THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
เศรษฐกิจโลก
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวเข้าสู่ภาวะ Goldilocks หนุน Fed ชะลอขึ้นดอกเบี้ยเหลือ 0.5%

... • 8 ส.ค. 2022

HIGHLIGHTS

  • ตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั่วโลกเริ่มชะลอลงทั้งในสหรัฐฯ และเอเชียเหนือ ขณะที่ในยุโรปหดตัวลงชัดเจน เช่นเดียวกับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มลดลงชัดเจนขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไปเพียง 0.5%
  • ความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียเพิ่มสูงขึ้น หลังการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี โดยจีนตอบโต้ด้วยการซ้อมรบจริงรอบเกาะไต้หวัน พร้อมคว่ำบาตรทางการค้าในสินค้าสำคัญหลายชนิด
  • เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่สภาวะ Goldilocks คือ เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการผลิต ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปน่ากังวลสุด เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่มากขึ้น
  • แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังผันผวนสูง แนะลงทุนหุ้นปลอดภัยคุณภาพดี โดยเฉพาะหุ้นที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มลดระดับการปรับขึ้นดอกเบี้ยลง โดย 

 

1. ตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั่วโลกเริ่มชะลอลงทั้งในสหรัฐอเมริกาและเอเชียเหนือ ขณะที่ในยุโรปหดตัวลงชัดเจน ส่วนตัวเลข PMI ภาคบริการทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง แต่ไม่รุนแรงเท่าภาคการผลิต

2. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มลดลงชัดเจนขึ้น ทั้งตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTs) และการขอรับสวัสดิการว่างงาน ขณะที่บริษัทเริ่มปรับลดกำลังแรงงาน

3. ตัวเลขการจับจ่าย (Personal Spending) ที่แท้จริงแทบไม่ขยายตัว ผลจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนจับจ่ายน้อยลง

4. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ชะลอแรงขึ้น ทั้ง PMI ภาคการผลิตของทางการที่กลับมาต่ำกว่า 50 จุด และราคาบ้านที่หดตัวลงกว่า 38% แต่ทางการก็พร้อมสนับสนุนผ่านการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหา ด้วยวงเงินกว่า 1.48 แสนล้านดอลลาร์

5. ราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันลดลงต่อเนื่องจากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยที่แรงขึ้น แม้ OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตที่ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าคาดก็ตาม

6. แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน แม้ว่าทางการจีนจะส่งสัญญาณเตือนก่อนหน้า ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียมีมากขึ้น โดยจีนมีมาตรการตอบโต้ทั้งทางการทหารด้วยการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และทางเศรษฐกิจด้วยการคว่ำบาตรทางการค้าในสินค้าสำคัญ 

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก 1. ประธาน Fed สาขาต่างๆ ยังคงส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงอยู่ และจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อต่อเนื่อง และ 2. ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด ไปอยู่ที่ 1.75% เพื่อคุมเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น

 

เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะ Goldilocks 

 

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า ภาพทิศทางเศรษฐกิจการลงทุนในปัจจุบันอยู่ในสภาวะ Goldilocks คือ เศรษฐกิจกำลังเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการซื้อสินค้าหลังการเปิดเมืองเริ่มลดลง ขณะที่ภาคบริการเริ่มชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีความต้องการเดินทางหลังเปิดเมืองอยู่บ้าง 

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในยุโรปน่ากังวลที่สุด เนื่องจากปัญหาขาดแคลนพลังงานที่จะมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้สะท้อนมายังตัวเลขเศรษฐกิจจริงแล้ว ด้วยภาพเช่นนี้ บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเริ่มลดลง ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ Fed สามารถลดระดับการขึ้นดอกเบี้ยได้ 

 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในไต้หวัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของทางการสหรัฐฯ เองเพื่อให้ได้แต้มต่อในเชิงการเมือง ขณะที่ประเด็นการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันนั้น ทางฝั่ง OPEC+ อาจไม่สามารถและไม่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตมากนัก เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงท่ามกลางความต้องการโลกที่เริ่มลดลง 

 

จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เตรียมประกาศในสัปดาห์นี้

 

SCBS ระบุว่า ในเดือนมิถุนายน OPEC เพิ่มกำลังการผลิตจริงเพียง 2.34 แสนบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเป้าที่ 4.32 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการที่เริ่มชะลอลงตามสภาพเศรษฐกิจขณะที่การผลิตไม่อาจเพิ่มขึ้นได้มากนัก ทำให้เรามองว่าราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวในระดับปัจจุบัน หรือปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต่อไป

 

สัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะ CPI ว่าจะปรับตัวลดลงจากที่ตลาดคาดที่ 9.1% หรือไม่ (ตลาดคาดปรับลดลงที่ 8.9%) รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของไทยที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 0.75%

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอ คาด Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.5%

 

