วันเลือกตั้ง

4 ผู้นำพรรคการเมืองมองอนาคตประชาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?

14.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

17 Mins. Read
  • ตัวแทน 4 พรรคการเมืองมองเห็นคุณค่าประชาธิปไตยตรงกัน และประเทศไทยต้องเดินไปในทิศทางนี้
  • 3 ใน 4 พรรคบอกว่าต้องแก้ไขกติกาคือรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกหนึ่งพรรคมองว่าไม่เป็นปัญหา แต่ต้องใส่ธรรมาธิปไตยเข้าไปด้วย
  • ทุกคนมองว่าสังคมยังมีหวัง แต่มิติและมุมมองต่างกันออกไป

บรรยากาศ ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันนี้ร้อนแรงกว่าวันไหนๆ ด้วยมีกำหนดจัดงานเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘อนาคตประชาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?’ เนื่องในวาระวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2561 ครบรอบ 69 ปี

 

ที่ว่าร้อนแรงเพราะในห้วงการเมืองที่ยังคลุมเคลือ มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันให้บริการความรู้ทางวิชาการ โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ได้จัดงานนี้ขึ้นโดยมีผู้แทนพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์, จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ และไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์

 

ก่อนเริ่มต้นการเสวนา รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ได้เกริ่นนำถึงสภาพสังคมไทยเวลานี้ว่าจะสามารถก้าวข้ามพ้นกับดักและไปอยู่กับความหวังของประเทศไทยได้มากแค่ไหน โดยมองว่ายังมองไม่เห็นว่าสามารถก้าวข้ามกับดักเหล่านั้นได้ วันนี้จึงต้องเชิญทั้ง 4 คนที่เป็นผู้นำพรรคซึ่งอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนว่ามองความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างไร ต่อไปนี้คือการเก็บความจากวงเสวนา

 

 

จาตุรนต์มอง 2 กับดัก ดักพัฒนาประเทศ และดักการพัฒนาประชาธิปไตย

จาตุรนต์เริ่มต้นโดยชี้ให้เห็นถึงกับดักของประเทศไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไม่มีความพยายามจะแก้ต้นเหตุปัญหาในอดีต ไม่นำข้อเสนอในอดีตมาพิจารณา การนั่งหารือไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาและจะกลายเป็นกับดักในอนาคต

 

โดยกับดักในอนาคตขณะนี้ไม่ใช่กับดักสำหรับพรรคหรือนักการเมือง แต่กับดักที่จะเจอต่อไปข้างหน้าเป็นกับดักของประเทศไทย และเป็นกับดักที่จะส่งผลต่อการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญเรามีกับดักที่จะทำให้ไปเจอกับความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมามีเงื่อนไขที่ปลูกฝังมาตลอด 4 ปีว่าสังคมไทยขาดผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ หรือขาดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ไม่ได้

 

ทั้งนี้จาตุรนต์ยังมองว่าไม่มีสิ่งใดที่เป็นหลักประกันว่าปัญหาในอดีตจะได้รับการแก้ไข อาจมีการทำผิดกฎหมายแล้วไม่ได้รับการลงโทษ เกิดการไม่ปฏิบัติตามกลไกของรัฐ และอาจเกิดการกระทำที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การรัฐประหาร

 

ดังนั้นกับดักในความเห็นของตนเองจะอยู่ที่สองเรื่องคือ กับดักของประเทศในการที่จะพัฒนาไปอย่างยั่งยืนและราบรื่น และกับดักที่สองคือกับดักที่จะนำไปสู่เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและเกิดเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารได้อีกในอนาคต

 

 

อภิสิทธิ์ชี้ มี 4 กับดักไปสู่ประชาธิปไตย

ส่วนอภิสิทธิ์อธิบายว่าก่อนจะพูดเรื่องกับดัก สิ่งที่เราน่าจะคิดตรงกันคือให้ไทยกลับคืนสู่วิถีรูปแบบประชาธิปไตยโดยรักษาได้ทั้งรูปแบบและสาระของประชาธิปไตย แต่การจะกลับสู่รูปแบบและสาระของประชาธิปไตยนั้นมีกับดักใหญ่ๆ คือ

 

แม้ปัจจุบันเราบอกว่ามีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว มีกฎหมายลูกที่จำเป็นก่อนการเลือกตั้งแล้ว แต่บรรดาคำสั่ง คสช. ไม่สามารถทำให้บรรดากฎหมายต่างๆ ที่ออกมาเดินไปได้ ตั้งแต่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง จนกระทั่งห้ามประชาชนทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ การเดินตามตรงนี้ยังติดขัดกับดักคำสั่ง คสช. ที่วางไว้

 

แม้ผ่านกับดักแรกไปได้ กระบวนการประชาธิปไตยต้องไปเริ่มที่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งต้องเสรีและเที่ยงธรรม คำถามคือเราจะจัดแบบนั้นได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราใช้อำนาจมาตรา 44 ปลดกรรมการการเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่ง กกต. ต้องรักษาความเป็นธรรม คำถามคือจะเป็นอิสระและเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน

 

แถมผู้มีอำนาจในปัจจุบันส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นทุกวัน จากเดิมบอกเป็นกรรมการ เป็นคนกลาง บัดนี้แสดงอาการว่าอยากเป็นผู้เล่นด้วย จึงเป็นกับดักที่สองว่าการเลือกตั้งจะเสรี สุจริต และเที่ยงธรรมจริงหรือไม่

 

กับดักต่อมาคือมี ส.ว. นั่งอยู่ในสภา 250 คนซึ่งไม่ผ่านการเลือกตั้ง แต่จะมามีสิทธิ์เลือกนายกฯ จะมีกลุ่มคนที่เข้ามามีอิทธิพล มีบทบาทมากกว่าผู้เล่น มากกว่าประชาชนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. เข้ามา นี่คือกับดักที่สาม

 

กับดักที่สี่มีสองปัญหาคือ กติกาไม่เป็นประชาธิปไตย มีหลายบทบัญญัติเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย อย่าว่าแต่เรื่องของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง วันนี้นักการเมืองทั่วโลกที่มาจากการเลือกตั้ง สถาบันการเมือง ถูกตั้งคำถามโดยคนรุ่นใหม่ว่าพื้นที่ยืนในสังคมหรือเศรษฐกิจของเขามันหายไป หรือมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางการเมือง จะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคควบคู่กับการกอบกู้ศรัทธาประชาชนว่านี่แหละระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย มันดีกับเขาอย่างไร แต่ยืนยันว่าเราออกจากกับดักและมีความหวังได้

 

 

ธนาธรมองรัฐประหาร กับดักวนเวียนซ้ำซาก ฉุดรั้งสังคมไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า

ด้านธนาธรเห็นด้วยกับสองท่านก่อนหน้าสำหรับกับดักเหล่านั้น แต่ขอย้อนกลับไปไกลในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งจำนวน 24 ปี 310 วัน คือเวลาที่ไทยมีนายกฯ จากการเลือกตั้งในรอบ 86 ปี คิดเป็น 29% จากระยะเวลาทั้งหมด

 

ธนาธรบอกว่าไม่ใช่กับดักเพิ่งเกิดในรอบนี้ ในชีวิตตนเองผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 5 ครั้ง และใน 5 ครั้งก็ไม่เคยมีผู้ก่อการถูกลงโทษ มีเพียงครั้งเดียวที่มีผู้ก่อการถูกลงโทษ แต่ไม่ใช่ผู้นำ

 

ซึ่งการทำรัฐประหารมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรก หากย้อนกลับไปเวลานั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทยอยู่ในระนาบเดียวกัน ตอนนี้ทุกประเทศมีการพัฒนาโตกว่าไทย

 

ปัจจุบันไทยมีความเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย คน 5% มีทรัพย์สิน 3 ล้านล้านบาทเท่ากับงบประมาณประจำปีของไทย ในรอบการพัฒนาประชาธิปไตย 86 ปีของไทย ถามว่าอะไรฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของสังคมไทย เป็นกับดักที่วนเวียนมาตั้งแต่ปี 2475 ก็คือการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคนเพียงกลุ่มน้อยที่ต้องการรักษาสถานะอำนาจและฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเองไว้

 

เราปวารณาให้ยุติที่กับดักนี้ เพื่อที่จะไม่ต้องส่งผ่านเรื่องแบบนี้ไปสู่ลูกหลานของเรา

 

โลกปัจจุบันหมุนเร็วมาก เพียงแค่จะตามโลกให้ทันหรือรักษาสถานะให้คงไว้ เราต้องหมุนเร็วเท่าโลก ไม่พูดถึงการแซงโลก ถ้าจะพัฒนาให้ไกลกว่านี้ คุณต้องหมุนเร็วกว่าโลก เราจะต้องนำสังคมไทยกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาอีกครั้ง

 

 

