THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

เตือนตลาดเอเชีย Downside Risk ยังสูง นักลงทุนเริ่มปิดรับความเสี่ยง จับตาทิศทาง ‘บอนด์ยีลด์’ ส่อเค้าปั่นป่วน

... • 4 ต.ค. 2021

HIGHLIGHTS

  • บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นจาก 1.34% เป็น 1.56% ถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงอีกครั้ง สะท้อนตลาดการเงินกำลังปรับตัวรับ Fed จะเริ่มยุติ QE 
  • Downside Risk ยังคงเปิด จีนเป็นตัวแปรหลัก ตลาดการเงินโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาถูกกดดันจากหลายปัจจัยทั้งจากสหรัฐฯ และจีน 
  • แนวโน้มตลาดหุ้นโลกในช่วง 3Q21 ยังคงไม่สดใส ส่วนใหญ่ถูกดันจากความกังวลต่อนโยบายการเงินเข้มงวดของสหรัฐฯ และนโยบายคุมเข้มของจีน
  • SCBS แนะนำ เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนสำหรับ 4Q21 โดยเฉพาะ ตลาดเกิดใหม่

บอนด์ยีลด์พุ่งแรงสะท้อนตลาดการเงินกำลังปรับตัวรับ Fed จะเริ่มยุติ QE โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นจาก 1.34% เป็น 1.56% ถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งทำให้ SCBS ประเมินว่าตลาดการเงินเชื่อมั่นแล้วว่า Fed จะเริ่มชะลอการอัดฉีดเงินภายในปี 2021 

 

สำหรับแนวโน้มบอนด์ยีลด์ในสัปดาห์ถัดไป ประเมินว่าโอกาสในการปรับตัวขึ้นเริ่มจำกัด แต่ความผันผวนยังคงสูง เนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังลดลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่เร็ว รวมถึงมีความเสี่ยงในหลายๆ ประเด็นรออยู่ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะ Risk-Off ซึ่งทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตร  

 

Downside Risk ยังคงเปิด จีนเป็นตัวแปรหลัก ตลาดการเงินโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาถูกกดดันจากหลายปัจจัยทั้งจากสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ประเมินว่าน้ำหนักของปัจจัยจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นระยะสั้นและเริ่มสะท้อนไปพอสมควรแล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงจากจีนถือเป็นเรื่องระยะยาว ทำให้ยังคงไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ เช่น กรณี Evergrande ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ในขณะที่ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) กำลังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนที่มีโอกาสชะลอตัวแรงเกินคาด (Hard Landing) ในปี 2022 หากยังคงไม่หยุดดำเนินนโยบายคุมเข้มที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ประเมินว่าตลาดการเงินยังคงมี Downside Risk โดยเฉพาะตลาด EM        

 

SCBS ประเมินว่า ตลาดการเงินยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อไปใน 4Q21 คล้ายกับที่เกิดขึ้นใน 3Q21 เนื่องจากประเมินว่าปัจจัยกดดันมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยสนับสนุน 

 

โดยปัจจัยกดดันสำคัญ คือ 

 

  1. ความเสี่ยง Stagflation ทั้งในสหรัฐฯ และจีน 
  2. ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนเกิด Hard Landing ทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลออกจาก EM
  3. ความเสี่ยงเรื่องการยุติ QE ของสหรัฐฯ และยุโรป แต่ปัจจัยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว   

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 2.9% (EM -1.1%, DM -3.1%) หุ้นกลุ่ม Value (-1.6%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-4%) หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นหุ้นที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 0.4% และ 2.7% ในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่น เทคโนโลยีปรับตัวลดลง 4.7% ที่ได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น หุ้นกลุ่มเชิงรับอย่าง Healthcare, Utility, Consumer Discretionary ที่ได้รับผลกระทบจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

 

ปัจจัยกดดันจากจีนเพิ่มขึ้น ภาพรวมตลาดหุ้นโลกในช่วง 3Q21 ส่วนใหญ่ถูกดันจากความกังวลต่อนโยบายการเงินเข้มงวดของสหรัฐฯ และนโยบายคุมเข้มของจีน ซึ่งหากมองไปใน 4Q21 พบว่า ความเสี่ยง Stagflation ในสหรัฐฯ ยังคงสูง ในขณะที่ความเสี่ยงจากนโยบายเข้มงวดของจีนกำลังสร้างแรงกดดันต่อ GDP ในอนาคตทำให้ความเสี่ยง Hard Landing จะกลายเป็นปัจจัยกดดันใหม่ 

 

SCBS แนะนำ เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนสำหรับ 4Q21 โดยเฉพาะตลาด EM ทั้งนี้เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมของตลาดหุ้นทั้ง DM และ EM ใน 4Q21 ยังคงไม่สดใส โดยเฉพาะความเสี่ยงจากจีนยังคงประเมิน Downside ได้ยาก แนะนำ รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีหรือมีความ Defensive เช่น หุ้น Utility และหุ้น Domestic ส่วนนักลงทุนที่สนใจหุ้นจีน แนะนำ หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนจำกัด เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจ EV Car เป็นต้น 

 

สำหรับตลาดหุ้นไทย หาก SET Index ต่ำกว่า 1,600 จุด ถือเป็นสัญญาณลบ ยังคงแนะนำเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรแข็งแกร่งใน 2H21 เป็นหลัก เช่น กลุ่มค้าปลีก อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และขนส่งทางบก เป็นต้น 

 

ประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ เดือนกันยายน ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม
  • การประชุม OPEC+ วันที่ 4 ตุลาคม โดยตลาดคาดที่ประชุมจะยังคงมติเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวัน
  • ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าจะมีร่องมรสุมเกิดขึ้นอีกในช่วง 1-3 ตุลาคม และมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในช่วง 5-6 ตุลาคม

 

BCP หุ้นเด่นประจำสัปดาห์

สัปดาห์นี้ SCBS แนะนำ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP เนื่องจาก

 

  1. ผู้นำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทย (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) ที่มีการกระจายความเสี่ยงธุรกิจสู่พลังงานสะอาดซึ่งมีศักยภาพเติบโตดี เช่น โรงไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ, ร้านค้าปลีก, ร้านกาแฟ
  2. 2H21 คาดผลดำเนินงานยังอยู่ในทิศทางที่ดี เพราะบริษัทมีแผนกลั่นน้ำมันเพิ่มเป็น 110-115kbd จาก 86kbd ใน 1H21 ซึ่งจะหนุนให้ Market GRM เพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนเงินสด/bbl ลดลง อีกทั้งจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเข้าสู่ High Season และมีกำลังผลิตใหม่ของโรงไฟฟ้าโซลาร์ในญี่ปุ่น 65MW ที่ COD 4Q21     
  3. ฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลดี โดยมีประวัติการจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่องกว่า 16 ปี โดยคาดให้ Dividend Yield ปีนี้สูงราว 6.2%

 

SCBS ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 34 บาท ด้วยวิธี SOTP ซึ่งประกอบด้วย มูลค่าธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันที่ 16 บาทต่อหุ้น (อิง PBV 0.6 เท่า) และมูลค่าธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่ 18 บาทต่อหุ้น (อิง DCF)

 

3 ประเด็นข่าวร้อนทั่วโลกที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์

 

1. ปัญหาไฟฟ้าดับอาจจะส่งผลต่อการเติบโตของจีน

ขณะนี้มณฑลและภูมิภาคของจีนอย่างน้อย 20 แห่ง ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 66% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศ (GDP) ได้ประกาศใช้แนวทางการตัดไฟ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้อุตสาหกรรมหนัก เศรษฐกิจจีนเกือบ 60% ขับเคลื่อนด้วยถ่านหินที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า แต่ซัพพลายของถ่านหินประสบภาวะหยุดชะงัก

 

SCBS มองว่าประเด็นนี้จะกระทบกับภาคการผลิตเพิ่มเติมจากนโยบายกำกับดูแลในอุตสาหกรรมอื่นก่อนหน้านี้ ทำให้แนวโน้มการเติบโตของจีนมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาด การลงทุนในจีนยังต้องเลือกลงทุนในหุ้นที่มีนโยบายสนับสนุนกลุ่ม Dual Circulation, พลังงานสะอาด และลูกคนที่ 3

 

2. Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

แม้ว่าธนาคารกลางจะมองว่าเงินเฟ้อเป็นระยะสั้น แต่มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด 

 

SBCS มองว่าการปรับเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ตอบสนองประเด็นเรื่องนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของสหรัฐฯ ไปแล้วในระดับหนึ่ง ในระยะถัดไปการขึ้นของอัตราผลตอบแทนจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัด และหากปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.20-0.25% (20-25bps) ต่อเดือน ตลาดจะเริ่มกลับมากังวลอีกครั้ง SCBS อาจจะเริ่มกลับมาดูหุ้นกลุ่ม Utilities และเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลงแรงจากประเด็นดังกล่าว

 

3. จีนมองว่าเงินสกุลดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย

ทางการจีนได้ประกาศให้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นั่นหมายความว่าธุรกรรม, ซื้อขาย, การออกหน่วยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลและหุ้นอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถตรวจสอบการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนในประเทศด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีนั่นเอง 

 

ประเด็นนี้เป็นประเด็นต่อเนื่องที่มีการแบนการใช้สกุลเงินดิจิทัลภายในประเทศก่อนหน้านี้ และเป็นไปตามภาพที่จีนต้องการสนับสนุนการใช้หยวนดิจิทัลเป็นหลัก

 

แต่อย่างไรก็ดี SCBS มองว่านักลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลก็ยังสามารถหาช่องทางในการลงทุนได้ในระยะถัดไป ไม่มีผลกระทบกับแนวทางการลงทุนที่เน้นด้านผลตอบแทนซึ่งแตกต่างไปจากหยวนดิจิทัลที่อาจจะเน้นไปยังการแลกเปลี่ยนค่อนข้างมาก

 

Theme of the Week - การเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลง และ Yield ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

การลดกำลังการผลิตมีสาเหตุหลักจากแรงกดดันด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงาน ประเด็นนี้มองว่ามีผลกระทบกับการเติบโตของจีน โดยเฉพาะภาคการผลิตของจีน ซึ่งคิดเป็น 44% ของการผลิตใน 9 จังหวัด โดยมีการคาดการณ์ว่าจะกระทบกับ GDP ของจีนราว 1% ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปมีแนวโน้มในการปรับลดประมาณการการเติบโตของจีนลงได้อีก ส่วนที่จะกระทบคือการเติบโตของจีน ภาคการผลิต Semiconductor และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นสูง

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งทะลุ 1.54% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เร็วกว่า 20bps ต่อเดือนนั้นจะทำให้ตลาดเริ่มกังวลมากขึ้นและกระทบกับชั้นสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำที่เริ่มปรับตัวลดลง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสาธารณูปโภค แต่อย่างไรก็ดี ราคาทองคำ หุ้นเทคโนโลยีและสาธารณูปโภค ปรับตัวลดลง 6-9% ซึ่งสะท้อนภาพไประดับหนึ่งแล้วหาก Yield เริ่มทรงตัว หุ้นดังกล่าวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้

 

“พลังงานสะอาดยังคงเป็นธีมหลังที่มีกระแสเงินไหลเข้าและมีนโยบายสนับสนุน การลงทุนก็ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทที่เป็นจุดในห่วงโซ่อุปทานที่มีการเติบโตสอดคล้องกับการลงทุนในพลังงานสะอาดคือระบบไฟฟ้าและตัวแปลงสัญญาณ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในธีมนี้ SCBS ชอบหุ้น Sungrow Power Supply” 

