- ช่วงสัปดาห์ก่อน Facebook เปิดตัวแว่นตา ‘Ray-Ban Stories’ มูลค่า 299 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ผู้สวมสามารถใช้บันทึกและแชร์ต่อทั้งภาพนิ่ง-วิดีโอสั้น รวมถึงฟังเพลงและรับสาย แน่นอนว่าผู้ที่ซื้อแว่นตานี้จะออกไปในที่สาธารณะ และเริ่มถ่ายภาพคนรอบตัว แล้วใช้ ‘View’ แอปพลิเคชันใหม่ที่ Facebook สร้างขึ้นเพื่อจัดเรียงและอัปโหลดเนื้อหาเหล่านั้น
- ประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่แว่นตานี้ทำงานอะไรได้บ้าง แต่อยู่ที่ผลซึ่งแว่นจะเปลี่ยนแปลง ‘ภูมิทัศน์ทางสังคม’ หรือ Social Landscape ของชาวโลกอย่างไร
- S.A. Applin หรือ @AnthroPunk นักมานุษยวิทยา และที่ปรึกษาอาวุโส ซึ่งศึกษาอัลกอริทึม AI และระบบอัตโนมัติในบริบทของระบบสังคม แสดงความเห็นน่าสนใจไว้ในเว็บไซต์ MIT Technology Review ว่า Ray-Ban Stories จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และการที่ Facebook ขอยืมมือ Ray-Ban ในการยึดพื้นที่ใบหน้าพวกเราชาวโลกนั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนการสร้าง Metaverse ซึ่งอาจต้องเริ่มจากการลดแรงต้านเพื่อก่อร่างความคุ้นเคย ด้วยการไม่ใช้ชื่อ Facebook Glasses
แม้จะยังไม่รองรับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และถูกยืนยันว่าออกแบบบนหลักคิดที่เน้นความเป็นส่วนตัว แต่การแจ้งเกิด Ray-Ban Stories นำไปสู่โอกาสเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะความกังวลเรื่องการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพราะทุกคนเริ่มรู้ว่าผู้คนรอบข้างอาจกำลังสวมอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีเก็บบันทึกภาพเอาไว้ติดตัว
ที่ผ่านมาผู้คนบันทึกภาพผู้อื่นในที่สาธารณะมาหลายสิบปีแล้ว แต่วันนี้คนทั่วไปจะรู้ตัวและตรวจจับได้ยากขึ้น เนื่องจากแว่นตาใหม่ของ Facebook มีความคล้ายคลึงกับแว่นทั่วไป แถมยังมีตราสินค้า Ray-Ban แสนคุ้นเคยติดไว้ด้วย
นักวิเคราะห์ S.A. Applin ประเมินว่าความ ‘เก๋า’ ที่น่าเชื่อถือของแบรนด์ Ray-Ban จะสามารถทำให้แว่นตาของ Facebook ดึงดูดฝูงชนได้มากกว่าแว่น Snap Spectacles และแว่นตาติดกล้องแบรนด์อื่น
เหตุผลไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของ Facebook ที่มีผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านคน แต่อยู่ที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และโครงสร้างพื้นฐานของร้านค้าปลีกที่ Luxottica ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Ray-Ban มี ซึ่งชัดเจนว่า Ray-Ban Stories จะเปิดตัวรวดเร็วไปทั่วโลก
ฮิตเร็ว ฮอตแรง
Ray-Ban Stories มีแนวโน้มได้รับความนิยมเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่มีการระบาดใหญ่ เนื่องจากเป็นวิธีการบันทึกภาพและเสียงที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสโทรศัพท์หรือพื้นผิวอื่นใด และยังเหมาะมากกับพ่อแม่ที่ต้องการให้ความสนใจกับลูกน้อย ซึ่งอยากจับภาพช่วงเวลาประทับใจแบบธรรมชาติ
Andrew Bosworth หัวหน้าฝ่ายฮาร์ดแวร์ของ Facebook ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ความสามารถในการถ่ายภาพจะเป็นคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับแว่นตาในช่วง 10 ปีนับจากนี้ เหตุผลคือเพราะแว่นเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะมากสำหรับการใช้ถ่ายรูป โดยเฉพาะการสร้างภาพถ่ายและวิดีโอจากมุมมองของบุคคลนั้น
เมื่อใดที่แว่นตาติดกล้องเกิดฮิตในระดับเมนสตรีม เมื่อนั้นอาจจะเกิดผลหลายอย่างตามมา เพราะการบันทึกภาพด้วยแว่นตานั้นแตกต่างจากการถ่ายภาพหรือวิดีโอด้วยสมาร์ทโฟนมากนัก ซึ่งอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงความหมายของกิจกรรมแชร์ภาพสำหรับกลุ่มโซเชียลไปเลย
ตรงนี้ Facebook บอกเองว่าแว่นตาจะกลายเป็นช่องมองภาพถาวร โดยเน้นที่มุมมองของผู้สวมใส่แต่ละคนมากกว่าประสบการณ์การอยู่รวมกลุ่ม แว่นจึงอาจดึงดูดให้เกิดการถ่ายภาพจากมุมมองที่ไม่เหมือนใคร มากกว่าการเก็บบรรยากาศการเข้าร่วมในอีเวนต์นั้น
และในกรณีที่อาจมีคนสวมแว่นไว้มากกว่า 1 คน มุมมองเฉพาะของแต่ละคนก็จะสามารถขยายได้ ทำให้สังคมสมานฉันท์หรือ Social Cohesion จึงอาจแตกแยกส่วนเพิ่มขึ้นไปได้อีก
เรื่องนี้ S.A. Applin มองการยึดพื้นที่ใบหน้าเป็น ‘ทำเลทองเทคโนโลยี’ ของ Facebook ว่าเชื่อมโยงกับบทความที่เขาเคยเขียนร่วมกับ Catherine Flick จากมหาวิทยาลัยเดอ มงฟอร์ต ในสหราชอาณาจักร ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Responsible Technology ในบทความมีการแย้งชัดเจนว่าการพัฒนา ‘แว่นตาอัจฉริยะ’ อย่างไม่มีการควบคุมนั้น ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงที่คาดไม่ถึง เกี่ยวกับอนาคตของการปฏิสัมพันธ์ในสังคมสาธารณะได้
คนจะระแวงแว่น?
S.A. Applin ไม่ได้ลงลึกว่าผู้คนในอนาคตจะระแวงแว่นจนคุยกันน้อยลงในที่สาธารณะ แต่ก็อาจเกิดกรณีที่บุคคลซึ่งไม่ต้องการถูกบันทึก หรือไม่ได้ใช้งาน Facebook บุคคลนั้นอาจไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในลักษณะเดียวกับคนที่มี Ray-Ban Stories ในครอบครอง
เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับ Facebook เพราะข้อมูลมากมายย้ำว่า Ray-Ban Stories เป็นอีกก้าวหนึ่งสู่วิสัยทัศน์ระยะยาวของ Mark Zuckerberg ที่ต้องการสร้าง Facebook บนจักรวาล ‘Metaverse’ ซึ่งนายทุนใหญ่อย่าง Matthew Ball เคยอธิบายว่า Metaverse เป็นพื้นที่ของ ‘การทำงานไร้รอยต่อของโลกจริง โลกเสมือนจริง และโลก Augmented อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน’ ด้วยเศรษฐกิจแบบบูรณาการ ที่จะเป็นพื้นที่ซึ่งรวมบริษัทหลายแห่งและประสบการณ์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
ในมุมของ Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook เรียก Ray-Ban Stories ว่าเป็นก้าวหนึ่งบนเส้นทางสู่แว่น Augmented Reality (AR) ที่สมจริง โดยยอมรับในวิดีโอว่าตัวเขาวางแผนที่จะแทนที่โทรศัพท์มือถือด้วยแว่นตาอัจฉริยะของ Facebook