ไพบูลย์ชี้ ต้องเอาธรรมาธิปไตยมาใช้คู่กับประชาธิปไตย ยอมรับมีส่วนให้เกิดกับดัก

ไพบูลย์กล่าวว่ากับดักในนิยามของตนเองคือต้องเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง

 

ขอย้อนไปที่ปี 2549 และ 2551 ซึ่งไพบูลย์บอกว่าตนเองได้เข้าไปสู่การรับรู้ทางการเมืองในฐานะวุฒิสมาชิก เข้าไปในฐานะนักการเมือง ในช่วงปี 2551 ตอนเป็น ส.ว. ครั้งแรก เจอการเคลื่อนไหวของมวลชน จนมาถึงปี 2557 เจอวาทกรรมที่บอกว่าการเมืองแบบแบ่งขั้ว คำถามคือเรียกมันว่าประชาธิปไตยหรือไม่ ชอบแบบนั้นใช่ไหม มีความชุลมุนวุ่นวายตลอด มีการกล่าวหาว่า ส.ส. ทำมาหากิน ประชาชนใช้เวลาแค่ 4 วินาทีในการตัดสินใจ นักการเมืองอ้างประชาชน อ้างประชาธิปไตย ถ้าบอกว่านั่นคือสิ่งที่เราโหยหาก็จะบอกว่าไม่เจอหรอก มันไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปเป็นแบบนั้นอีกได้ เพราะตั้งแต่ปี 2557 ได้วางกลไกไว้หมดแล้วเพื่อไม่ให้ย้อนกลับไป

 

“ผมมีความหวัง ไม่อย่างนั้นไม่มาตั้งพรรค ผมเห็นโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้นจากปี 2557 จนมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ผมรับรู้ปัญหาในอีกมิติหนึ่ง นี่คือกลไกของการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ย้อนไปก่อนปี 2557 ก็คือ 5 ปีแรกตามรัฐธรรมนูญตามกลไกรัฐสภาที่มี ส.ส. 250 คน

 

“ผมมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ทั้งชุมนุม ยื่นฟ้อง ถามว่าอยากไหม ผมตอบเลยว่าไม่อยาก คนไม่เชื่อ หน้าอย่างนี้ต้องเผด็จการ อำนาจนิยม แล้วท่านก็จะไม่ฟังที่ผมพูดเลย ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นควรน้อมนำหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติด้วย”

 

ไพบูลย์มองว่าอนาคตของประชาธิปไตยจะต้องประกอบด้วยหลักธรรมาธิปไตย ให้สังคมสงบ ไม่มีความวุ่นวาย การใช้สิทธิเสรีภาพสามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย ต้องให้สังคมไทยหลังเลือกตั้งเป็นสังคมสู่ความมีนิติรัฐที่มากขึ้น ถ้าเป็นอย่างที่ว่า เราคิดว่าประเทศไทยจะไปอย่างที่หวัง ไม่มีอะไรทำลายประเทศไทย ทุกอย่างจะเดินไปอย่างมีความหวัง ขอให้มั่นใจในความเป็นประเทศไทย

 

 

กับดักที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปดักการพัฒนา 20 ปี นำชาติสู่ความขัดแย้ง

จาตุรนต์มองอีกว่ากติกาทำให้ประเทศถอยหลังไปมาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปต้องบอกว่าที่ผ่านมามีทั้งดีและมีปัญหา ระบบการจัดการทุจริตถูกแทรกแซง การเมืองจะกลับมาเหมือนเดิมไหม ในแง่การแก้ความขัดแย้งต้องบอกว่าไม่ได้สร้างองค์ความรู้หรือวิธีในการออกจากความขัดแย้ง การใช้กติกาไม่ได้ถูกปลูกฝัง

 

สำหรับการพัฒนาของการเลือกตั้งในรอบ 20 ปี เกิดการพัฒนาที่สำคัญคือประชาชนเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อชาติและตนเอง แต่อนาคตสิ่งเหล่านี้อาจเกิดยากด้วยกับดักที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป และในอนาคตผลการเลือกตั้งที่ออกมาอาจจะไม่นำไปสู่สิ่งที่ประชาชนต้องการเมื่อ คสช. เข้ามาเป็นผู้เล่นและวางกติกาเอง

 

รัฐบาลต้องทำตาม ถ้าไม่ทำจะมีกรรมการส่วนต่างๆ คอยตรวจสอบ หากไม่ทำก็จะถูกถอดถอนโดย ป.ป.ช.

 

เขาได้วางแผนการกำหนดทิศทางล่วงหน้าประเทศไทยไปอีก 20 ปี เขาได้วางกับดักไว้แล้วอีก 20 ปี ถ้าเขาตั้งรัฐบาลได้ บ้านเมืองก็จะถูกทำให้เดินไปแบบนี้ กระบวนการการได้มาของยุทธศาสตร์เหล่านี้ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้ในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ยุทธศาสตร์ที่บังคับนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่มีทางปรับตัวได้ทันกับพัฒนาการ ภาระและปัญหาจะตกกับรุ่นลูกหลาน มันปรับตัวไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่เกิดในอนาคตตามที่เขาวางแผนไว้

 

ระบบเลือกตั้งนิยมจะไม่กลับมา สิ่งที่ได้พัฒนามาระดับหนึ่งแล้วมันจะถูกกับดักทำให้ไปไหนไม่ได้ เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญก็พบว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้แก้ไม่ได้ แก้ยาก ก็จะกลายเป็นความขัดแย้ง ไม่ได้บอกว่าจะแก้ปัญหาคนที่เห็นต่างกันอย่างไร

 

เมื่อขัดแย้งได้ ต้องแก้ได้ด้วยกติกาที่เป็นธรรม เมื่อกติกาไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ได้ และแก้ความขัดแย้งด้วยกติกาที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น นอกจากไม่ได้แก้ มันกำลังสร้างปัญหากับประเทศและคนทั้งประเทศ

 

 

ทุกกับดักข้ามได้ด้วยหลักกระบวนการและจิตวิญญาณประชาธิปไตย

อภิสิทธิ์มองว่าการย้อนอดีตต้องดูว่าเราหยิบส่วนไหนในประวัติศาสตร์มา เราก็พูดปัญหาได้ทั้งสิ้น เราไม่ได้อยากกลับไปวุ่นวายแบบที่เคยเป็นมา แต่การไปโทษว่าเพราะมีการเลือกตั้งหรือประชาธิปไตยมันไม่ถูกต้อง คำถามคืออยากกลับไปเป็นแบบพฤษภาคม 2535 ไหม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลอกมาจากปี 2521 สมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ที่ได้ผู้นำมาจากเสียงข้างน้อย ตนเองคิดว่าเราต้องมาดูว่าเราจะอธิบายหรือเลือกเอาส่วนใดมาอธิบาย

 

“ผมตั้งคุณค่าประชาธิปไตยว่ามันเป็นระบบที่คนจะได้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพ การตัดสินใจบางขณะอาจเลือกคนผิด แต่คุณค่าของมันคือต้องแก้ประชาธิปไตยได้ด้วยความยินยอมพร้อมใจด้วยกัน ผมไม่เคยมองว่าการเมืองแบ่งขั้วแล้วเป็นปัญหา หลายประเทศก็เป็นแบบนี้ รุนแรงกว่าเรา คำถามคือเราอยู่ร่วมกันอย่างไรที่จะรักษาประชาธิปไตยไปพร้อมกันด้วย ที่ผ่านมามันไม่ใช่แค่ 4 วินาที ประชาชนเขามีส่วนร่วมหลายอย่างที่กำหนดทิศทางประเทศนี้ ถ้าบอกว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งมันแค่ 4 วินาที ผมว่ามันก็ยังดีกว่าระบบที่ไม่มีการเลือกตั้ง”

 

รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป มันเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่จะทำงานต่อไป คนที่อาสาเข้ามา ถ้ามีแผนดีกว่านี้ เสนอไปเลย และเมื่อได้รับเลือกก็ต้องทำ ถ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ทำอย่างไรก็แก้ได้

 

อภิสิทธิ์มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกติกาถาวรไม่ได้ ยังไงก็ต้องแก้ แต่ถ้าเรากระโดดไปเลย มันจะวนกลับมาที่กับดักเดิม คือคนจะมองว่าเมื่อนักการเมืองได้รับเลือกตั้ง สิ่งแรกคือเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง เพราะฉะนั้นความขัดแย้งก็จะกลับมาแบบเดิม ต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญมันทำให้ประชาชนมีอุปสรรคอย่างไร ถึงตรงนั้นก็มาแก้กัน

 

ถ้าจะต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะกลับไปที่กับดักเดิม ต้องมีกระบวนการของสังคม

 

ตนเองมองว่าทุกกับดักข้ามได้ด้วยหลักกระบวนการและจิตวิญญาณประชาธิปไตย มันจะเป็นการข้ามพ้นที่ยั่งยืนที่สุด

 

 

ต้องชนะในการเมืองแบบคูหา 3 ครั้งเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชน

ธนาธรบอกว่าเหตุผลที่ตนเองลงมาทำงานการเมืองเพราะความสิ้นหวัง เพราะไม่รู้สึกเห็นทางออก เพราะความโกรธที่สังคมไทยมันพัฒนาไปข้างหน้าไม่ได้

 

ถ้าจะพาสังคมไปข้างหน้ามันต้องมีความหวัง ก้าวพ้นจากกับดัก เริ่มด้วยการเมืองจากความหวัง ถึงวันนี้ทุกคนเห็นร่วมกันว่ามันไม่มีฉันทามติในการอยู่ร่วมกัน จะเดินไปข้างหน้าต้องสร้างฉันทามติได้ ต้องผูกสร้างด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ส่วนการขอประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ซึ่งหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉันทามติจากประชาชน ที่เป็นวิธีที่ไม่เกิดความวุ่นวาย นั่นคือต้องชนะการเลือกตั้งในคูหา 3 ครั้ง ครั้งแรกได้คะแนน 376 เสียง เมื่อได้ 376 เสียง จากนั้นจะมีการทำประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ในการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

 

เลือกตั้งครั้งหน้า พรรคที่เชิดชูประชาธิปไตยต้องได้มากกว่า 376 ที่นั่ง หรือต้องชนะขาดให้ได้ ทั้งหมดนี้คือการเล่นในเกมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อทำลายประชามติที่โกง 1 ครั้ง ถ้าเดินตามโรดแมปนี้ไม่มีความวุ่นวาย คุณต้องเชื่อว่านี่คือห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่พลังของคุณจะมีค่ามากที่สุด

 

“สิ่งที่สำคัญคือคะแนนเสียงของความคิด ถ้ามันยังทำไม่ได้ มันก็มีการเลือกตั้งครั้งหน้า และมันก็ยังอยู่ในเกม แต่กว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า คสช. ก็ยังอยู่กับเราตั้ง 5 ปี เป็นการต่อสู้ระยะยาว มันมีโอกาสแพ้ แต่แพ้ไม่เป็นไร ผมก็อยู่สู้เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า”

 

 

อภิสิทธิ์มองหลังเลือกตั้ง เสียงส่วนใหญ่อยากแก้รัฐธรรมนูญ

“ผมมั่นใจว่าจำนวน ส.ส. ในสภาที่อยากแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องเกิน 375 เสียง ปัญหาใหญ่อยู่ที่วิธีเขียนว่าจะแก้อย่างไร คือต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย จะดึงตรงนี้มาอย่างไร กลไกประชามติก็แบบหนึ่ง”

 

พร้อมกล่าวเสริมว่าที่พูดก่อนหน้านี้สำคัญ เพราะไม่แน่ใจว่า ณ วันเลือกตั้งคนจะคาดหวังเรื่องอื่นมากกว่านี้หรือเปล่า การที่เราจะไปพูดว่าแก้รัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำให้สังคมมากับเรา จะต้องสร้างหลักประกันว่าไม่แก้เพื่อตนเอง เราต้องใช้กระบวนการนำสังคมไปดึงวุฒิสภามาด้วย

 

 

ขออย่าไปติดกับดักแก้รัฐธรรมนูญ ไปทำการเมืองให้เป็นระบบที่คิดถึงประชาชน

ไพบูลย์อธิบายว่าต่างคนต่างมีมิติประชาธิปไตยของตัวเองเป็นความสวยงาม เราต้องมองโลกในแง่ดี คิดเชิงบวก ทุกอย่างมีหนทางที่จะไป ไม่มีใครเลวสุด ดีสุด

 

การที่จะแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามต้องได้รับเสียงเห็นชอบของ ส.ว. หนึ่งในสาม ถ้าท่านหาได้จึงจะไปสู่วาระอื่นๆ ซึ่งต้องมี ส.ว. หนึ่งในสามในวาระที่ 3 และพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคต้องมีสัดส่วนการเห็นชอบจึงจะไปประชามติ การออกแบบไว้อย่างนี้แสดงว่าอยากให้รัฐธรรมนูญแก้ยาก ซึ่งตนเองไม่ได้มีปัญหาอะไรเพื่อให้มันนิ่ง เพราะของเดิมตั้งแต่วันแรกก็อยากแก้กันแล้ว ตนไม่อยากพูดเรื่องนี้ ใครอยากแก้ก็แก้ไป เรามีความหวังเราก็หวังไป

