THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
global stock markets
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ความเสี่ยงจาก ‘จีน’ ยังกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แนะจับตา รัฐบาลผ่อนคลายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

... • 25 ต.ค. 2021

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์นี้ตลาดโดยรวมยังคงปรับตัวขึ้นได้ดี แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ที่ชะลอ ราคาพลังงานที่ยังปรับเพิ่มขึ้น ปัญหา Supply Chain และภาคอสังหาริมทรัพย์จีน
  • การที่ตลาดการเงินยังดีอยู่แม้มีความเสี่ยงจากจีนเพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ สะท้อนว่าตลาดการเงินยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก
  • SCBS แนะนำให้จับตาความเสี่ยงจากจีนต่อเนื่อง โดยคาดว่านโยบายรัฐบาลของจีนต่อไปอาจเป็นการควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
  • อีกทั้งจีนยังมีความเสี่ยงเรื่องการส่งออก ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับต่ำมาก

ความเสี่ยงจีนชะลอตัวชัดเจนขึ้น เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะสูงต่อไป ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเกิน 1.60% อีกครั้ง การที่จีนประกาศ GDP งวด 3Q21 ออกมาต่ำกว่าคาด เหลือ 4.9% ถือเป็นการสะท้อนความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งมองในแง่ดีทำให้รัฐบาลจีนเริ่มออกมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น เช่น อนุญาตให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น การเริ่มผ่อนคลายการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย และอนุญาตให้มีการขึ้นราคาไฟฟ้าได้ (เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ขาดทุนในการผลิตไฟฟ้า) สำหรับความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป สะท้อนไปที่ Bond Yield ซึ่งคาดว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในช่วง 4Q21 เป็นต้นไป  

 

บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS แนะนำให้จับตาความเสี่ยงจากจีนต่อไป โดยคาดว่านโยบายรัฐบาลต่อไปอาจเป็นการควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (ส่งผลลบต่อราคาสินทรัพย์โภคภัณฑ์) รวมถึงติดตามผลกระทบจากวิกฤตหนี้อสังหาริมทรัพย์ โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณติดลบในราคาอสังหาริมทรัพย์แล้ว ซึ่งมีโอกาสกระทบต่อการบริโภค การลงทุน เนื่องจากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain ทำให้เชื่อว่าในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับต่ำมาก (เช่น 1%) 

 

การที่ตลาดการเงินยังดีอยู่แม้มีความเสี่ยงจากจีนเพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ สะท้อนว่า ตลาดการเงินยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก รวมถึงความเสี่ยงเดิม เช่น เงินเฟ้อ และการลดทอน QE จึงยังคงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน โดยเน้นลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีเป็นหลัก 

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 1.2% (EM +1.4%, DM +1.2%) โดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารและกลุ่มภาคการผลิตที่ออกมาดีกว่าที่คาดและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีแรงซื้อกลับในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และจีน แต่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่นั้นมีแรงขายทำกำไรหลังจีนเริ่มแทรกแซงตลาดถ่านหิน

 

ส่วนตลาดหุ้นไทย Underperform โลก แม้กลุ่มธนาคารประกาศผลประกอบการดีกว่าคาดก็ตาม รวมถึงแม้มีปัจจัยบวกจากการที่ ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งเพิ่มเงินลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้พิการ และเพิ่มวงเงินมาตรการ คนละครึ่ง และ ยิ่งใช้ยิ่งได้ 

 

ด้านตลาดพันธบัตรนั้นผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีอยู่ที่ 1.64% ขณะที่ระยะสั้น 2 ปี ขึ้นมาอยู่ที่ 0.39% หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

 

โดยผลตอบแทนพันธบัตรไทยระยะยาว 10 ปี ปรับขึ้นรุนแรงที่ 2.06% ตามผลตอบแทนพันธบัตรต่างชาติ ขณะที่ระยะสั้นอายุ 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.70% ตามมุมมองตลาดที่มองว่าเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,344 ล้านบาท

 

ส่วนตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) อ่อนตัวลงที่  93.6 จุด เช่นเดียวกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวที่ 114.0 เยน ค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.16 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ 33.4 บาท ขณะที่เงินหยวนทรงตัวที่ระดับ 6.40 หยวนต่อดอลลาร์

 

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้นต่อเนื่องที่ 85.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางวิกฤตพลังงาน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านราคาทองคำ (Spot) ทรงตัวที่ 1,786 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

