THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
COVER WEB
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

จับตา ‘3 ปัจจัยเสี่ยง’ เขย่าตลาดการลงทุนโลกช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ มองหุ้นไทยเริ่มมี Upside จำกัด

... • 11 ต.ค. 2021
  • ตลาดการลงทุนโลกช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ยังเป็นไปด้วยความผันผวน แม้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ จะเริ่มคลี่คลาย 
  • ความเสี่ยงในระยะข้างหน้ายังต้องติดตาม ‘3 ปัจจัย’ ที่คอยกดดันการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
  • ตลาดหุ้นไทยเริ่มมี Upside จำกัด โดยผลการดำเนินงานช่วง Q3/21 มีโอกาสผิดคาด แนะนำเน้นหุ้น Defensive ชู KBANK เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์
  • ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในสัปดาห์ที่ผ่านมารีบาวด์กว่า 30% ขณะที่เม็ดเงินไหลเข้ากองคริปโตฯ เพิ่มขึ้นกว่า 452 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน สะท้อนนักลงทุนสถาบันไหลเข้าตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น

ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย ส่งผลบวกต่อตลาดการเงิน 

การที่ตลาดการเงินฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดหุ้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากเรื่องปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่สามารถแก้ไขได้แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ตาม อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ผันผวนแรง (ตามคาด) ยังคงเป็นสัญญาณอันตรายต่อภาพรวมการลงทุนในระยะต่อไป

 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) คาดว่าตลาดการเงินจะกลับมาให้น้ำหนักเรื่อง QE Tapering, Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อสูง) และจีน ต่อหลังปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ลดน้ำหนักลง ทำให้ประเมินว่าแนวโน้มในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้ายังคงไม่สดใส 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่กำลังจะประกาศออกมา ได้แก่ ตัวเลข CPI และยอดค้าปลีก ของสหรัฐฯ คาดว่าจะออกมาในเชิงลบ ส่วนรายงานผลการประชุม FOMC คาดว่าจะเป็นการส่งสัญญาณเข้มงวดมากขึ้น ด้านการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนรอบใหม่ คาดว่าจะไม่ส่งผลบวกต่อจีนแต่อาจเป็นบวกต่อผู้นำเข้าสหรัฐฯ ในขณะที่ปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ยังคงประเมินผลกระทบไม่ได้

 

จับตา ‘3 ปัจจัยเสี่ยง’ กดดันตลาดการลงทุนไตรมาสสุดท้ายปีนี้

SCBS ประเมินว่า ตลาดการเงินยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อไปใน 4Q21 คล้ายกับที่เกิดขึ้นใน 3Q21 เนื่องจากประเมินว่าปัจจัยกดดันมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยสนับสนุน โดยปัจจัยกดดันสำคัญ คือ

 

  1. ความเสี่ยง Stagflation ทั้งในสหรัฐฯ และจีน

 

  1. ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนเกิด Hard Landing ทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (EM)

 

  1. ความเสี่ยงเรื่องการยุติ QE ของสหรัฐฯ และยุโรป ดังนั้นการลงทุนในช่วงนี้จึงควรเน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก โดยเราชอบตลาดพัฒนาแล้ว (DM) มากกว่า EM

 

ตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% แบ่งเป็น EM เพิ่มขึ้น 0.5% และ DM เพิ่มขึ้น 0.8% โดยหุ้นกลุ่ม Value (+1.1%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Growth (+0.4%) จากราคาหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นหุ้นที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 2.3% และ 2% ในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฟื้นตัว 0.5% จากที่ได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น หุ้นกลุ่มเชิงรับอย่าง Healthcare, Utility, Consumer Discretionary ปรับตัวในกรอบแคบ

 

ประเมินการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกเป็นเพียงระยะสั้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ (Stagflation, QE Tapering และจีน) ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงใหม่ คือ การประกาศผลการดำเนินงาน 3Q21 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น (Cost Push Inflation) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ, BlackRock, Citigroup, UnitedHealth จะเริ่มประกาศก่อน

 

ภาพรวมตลาดโลกในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เน้นลงทุนหุ้นประเภท Defensive เป็นหลัก เนื่องจากคาดว่ามีโอกาส Outperform ในช่วงที่ความเสี่ยงกลับมาเพิ่มขึ้น สำหรับหุ้นเติบโต เช่น กลุ่มเทคโนโลยี แนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากคาดว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเริ่มจำกัด โดยชอบหุ้นทางฝั่งสหรัฐฯ มากกว่าจีน

 

ส่วนหุ้นจีน แนะนำหุ้นที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น พลังงานสะอาดและการบริโภคในประเทศ สำหรับหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงาน แนะนำเก็งกำไรด้วยความระมัดระวัง

 

คาด SET Index เริ่มมี Upside จำกัด โดยผลการดำเนินงาน 3Q21 มีโอกาสผิดคาดและเป็นปัจจัยกดดันในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ดังนั้นจึงแนะนำให้หันกลับมาเน้นหุ้น Defensive และหุ้นที่คาดว่าแนวโน้มกำไรแข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 2021 เป็นหลัก เช่น BBL, KBANK, BDMS, RJH

 

ประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้

 

  • รายงานภาวะอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) จาก USDA วันที่ 10 ตุลาคม
  • รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 13 ตุลาคม
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เดือนกันยายน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) และดัชนียอดขายปลีกพื้นฐาน 

 

KBANK หุ้นเด่นประจำสัปดาห์

สัปดาห์นี้ SCBS แนะนำ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 4 ในไทย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม และยังมีฐานเงินกองทุนแข็งแกร่ง โดย 2Q21 มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ที่ 18.19% (15.86% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1) 

 

นอกจากนี้คาดว่าใน 3Q21 จะมีกำไรสุทธิราว 8.23 พันล้านบาท เติบโต 23%YoY จากมี NII และ Non-NII ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังลดลง 7%QoQ จากที่มีระดับการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นและมี Non-NII ลดลง 

 

อย่างไรก็ดี ปี 2021 คาดกำไรเติบโตดี 21%YoY และโตต่อ 19%YoY ในปี 2022 จากแรงกดดันต่อการตั้งสำรองที่ลดลง

 

ด้วยเหตุนี้จึงเลือก KBANK เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารเพิ่มเติมจาก BBL โดยประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 171 บาท ยังมี Upside น่าสนใจเกิน 20% อีกทั้งคาดให้ Div. Yield ราวปีละ 2.4%

 

3 ประเด็นข่าวร้อนทั่วโลกที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์

 

  1. ประเด็นเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความผันผวน

การที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นั้นอาจจะกดดันตลาดได้ในช่วงสั้นได้ หากเทียบปี 2011 สินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับตัวลดลงรุนแรง ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและราคาทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ยกเว้นกลุ่ม Utilities และ Household Product ปรับตัวลดลง 

 

ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีความคล้ายคลึงกันที่หุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงแต่หุ้นกลุ่มเชิงรับอย่าง ICT, Commerce, Healthcare ปรับเพิ่มขึ้นได้ดี เราไม่ได้มองว่าสถานการณ์ในปี 2021 นั้นจะเลวร้ายเหมือนอย่างปี 2011 แต่มองว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จะทำให้มีภาพการปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับปี 2011 แต่การลดลงจะน้อยกว่า สิ่งที่แนะนำหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องลดหุ้นกลุ่มเชิงวัฏจักรและเพิ่มหุ้นกลุ่มเชิงรับในระยะสั้นจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเพื่อลดความเสี่ยง

 

  1. ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังกลุ่มโอเปกตัดสินใจที่จะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิต พร้อมกับปัญหาวิกฤตพลังงานในจีนและการเข้าสู่ฤดูหนาวที่คาดว่าจะมีการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งเป็นภาพที่ต่อเนื่องจากราคาโลหะภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับราคาถ่านหินที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

SCBS มองว่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในภาวะเทรดดิ้งที่ต้องจับจังหวะตลาดหลังปรับตัวขึ้นแล้ว หากมีสถานะเรามองว่าให้ทยอยขายทำกำไรบางส่วน ในขณะกลุ่มที่ยังไม่มีสถานะให้มีจุดเข้าออกที่ชัดเจน เพราะความผันผวนค่อนข้างมาก แต่เรายังเชื่อว่าราคาพลังงานจะไม่ปรับตัวลดลงแรง เพราะเป็นภาพของ Supply Shock ที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ในกลุ่มพลังงานเราชอบกลุ่มโรงกลั่นและหลีกเลี่ยงกลุ่มที่มีต้นทุนเป็น Naphtha เป็นสำคัญ

 

  1. ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลฟื้นตัวแรง 30%

ราคาของคริปโตเคอร์เรนซีปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% แม้ว่าจีนประกาศว่าการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีผิดกฎหมาย แต่หลังจากนั้น ก.ล.ต. สหรัฐฯ บอกว่ายังไม่มีนโยบายกำกับดูแล และบราซิลเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายรับ Bitcoin ให้สามารถใช้ชำระเงินได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ และอาหาร รวมถึงตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวด้วย ทำให้เป็นแรงที่สนับสนุนให้ราคาคริปโตเคอร์เรนซีฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หากมองในมุมของกระแสเงิน ETF ในกองทุนคริปโตเคอร์เรนซีก็มีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่องมากกว่า 452 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน บ่งชี้ว่านักลงทุนสถาบันเริ่มเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น 

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed 

 

กองทุนแนะนำ

 

SCB

 

  • SCB Global Experts Fund

กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก

 

KRUNGSRI

 

  • Krungsri Global Brands Equity Fund

กองทุน KFGBRAND-A ลงทุนในกองทุน Morgan Stanley Investment Fund - Global Brands Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่คัดเลือกหุ้นของบริษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกที่มีคุณภาพสูง มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยอำนาจการต่อรองด้านราคา ความสำเร็จและยากที่จะลอกเลียนแบบของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น แบรนด์สินค้า

 

RANGE4

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มที่หุ้นกลุ่ม Value/Cyclicals จะปรับเพิ่มขึ้นได้ดีในระยะสั้น ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น จากความคาดหวังต่อการผ่านร่างแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นเดือนนี้ และประเด็นการเจรจาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น 

 

ขณะที่หุ้นกลุ่ม Growth แม้เผชิญความผันผวนระยะสั้นสูง แต่ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อตาม Earnings ของกลุ่มฯ ใน 3Q21 ที่มีแนวโน้มออกมาแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เรายังคงคำแนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นสไตล์ Value/Defensive อยู่ที่ 60:40

 

RANGE4

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ผลประกอบการ บจ. ในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ ขณะที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU บอนด์ยีลด์ ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก มองผลการเลือกตั้งเยอรมนีส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเยอรมันและหุ้นยุโรป ประเมินผลกระทบราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น มีทั้งผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก แต่ภาพรวมหุ้นกลุ่ม Cyclical มีแนวโน้มได้รับผลบวกมากกว่าผลลบ

 

RANGE4

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมี Valuation ที่ถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และ EPS Growth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มโดดเด่นมากกว่าหรือเท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปในระยะต่อไป เรามองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคม จะสนับสนุน Fund Flow นักลงทุนต่างชาติจากธีม Election Rally และผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น คาดพรรค LDP (นำโดยนายกฯ ท่านใหม่ ฟูมิโอะ คิชิดะ) ยังครองเสียงข้างมากและสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

กองทุนแนะนำ

 

KRUNGSRI

 

  • Krungsri Japan Hedged Dividend Fund

กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

 

RANGE2

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

ตลาดหุ้นจีน H-share มีความไม่แน่นอนในการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ของทางการจีน ทั้งในด้าน Anti-trust, Data security, Financial markets และ Society จะยังกดดันราคาของหุ้นกลุ่ม Internet Platform รายใหญ่ต่อเนื่อง ประกอบกับ วิกฤตสภาพคล่องของ Evergrande ที่ยังคงไม่คลี่คลาย ตามที่  Evergrande มีหนี้สินทั้งในและนอกงบดุล สูงถึง 3 ล้านล้านหยวน และการทยอยขายสินทรัพย์ของบริษัทในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอ 

 

นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นความเสี่ยง  ADRs delisting จะเป็นปัจจัยกดดันดัชนีหุ้นจีน Offshore ให้มีแนวโน้ม underperform ต่อ

 

RANGE3

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ: 3

 

ดัชนีหุ้นจีน Onshore มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เช่น ธีม New Infrastructure และธีม Green Transition ตามที่ธีมดังกล่าว มีแนวโน้มได้รับมาตรการสนับสนุนจากทางการจีน และสามารถเติบโตอีกมาก 

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจจีนใน 4Q21 เริ่มเผชิญความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้น ทั้งผลจากการชะลอตัวในภาคอสังหาฯ และปัญหาวิกฤตพลังงานในจีน จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นจีน Onshore ในช่วงสั้น แม้ว่าทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มกับภาคอสังหาฯ และนโยบาย Decarbonization ลงบางส่วนในระยะถัดไป

 

RANGE2

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ยังกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าแต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม เรามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประกอบการของ บจ. ในช่วง 2H21 อาจถูกปรับประมาณการลง และมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

 

RANGE4

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

แม้ตลาดหุ้นเวียดนามอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด และคาดการณ์ GDP จะได้รับผลกระทบมากในปีนี้ โดยการเติบโตมีแนวโน้มลดลงเหลือราว 4% แต่เราคาดว่า GDP จะเริ่มฟื้นตัวได้ใน 4Q21 และเติบโตได้ราว 6% ในปี 2022 ด้านผลประกอบการ บจ. แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงใน 3Q21 แต่สถานะการลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย 

 

กองทุนแนะนำ 

 

 

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

RANGE2

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ: 2 

 

ราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป หลัง Fed ส่งสัญญาณจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ในไม่ช้า และมีโอกาสที่ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ครั้งแรกภายในปีหน้า

 

RANGE3

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ: 3

 

ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดที่ตึงตัวมากขึ้น หลังโอเปกพลัสมีมติคงแผนการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤศจิกายนตามแผนเดิม ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากการที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง 

 

นอกจากนี้ น้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วน

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 11 ต.ค. 2021

READ MORE




Latest Stories