 

หลังเลือกตั้ง ถ้าเราเชื่อว่ายังมีหวัง เราก็จะได้พรรคที่มาจากความหลากหลาย หลัง 5 ปี เราได้ ส.ว. คัดสรร และขออย่าไปติดกับดักแก้รัฐธรรมนูญ ไปทำการเมืองให้เป็นระบบที่คิดถึงประชาชน

 

 

จาตุรนต์เสนอ ข้ามพ้นกับดักอย่างไร

จาตุรนต์เสนอว่ากับดักช่วงก่อนเลือกตั้งจะให้หลุดหรือทำให้กับดักนี้ไม่รุนแรงต้องกำหนดการเลือกตั้งโดยเร็ว ระบุวันมาเลย เมื่อรู้วันแน่นอน คสช. งดใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่จะกระทบต่อการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ก่อนเลือกตั้ง 3 เดือน เสนอให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีลาออก ให้ปลัดกระทรวงมาทำหน้าที่แทน จากนั้นให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ว่าคณะรัฐมนตรีทำอะไรได้บ้าง ยกเลิกการใช้คำสั่ง คสช. ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

เพื่อป้องกันไม่ให้ คสช. สืบทอดอำนาจ พรรคเพื่อไทยจะยืนยันไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อคัดค้านขัดขวางการที่ คสช. จะสืบทอดอำนาจ

 

ในเรื่องรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูป พรรคการเมืองจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ และจะไม่ลืมหากบังเอิญได้เป็นรัฐบาล ต้องเสนอเป็นนโยบายพรรค เราจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นการยากมากที่จะแก้รัฐธรรมนูญแบบที่คุณไพบูลย์บอก เพราะเขาให้เสียงข้างน้อยมีอำนาจมากกว่าเสียงข้างมากในวาระที่ 3

 

“ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป เราเข้าใจดีว่าเราจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด แต่ก็จะชูธงแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ทำตามก็ติดคุก จะเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และปฏิรูป เราก็จะเสนอยกเลิกแผนเหล่านั้น ระหว่างที่ยังยกเลิกไม่ได้ก็จะแก้ เราก็จะรณรงค์ให้เกิดการแก้ แต่แก้แบบไหนก็จะต้องเสนอนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาประเทศอย่างไร โดยชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาประเทศอย่างไร ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นหลังตั้งรัฐบาลไปแล้ว”

 

 

อภิสิทธิ์เสนอ ควรเลิกการปลดหรือเลิกคำสั่ง คสช. ที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งให้ไวที่สุด

การปลดหรือเลิกคำสั่ง คสช. ที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งก็ควรเลิกให้ไวที่สุด ปัญหาต่างๆ ก็ควรยกเลิกเพื่อให้ทุกอย่างเดินได้ ต้องปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองทำงานได้

 

คสช. ต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่มีการใช้อำนาจใดๆ ในการเข้าไปแทรกแซง กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง

 

“คนที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขามีเจตนาว่า คสช. จะไม่มายุ่งกับการเมืองหลังเลือกตั้ง ใครอยู่ ครม. หรือ คสช. ชุดนี้ ถ้าจะลงเลือกตั้งต้องลาออกใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งมีการบอกว่าไม่มีใครลง ส.ส. แต่มีชื่ออยู่ในบัญชีเลือกนายกฯ ตรงนี้ คสช. ช่วยชัดเจนกับประชาชน ประกาศตัวมาให้ชัด แต่ต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม ถ้าท่านไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ต้องพูดเรื่องธรรมาภิบาลหรือธรรมาธิปไตย เพราะสอบตกหมด วุฒิสภาจะมาฝืนความตั้งใจของเจตนารมณ์ประชาชนที่เลือก ส.ส. มาไม่ได้”

 

พร้อมย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำตามรัฐธรรมนูญ ทำตามกฎหมาย แต่เราก็จะเสนอนโยบายควบคู่กันไป

 

เป้าหมายที่เรามองเห็นว่าอยากเดินไปวันนี้มันตรงกันคือมองประชาธิปไตย ให้ประชาชนเป็นคนชี้ทิศทางประเทศ มันต่างกันแค่ว่าแล้วอะไรจะเป็นความขัดแย้งหรือไม่เป็นความขัดแย้ง มันสำคัญที่ท่าทีด้วย การเดินไปสู่เป้าหมาย เราต้องเรียนรู้บทเรียน การพูดรวมว่าทั้งฉบับมันก็มีประเด็นว่าคุณยอมรับกฎเกณฑ์อื่นๆในรัฐธรรมนูญไหม เช่น การแก้คอร์รัปชัน องค์กรอิสระต่างๆ เป็นต้น

 

 

ธนาธรยืนยัน แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องผ่านประชามติ ใช้เป็นเครื่องมือหาฉันทามติ เราจะไม่พูดเรื่องแก้รายมาตรา เราจะแก้ทั้งฉบับ และการเมืองคือการเอาชนะกันทางความคิด ปัจจัยที่ชี้ขาดคือประชาชนทุกคน ถ้าเราติดกับดักทางเทคนิคจะไม่มีทางทำอะไรได้เลย

 

 

ไพบูลย์มองเห็นแต่อนาคตที่ดี มีความหวัง ให้ทนกับดักไปก่อน 5 ปี

“ผมเห็นแต่อนาคตที่ดี ท่านอย่าไปคิดอะไรให้มาก ท่านต้องมีความหวัง อย่าไปมองความมืดมน เราจะเข้าสู่โหมดนิติรัฐ มองด้านบวกบ้าง อนาคตของประชาธิปไตยไม่ได้มีรูปแบบเดียว

 

“ผมอยากจะสร้างสิ่งที่ผมอยากทำ เพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ผมจะไปเพิ่มทีละจังหวัด ผมจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างอำนาจให้ตัวเอง ตรวจสอบ ดูแลตัวเอง ทำจากเล็กไปใหญ่ เริ่มต้นจากประชาธิปไตยแท้จริงจากในพรรค ไม่ใช่พูดแต่ข้างบน เข้าสู่โหมดปฏิรูป เปลี่ยนแปลงประเทศ ได้พรรคการเมืองที่ดีขึ้น ไม่มีพรรคไหนเลวลง อนาคตข้ามได้ กับดักทั้งหลาย ทนไป 5 ปี แล้วท่านจะรู้สึกชอบ ผมจะไม่ออกไปสร้างความขัดแย้ง ผมจะทำตามกฎหมาย”

 

 

อภิสิทธิ์บอก สังคมต้องแสดงเจตนาตัวเองให้ชัดว่าต้องการอะไร

สังคมต้องแสดงเจตนาของตัวเองให้ชัด ปัจจุบันทำได้หลากหลายรูปแบบ ถ้าสังคมทำตรงนี้ มันจะชัดเจนที่สุดว่าเราต้องการให้เขานำพาประเทศไปอย่างไร ถ้าเขาไม่ทำ เขากำลังสร้างความเสี่ยงให้กับประเทศ มันก็คือการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ สิ่งที่เขาบอกว่าจะมาแก้ตรงนี้ก็คือความล้มเหลว นี่คือสิ่งที่ คสช. ต้องกลับไปพิจารณา

 

เงื่อนไข 5 ปีข้างหน้ากับ 4 ปีที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน 4 ปีที่ผ่านมา เราคนไทยยอมทนหลายเรื่อง พร้อมที่ยอมรับความสงบระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องการเห็นสิ่งที่ดีขึ้น ผมไม่คิดว่าเขาจะรอได้อีก 4 ปี เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสงบกว่าการเมืองอีก

 

ประชามติ ตนเองไม่แน่ใจว่าจะนำมาซึ่งฉันทามติ อยากให้ดูอังกฤษเป็นตัวอย่าง แต่ฉันทามติสำคัญกว่า เพราะมันคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ตนคิดว่าการไปพูดว่าแก้ทั้งฉบับมันก็จะมีคนหวาดเกรงว่าเราจะไปเหมารวมเรื่องอื่นไหม

 

เรามีความหวังว่าประชาธิปไตยจะเป็นความถดถอยชั่วคราว เพราะมันไม่ราบรื่นเรียบร้อยทั้งหมดหรอกครับ มันเป็นสิ่งที่ต้องน้อมรับและทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศให้ได้ แต่มันคือหลักประกันของคนทั้งประเทศว่าเรามีศักดิ์ศรี เราเขียนอนาคตได้ แม้จะเขียนผิดบ้าง แต่เราก็สามารถเขียนมันได้ครับ

 

 

จาตุรนต์บอก คนรุ่นใหม่จะรับภาระประเทศหนักสุด

ที่พูดทั้งหมดนี้ คนที่จะรับภาระหนักสุดคือคนรุ่นใหม่ในวันนี้ รุ่นปัจจุบันก็รับภาระไปตามอายุขัยของตัวเอง เขาจะเข้าใจและแสดงพลังออกมา ไม่ได้หมายความว่าเป็นพลังแบบที่คุณไพบูลย์เคยแสดงออกมา (ไปชุมนุม) ตนเองยังมีความหวังว่าเราจะสามารถก้าวไปสู่สังคมที่มีการพัฒนาก้าวหน้าได้ต่อเนื่อง อยู่ดีกินดี อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข มีกติกาที่เป็นธรรม ใช้วิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่แตกต่าง ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแค่วิธีการที่สำคัญ แต่ควรเป็นจุดหมายที่สำคัญด้วย

 

 

ไพบูลย์ส่งสารถึงคนรุ่นใหม่ อย่าตกเป็นเครื่องมือให้ใครมาปลุกปั่น

อยากให้คนรุ่นใหม่พยายามทำความเข้าใจ เรียนรู้ว่าเราอย่าตกเป็นเครื่องมือของใครหรือให้ใครมาปลุกปั่น ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็น เรามีความคิดเห็นที่ต่าง ที่แลกเปลี่ยนกัน เข้าใจกันได้ เริ่มต้นจากส่วนที่เป็นอยู่ ต้องเข้าไปเป็นประชาธิปไตยทางตรง เข้าไปร่วมในส่วนที่ท่านร่วมอยู่ ต้องทำในระดับที่ใกล้ชิดกับตัวเอง ถ้าท่านทำ ท่านก็ช่วยประเทศได้แล้ว

 

 

อภิสิทธิ์มองคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่เป็นตัวแปรสำคัญ

คะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่จะมีโอกาสเป็นตัวแปรมากที่สุดที่จะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลง ที่จะก้าวพ้นกับดักต่างๆ ในอดีตหลายเรื่อง มันจะไม่หลุดพ้นจนกว่าจะมีคนอีกรุ่นหนึ่งมาช่วยกรุยทางออก และขอตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะเขียนถึงอนาคตที่ดีกว่าอย่างไร

 

 

ธนาธรขอคนรุ่นใหม่ อย่ายอมจำนนต่อความยุติธรรม

ธนาธรปิดท้ายว่า ส่วนตัวงงว่าคนที่เชิดชูการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกลับไม่พูดถึงการดำเนินคดีกับคนที่เห็นต่างกับ คสช. ไปแสดงความคิดเห็นว่าอยากเลือกตั้ง แต่ติดคุก นี่คือต้นทุนของประเทศ สิทธิเสรีภาพของประชาชนคือต้นทุนของประเทศ

 

กับดักเรื่องวาทกรรมความวุ่นวาย การชุมนุมบนถนนไม่ใช่ความวุ่นวาย เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทุกประเทศทั่วโลกมีหมด การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งไม่เท่ากับความวุ่นวาย เราต้องไม่ติดกับดักมัน บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างสงบสุขได้ ถึงแม้จะมีการชุมนุมไปพร้อมกัน เราถูกชนชั้นนำทำให้เชื่อว่านั่นคือความขัดเเย้ง

 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือมีคนพยายามผลักดันให้ประเทศไปสู่ทางตัน ให้ทหารออกมา

 

กับดักเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีการทุจริตคอร์รัปชัน แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์มาแล้วว่ายิ่งมีประชาธิปไตย การคอร์รัปชันน้อยลง มันทำให้นักการเมืองดูเลว เราจึงต้องอัดฉีดประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความยึดโยงประชาชนต่างหากจึงจะแก้

 

และ 3 อย่างที่คนก่อนหน้าไม่มีคือ

 

  1. เทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงคนหมู่มากได้โดยไม่ต้องผ่านช่องทางแบบเดิม
  2. สังคมปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์มืดมิดถึงขีดสุด ประชาชนเอือมระอาเต็มที
  3. เราอยู่ในยุคสมัยใหม่ที่การเคลื่อนตัวของโลกไปเร็วกว่าสิ่งที่พยายามฉุดรั้งให้สังคมล้าหลัง

 

การเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งนี้ต้องทำให้การรัฐประหารเป็นอดีต ไม่เกิดอีกในอนาคต ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เดินหน้าต่อไป และต้องไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม

 

กับดักเป็นเพียงอุปสรรคที่จะก้าวพ้นไปด้วยกัน เราจะร่วมกันเขียนอนาคตที่เป็นไปได้ไปพร้อมกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising