-days-opening-the-country-support-thai-reit-exclusive-summary/
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะยังกดดันเซนติเมนต์ตลาดฯ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักใน DM โดยเฉพาะ Fed
อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ. ในกลุ่ม DM ใน 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม รวมทั้งจะเริ่มลดขนาดงบดุลเดือนมิถุนายน
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่ามีแนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ในเดือนมิถุนายนเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ใน 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จะช่วยประคองตลาดฯ ไว้ได้
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต
ขณะที่ภาคการผลิตถูกกดดันจากพลังงานที่อาจถูกดิสรัปต์จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาด้านอุปทานมีแนวโน้มแย่ลงจากการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก จะช่วยจำกัดดาวน์ไซด์ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแผนที่จะเปิดประเทศในเดือนมิถุนายน
ขณะที่ ดัชนี Core CPI เดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.9%YoY สูงสุดในรอบ 7 ปี แต่ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% โดย BOJ ยังมีแนวโน้มคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน H-share ดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่มแพลตฟอร์มที่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของบรรดาหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ โดยล่าสุด SEC สหรัฐฯ เพิ่มบริษัทจีน ADRs อีกมากกว่า 80 แห่ง ในรายชื่อบริษัทจีนที่อาจถูกถอดถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ผลประกอบการของ บจ.จีน โดยเฉพาะกลุ่มแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวปานกลางในช่วง 1H22 ตามผลกระทบทางลบ จากการออกมาตรการควบคุมการระบาดรอบใหม่ในจีนจะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีโดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน A-share โดยดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังน่ากังวล และการคงมาตรการควบคุมการระบาดในเมืองหลักๆ ที่ยาวนานขึ้น จะยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ภาคบริการ และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังยืดเยื้อ นอกจากนี้เซนติเมนต์การลงทุนของนักลงทุนจีนในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครนจะกระทบต้นทุนการผลิต ภาคการบริโภคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะปรับประมาณการกำไรของ บจ. ของไทยลง
ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้ การที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยเริ่มอยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯ และการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออก
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 5
ตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงที่ผ่านมาเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ เช่น การปรับนโยบายเข้มงวดขึ้นในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของภาคอสังหา และการออกมาคุมเข้ม Margin Loan ของ บล. ที่ให้กับนักลงทุนรายย่อย แต่เราประเมินว่า ความกังวลดังกล่าวจะสร้างความผันผวนเพียงช่วงสั้น และถือเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม เนื่องจาก ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจ และผลประกอบการ บจ. ของเวียดนาม ที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดฯ ล่าสุด ที่อยู่ในระดับน่าสนใจอย่างมาก และยังถูกที่สุดในกลุ่มอาเซียน
กองทุนแนะนำ
-
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดในการประชุมเดือนมิถุนายนเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
อุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น หลังปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด และกลุ่ม OPEC+ ยังคงแผนเดิมในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตอยู่ที่ 432,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายน 2022 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดในจีนที่ยังคงรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกดดันความต้องการใช้น้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจาก ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลงและเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และอัปไซด์ของตลาดถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 5
REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs สิงคโปร์มีการยกเลิกมาตรการคุมโควิดเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และรัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะอันใกล้ รวมทั้งมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้มากขึ้น
กองทุนแนะนำ
-
SCB Property and Infrastructure Flexible Fund
กองทุน SCBPINA ลงทุนในหน่วยลงทุน REITs และ Infrastructure Fund ของไทยและสิงคโปร์ โดยลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 79