ตลาดการเงินเริ่มผ่อนคลายขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มอ่อนตัวลงแล้ว ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มลดลง โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันดิบ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยตลาดคาดไว้ที่ 0.50% ในเดือนกันยายน จากสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงพันธบัตรระยะยาว แต่ปัจจัยความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปยังคงต้องระมัดระวังต่อไป ดังนั้น เรายังคงแนะนำให้เน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก โดยความเสี่ยงสำคัญหลังจากนี้คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร การจ่ายดอกเบี้ย และเงินปันผลในอนาคต

 

มุมมองต่อการลงทุน

 

สำหรับในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกทรงตัว โดยตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 0.8% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 0.3% โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ดีกว่าที่คาด และตัวเลขภาคบริการของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาด ซึ่งถูกหักลบด้วยตัวเลขภาคการผลิตในภาพรวมที่ชะลอตัวลง 

 

ประกอบกับความกังวลความเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต่อประเด็นไต้หวัน และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนท่าทีมาเป็นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ 

 

1. ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าในเดือนกรกฎาคมจะอยู่ที่ 8.8% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 9.1%

2. การเลือกตั้งเบื้องต้นใน 4 รัฐของสหรัฐฯ ซึ่งจากโพล พรรครีพับริกันมีคะแนนนำ

3. ตัวเลขการปล่อยกู้ของจีนที่ชะลอตัวลง

4. ธปท. คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

5. ผลประกอบการ Berkshire Hathaway, BioNTech, China Mobile, Deutsche Telekom, Hapag-Lloyd, Hon Hai, Rivian, Siemens, SoftBank และ Vestas Wind

 

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้

 

ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังมองช่วงสั้นตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องเลือกลงทุนมากขึ้น โดยแนะนำเน้นหุ้นปลอดภัยที่มีคุณภาพดีหรือมีปัจจัยบวกเฉพาะ หุ้นได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งคาดผลการดำเนินงาน 2Q22 เติบโตดีทั้ง YoY และ QoQ เลือก ERW, MINT, CRC และ AOT

หุ้นพลังงานซึ่งคาดกำไร 2Q22 เติบโตดี และมองราคาน้ำมันปรับตัวลงมาในจุดที่น่าสนใจแล้ว เลือก PTT และ BCP 

 

หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เลือก BBL, KBANK และ KTB ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

หุ้นที่ได้ผลลบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขาลง หลังปัญหาขาดแคลนอุปทานคลี่คลาย ได้แก่ กลุ่มปาล์ม (UVAN, UPOIC, VPO และ CPI) กลุ่มแป้ง (TMILL และ TWPC) 

 

หุ้นที่คาดมีโอกาสปรับลดประมาณการหลังงบ 2Q22 ได้แก่ NRF, TU, DTAC และ TRUE 

 

BCP - หุ้นเด่นประจำสัปดาห์ 

 

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • ผู้นำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทย (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) ที่มีการกระจายความเสี่ยงธุรกิจสู่พลังงานสะอาด ซึ่งมีศักยภาพเติบโตดี เช่น โรงไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ, ร้านค้าปลีก และร้านกาแฟ
  • ฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลดี โดยมีประวัติการจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่องกว่า 17 ปี โดยคาดให้ Dividend Yield ปีนี้สูงราว 8%
  • 2Q22 คาดกำไรปกติเติบโตมากทั้ง YoY และ QoQ จากธุรกิจโรงกลั่นที่ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ Market GRM หลังมีอุปสงค์น้ำมันเพื่อการขนส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งธุรกิจ E&P จะสร้างกำไรเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันที่แข็งแกร่ง 
  • เราชอบ BCP มากกว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันไทยรายอื่นเพราะมีพอร์ตธุรกิจที่สมดุล อีกทั้งมองราคาหุ้น BCP ปรับลง 14% จากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน สะท้อนความกังวลรัฐบาลอาจขอให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันไทยส่งกำไรส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมันไปค่อนข้างมากแล้ว 
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 40 บาท ด้วยวิธี SOTP ซึ่งประกอบด้วย มูลค่าธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันที่ 18 บาทต่อหุ้น (อิง PBV 0.6 เท่า) และมูลค่าธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่ 22 บาทต่อหุ้น (อิง DCF)

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ใน 2Q22 ที่ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

SCB CIO ได้ปรับเพิ่มความน่าสนใจของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สู่ระดับ 4 เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก Valuation ซึ่งอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และมีแนวโน้มทยอยกลับมาฟื้นตัว และตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนช่วงสั้นจากผลประกอบการ บจ. สหรัฐฯ โดยรวมใน 2Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น จะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาบนตลาดฯ มากขึ้น ตามที่ บจ. สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีงบดุลแข็งแกร่ง และมีความสามารถในการทำกำไรที่เด่นกว่า บจ. หลายประเทศใน DM อื่นๆ

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

ตลาดหุ้นยุโรปยังขาดความน่าสนใจอยู่มาก แม้ว่าจะมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองว่าราคายังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงของโอกาสการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลง จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาด จากประเด็นการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่นโยบายทางการเงินของ ECB ถูกกดดันจากภาพเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง แต่เงินเฟ้อยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหา Fragmentation และการเมืองภายในภูมิภาคยังเป็นตัวสร้างความผันผวนต่อการลงทุน

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากประเด็นการขาดแคลน Supply Chain และ Valuation ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ Downside จำกัด แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มทำให้การเปิดประเทศล่าช้าออกไปกว่าที่เคยประเมินไว้ ขณะที่เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นและค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้น จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะยังคงกดดัน Sentiment การลงทุน

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน H-share ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และจากการออกมาส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายที่ต่อเนื่องของทางการ หลังล่าสุดทางการจีนได้รับรองเกมใหม่เพิ่มเติมอีก 69 เกม 

 

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีอยู่ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้า, ความเสี่ยง Delisting หุ้นจีน ADRs, การคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย, ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน และความกังวลบนภาคอสังหาของจีน สืบเนื่องจากการที่บรรดาผู้ซื้อบ้านหยุดจ่ายเงินจำนองที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการที่ EPS บจ. ในกลุ่มแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มชะลอลงทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 นี้ จะยังกดดัน Upside ของดัชนีฯ 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 4 

 

 

หุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษ ไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้หมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งผลประชุม Politburo ล่าสุดได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายต่อ และเน้นให้บรรดารัฐบาลท้องถิ่นเข้ามารับผิดชอบ ทำให้ภาคอสังหาจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มจะคงนโยบาย Zero-COVID โดยรวมที่ยาวนานขึ้น อาจกดดัน Sentiment ตลาดฯ โดยรวมอยู่ก็ตาม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวดี ส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศที่กลับมาในระดับก่อนโควิด ภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร่งขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งช่วยหนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ 

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายที่จะเริ่มเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นในเดือนสิงหาคม อาจส่งผลลบต่อครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและบริษัทที่มีหนี้สูง โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งอาจกดดัน Earning ของกลุ่มธนาคาร (จากที่ 2Q22 ผลประกอบการออกมาดี) ขณะที่ต้องจับตาความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งของจีน-สหรัฐฯ และไต้หวัน ว่าจะมีมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวภายในประเทศในช่วงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดการเงินและตลาดอสังหาของทางการ แต่เรามองว่าความกังวลดังกล่าวนี้อาจจำกัด Upside ของตลาดฯ แต่เพียงช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ Downside ตลาดฯ เริ่มมีจำกัดตาม Valuation ตลาดฯ ที่ลดลงมามาก ดังนั้น เราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม โดยตลาดฯ ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตามการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม และจากผลประกอบการ บจ. ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดย Consensus คาด VN-Index EPS growth ปีนี้ อยู่ที่ +21%YoY

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ผลประกอบการ 2Q22 ยังมีแนวโน้มออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด นำโดยหุ้นกลุ่มถ่านหินและธนาคาร ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจาก 3 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจ คือ การบริโภค การลงทุน และส่งออก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นที่คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังสนับสนุนการเติบโตของ Earning ให้ดีต่อเนื่อง 

 

ส่วน Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร (ได้รับประโยชน์จาก NIM ที่ดีขึ้นตามดอกเบี้ยขาขึ้นและการขยายตัวสินเชื่อ) กลุ่มพลังงาน (ยังได้ประโยชน์ระยะสั้นจากการส่งออกถ่านหิน) กลุ่ม Consumer Staple (ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่อง) และกลุ่ม Consumer Discretionary (ได้แรงหนุนจากชนชั้นกลางที่เติบโต)

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ระยะสั้น ราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทางบอนด์ยีลด์และค่าเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ความต้องการจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรอง และการฟื้นตัวของอุปสงค์ทองในฐานะเครื่องประดับจากจีน

 

น้ำมัน / อาหาร

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรายังคงมองว่าภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวจะคงอยู่จนถึงสิ้นปี 2022 โดยอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มลดลงตามการคว่ำบาตรรัสเซีย ในขณะที่กำลังการผลิตสำรองของกลุ่ม OPEC ที่อยู่ในระดับต่ำนั้น เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มอุปทานภายในระยะเวลาอันสั้น 

 

นอกจากนี้ ยังคงมีอุปสงค์จากการเปิดเมือง ประกอบกับคลังสินค้าน้ำมันและปิโตรเลียมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ได้แรงหนุนจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่มากขึ้น แรงกดดันจาก Government Bond Yield ที่เร่งตัวขึ้นก่อนหน้าเริ่มบรรเทาลง และกลุ่มที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ยังได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่มีมากขึ้นจากความสามารถในการซื้อบ้านที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังต้องระมัดระวัง REITs ใน 1. กลุ่มที่มี High Gearing & High Floating-Rate Debts ที่จะถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น และ 2. การชะลอตัวในสหรัฐฯ และยุโรป ที่อาจบั่นทอนรายได้ของ REITs ในกลุ่มที่มีสัดส่วน Recurring Income ต่ำ

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ได้รับผลบวกอย่างเต็มที่จากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยว เช่นเดียวกันกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มลดลง ท่ามกลางปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวและอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนของ REITs มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม กลุ่มค้าปลีก (โดยเฉพาะ Hypermarket) และกลุ่ม Warehouse

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 8 ส.ค. 2022

READ MORE




Latest Stories