วันนี้ (25 มิ.ย.) เวลา 17.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุมหว่าง คสช. กับพรรคการเมือง 73 พรรค 198 คนว่า การประชุมวันนี้เกิดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติ เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเพิ่งทูลเกล้าฯ ไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแปลว่ากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งจะอยู่ในพระราชอำนาจอีก 90 วัน โดยเมื่อกฎหมายประกาศใช้ จะมีการประชุมหารือกับพรรคการเมืองอีกครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมด้วยตนเอง
ทั้งนี้ได้แจ้งที่ประชุมให้ทราบว่า การจัดการเลือกตั้งนั้นมีโรดแมปอยู่แล้ว แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ คือ
- ความสงบเรียบร้อยในช่วงพระราชพิธีราชาภิเษก
- การได้รับพระราชทานกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.
- การเปลี่ยน กกต. ชุดเก่าเป็นชุดใหม่ แต่ทั้งนี้ กกต. ชุดเก่าสามารถทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้ แต่จะกระทบความช้าหรือเร็วของการจัดเลือกตั้ง
- การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะต้องไม่จัดเดือนเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป
- ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ ซึ่งหากเป็นแบบสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้
ทั้งนี้ นายวิษณุได้อธิบายไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมจะเสนอให้ คสช. พิจารณาว่า แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ช่วง 90 วันแรก คือช่วงรอพระราชทานกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับ ซึ่งช่วงนี้จะไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น
- ช่วง 90 วันที่สอง คือช่วงระหว่างรอกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่งช่วงนี้จะให้ กกต. ทำการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจะใช้เวลา 60 วัน จากนั้นจะเข้าสู่การทำไพรมารีโหวต ซึ่งใช้เวลา 30 วัน
- ช่วง 150 วัน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดการเลือกตั้งวันใดก็ได้ในช่วงนี้ แต่ช่วง 20 วันแรกของช่วงเวลานี้จะกำหนดให้เป็นวันรับสมัคร ส.ส.
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า จากเงื่อนเวลาที่กำหนดทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ทั้งนี้ กกต. อยากให้จัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน
ดังนั้น หากยึดเดือนกุมภาพันธ์เป็นตัวตั้ง จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วที่สุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่หากจัดเลือกตั้งไม่ได้ก็จะเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2562 หากยังจัดไม่ได้อีกก็จะเป็นวันที่ 28 เมษายน 2562 และอย่างช้าที่สุดการเลือกตั้งจะมีขึ้นวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เพราะหากช้ากว่านี้ก็จะเกินกำหนด 150 วันตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ นายวิษณุยังเปิดเผยว่า เตรียมคลายล็อกให้พรรคการเมืองประชุมพรรคได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถกำหนดข้อบังคับพรรคและหาสมาชิกได้
ส่วนการทำไพรมารีโหวต หากยังมีอยู่จะเสนอให้ตัดหัวหน้าสาขาพรรคให้ไม่ต้องอยู่ในคณะกรรมการไพรมารีโหวต เนื่องจากหลายพรรคการเมืองไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องไพรมารีโหวตนั้น ที่ประชุมพรรคการเมืองมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ
- เปลี่ยนไพรมารีโหวตจากการเลือกในระดับเขต เปลี่ยนเป็นระดับภาค 4 ภาค เหนือ กลาง อีสาน และใต้
- เสนอให้ยกเลิกไปเลย
- เสนอให้เลื่อนไปใช้ระบบไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง
ทั้งนี้ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะนำเสนอให้ คสช. พิจารณา ส่วนจะมีการปลดล็อกพรรคการเมืองเต็มรูปแบบเมื่อไรนั้น จะสามารถบอกได้หลังการประชุมพรรคการเมืองในครั้งต่อไป