วิสัยทัศน์นี้พ้องกับช่วงปี 2020 ที่ยักษ์ใหญ่ Facebook ได้ประกาศเปิดตัวโปรเจกต์ชื่อ Project Aria โปรเจกต์นี้เน้นนำแว่นตาที่เปิดใช้งาน AR มาทำแผนที่ภูมิศาสตร์ของพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของเอกชนบางจุด
เชื่อกันว่าความพยายามในการทำแผนที่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาที่โยงกับเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการข้อมูลของผู้สวมใส่แว่นตา AR ในอนาคต ซึ่งแปลว่า Facebook จะมีส่วนร่วมกับ Metaverse เต็มที่แน่นอน
สำหรับ Ray-Ban Stories นักวิเคราะห์มองว่าแว่นตานั้นมักให้สัญญาณทางสังคมที่แตกต่างจากสมาร์ทโฟน โดยผู้คนจะสามารถบอกได้ว่าใครกำลังคุยโทรศัพท์อยู่หลังจากเห็นโทรศัพท์อยู่ในมือ แต่การค้นหาว่าใครสวมแว่นตาของ Facebook จะมีความท้าทายมากกว่าแน่นอน ซึ่งประเด็นหลังนี้เองที่น่าจับตา เพราะแรงต้านนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการทดลอง Google Glass ล้มเหลว เนื่องจากแว่นของ Google ดูแตกต่างจนทำให้ผู้คนสามารถระบุและหลีกเลี่ยงผู้ที่สวมแว่นตาได้อย่างง่ายดาย
ความที่ Ray-Ban Stories นั้นดูเหมือน Ray-Ban ทั่วไปมาก ผู้คนจึงอาจไม่สามารถรู้ได้ตลอดเวลาว่าใครกำลังสวม Ray-Ban Stories แล้วบันทึกภาพเมื่อใดหรือที่ไหน รวมถึงจะเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลที่ถูกรวบรวมไป
แม้ทีมพัฒนาจะย้ำว่า Ray-Ban Stories จะมีจุดแสงขนาดเล็กบ่งบอกว่าแว่นตากำลังบันทึกอยู่ แต่จุดแสงนั้นก็มองไม่เห็นจากที่ไกล ขณะที่เสียงชัตเตอร์ก็จะ ‘ดังแบบเงียบๆ’ ซึ่งแม้ว่าจะมีใครได้ยิน แต่ก็อาจจะไม่รู้ว่าคนถ่ายตั้งใจจะทำอะไรกับภาพที่บันทึก ซึ่งอาจทำให้ใครก็ตามที่ใส่ใจความเป็นส่วนตัวต้องกังวล
ในส่วนของแอปพลิเคชัน View ที่ Facebook สัญญาว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เบื้องต้นพบว่าการอัปโหลดข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน View ไปยังแอปพลิเคชันอื่นในเครือ Facebook ยังไม่มีความชัดเจนถึงนโยบายความเป็นส่วนตัว ซึ่งท้ายที่สุดผู้ที่ใช้ Ray-Ban Stories อาจต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม และต้องตั้งค่าปรับแต่งแอปพลิเคชันเองเพื่อให้เป็นส่วนตัวตามที่ต้องการ
ที่สุดแล้ว Ray-Ban Stories ถือเป็นแค่จานเรียกน้ำย่อยของ Facebook เพราะเจ้าพ่อโซเชียลยังไม่เคยแจ้งเกิดอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์แบบพกพาสำหรับผู้บริโภคที่ทำงานร่วมกับโทรศัพท์มือถือและซอฟต์แวร์แบ็กเอนด์มาก่อน ความใหม่กับตลาดนี้ทำให้บริษัทระบุ ‘กฎความรับผิดชอบ’ เพียง 5 ข้อสำหรับผู้ที่ซื้อแว่นตาไป ถือว่าผิดปกติมากที่บริษัทใหญ่ปักใจเชื่อว่าผู้คนจะปฏิบัติตามกฎเหล่านี้จริงๆ
จานหลักกำลังมา
เมื่อมีก้าวแรกก็ย่อมมีก้าวต่อมา จุดนี้มีความเชื่อว่า Facebook จะสร้างระบบนิเวศฮาร์ดแวร์ที่สมบูรณ์อีกหลายรอบเพื่อสร้างโลก Metaverse ให้เกิดได้ ซึ่งหาก Ray-Ban Stories ไม่ได้รับอัปเดตความสามารถใหม่ ก็อาจจะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม สถานที่ และเนื้อหาของผู้คน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น
สำหรับช่วงที่ Facebook ดำเนินการทดสอบวงกว้างหรือเบตาในพื้นที่สาธารณะ เชื่อว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องจะระมัดระวังตัวมากขึ้นในที่สาธารณะ และอาจใช้มาตรการหลบเลี่ยง เช่น การสวมหมวกหรือแว่นตา หรือการหันหลังให้ใครก็ตามที่สวม Ray-Bans ซึ่งหาก Facebook ตัดสินใจเพิ่มการจดจำใบหน้าให้กับแว่นตาเหล่านี้ในอนาคตตามแผนที่วางไว้ ผู้คนก็จะต้องหามาตรการเพื่อรับมือกันใหม่ จนอาจกลายเป็นสังคมที่สงบสุขน้อยลง
อีกสิ่งที่เดาได้ไม่ยาก คือเมื่อ Ray-Ban Stories เปิดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรเลีย มีโอกาสสูงมากที่การใช้งานและเสียงตอบสนองต่อแว่นจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เนื่องจากบรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยม กฎหมาย และความคาดหวังด้านความเป็นส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ จะไม่ใช่เพียง Facebook ที่แทรกตัวเป็นบริษัทกลุ่มแรกที่พยายามเปิดตลาดแว่นตากล้องอัจฉริยะ เชื่อว่าจะยังมีอีกหลายเวอร์ชันและหลายแบรนด์อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
และชาวโลกทุกคนก็จะต้องคอยระวัง ไม่เพียงแค่ Ray-Ban Stories เท่านั้น แต่ต้องคอยตรวจดูอุปกรณ์ทุกประเภทที่อาจบันทึกภาพเราในรูปแบบอื่นที่ละเอียดยิ่งขึ้น
พลังของ Ray-Ban Stories จึงมีผลพลิกโฉมสังคมโลก ทันทีที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับแว่นตาอัจฉริยะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สิ้นสุดการรอคอย! มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เปิดตัวแว่นตาอัจฉริยะ ‘Ray-Ban Stories’ ถ่ายภาพ-ฟังเพลง-รับโทรศัพท์ ในราคาเริ่มต้น 9,200 บาท
- ส่องความสามารถ แว่นตาอัจฉริยะ Ray-Ban Stories ทำอะไรได้บ้าง
- ส่อแววงานเข้า! หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลอิตาลี ขอให้ Facebook แจงข้อมูลแว่นตาอัจฉริยะ ‘Ray-Ban Stories’ หวั่นละเมิดความเป็นส่วนตัว
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/09/10/facebooks-boz-says-glasses-with-cameras-will-be-the-norm-in-10-years.html
- https://theconversation.com/ray-ban-stories-let-you-wear-facebook-on-your-face-but-why-would-you-want-to-167708
- https://www.technologyreview.com/2021/09/15/1035785/why-facebook-ray-ban-stories-metaverse/
- https://www.cnbc.com/2019/09/17/facebook-enlists-ray-ban-maker-luxottica-to-make-orion-ar-glasses.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP