THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EV
EXCLUSIVE CONTENT

Who is the Game Changer? เมื่อ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ กำลังจะเปลี่ยนโลก

... • 17 ม.ค. 2022

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กระแสการเข้ามาของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV เพื่อแทนที่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน กำลังกลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกยานยนต์ในเวลานี้ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีการประกาศทิศทางและนโยบายระยะยาวที่ชัดเจนออกมาเรียบร้อย เช่นเดียวกับบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ ในประเทศไทย เริ่มมีการขยับตัวมากขึ้น
  • รัฐบาลไทยมีการอัปเดตแผนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยนโยบายชื่อ 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573
  • ทุกค่ายรถยนต์ต่างมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและยุติหรือลดกำลังการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปลง เหตุผลหลักตามการแถลงคือปัญหาโลกร้อน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือการลดการปล่อยมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ทุกค่ายรถยนต์ต่างหวังให้รถรุ่นใหม่ของตัวเองเป็น Game Changer หรือผู้เปลี่ยนเกม อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ รถรุ่นที่ขายดีที่สุด เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชนิดที่ผลิตกันไม่ทันขาย แน่นอนว่าคำตอบแรกในใจของใครหลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้เปลี่ยนเกมในตลาดโลกเวลานี้คือ Tesla ไม่ว่าจะเข้าไปทำตลาดที่ประเทศไหน ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ยอดจองและยอดขายถล่มทลาย ผลิตขายไม่ทัน

กระแสการเข้ามาของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV เพื่อแทนที่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน กำลังกลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกยานยนต์ในเวลานี้ ไม่ว่าคุณจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงอย่างไร ปลายทางสุดท้ายย่อมไม่สามารถหนีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน เพราะผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายต่างประกาศนโยบายชัดเจนแล้วว่ามุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก 

 

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีการประกาศทิศทางและนโยบายระยะยาวที่ชัดเจนออกมาเรียบร้อย เช่นเดียวกับบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ ในประเทศไทย เริ่มมีการขยับตัวมากขึ้น ส่วนจะเป็นอย่างไรบ้าง ปีหน้าจะถึงเวลาของการแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง คำตอบอยู่ตรงนี้ 

 

พ.ศ. 2573 EV 30% 

รัฐบาลไทยมีการอัปเดตแผนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยนโยบายชื่อ 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 

 

สำหรับรายละเอียดเป็นการประเมินจากยอดการผลิตรถทั้งหมดของไทยที่คาดว่าจะทำได้ 2,500,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถใช้เครื่องยนต์ 1,750,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าราว 750,000 คัน ซึ่งในส่วนของ EV แยกย่อยเป็นรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน ส่วนจะทำได้จริงตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้หรือไม่ คงต้องรอดู 

 

ขณะที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีการตั้งเป้าผลิตไว้สูงถึง 675,000 คัน รวมถึงยังมีการประกาศส่งเสริมการผลิตรถสามล้อไฟฟ้า, เรือโดยสารไฟฟ้า และรถไฟฟ้าระบบรางอีกด้วย

 

ส่วนสิ่งที่ควบคู่กับรถยนต์ไฟฟ้าคือ สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะหรือจุดชาร์จไฟฟ้า ซึ่งรัฐวางนโยบายส่งเสริมการสร้างสถานีแบบ Fast Charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี ภายในปี 2573 

 

EV

 

มาตรการส่งเสริม 3 ระยะ

รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ช่วงแรกปี 2564-2565 เป็นช่วงเร่งด่วน ช่วงกลางปี 2566-2568 เน้นการเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าให้มาอยู่ในระดับ 20% และช่วงที่ 3 ปี 2569-2573 เดินหน้าบรรลุเป้าหมาย 30% โดยมีการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยด้วย 

 

สำหรับระยะแรก มีการโยนหินถามทางมาแล้วและนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ว่าจะมีมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยหวังจะให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2565 แก่ประชาชนชาวไทย แต่สุดท้ายจนแล้วจนรอด เรื่องดังกล่าวถูกเลื่อนหลายครั้ง โดยระบุว่ารอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ล่าสุดคือการประกาศว่าเรื่องดังกล่าวจะเข้าที่ประชุม ครม. ในปี 2565 

 

ส่วนรายละเอียดการสนับสนุนยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบใดบ้าง เพราะประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับภาษีหลายแบบ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ฉะนั้นเดิมพันหวังซื้อใจคนไทยครั้งนี้จึงสูงยิ่งนัก

  

ค่ายรถต้องลุย

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นแล้วว่าทุกค่ายรถยนต์ต่างมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและยุติหรือลดกำลังการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปลง เหตุผลหลักตามการแถลงคือปัญหาโลกร้อน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือการลดการปล่อยมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

ความจริงประเด็นเรื่องของการลดการปล่อยมลพิษมีการรณรงค์มายาวนานนับสิบปีแล้ว แต่ทำไมค่ายรถยนต์จึงมาเร่งประกาศพร้อมๆ กันเช่นนี้ เหตุผลที่แท้จริงคือ การประกาศข้อบังคับห้ามจำหน่ายรถเครื่องยนต์สันดาปภายในของบรรดาประเทศชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศจีนที่กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานี้ 

 

สำหรับข้อกำหนดของจีน แม้จะไม่ใช่การห้ามจำหน่าย แต่เป็นการประกาศบังคับสัดส่วนจำนวนการผลิต EV เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าหากค่ายใดต้องผลิตรถใช้เครื่องยนต์ 9 คัน จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อกำหนดของรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าจะขายได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการผลิต EV จะไม่สามารถขายรถอื่นๆ ได้เลย ดังนั้นรถยนต์ทุกค่ายหากต้องการทำตลาดในจีนจะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าผลิตด้วย 