 

เหตุผลที่เลือก Sungrow Power Supply (300274) มีดังนี้ 

  • บริษัทเป็นจุดเชื่อมในห่วงโซ่อุปทานในพลังงานสะอาดที่มีการเติบโตและการลงทุนสูง นอกจากนั้นบริษัทมีแผนที่จะขยายในตลาด Inverter ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ
  • บริษัทเป็นผู้นำด้านการตลาดของ Inverter ใน Solar Rooftop ที่เพิ่มจาก 1% ในปี 2019 เป็น 10% ในปี 2021 และบริษัทคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30% ของตลาดโลกในปี 2023 โดยใช้เทคโนโลยีและคุณภาพสินค้าเป็นจุดขาย 
  • บริษัทมีสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง มี Net D/E ที่ 0.01 เท่ามีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการลงทุนใหม่ในธุรกิจเก็บกักพลังงาน
  • ตลาดคาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 41% ต่อปี ซึ่งเป็นการเติบโตทั้งรายได้และอัตราการทำกำไรในอีก 3 ปีข้างหน้า หากเทียบกับ Valuation ที่ P/E ที่ 40x นั้นถือว่าสมเหตุสมผล แต่หากรับความเสี่ยงได้น้อยรอจังหวะหุ้นย่อตัวเป็นจุดในการเข้าซื้อ

 

กองทุนเด่นที่แนะนำ

EHD: Euro High Dividend Fund (กองทุนเปิด ยูโร ไฮดิวิเดนด์)

 

โดยนโยบายลงทุนดังนี้ 

  • เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน NN (L) Euro High Dividend (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV
  • ป้องกันความเสี่ยงป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
  • ไม่มีการจ่ายเงินปันผล

 

เหตุผลที่ชื่นชอบ NN (L) Euro High Dividend ซึ่งเป็นกองทุนหลัก

  • กลุ่มประเทศยุโรปยังมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ในขณะที่มูลค่าปัจจัยพื้นฐานเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า และไม่มีประเด็นกดดันอย่างเรื่องเพดานหนี้ กองทุนมีการลงทุนหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น กลุ่มการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวชันขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าผู้บริโภค ซึ่งก็ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองในยุโรปเช่นกัน
  • กองทุนเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่มีการจ่ายปันผลดีต่อเนื่อง ใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก คัดเลือกหลักทรัพย์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนที่ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีกว่า

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้นจากความกังวลผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed 

 

กองทุนแนะนำ

 

  

  • SCB Global Experts Fund

 

กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก

 

   

  • Krungsri Global Brands Equity Fund

 

กองทุน KFGBRAND-A ลงทุนในกองทุน Morgan Stanley Investment Fund - Global Brands Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่คัดเลือกหุ้นของบริษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกที่มีคุณภาพสูง มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยอำนาจการต่อรองด้านราคา ความสำเร็จและยากที่จะลอกเลียนแบบของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น แบรนด์สินค้า

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มที่หุ้นกลุ่ม Value / Cyclicals จะปรับเพิ่มขึ้นได้ดีในระยะสั้น ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น และความคาดหวังต่อการผ่านร่างแผนลงทุนระยะยาว ในวงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้ ประกอบกับการระบาดของเดลตาที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ หุ้นกลุ่ม Growth ยังปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อตาม Earnings ของกลุ่มใน 3Q2021 มีแนวโน้มออกมาแข็งแกร่ง แม้ Valuation อาจเผชิญแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ได้ปรับคำแนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นสไตล์ Value / Defensive เป็น 60:40 จากเดิม 70:30 

 

ตลาดหุ้นยุโรป 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ ขณะที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU บอนด์ยีลด์ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก มองผลการเลือกตั้งเยอรมนีส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเยอรมันและหุ้นยุโรป ประเมินผลกระทบราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นมีทั้งผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก แต่ภาพรวมหุ้นกลุ่ม Cyclical มีแนวโน้มได้รับผลบวกมากกว่าผลลบ

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี Valuation ที่ถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และ EPS Growth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มโดดเด่นมากกว่าหรือเท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปในระยะต่อไป โดยมองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคมจะสนับสนุน Fund Flow นักลงทุนต่างชาติจากธีม Election Rally และผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น คาดพรรค LDP (นำโดยนายกรัฐมนตรีใหม่ ฟูมิโอะ คิชิดะ) ยังครองเสียงข้างมากและสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

กองทุนแนะนำ

 

  

  • Krungsri Japan Hedged Dividend Fund

 

กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share มีความไม่แน่นอนในการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของทางการจีน ทั้งในด้าน Antitrust, Data Security, Financial Markets และ Society จะยังกดดันราคาของหุ้นกลุ่ม Internet Platform รายใหญ่ต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มเผชิญ Sentiment เชิงลบ จากวิกฤตสภาพคล่องของ Evergrande ที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยง ADRs Delisting จะเป็นปัจจัยกดดันดัชนีหุ้นจีน Offshore ให้มีแนวโน้ม Underperform ต่อ

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ: 3

 

 

ดัชนีหุ้นจีน Onshore มีแนวโน้มได้รับแรงหนุน จากการที่ทางการจีน มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เช่น Semiconductor, Green Energy และกลุ่มการผลิตขั้นสูง ตามที่กลุ่มยังมีแนวโน้มได้รับมาตรการสนับสนุนจากทางการ และสามารถเติบโตอีกมาก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือปี เริ่มมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น ทั้งผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลง และปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยล่าสุด ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนเดือนกันยายนกลับมาอยู่ในระดับหดตัวครั้งแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นจีน Onshore ในช่วงสั้น

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

 

ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ยังกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าแต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม โดยมองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประกอบการของ บจ. ในช่วง 2H2021 อาจถูกปรับประมาณการลง และมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

แม้ตลาดหุ้นเวียดนามอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด และคาดการณ์ GDP จะได้รับผลกระทบมากในปีนี้ โดยการเติบโตมีแนวโน้มลดลงเหลือราว 4% แต่คาดว่า GDP จะเริ่มฟื้นตัวได้ใน 4Q2021 และเติบโตได้ราว 6% ในปี 2022 ด้านผลประกอบการ บจ. แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงใน 3Q2021 แต่สถานะการลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย 

 

กองทุนแนะนำ 

 

  ​​

  • Principal Vietnam Equity Fund

 

กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ: 2 

 

 

ราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจาก การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป หลัง Fed ส่งสัญญาณจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ในไม่ช้า และมีโอกาสการที่ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ครั้งแรกภายในปีหน้า

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ: 3

 

 

ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดที่ตึงตัวมากขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากประเทศในฝั่งตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่คาดว่าจะหนาวมากกว่าปกติ และจากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติบางส่วน รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบในตลาด ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ: 3

 

 

ประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการทยอยเปิดเมืองตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีน รวมถึงผลประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดและดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำจะเป็นแรงหนุนในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในบางประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้า จึงมองว่า Upside ค่อนข้างจำกัดในช่วงสั้น

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

 

ผลประกอบการ REITs ไทยใน 3Q2021 จะออกมาแย่กว่าคาด จากผลกระทบของการล็อกดาวน์ในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งความเสี่ยงจำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อาจเป็นปัจจัยกดดันราคา REITs ไทยในระยะสั้น ด้าน REITs สิงคโปร์ มีแนวโน้มถูกกดดัน หลังทางการสิงคโปร์ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมทางสังคมอีกครั้ง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 4 ต.ค. 2021

READ MORE



Latest Stories