แนวโน้มหุ้นทั่วโลกแกว่งตัวตามกำไรไตรมาส 3/64 

แนวโน้มตลาดหุ้นโลก คาดแกว่งตัวตามการประกาศผลประกอบการ 3Q21 ส่วน การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน ยังคงเปราะบาง เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน ในขณะที่ปัจจัยด้านเงินเฟ้อและนโยบายเข้มงวดยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก แม้ว่าอาจไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นลดลงแต่ก็จำกัด Upside 

 

สัปดาห์หน้าติดตามการประชุม G20 คาดว่าจะมีประเด็นเรื่องพลังงานสะอาดและการเก็บภาษี รวมถึงติดตามการประกาศผลประกอบการ 3Q21 ของหุ้นสหรัฐฯ ขนาดใหญ่ ได้แก่ Facebook, Microsoft, Alphabet, Visa, AMD, Coca-Cola, Apple, Amazon, Berkshire Hathaway

 

หุ้นไทยแนวโน้มอ่อนตัว เหตุกำไรไตรมาส 3 ถูกกดดัน

แนวโน้มตลาดหุ้นไทย คาด SET Index มีความเสี่ยงอ่อนตัว เนื่องจากคาดว่าภาพรวมงบ 3Q21 จะถูกกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าติดตามการประกาศงบของ DTAC, SCGP, SCC, PTTEP, HMPRO และ GLOBAL โดยคาดว่าผลประกอบการของ GLOBAL และ HMPRO จะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังรัฐบาลเริ่มคลายมาตรการคุมเข้มมากขึ้น 

 

กลยุทธ์ลงทุนเน้นซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว คัดหุ้นรายตัวที่แนวโน้มกำไรแข็งแกร่ง

SCBS แนะนำกลยุทธ์หลักคือ ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เน้นหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานแข็งแกร่งในสภาวะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น และได้รับประโยชน์จากการเปิดเมือง เช่น กลุ่มการแพทย์ (BDMS) ขนส่งในประแทศ (BEM) ค้าปลีก (CRC) อาหารและเครื่องดื่ม (ZEN, OSP) เป็นต้น สำหรับการเก็งกำไรระยะสั้น แนะนำ HMPRO และ GLOBAL เนื่องจากคาดว่าผลการดำเนินงานจะทยอยฟื้นตัวขึ้น หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่อเนื่อง   

 

TNP หุ้นเด่นประจำสัปดาห์ 

สัปดาห์นี้ SCBS เลือก บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP เนื่องจากเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นสมัยใหม่ (Local Modern Trade) ในแถบภาคเหนือตอนบน โดยมีสาขาครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเติบโตได้ในระยะยาว 

 

3Q21 คาดกำไร 37 ล้านบาท เติบโต 25%YoY จากการรับรู้ยอดขายสาขาใหม่และการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม ซึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเดือนละ 200 บาท (กรกฎาคม-กันยายน) และสิทธิ์คนละครึ่งไม่เกิน 3,000 บาท

 

ช่วงสั้นราคาหุ้นและผลดำเนินงาน 4Q21 จะได้อานิสงส์จากรัฐอนุมัติเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 300 บาทต่อเดือนตั้งแต่พฤศจิกายน-ธันวาคม (รวมเป็น 600 บาทต่อเดือน) และคนละครึ่งเฟส 4 อีก 1,500 บาทต่อคนเริ่มโอนเงินพฤศจิกายน เพราะ TNP เป็นร้านธงฟ้าและมีฐานลูกค้าโชห่วย 

 

หุ้นเทคฯ จีนกลับมาน่าสนใจ 

SCBS เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนหลังจากปรับตัวลดลงแรง แต่ยังกังวลบนภาพของนโยบายกำกับดูแลซึ่งในช่วงหลังเริ่มลดลง แม้ว่าการเติบโตจะยังดีอยู่และ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ แต่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ในกลุ่มเทคโนโลยีจีนเราชอบ Tencent Holding

 

SCBS เลือก Tencent Holding เนื่องจากบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เพราะบริษัทมีการขยายและมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเกมทั่วโลก และเริ่มมีภาพของการทำเงินบน Platform นอกจากนั้นยังมีการทำธุรกิจอย่าง Cloud และ Fintech

 

บริษัทมีการลงทุนมากกว่า 160 บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากทั้งปี 2019-2020 การลงทุนจะช่วยให้รายได้มีการเติบโตมากขึ้น และมีสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง มี Net D/E ที่ 0.05 กระแสเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการลงทุนทึ่ 3-6 หมื่นล้านหยวนต่อปี 

 

ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 10% และมีการปรับประมาณการลง 12% บ่งชี้ว่าราคาตอบสนองความเสี่ยงมาแล้วระดับหนึ่ง มองในระยะยาวยังมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% ปัจจุบันเทรดอยู่ที่ P/E 20-25x และ P/B ที่ 3-4x ทำให้มีความน่าสนใจแต่เหมาะสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้สูงเท่านั้น

 

มอง กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน-A โดเด่น

เมื่อจีนเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ คาดนโยบายภาครัฐฯ และธนาคารกลางจะผ่อนคลายมากขึ้นในอนาคต ในขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เริ่มปรับตัวลดลงสะท้อนมุมมองตลาดต่อกรณี Evergrande ที่ดีขึ้น และอาจไม่ลุกลาม เมื่อพิจารณาราคาหุ้นจีนสะท้อนความเสี่ยงการควบคุมของรัฐบาล และมูลค่าพื้นฐานอยู่ในระดับที่มีความน่าสนใจ การทยอยสะสมจึงมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในกองทุนลงทุนหุ้นจีนขนาดใหญ่ทุกตลาด (All China) ทั้ง A Share, H Share, ADR เน้นหุ้น Growth ที่มีโอกาสเติบโตสูง และอยู่ในกลุ่ม New Economy มีนวัตกรรม และได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของคนในประเทศ

 

K China Equity Fund-A หรือ กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน-A เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds - China Fund, Class JPM China I (acc) - USD (กองทุนหลัก) ซึ่งป้องกันความเสี่ยงป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ และลงทุนใน Class A ไม่มีการจ่ายเงินปันผล 

 

3 ประเด็นข่าวร้อนทั่วโลกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

  1. สถานการณ์โควิดโลกเริ่มคลี่คลาย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมแตะ 242 ล้านคน (สหรัฐฯ 45.9 ล้านคน อินเดีย 34.1 ล้านคน และบราซิล 21.7 ล้านคน ขณะที่ความคืบหน้าด้านวัคซีนและยาต้านโควิด ล่าสุด CDC ของสหรัฐฯ เผยวัคซีนโควิดของ Pfizer ที่มีประสิทธิภาพ 93% ในการป้องกันสำหรับเด็กวัย 12-18 ปีที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ NHS เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการควบคุมโรคโควิดอีกครั้ง เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น

 

  1. ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยผู้อำนายการฝ่ายความมั่นคงของไต้หวันระบุว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามกับจีนต่ำมาก และจะปกป้องประเทศหากถูกโจมตี แต่ยังต้องรักษาความสัมพันธ์ปัจจุบันกับจีนไว้

 

  1. เศรษฐกิจไทยมีทิศทางสดใสขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไทย โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ครม. อนุมัติงบรวมกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท ทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ, เติมเงินบัตรคนจน, คนละครึ่งเฟส 4, เพิ่มสิทธิ์ยิ่งใช้ยิ่งได้ และอุ้มจ้างงาน SMEs หวังกระตุ้น GDP ปีนี้โตเกิน 1.3% 

 

ประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค CB ของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม และยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ เดือนกันยายน
  • ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เดือนกันยายน และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย เดือนกันยายน 
  • GDP ของสหรัฐฯ 3Q21 โดยตลาดคาดเพิ่มขึ้น 3.2% 
  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดคาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0%
  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ซึ่ง ตลาดคาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ: 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดยังได้รับแรงหนุนจาก การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่คาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 3Q2021 มีแนวโน้มออกมาดี อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาอุปทานขาดแคลน และแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE ของ Fed 

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Global Experts Fund

กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียสแบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ: 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยหุ้นกลุ่ม Value / Cyclical จะปรับเพิ่มขึ้นได้ดีในระยะสั้น ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นต่ออย่างน้อยจนถึงการประชุม Fed วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ และอาจทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง หากประเด็นด้านการคลังของสหรัฐฯ คืบหน้า เช่น การผ่านร่าง Reconciliation Bill และการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ขณะที่หุ้นกลุ่ม Growth ยังเพิ่มขึ้นได้ต่อ ตามผลประกอบการของกลุ่มใน 3Q2021 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่คาด โดยสัปดาห์นี้ บจ.สหรัฐฯ ที่รายงานงบคิดเป็น 41% ของ Earnings ทั้งหมดของ S&P 500 ทั้งนี้เราคงคําแนะนําสัดส่วนการถือครองหุ้นสไตล์ Growth และ Value / Defensive อยู่ที่ 60:40

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ: 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นยุโรป เรามองผลประกอบการ บจ. ในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ ขณะที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU Bond Yield ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก เราประเมินผลกระทบราคาก๊าซธรรมชาติและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมีทั้งผลกระทบเชิงลบ (ต้นทุนสูงขึ้น) และเชิงบวก (ผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้) แต่ภาพรวมหุ้นกลุ่ม Value / Cyclicals ยังมีแนวโน้มได้รับผลบวกมากกว่าผลลบ

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ: 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดย Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และ EPS Growth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มโดดเด่นมากกว่าหรือเท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปในระยะต่อไป เรามองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคมจะสนับสนุน Fund Flow นักลงทุนต่างชาติจากธีม Election Rally และผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น คาดพรรค LDP (นำโดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฟูมิโอะ คิชิดะ) ยังครองเสียงข้างมากและสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • Krungsri Japan Hedged Dividend Fund

กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-share

ความน่าสนใจระดับ: 3

เราเปลี่ยนมุมมองต่อตลาดหุ้นจีน H-share จาก Slightly Negative เป็น Neutral เนื่องจาก ความเสี่ยงในการออกกฎระเบียบด้าน Antitrust ที่เข้มงวดขึ้นอย่างมากกับกลุ่ม Platform รายใหญ่ เริ่มบรรเทาลง ขณะที่ผลกระทบทางลบจากการบังคับใช้ร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law หรือ PIPL) อาจมีไม่มากนัก ประกอบกับ Valuation กลุ่ม Platform รายใหญ่กลับมาอยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี นอกจากนี้วิกฤตสภาพคล่องของบริษัท Evergrande ที่เริ่มมีสัญญาณคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น จึงทำให้ดัชนีหุ้นจีน Offshore มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงขาลงที่จำกัด

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-share

ความน่าสนใจระดับ: 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-share โดยดัชนีหุ้นจีน Onshore มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ PBoC มีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบให้อยู่ระดับที่เหมาะสมในช่วงที่เหลือของปี และรัฐบาลมีแนวโน้มเร่งการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการออกพันธบัตรท้องถิ่นพิเศษมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากปัญหาวิกฤตพลังงานขาดแคลนในจีน และวิกฤตของ Evergrande ที่เริ่มมีสัญญาณคลี่คลาย ประกอบกับหุ้นกลุ่มที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของทางการจีน เช่น ธีม Green Transition และธีม New Infrastructure ยังมีแนวโน้มที่จะรับแรงซื้อเพิ่มเติมจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ: 2 

เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นไทย จากการระบาดของโควิดที่ยังกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าแต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีแผนการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่เรามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก นอกจากนี้ Valuation หุ้นไทยยังคงตึงตัว ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนใน SET Index ปี 2021 และ 2022 เริ่ม Priced In การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจไทยไปแล้ว

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ: 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม แม้ตลาดอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด และคาดการณ์ GDP จะได้รับผลกระทบมากในปีนี้ โดยการเติบโตมีแนวโน้มลดลงเหลือราว 4% แต่เราคาดว่า GDP จะเริ่มฟื้นตัวได้ใน 4Q2021 และเติบโตได้ราว 6% ในปี 2022 ด้านผลประกอบการ บจ. แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงใน 3Q2021 แต่สถานะการลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย 

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

 

ทองคำ 

ความน่าสนใจระดับ: 2 

เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อทองคำ โดยราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจาก การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้า แม้ระยะสั้นตลาดจะยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ตาม

 

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ: 3 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อน้ำมัน โดยน้ำมันได้รับแรงหนุนจากวิกฤตด้านพลังงาน หลังราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติบางส่วน ประกอบกับ การที่ OPEC+ มีมติคงแผนการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤศจิกายนตามแผนเดิม ส่งผลให้เกิด Sentiment เชิงบวกต่อราคาน้ำมัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง หลังสหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อกน้ำมันดิบปรับลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ: 3 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการทยอยเปิดเมือง ตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีน รวมถึงผลประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด และดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำจะเป็นแรงหนุนในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในบางประเทศ รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้า ทำให้เรามองว่า Upside ค่อนข้างจำกัดในช่วงสั้น

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ: 3 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดย REITs ไทย ได้รับ Sentiment เชิงบวก หลังการประกาศเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้ Downside ค่อนข้างจำกัด แม้ผลประกอบการ REITs ของไทยใน 3Q2021 จะมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าคาด จากผลกระทบของการล็อกดาวน์ในช่วงก่อนหน้า ด้าน REITs สิงคโปร์ แม้จะเดินหน้าโครงการ Vaccinated Travel Lanes แต่มีแนวโน้มถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเรามองมี Upside จำกัด 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 25 ต.ค. 2021

READ MORE




Latest Stories