วันเลือกตั้ง

ทำความเข้าใจก่อนไปเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรใบเดียว เลือกได้เพียงหนึ่ง ‘คนที่รัก’ หรือ ‘พรรคที่ใช่’

03.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่ เหลือบัตรใบเดียว แต่ยังมี ส.ส. 2 ระบบคือ แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
  • เมื่อได้ ส.ส. เขต 350 คนแล้ว ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คนนั้นจะต้องมาดูกันอีกทีว่าพรรคของตนได้สัดส่วนเท่าไรในคะแนนเสียงรวมกันทั่วประเทศ ตามสูตรการคำนวณสุดซับซ้อน

หากไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 สังคมไทยว่างเว้นจากบรรยากาศหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าทำหน้าที่ในสภาฯ มานานกว่า 7 ปี

 

แต่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ มีการเปลี่ยนแปลงกติกามากมาย

 

ย้อนกลับไปการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน + บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 125 คน

 

มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

1 ใบไว้เลือกผู้สมัคร ส.ส. เขต เปรียบเปรยกันว่าเอาไว้เลือก ‘คนที่รัก’

 

อีก 1 ใบไว้เลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็คือการเลือกพรรค จึงเปรียบเปรยกันว่าเอาไว้เลือก ‘พรรคที่ใช่’

 

 

และเพื่อป้องกันความสับสน หมายเลขผู้สมัครที่จับในระบบบัญชีรายชื่อจะใช้กับระบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย

 

ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทย จับสลากได้หมายเลข 1 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จับสลากได้หมายเลข 10

 

ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคเพื่อไทยก็จะได้หมายเลข 1 ส่วนผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้หมายเลข 10

 

ที่กล่าวมาข้างต้นคืออดีต อยากให้รู้ไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องจำ

 

เพราะของใหม่ที่เตรียมใช้ในปี 2562 แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

 

เลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่ เหลือบัตรใบเดียว แต่ยังมี ส.ส. 2 ระบบ

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การเลือกตั้งแบบใหม่ใช้ระบบที่เรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment System: MMA)

 

ระบบนี้เคยใช้ในการเลือกตั้งระดับประเทศมาแล้ว 5 ประเทศทั่วโลก อาทิ อัลบาเนีย (1992) เกาหลีใต้ (1996-2000) และเยอรมนี (1949)

 

ปัจจุบันมีเพียงแคว้นบาเดน วุดเดนเบิร์ก ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้ระบบนี้

 

THE STANDARD พยายามสรุประบบเลือกตั้งใหม่ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ให้เข้าใจง่ายที่สุด ดังนี้

 

ส.ส. มีทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น แบบบัญชีรายชื่อ กับ แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

 

แต่เมื่อเราได้เข้าคูหา บัตรเลือกตั้งจะเหลือเพียงใบเดียวคือบัตรให้เลือก ส.ส. เขต ซึ่งจะมีแต่เบอร์ผู้สมัคร

 

โดย ส.ส. ระบบเขตมี 350 คน จาก 350 เขตเลือกตั้ง

 

แต่ที่ลำบากนิดหน่อยคือ กฎหมายกำหนดให้จับเบอร์ผู้สมัครทุกเขต

 

สมมติผู้สมัครของพรรค ก. ใน กทม. เขตที่ 1 จับได้เบอร์ 10

 

ผู้สมัครของพรรค ก. ใน กทม. เขตที่ 2 อาจจับได้เบอร์ 1

 

ดังนั้น ใน 30 เขตเลือกตั้งของ กทม. พรรค ก. จะมีหลายหมายเลขผู้สมัคร

 

กลับมาที่การนับคะแนนตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ส.ส. เขตมี 350 คน จาก 350 เขต

 

ผู้สมัคร ส.ส. เขตที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้นจะได้เป็น ส.ส. แต่คะแนนที่ได้ต้องมากกว่าคะแนน Vote No

 

กรณีไม่มีใครได้คะแนนมากกว่าคะแนน Vote No ให้จัดเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่

ส่วนกรณีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้จับสลากต่อหน้า กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง

 

เมื่อได้ ส.ส. เขต 350 คนแล้ว ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คนมาจากไหน

สำหรับผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะต้องมาดูกันอีกทีว่าพรรคของตนได้สัดส่วนเท่าไรในคะแนนเสียงรวมกันทั่วประเทศ ตามสูตรการคำนวณดังนี้

  1. เอาคะแนนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ลบด้วย Vote No และบัตรเสียออกก่อน (คิดบนสมมติฐานว่าทุกพรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)
  2. นำจำนวนดังกล่าวหารด้วย ส.ส. ทั้งหมด 500 คน จะได้คะแนนโดยประมาณต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน
  3. สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. คำนวณคะแนนตามข้อ 2 คาดว่าจะได้ 70,000 คะแนน ต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน
  4. เอาคะแนน ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศของแต่ละพรรคที่ได้ หารด้วย 70,000 จะได้จำนวนที่เรียกว่า ‘ส.ส. พึงจะมี’ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่า ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะมีได้ไม่เกินจำนวนนี้
  5. สูตรคำนวณว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่าไร

 

ให้เอา ‘ส.ส. พึงจะมี’ ลบด้วย ‘ส.ส.เขต’ ที่พรรคนั้นได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้

 

อดีต กกต. สมชัยยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น

 

พรรคการเมืองขนาดกลางได้ ส.ส. เขตมาแล้ว 30 คน

 

สมมติว่าได้คะแนน ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศ 3,500,000 คะแนน

 

สูตรคำนวณ ส.ส. พึงจะมีคือ 3,500,000 หาร 70,000

ส.ส. พึงจะมีของพรรคขนาดกลางนี้คือ ส.ส. 50 คน

 

นำ ‘ส.ส. พึงจะมี’ (50 คน) ลบด้วย ‘ส.ส. เขต’ (30 คน) = พรรคขนาดกลางนี้จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 20 คน

 

ส่วนกรณีพรรคขนาดใหญ่ อดีต กกต. สมชัยสมมติว่า พรรคขนาดใหญ่พรรคหนึ่ง ชนะได้ ส.ส. เขต 200 คน

 

คะแนน ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศได้มากถึง 13,500,000 คะแนน


แต่เมื่อนำมาคำนวณได้ ส.ส. พึงจะมี: 13,500,000 หาร 70,000 = 192 คน

 

นำ ‘ส.ส. พึงจะมี’ (192 คน) ลบด้วย ‘ส.ส. เขต’ (200 คน)  = -8

 

หมายความว่าพรรคขนาดใหญ่นี้จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว

 

สูตรการเลือกตั้งแบบใหม่นี้เป็นผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องเล่นเกมแยกสาขาพรรค ส่วนพรรคขนาดกลางก็ได้เปรียบ ด้วยโอกาสได้จำนวน ส.ส. มากขึ้น เปิดช่องให้นำไปต่อรองว่าจะร่วมกับพรรคใดในการตั้งรัฐบาล

 

ขณะที่ ณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า รวบรวมข้อวิจารณ์ การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมไว้ดังนี้

  1. วิธีการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจเลือกเพียง 1 เดียวว่าจะเลือกคนที่รักหรือพรรคที่ใช่
  2. พรรคการเมืองจะต้องส่งตัวแทนของพรรคลงเลือกตั้งให้มากที่สุด พรรคที่ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง หรือพรรคที่หวังเฉพาะเก้าอี้บัญชีรายชื่อ (แบบพรรครักประเทศไทย) จะสูญพันธุ์
  3. การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวจะบีบให้คนเลือกที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค แล้วในที่สุดจะบั่นทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง
  4. ผลการเลือกตั้งอาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง พรรคที่ได้เสียงข้างมากในเขตเลือกตั้ง อาจไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
  5. ลดความสำคัญของการออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะจะไปหรือไม่ไปเลือกตั้งก็จะได้แต่พรรคที่มีคะแนนเสียงกลางๆ แม้คะแนนเสียงตัวเองจะไม่ได้ตกน้ำ แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาล
  6. ผลการเลือกตั้งกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะพรรคที่ได้รับ ส.ส. แบบแบ่งเขตมาก จะเหลือที่สำหรับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง โอกาสในการก่อตั้งรัฐบาลจากพรรคผสมค่อนข้างสูง และการที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากอาจเปิดโอกาสให้บุคคลที่สาม หรือ ‘คนนอก’ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี
  7. การที่ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย อาจทำให้ ‘การซื้อเสียงเป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่า’
  8. ทำให้ ส.ส. จากพรรคเดียวกันต้องแข่งขันกัน เพราะหาก ส.ส. แบบแบ่งเขตชนะเลือกตั้งมากๆ จะเหลือตำแหน่งให้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง การเลือกตั้งในลักษณะนี้จึงทำลายความสามัคคีของผู้สมัคร ส.ส. จากทั้งสองระบบในพรรคเดียวกัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • บทความ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ในมติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_137184
  • บทความ ณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการชานาญการ สถาบันพระปกเกล้า: การเลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X