 

ทั้งนี้ ข้อบังคับดังกล่าวส่วนใหญ่จะเริ่มมีผลในช่วงปี ค.ศ. 2025-2030 ฉะนั้นค่ายรถยนต์ต่างมีระยะเวลาในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะในส่วนของการผลิต ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีการวางแผนจำหน่ายราว 6-10 ปี 

 

ดังนั้นในช่วงปีนี้จนถึงปีหน้า เราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมามากขึ้น และรถที่ใช้เครื่องยนต์จะยังคงมีการเปิดตัวอยู่ แต่จะเรียกว่าเป็นระยะสุดท้าย (Last Model) แล้ว ดังเช่นที่หลายค่ายได้ประกาศทิศทางเอาไว้ โดยเฉพาะค่ายยุโรปอย่าง Mercedes-Benz, Audi และ BMW

 

EV

 

ไทยพร้อมใช้ EV แค่ไหน

เป็นประเด็นที่ยังหาข้อสรุปแบบชัดเจนไม่ได้ ฝ่ายคัดค้านจะแสดงความเห็นในทางเดียวกันว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยยังไม่พร้อม ภาครัฐต้องเร่งมือขยายโครงข่ายการชาร์จไฟฟ้ารวมถึงจัดหากำลังไฟฟ้าสำรอง ส่วนฝ่ายสนับสนุนแน่นอนว่าเขาคือผู้ที่ใช้แล้วหรือพร้อมจะใช้ โดยศึกษาข้อมูลต่างๆ มาเป็นอย่างดีแล้ว เรียกว่า มีความรู้เพียงพอ 

 

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ประเด็นแรกคือ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถไปได้ทุกที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ เพราะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ากระจายครบทุกพื้นที่สำคัญทั่วประเทศรวม 1,000 หัวชาร์จแล้ว มิใช่เหมือนเมื่อราว 2-3 ปีก่อนที่จุดชาร์จมีเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานจะต้องวางแผนการชาร์จไฟฟ้าให้ดี เนื่องจากจุดชาร์จไฟฟ้ามีจำนวนจำกัดและอยู่ตามจุดที่เฉพาะเจาะจง เรียกว่าไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางหรือหวังไปลุ้นเอาดาบหน้าได้ จะต้องวางแผนก่อนการเดินทางว่าจะไปชาร์จที่จุดใด และจะใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นกว่าปกติอย่างแน่นอน รวมถึงต้องเตรียมแผนสำรองกรณีที่จุดชาร์จไฟนั้นปิดหรือไม่สามารถชาร์จได้ จะต้องเผื่อระยะทางการวิ่งของรถไว้ให้เพียงพอ 

 

ดังนั้นไทยพร้อมหรือไม่ คำตอบอยู่ที่พื้นฐานของตัวคุณว่ามีความรู้มากน้อยเพียงใด และพร้อมใช้งาน EV ในระดับใดนั่นเอง 

 

Who is the Game Changer? ใครคือผู้เปลี่ยนเกม

ทุกค่ายรถยนต์ต่างหวังให้รถรุ่นใหม่ของตัวเองเป็น Game Changer หรือผู้เปลี่ยนเกม อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ รถรุ่นที่ขายดีที่สุด เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชนิดที่ผลิตกันไม่ทันขาย แน่นอนว่าคำตอบแรกในใจของใครหลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้เปลี่ยนเกมในตลาดโลกเวลานี้คือ Tesla ไม่ว่าจะเข้าไปทำตลาดที่ประเทศไหน Tesla ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ยอดจองและยอดขายถล่มทลาย ผลิตขายไม่ทัน 

 

EV

 

สำหรับประเทศไทย Nissan คือค่ายรถยนต์ที่โหมกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเป็นรายต้นๆ ก่อนจะทำตลาดด้วยรุ่น Leaf แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย เนื่องจากตั้งราคาสูงถึง 1.99 ล้านบาท ตอนเปิดตัวครั้งแรก จนกระทั่ง MG นำเข้า ZS EV มาจำหน่าย พร้อมเปิดตัวด้วยราคา 1.19 ล้าน เมื่อปี 2019 กวาดยอดขายเป็นกอบเป็นกำ ขึ้นแท่นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในไทยทันที 

 

จนกระทั่งปีนี้ มีผู้ท้าชิงรายใหม่เปิดตัวเข้าสู่ตลาด ORA Good Cat ซึ่งได้รับความนิยมมาก จากรายงานข่าวระบุยอดจองสิทธิ์มากกว่า 2,500 คัน และหากจะจองใหม่ในวันนี้ต้องรอรถนานกว่า 6 เดือน เห็นได้ชัดว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังก่อตัวอย่างมีนัยสำคัญแบบชัดเจน หากมีผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้บริโภคแล้ว Tesla มีโอกาสมาไทยแค่ไหน? 

 

ช่วงหนึ่งเคยมีกระแสข่าวว่าหน่วยงานรัฐของไทยได้ส่งสัญญาณพร้อมพูดคุยดึงให้ Tesla เข้ามาลงทุนในไทย ส่วน Tesla จะสนใจหรือไม่ และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คำตอบคงกล่าวได้เพียงว่า ‘Never Say Never จงอย่าพูดคำว่าไม่มีทาง เพราะทุกอย่างยังมีโอกาสเป็นไปได้’

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 17 ม.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories