วันเลือกตั้ง

วิเคราะห์เลือกตั้ง 2562 พลังประชารัฐเดินเกม รวม ส.ส. ผนึก 250 ส.ว. ตั้งนายกฯ ก่อนค่อยรวมเสียงตั้งรัฐบาล

18.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • สุขุม นวลสกุล วิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งว่า การรวมพรรคจะมี 2 ครั้ง ครั้งแรกสุดจะเป็นการรวมกันเพื่อหานายกฯ แต่ทันทีที่ได้เป็นนายกฯ แล้วจะมีคนยกป้ายให้อีก
  • นักรัฐศาสตร์มองว่า การเลือกตั้งภายใต้กติกานี้อาจทำให้ไม่เหลือสถาบันการเมืองใดให้ประชาชนหวงแหน และอาจนำไปสู่วิกฤติการเมืองรอบใหม่
  • การเลือกตั้งครั้งหน้าแม้จะไม่ได้เคารพประชาชน แต่ก็ควรไปใช้สิทธิ์ให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าประชาชนต้องการอำนาจการเลือกตั้ง

18 ธันวาคม วงเสวนาวิชาการ ‘การเลือกตั้งคุณภาพกับอนาคตประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้ง’ จัดโดยสมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการและศูนย์การประชุม แจ้งวัฒนะ ชำแหละระบบเลือกตั้ง 2562 อย่างเผ็ดร้อนและตรงไปตรงมา โดยนักวิชาการและอดีต กกต. เห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ขาดคุณภาพ กติกาชวนสับสน ทำลายระบบพรรคการเมือง แต่เห็นว่าคนไทยควรไปใช้สิทธิ์เพื่อแสดงเจตจำนงต่อผู้ก่อการยึดอำนาจ

 

 

เดินเกมรวม ส.ส. ผนึก 250 ส.ว. ตั้งนายกฯ ก่อนค่อยรวมเสียงตั้งรัฐบาล

สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ตนผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง การเลือกตั้งปี 2500 ไม่มีคุณภาพ ไม่มีอนาคตที่สุด มีทั้งไพ่ไฟ พลร่ม รู้ล่วงหน้าว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเป็นนายกฯ แน่ๆ ดังนั้นการเลือกตั้งที่มีอนาคตคือการเลือกตั้งที่เรามีสิทธิ์ลุ้น แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เรารู้แล้วว่าใครเป็นนายกฯ และยังมียุทธศาสตร์ 20 ปีค้ำอยู่อีกชั้น

 

การเลือกตั้งจะขาดคุณภาพอย่างสูงเมื่อคนจัดการทำให้การเลือกตั้งบรรลัย เราจึงต้องการให้ กกต. เป็นอิสระ ที่ผ่านมาตั้งความหวังกับ กกต. มาก เพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กกต. ทั้ง 7 คนจึงต้องแข็งขัน ไม่ใช่เป็น กกต. แล้วแต่ คสช. จะเรียกประชุม ถ้า กกต. ยอมให้คนอื่นเข้ามายุ่งใบประกันคุณภาพก็ไม่มีเหลือ

 

 

สุขุมยังได้วิเคราะห์การเลือกตั้ง 2562 ไว้ว่า ถ้าพลังประชารัฐไม่ชนะ ไม่ได้มาเป็นที่ 1 นายกฯ ก็ยังต้องพึ่งพิงอำนาจอำมาตยาธิปไตย อย่าลืมพรรคที่มีอยู่แล้ว 250 เสียง เขาต้องการอีกแค่ 126 เสียง พล.อ. ประยุทธ์ ก็ยังปลอดภัยในแง่ของการไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารโดยอาศัยนักการเมือง

 

“การรวมพรรคจะมี 2 ครั้ง ครั้งแรกสุดจะเป็นการรวมกันเพื่อหานายกฯ แต่ทันทีที่ได้เป็นนายกฯ แล้วจะมีคนยกป้ายให้อีก อันนี้ผมเห็นตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2526 มี 2 คนคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร แข่งกันเต็มที่เพราะคิดว่า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จะหยุด โดยรอบแรกในขั้นตั้งประธานสภา พล.ต.อ. ประมาณ ชนะ แต่พอ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เห็นท่าไม่ดี ไปเชิญ พล.อ.​เปรม มา เท่านั้นแหละ 2 พรรคการเมืองก็ถอนตัวจากการรวมกลุ่มจาก พล.ต.อ. ประมาณ” สุขุมกล่าว

 

 

สุขุมกล่าวต่อว่า นอกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ยังมีพรรคของนายสุเทพ พรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคทางหนีไฟรวมเสียงให้ พล.อ. ประยุทธ์

 

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าหลังเกมรวมเสียงดันให้ พล.อ.​ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มีโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะรวมเสียงตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

 

“เชื่อว่าประชาธิปัตย์ไปทั้งพรรค เพราะพรรคนี้เขามีข้อมูลใหม่อยู่เรื่อย ซึ่งข้อมูลใหม่ทำให้เปลี่ยนการตัดสินใจในจุดยืนได้”

 

สุขุมกล่าวปิดท้ายว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้เคารพอะไรเรามากนัก แต่ผมขอให้ทุกคนอย่าท้อนะ ให้คิดเหมือนที่ สมัคร สุนทรเวช เคยพูดเมื่อปี 2520 น้ำครึ่งแก้วดีกว่าไม่มีน้ำในแก้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเปิดให้มีเลือกตั้งก็ไปเลือก อย่างน้อยที่สุดเราไม่มีปืน ไม่มีอาวุธที่จะสู้กับคนที่ยึดอำนาจที่มีปืนและอาวุธ แต่เรามีสิทธิ์บอกให้เขารู้ว่าเราอยากได้อำนาจการเลือกตั้ง

 

“การเลือกตั้งครั้งนี้ตัดสินใจลำบาก บัตรใบเดียวยังไม่รู้ว่าจะเลือกคนหรือเลือกพรรค เพราะฉะนั้นถ้าตัดสินใจแบบเลือกอยู่กับปัจจุบัน ให้เลือกพรรคไหนที่มีผู้แทนที่ดี แต่ถ้าคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะชี้อนาคต ก็เลือกเอาว่าจะให้สืบทอดอำนาจหรือไม่ให้สืบทอดอำนาจ” สุขุมกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ระบอบเลือกตั้งอาจนำไปสู่วิกฤติการเมืองรอบใหม่

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีข้อกังวลสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ หากประชาชนเลือกไปแล้ว เขาก็หวังให้พรรคที่มีเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล แต่กติกาการเลือกตั้งเอื้อให้ชนชั้นนำทางการเมืองอาจเป็นฝ่ายต่อรองให้ผลการจัดตั้งรัฐบาลออกมาเป็นอีกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นจะลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง ไม่เหลือสถาบันทางการเมืองใดเลยที่ประชาชนหวงแหนศรัทธา และอาจนำไปสู่วิกฤติการเมืองรอบใหม่

 

“ทุกวันนี้รู้สึกสงสาร กกต. ที่ถูกตั้งคำถามตลอดว่าจะโกงไหม บัตรเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร โครงสร้างการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นระบบจัดสรรผสม ไม่ส่งเสริมการแข่งขันของพรรคการเมือง ทำให้พรรคอ่อนแอ ตอบโจทย์คนที่ไม่ศรัทธาพรรค พรรคการเมืองอาจแก้ไขได้โดยตกลงกันจับสลากหมายเลขเพื่อเลือกเบอร์พรรคการเมืองเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองกลับมา โดยวิธีนี้พรรคต้องร่วมมือกับ กกต. ดัดหลังกฎหมาย”

 

 

ประสบการณ์ อดีต กกต. ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร

สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการ กกต. เล่าเหตุการณ์ในฐานะที่เคยเป็น กกต. ภายใต้คณะรัฐประหารว่า เมื่อครั้งรัฐประหาร 2549 โดย คมช. ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาคุม กกต. อีกทีหนึ่งประกอบด้วยคน 29 คน มาจากการแต่งตั้งโดยทหารและมีบทบาทซ้อนกับ กกต.

 

สดศรีมองว่าการรัฐประหารของ คมช. มีบทบาทควบคุม กกต. มากกว่า คสช. แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรา 44 แต่ก็เชื่อว่าคำสั่ง คสช. ที่ 16/61 เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ กกต. ไปขอร้องเขามากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาลำบาก ส่วนประเด็นบัตรเลือกตั้งแบบโหลที่หลุดออกมา เนื่องจาก กกต. จะทำบัตรยากมาก การพิมพ์บัตร 350 แบบมีโอกาสพลาด ถ้าพลาด กกต. ทั้ง 7 คนต้องโดนก่อน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง กกต. ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน

 

 

“กกต. กลายเป็นตำบลกระสุนตก บางครั้งอาจได้รับคำสั่งอะไรมา แต่ต้องใช้ดุลพินิจว่าคำสั่งใดจะทำให้ติดคุกหรือไม่ ถ้าติดคุกก็อย่าทำ ความกล้าเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไม่กล้า ความเสื่อมจะตามมา การทำงานครั้งนี้ กกต. ต้องแสดงฝีมือ อย่าให้เสียเปล่า ต้องชี้ขาดในสิ่งที่ถูกต้อง การเฉยไม่ทำให้สถานภาพของ กกต. ดีขึ้น อาจถูกมองว่าอ่อนแอ ไม่เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยจะเดินทางไปด้วยดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กกต.”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising