THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
China reorganization of technology companies
EXCLUSIVE CONTENT

‘จีน’ จัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยี นักลงทุนควร Take Notes ประเด็นอะไรบ้าง?

... • 11 ก.ย. 2021

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ในช่วงที่ผ่านมาประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เน้นย้ำถึง ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จนเป็นที่มาของการจัดระเบียบบ้าน สั่งคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยี และบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด รวมทั้งจับตาดูข้อมูลที่รั่วไหลของบริษัทเทคโนโลยี 
  • จากการคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีของจีน ส่งผลให้นักลงทุนหนีกันจ้าละหวั่น พากันขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีจีน มูลค่าการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีนหายไปราว 5.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 18.4 ล้านล้านบาท ภายใน 1 สัปดาห์หลังการคุมเข้มกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี 
  • ทิศทางดังกล่าวของจีนถูกนักลงทุนระดับโลกออกมาเตือนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ จอร์จ โซรอส ที่ออกมาระบุว่า “ประเทศจีนในยุคสีจิ้นผิง ไม่ใช่ประเทศจีนที่นักลงทุนรู้จัก มันคือประเทศจีนเวอร์ชันเหมาเจ๋อตุงแบบอัปเกรด ซึ่งไม่มีนักลงทุนคนไหนจะรู้จักและเข้าใจจีนในยุคเหมา เพราะยุคนั้นไม่มีตลาดหุ้น ฉะนั้นนักลงทุนอาจจะเจอกับความจริงอันน่าปวดใจในอนาคต” 

จากการที่ ‘จีน’ จัดระเบียบบ้าน สั่งคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยี และบังคับใช้กฏหมายต่อต้านการผูกขาด รวมทั้งจับตาดูข้อมูลที่รั่วไหลของบริษัทเทคโนโลยี อย่างประเด็นของบริษัท Didi Chuxing และ WeChat ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีร่วงลงระเนระนาด แตะจุดต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา 

 

จีนมีแผนการและวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างไร นักลงทุนระดับโลกมี Action และความคิดเห็นอย่างไร เรามาไล่เรียงไปทีละประเด็นกัน

 

ประเด็นแรก: จีนมีแผนการและวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง

ในช่วงที่ผ่านมาประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เน้นย้ำถึง ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดย Bloomberg เผยสถิติออกมาว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กล่าวคำว่า ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ มากถึง 65 ครั้งในการประชุม และการปราศรัย เทียบกับปี 2020 และ 2019 มีจำนวนเพียงแค่ 30 และ 6 ครั้งตามลำดับ  

 

นี่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความหนักแน่นในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของสีจิ้นผิง นอกจากนั้นยังแสดงออกผ่านการเข้ากำกับดูแลและควบคุมการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อีกด้วย 

 

โดยทำการปรับบริษัท Alibaba เป็นจำนวนเงิน 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.8 หมื่นล้านบาท ในข้อหาผูกขาดที่บริษัท Alibaba มีสัญญาที่ระบุว่า หากร้านค้านั้นๆ ขายในแพลตฟอร์มของ Alibaba แล้ว ห้ามขายในแพลตฟอร์มอื่นอีก และกำลังเดินหน้าสอบบริษัทส่งอาหารยักษ์ใหญ่ Meituan ข้อหาเดียวกันกับ Alibaba รวมถึงบริษัท Tencent ถูกสั่งห้ามควบรวมกิจการสตรีมมิงเกมที่ชื่อว่า Huya และ DouYu หากควบรวมกิจการกันแล้วจะมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 80%    

 

สีจิ้นผิงต้องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยทำให้โครงสร้างรายได้เป็นลักษณะรูปทรงลูกรักบี้ คือมีสัดส่วนคนชนชั้นกลางเป็นส่วนมาก และสัดส่วนคนจน คนรวย เป็นสัดส่วนน้อย แตกต่างจากรูปทรงพีระมิดที่มีสัดส่วนคนจนอยู่เป็นส่วนใหญ่ และคนชนชั้นกลางถึงรวยมีสัดส่วนที่น้อยขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ 

 

China reorganization of technology companies

 

จากวิสัยทัศน์นี้ล่าสุดรัฐบาลเข้าควบคุมราคาค่าเช่าบ้านไม่ให้สูงเกินไป เพื่อลดภาระค่าเช่าของประชาชนทั่วไป และออกกฎหมายไม่ให้เพิ่มค่าเช่าบ้านเกิน 5% ต่อปี และเน้นย้ำว่า ‘บ้านมีไว้เพื่ออยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร’

 

ย้ายมาดูที่ภาพใหญ่ ในส่วนแผนการพัฒนาประเทศของจีน Made in China 2025 ซึ่งเน้นไปที่การเพิ่มการผลิตด้านเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมในแง่มุมต่างๆ นอกจากนั้นยังเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง 

 

โดยจีนตั้งเป้ารายได้จากภาคการผลิตอยู่ที่ 25% ของ GDP หากมองดูภาพรวมของแผน Made in China 2025 แล้วอาจนึกว่าเป็นฝาแฝดของแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศเยอรมนีที่ประกาศออกมาก่อนหน้า ซึ่งแผนของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ส่วน ทั้งในด้านการพึ่งพาตนเอง, การต่อต้านการผูกขาด และการส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพเฉพาะทาง 

 

Bloomberg รายงานว่า จีนเข้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของประเทศเยอรมนีในการเขียนกฎหมายต่อต้านการผูกขาดด้วย จากการที่จีนวางแผนเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จีนจึงจำเป็นต้องสร้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมีนโยบายการส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น และพยายามผลักดันบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีความสามารถในการแข่งขันยิ่งขึ้น ตามแนวทางของประเทศเยอรมนีที่มีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ 

 

ทั้งนี้สีจิ้นผิงยังมีแผนที่จะเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 3 เพื่อจัดหาแหล่งทุนสำหรับรองรับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมด้านนวัตกรรมเป็นหลักอีกด้วย  

 

ปีเตอร์ เฮเฟล (Peter Hefele) ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกเอเชียแปซิฟิกที่มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ซึ่งเป็นมูลนิธิของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า “จีนลอกกฎหมายของประเทศเยอรมนีไปเยอะพอสมควร” 

 

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันแล้ว ยังมีเรื่องมุมมองลบต่อเพศที่ 3 หรือ LGBTQ อีกด้วย สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทำการแบนบัญชีผู้ใช้ WeChat และคอนเทนต์จำนวนมากที่รณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศและสนับสนุนเพศที่ 3    

  

และเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานบริหารวิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์แห่งชาติ (SARFT) ได้ออกคำสั่งที่ห้ามไม่ให้บอยแบนด์ที่มีลักษณะ ‘คล้ายผู้หญิง’ (Effeminate) ออกสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งในโทรทัศน์และบนสื่อออนไลน์ ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัท K-Pop ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีต่างลดลงถ้วนหน้า หลังจากการประกาศของ SARFT เพียงหนึ่งวัน ไม่ว่าจะเป็น YG Entertainment, SM Entertainment และ JYP Entertainment เห็นว่าราคาหุ้นของพวกเขาลดลง 2.54, 1.94 และ 1.57% ตามลำดับ ส่วน Keyeast ซึ่งเป็น Management Agency ด้านนักแสดง ก็เห็นว่าราคาหุ้นของบริษัทลดลง 4%

 

เห็นได้ชัดว่าทางการจีนเริ่มขยับการควบคุมจากภาคเทคโนโลยีมายังภาคที่ใกล้เคียงกันอย่างภาคเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ทั้งการควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ภาพยนต์ รวมทั้งเกม โดยจำกัดชั่วโมงการเล่นเกมของเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ลงเหลือ 1 ชั่วโมงต่อวัน และสามารถเล่นได้เพียงวันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น ทางการจีนมองว่าเกมเป็นเสมือน ‘ฝิ่นของจิตวิญญาณ’ ทำให้ผู้เล่นเสพติดการเล่นเกมจนอาจเกิดผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตจีนว่า “เป็นกฎที่ไร้เหตุผลเกินไป”

 

China reorganization of technology companies

 

แต่น่าแปลกใจที่การเข้าควบคุมและจำกัดชั่วโมงการเล่นเกมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นเกมแม้แต่น้อย กลับทำให้หุ้นเกมมีมูลค่ามากขึ้น โดยในวันที่ 1 กันยายน หุ้น Bilibili ที่จดทะเบียนในฮ่องกงปิดสูงขึ้น 6.25% หุ้น NetEase เพิ่มขึ้น 6.42% และหุ้น Tencent เพิ่มขึ้น 1.5% หลังจากแตะจุดต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ส่วนหุ้น Huya ซึ่งจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาปิดสูงขึ้น 7% ในวันที่ 31 สิงหาคม 

 

ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่หุ้นกลุ่มเกมร่วงลงอย่างหนักพร้อมกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ถูกคุมเข้มมาก่อนหน้าในวันที่ 20 สิงหาคม การจำกัดชั่วโมงการเล่นเกมจึงไม่มีผลกระทบมากนัก

 

และข้อมูลราคาปิดล่าสุดวันจันทร์ที่ 6 กันยายน เทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 1 กันยายน ที่มีการจำกัดชั่วโมงการเล่นเกมพบว่า 

  • หุ้น Bilibili ราคาปิดสูงขึ้น 8.55% (เทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 1 กันยายน)
  • หุ้น NetEase ราคาปิดลดลง -1.79% (เทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 1 กันยายน)
  • หุ้น Tencent ราคาปิดสูงขึ้น 3.4% (เทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 1 กันยายน)
  • ราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 3 กันยายน หุ้น Huya ราคาปิดลดลง -0.53% (เทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 1 กันยายน)

ประเด็นที่สอง: ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างไร

จากการคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีของจีนส่งผลให้นักลงทุนหนีกันจ้าละหวั่น พากันขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีจีน มูลค่าการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีนหายไปราว 5.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 18.4 ล้านล้านบาท ภายใน 1 สัปดาห์หลังการคุมเข้มกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี  

 

ดัชนีตลาดหุ้นเทคโนโลยี Hang Seng (ฮั่งเส็ง) ของฮ่องกง (HSTECH) ร่วงลง 2.5% ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม และแตะจุดต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ โดยร่วงลงประมาณ 48% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และล่าสุดในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน มีการปรับตัวขี้น 14.99% จากวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม ที่มีการร่วงลงอย่างรุนแรงลงเป็นจุดต่ำสุดใหม่ 

 

โดยข้อมูลจากวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม หุ้นของบริษัท Alibaba ในฮ่องกง (9988.HK) ร่วง 2.6% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และลดลงครึ่งหนึ่งจากจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม บริษัท Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ต (0700.HK) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และ Meituan ผู้ให้บริการส่งอาหาร (3690.HK) แตะระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี

 

หลุยส์ เซ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ฮ่องกง Wealth Securities กล่าว “นักลงทุนตอนนี้มีพฤติกรรมการขายตามๆ กัน คือเห็นคนอื่นขายก็พากันขายตาม”

 

โดยข้อมูลราคาหุ้นล่าสุด ณ วันจันทร์ที่ 6 กันยายน เทียบกับวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม ที่มีการร่วงลงอย่างรุนแรง

  • หุ้น Alibaba (9988.HK) มีมูลค่าสูงขึ้น 6.4%
  • หุ้น Tencent (0700.HK) มีมูลค่าสูงขึ้น 18.71%
  • หุ้น Meituan (3690.HK) มีมูลค่าสูงขึ้น 27.92% 

 

China reorganization of technology companies

 

ดัชนี MSCI ของจีนหลังจากที่มีการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้การเติบโตสวนทางกับดัชนี MSCI โลก จากเดิมที่มีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน 

 

หากดูตลาดหุ้นจีนโดยรวมไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเทคโนโลยีในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน จะเห็นว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังการร่วงลงอย่างแรงในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม อาจเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนเริ่มคุมราคาค่าเช่าบ้าน และจับตาดูภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวดขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ย้ายเงินทุนจากภาคอสังหาริมทรัพย์มาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น 

 

ซึ่งจากงานวิจัยของ Noah Holdings บริษัทจัดการความมั่งคั่งสำหรับบุคคลที่มีรายได้สูงชั้นนำของจีน พบว่า ในปี 2018 ทรัพย์สินในครัวเรือนของจีนประมาณ 65% อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ เทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเพียง 49% และญี่ปุ่น 34% ในอสังหาริมทรัพย์ 

 

Schelling Xie นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยด้านการลงทุน Stansberry China กล่าวว่า “ไม่มีที่สำหรับนักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์แล้ว และเงินทุนเหล่านี้จะย้ายไปอยู่ที่ไหน?”

 

รวมถึง Ting Lu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทให้บริการด้านการเงินโนมูระ ให้ข้อมูลว่า “ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของธุรกิจก่อสร้างทั่วโลก 

 

“ในสถานการณ์ที่ตลาดมีความไม่แน่นอน นักลงทุนส่วนใหญ่ขายหุ้นที่มีการเติบโตสูง และซื้อหุ้นที่มีการเติบโตต่ำแต่มีพื้นฐานที่ดี เช่น หุ้นภาคการธนาคาร หลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มเหล่านี้จะดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาอย่างมากในช่วงนี้” วิเคราะห์โดย Chaoping Zhu นักกลยุทธ์ตลาดโลกจาก J.P Morgan 

 

ประเด็นสุดท้าย: นักลงทุนระดับโลกมี Action และความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

เริ่มที่ แคธี วูด (Cathie Wood) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ARK Invest มีการขายหุ้นจีนไปเกือบจะทั้งหมดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เตือนนักลงทุนจับตาดูการควบคุมกำกับดูแลจากรัฐบาลจีน และต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า แคธี วูด ได้กลับเข้าซื้อหุ้นจีนอย่าง JD.com คู่แข่งของบริษัท Alibaba หลังจากเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ที่มีการเติบโตสูงถึง 39% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

 

นอกจากนั้น Tencent Holdings Ltd. มีการซื้อหุ้นคืน ซึ่งอาจทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งการซื้อหุ้น JD.com ของ แคธี วูด และการซื้อหุ้นคืนของ Tencent Holdings Ltd. ทำให้ดัชนีตลาดหุ้น Hang Seng (ฮั่งเส็ง) มีทิศทางปรับขึ้น 2% ในวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม อาจสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจทยอยกลับมา และล่าสุดวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า แคธี วูด เข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งหุ้น Pinduoduo, JD.com, Tencent Music Entertainment และ Baidu

 

China reorganization of technology companies

 

ทางด้าน จอร์จ โซรอส (George Soros) ประธานบริษัท Soros Fund Management และสถาบัน Open Society Institute มีการปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนลงครั้งใหญ่ ลดสัดส่วนลงราว 317.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งยังออกมาเตือนนักลงทุน โดยกล่าวว่า “หน่วยงานด้านการเงินของจีนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง แต่นี่เป็นเพียงแค่คำหลอกลวงของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เนื่องจากบริษัทต่างๆ เป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคใหญ่พรรคเดียวที่ไม่มีความเป็นเสรี และนักลงทุนที่นำเม็ดเงินมาใส่ในตลาดทำให้เป็นตลาดขาขึ้นอาจเจอกับความจริงที่น่าปวดใจ” 

 

ทั้งนี้ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ประเทศจีนในยุคสีจิ้นผิง ไม่ใช่ประเทศจีนที่นักลงทุนรู้จัก มันคือประเทศจีนเวอร์ชันเหมาเจ๋อตุงแบบอัปเกรด ซึ่งไม่มีนักลงทุนคนไหนจะรู้จักและเข้าใจจีนในยุคเหมา เพราะยุคนั้นไม่มีตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นนักลงทุนอาจจะเจอกับความจริงอันน่าปวดใจในอนาคต” 

 

ตรงข้ามกับ BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลก แนะนำนักลงทุนว่าให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีน 2-3 เท่าจากสัดส่วนปัจจุบัน ทั้งยังเน้นย้ำอีกว่าไม่ควรมองว่าจีนเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้นักลงทุนทั่วโลกยังมีสัดส่วนหุ้นจีนที่น้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพของตลาดและเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ 

 

สุดท้ายมุมมองของ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จีนจะเข้ามากำกับดูแลบริษัทต่างๆ เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ยกตัวอย่าง บริษัทเรียกรถ Didi Chuxing ที่รัฐบาลจีนต้องการให้บริษัทจัดการข้อมูลภายในประเทศ และข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดทุนในสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ รวมทั้งการกำกับดูแลบริษัทกวดวิชาให้เปลี่ยนมาเป็นบริษัทที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไรเป็นหลัก เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ 

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ดาลิโอนึกถึงเหตุการณ์ในสมัยก่อนที่เกิดฟองสบู่ของนักลงทุนรายย่อยของจีน ทำให้รัฐบาลจีนต้องเข้ามาควบคุมตลาด หรืออีกเหตุการณ์ที่ค่าเงินจีนร่วงลงอย่างหนักในช่วงปี 2015-2016 จากการที่ธนาคารกลางจีนกำกับดูแลค่าเงิน ทำให้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนลดลง เนื่องจากเป็นการแทรกแซงตลาดเสรี 

 

แต่ในปัจจุบันค่าเงินจีนก็กลับมามีมูลค่ามากขึ้นอยู่ในระดับปกติจากปี 2015-2016 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการจัดการของรัฐบาลจีน ที่สามารถทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ และ เรย์ ดาลิโอ กล่าวอีกว่า อย่ามองเพียงแค่ระยะสั้น ให้มองการเติบโตในระยะยาวสำหรับเศรษฐกิจจีน 

 

อ้างอิง:

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 11 ก.ย. 2021

READ MORE




Latest Stories